บทเรียนจากการทำงานเครือข่ายนักศึกษาเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย (2)


องค์กรทำงานเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จในโลกจะรู้ว่า “เราจะไม่ทำอะไรให้ใคร”
คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเครือข่าย

1. กำหนดเป้าหมายการประชุมแต่ละครั้ง ทำให้มีประสิทธิภาพ ตรงเวลา และได้ข้อสรุป - เรื่องนีก็อาจดูเบสิค แต่เป็นเรื่องที่พลาดกันบ่อย และทำให้งานและองค์กรพังไปโดยปริยาย การประชุมที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้การทำงานเป็นไปโดยราบรื่นยิ่งขึ้นอย่างมาก การกำหนดเป้าหมายในการประชุมแต่ละครั้ง จะทำให้คนที่เข้าร่วมสามารถเตรียมตัวเตรียมใจ ความคิด และความคาดหวังกับการประชุมนั้นได้ ทำให้มีส่วนร่วมกับการประชุมได้ง่ายขึ้น - คนนำประชุมควรหาหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคการนำประชุมอย่างสร้างสรรค์มาอ่าน ควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นที่ตรงกับประเด็นที่กำลังพูดคุย สรุปให้แต่ละคนเข้าใจที่เพื่อนพูด เทียบให้เห็นความเหมือนความต่าง ลองชวนให้หาจุดร่วม หาข้อสรุป หรือลองเสนอทางเลือก ทางออกในประเด็นต่างๆได้ รู้วิธีเบรคเพื่อนที่ออกนอกประเด็นโดยละมุนละม่อม ฉะนั้นคนนำประชุมควรมีทักษะการฟังและจับประเด็นที่ดีมาก ในขณะเดียวกันก็ควรจะสามารถสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการพูดคุยได้ การอ่านและการฝึกบ่อยๆจะช่วยได้มากขึ้น การให้เพื่อนๆช่วยประเมินการประชุมแต่ละครั้งจะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น - การตรงเวลาและได้ข้อสรุป จะช่วยให้การประชุมไม่ยืดยาวจนหน้าเบื่อ และไม่เสียเปล่าไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับทักษะการนำประชุมของคนนำประชุม และการตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของเวลา และการยอมที่จะประนีประนอมในเชิงความคิดความเห็นของทุกๆคนในที่ประชุม

2. เอาให้ชัดว่าเครือข่ายจะทำอะไร และตระหนักถึงประโยชน์ของวัตถุประสงค์เครือข่ายจริงๆ - การที่พวกเรามารวมตัวกัน มันควรจะต้องชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการรวมตัวนี้เพื่อเหตุอันใด การตระหนักถึงประโยชน์ของเครือข่ายนั้น จะเป็นแรงเสริมอย่างมากที่จะทำให้เราและเพื่อนๆทุ่มเทกับงาน ถ้าเห็นแล้วว่าไม่มีประโยชน์อย่าไปทำมัน ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง อย่าแถ วัตถุประสงค์นั้นควรจะมีประโยชน์โดยพื้นฐานกับตัวคนทำงานเครือข่ายเอง เพื่อให้เรามีแรงทำและก็ได้ประโยชน์จากมันด้วย ประโยชน์ต่อเพื่อนๆของเราในคณะและมหาวิทยาลัย และประโยชน์ต่อคนภายนอก คนหมู่มาก คนด้อยโอกาส และประเทศชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ควรคำนึงใส่ใจและให้ความสำคัญเช่นกัน และพึงระลึกว่า วัตถุประสงค์แต่ละระดับเองก็เชื่อมโยงกัน การมุ่งทำประโยชน์ให้คนภายนอกและคนหมู่มาก สามารถเกิดประโยชน์แก่ตัวเราเองและเพื่อนๆของเราได้ในเวลาเดียวกัน หากเราออกแบบกิจกรรมให้ดี เป็นต้น วัตถุประสงค์ของเครือข่ายนั้น ให้มันกว้างพอที่จะสร้างกิจกรรมได้หลากหลาย แต่ก็ให้แคบพอที่จะเห็นแนวการทำกิจกรรมของเรา ให้เห็นจุดที่เราจะโฟกัส ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการติดต่อประสานงานและบอกว่าเราเป็นใครทำอะไรกัน องค์กรทำงานเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จในโลกจะรู้ว่า “เราจะไม่ทำอะไรให้ใคร”

3. เลือกคนให้เหมาะกับงาน จัดสรรงานให้เหมาะกับคนและงาน - เลือกคนให้เหมาะกับงานนั้นเป็นสิ่งที่รู้ๆกันอยู่ โดยพื้นฐานคือ ต้องรู้ว่างานเป็นอย่างไร ต้องการความสามารถแบบใด และเพื่อนของเรามีความสามารถแบบน้ันหรือไม่ ลิสต์มาเป็นข้อๆได้เลยจะดีมาก แต่ประเด็นหลังเรามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ การจัดการรงานให้เหมาะกับคนและงาน หมายถึง งานที่เราวางไว้ให้เพื่อนทำนั้น เราควรจะต้องคิดว่า มันเยอะหรือน้อยเกินไปหรือไม่ โดยหน้าที่แล้วมันจะทับซ้อน หรือทำให้เค้าทำงานได้ง่ายหรือยากอย่างไร ส่วนให้จัดสรรงานให้เหมาะกับงาน ก็คือ ต้องดูด้วยว่า หากจัดสรรงานแบบนี้ๆ จะทำให้การ flow ของงานมีปัญหาหรือไม่ ถ้าส่งไม้หลายต่ออาจจะมีปัญหามากกว่า ถ้าไม่ส่งเลยก็อาจจะหนักเกินไป หรือส่วนที่ต้องสัมพันธ์กับคนภายนอกก็ต้องวางให้เหมาะ ให้การประสานงานกับคนกลุ่มหนึ่งๆ เป็นคนๆเดียว เพื่อสะดวกแก่การประสานงานเป็นต้น ฉะนั้นในข้อนี้ก็คือ เน้นความสำคัญของการออกแบบงานให้ดี ให้เหมาะกับคนทำงานและตัวงานโดยรวมนั่นเอง

4. หลัก 3 ป. ประณีต ประหยัด ประทับใจ - หลัก 3 ป. นี้อยากให้จำใส่ใจเอาไว้ เพราะเป็นหลักของการมองว่างานที่ดีเป็นอย่างไร (อย่างน้อยจากประสบการณ์ของพี่เองอ่ะนะ) คำว่าประณีต - ก็คือ ใส่ใจในรายละเอียด ไม่ใช่ทำงานแค่ผ่านๆไปเท่านั้น การพยายามทำงานให้ประณีตอาจหมายรวมถึงพยายามอุดรอยรั่วทั้งปวง มีแผนสำรองเสมอ ในขณะเดียวกันก็หมายรวมถึงการหาจุดที่เราจะสามารถเสริมให้งานมันดียิ่งๆขึ้นไปได้ - คำว่าประหยัด - ช่างเหมาะกับนักศึกษาเศรษฐศาสตร์จริงๆ ประหยัดไม่ใช่ขี้เหนียว แต่หมายถึงมีประสิทธิภาพ ใช้เท่าที่ต้องใช้ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป เอาให้พอดี ให้เหมาะกับงาน ให้เหมาะกับฐานะทางการเงินของโครงการ และเครือข่าย ให้เหมาะกับผู้เข้าร่วมงาน ในอีกทางหนึ่ง การเน้นเรื่องการประหยัด เป็นการบอกเป็นนัยๆว่าเราควรจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเครือข่ายให้เต็มที่ด้วย อะไรที่ช่วยกันทำได้ก็ทำกัน อันไหนมีช่องทาง หรือทำให้ถูกได้ ก็หากัน เป็นต้น - คำว่า ประทับใจ- อันนี้สำคัญ แม้งานจะเล็ก จะพลาด อะไรก็ตาม แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับความประทับใจแล้วละก็ คนเข้าร่วมงานก็ให้ใจกับเราอยู่ดี การจะทำให้คนอื่นประทับใจนั้น เราต้องเอาใจใส่งาน เอาใจใส่คนเข้าร่วม เหมือนเวลาเราไปเที่ยวที่ถูกๆ แต่เจ้าของดูแลเราอย่างดี เราย่อมประทับใจ เท่าๆกับ หรือมากกว่าไปเที่ยวโรงแรมหรูๆ แต่ไม่มีใครสนใจเราก็ได้

5. สื่อสารกันให้มาก ควรมีจุดรวมที่ทุกคนรวมข้อมูลอัพเดทไว้ - การสื่อสารมักเป็นปัญหาสำคัญในการทำงานเสมอ ควรสื่อสารกันให้มาก พื้นฐานที่สุดคือ ควรจะมีซักคนที่รู้ความคืบหน้าของงานทั้งหมดเป็นพื้นฐานเอาไว้ อาจจะเป็นประธาน หรือเป็นเลขาฯ ก็ได้ เพื่อให้อย่างน้อย หากมีใครถาม หรือคนรับผิดชอบติดต่อไม่ได้และมีคนอยากรู้สถานะล่าสุดของงานก็จะสามารถทราบได้และทำงานต่อไปได้ แต่เบื้องต้นที่สำคัญที่สุด คือ คนทำงานด้วยกัน ทีมเดียวกันในโครงการหนึ่งๆ ต้องสื่อสารกันให้มาก คุยกันบ่อยๆ จะเรื่องงานเรื่องแฟนเรื่องอะไรก็แล้แต่ 


คำแนะนำบางประการเกี่ยวกับกิจกรรมและอื่นๆ

1. สร้างสมดุลระหว่างงานเชื่อมสัมพันธ์กับงานวิชาการ - ในฐานะที่เราเป็นนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ พี่คิดว่าเราควรจะให้ความสำคัญกับงานวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ มากพอสมควร ทั้งในระดับที่ง่ายต่อการเข้าใจ ไปจนถึงระดับที่ท้ายทายนักศึกษามากพอ ในขณะเดียวกัน ในฐานะที่เราเป็นเยาวชน ความสนุกสนานและการได้เพื่อนใหม่ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ฉะนั้นการคิดถึงวัตถุประสงค์ก็ดี การวางเป้าหมายในแต่ละปีก็ดี หรือการคิดและจัดสรรหน้าที่ความรับผิดชอบก็ดี ควรให้คำสำคัญกับทั้งสองเรื่องนี้

2. จัดกิจกรรมให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย - อันนี้ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเพื่อนเรามุ่งสันทนาการอย่างเดียวก็ให้สันทนาการกับเค้า แต่หมายถึงว่า หากเราคิดถึงงานวิชาการให้กับเพื่อนปริญญาตรีของเรา ก็อาจจะมองไปในเชิงของการพัฒนาศักยภาพ , เสริมความรู้ หรือเปิดโอกาสให้ได้พบเจอกับคนที่น่าสนใจ แรงบันดาลใจ หรืออะไรแบบนั้น เรื่องงานสันทนาการน่าจะถนัดกันอยู่แล้ว จะไม่พูดถึง อยากให้ลองมองไปด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายในระดับปริญญาโท และเอก เราจะทำอะไรกับเค้าได้บ้าง เพราะว่า ถ้าเป็นเครือข่ายแห่งประเทศไทย น่าจะรวมพวกพี่ๆเค้าไว้ด้วย และเค้าจะเป็นกำลังสำคัญทางวิชาการอย่างมากๆ และจะทำให้งานวิชาการของเครือข่ายน่าสนใจไปด้วย

3. พยายามขยายเครือข่ายเพื่อให้เป็นเครือข่ายแห่งประเทศไทยจริงๆ - เราต้องไม่ลืมว่า เรามีเพื่อนๆอีกหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มีคณะเศรษฐศาสตร์อยู่ในทุกๆภาคของประเทศ และก็ต้องไม่ลืมว่า นักศึกษาเศรษฐศาสตร์นั้นมีในระดับปริญญาโท และเอกด้วย การจะขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นนั้น เคยคิดกันมานาน แต่ทางนึงที่อยากจะเสนอหลังจากได้ลองทำหลายอย่างและอ่านบทความวิชาการเกี่ยวกับเครือข่ายบ้าง ก็คือ ลองทำระบบความคิด และกิจกรรมเราให้ชัด ให้ work สักปีหนึ่งก่อน ในเขตกรุงเทพและภาคกลาง แล้วจึงค่อยลองขายไอเดียให้กับเพื่อนในภาคอื่น ที่เป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ๆหรือมหาวิทยาลัยที่อยากจะร่วมทำกับเรา ให้เค้าลองมาร่วม มาดู มาทำงานกับเรา แล้วจึงให้เค้าไปช่วยขยาย สร้างเครือข่ายในภาคของเค้าเอง ท้ายที่สุดเราน่าจะมีเครือข่ายในแต่ละภาคที่จัดกิจกรรมให้เหมาะกับผู้คน พื้นที่ และเหตุการณ์ในภาคของตนเอง และมีกิจกรรมร่วมกันทั้งประเทศเป็นคราวๆไป อาจจะวิชาการหนึ่งกิจกรรม และกิจกรรมรวมอีกหนึ่ง อาจจะเป็นเศรษฐฯสัมพันธ์ ฯ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 191090เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2008 06:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท