บทเรียนจากการทำงานเครือข่ายนักศึกษาเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย (1)


"งานสำเร็จไม่สำคัญเท่าทุกคนได้ร่วมรับรู้ รับผิดชอบ และเรียนรู้ร่วมกัน"

พี่ได้ยินมาจากพี่พลว่า น้องๆรุ่นใหม่สนใจอยากจะทำ ESNOT ต่อหลังจากที่เงียบหายไปปีกว่าๆ จริงๆพี่พลอยากให้พี่มาคุยกับพวกเราพร้อมๆกับพี่ๆหลายๆคน เพียงแต่ว่า พี่มีกำหนดการที่นัดไว้ก่อนแล้วเลยไม่สะดวกที่จะมาร่วมพูดคุยกับพวกเราและเพื่อนพ่ีน้องหลายๆคนที่ไม่ได้เจอกันมานานต้องขออภัยด้วย แต่ยังไงพี่ก็ยังอยากจะแลกเปลี่ยนบทเรียนที่ตัวพี่เองได้รับจากการทำงานใน ESNOT และประสบการณ์อื่นๆหลังจากนั้นจนปัจจุบันที่ ซึ่งเมื่อผสานกับข้อแนะนำของพี่ๆคนอื่นแล้วเชื่อแน่ว่าจะเป็นประโยชน์แก่การทำงานของพวกเราแน่นอนหากได้นำไปประยุกต์ใช้

โดยหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ เกี่ยวกับ ข้อพึงใส่ใจเวลาทำงานเครือข่าย , คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเครือข่าย , คำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมบางประการ ตัวพี่พยายามจะเขียนให้มันกระชับและเข้าใจง่ายที่สุด ก็ขอให้รู้ไว้ว่า ถ้าเกิดมันยาวไปนิด นั่นเป็นเพราะว่าพี่เข้าใจว่ามันน่าจะทำให้เข้าใจประเด็นและเห็นภาพได้มากขึ้น

ข้อพึงใส่ใจเวลาทำงานเครือข่าย

  1. พึงระลึกว่า เวลาทำงานเครือข่าย ความสัมพันธ์ในการทำงานออกจะเป็นในแนวราบ คือ ไม่ได้มีลำดับช้ันของอำนาจ แต่เป็นลักษณะที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน การทำงานเป็นลักษณะการสมัครใจในการเข้ามาทำงาน ร่วมกันกำหนด น้อมรับและปฏิบัติตามกติกาของเครือข่ายร่วมกัน อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีลำดับสายงานบังคับบัญชา แต่อาจจะมีลักษณะของการมีวงใน วงนอกได้บ้าง เช่น ทีมกรรมการเครือข่ายที่คอยขับเคลื่อนงาน , ตัวแทนมหาวิทยาลัย , สมาชิกเครือข่าย เป็นต้น โดยในแต่ละระดับจะมี “หน้าที่รับผิดชอบ” ต่างกันไป แต่ละส่วนช่วยกันทำหน้าที่ของตนเอง ตามความสนใจและเงื่อนไขข้อจำกัดของแต่ละคนแต่ละองค์กร
  2. พึงระลึกว่า เมื่อมีคนจากหลายที่มาทำงานร่วมกัน ความแตกต่างในเชิงความคิด วัฒนธรรมการทำงาน มุมมองต่อเครือข่าย ต่อมหาวิทยาลัยอื่น ต่อมหาวิทยาลัยตัวเองย่อมต่างกัน คนทำงานเครือข่ายควรทำความเข้าใจกับความแตกต่างนี้ และบริหารจัดการความแตกต่างไม่ให้แตกแยก ให้ทุกคนสบายใจที่จะอยู่ร่วมกันเป็นเครือข่าย ในขณะเดียวกันก็สามารถเคลื่อนงานไปได้ดี เท่าที่พี่พอเห็นอยู่บ้างมันมีอย่างน้อย 3 กลุ่มความแตกต่าง จะมีพวกสุดโต่ง (โดยเปรียบเทียบ) ไปเชิงวิชาการและความคาดหวัง และก็จะมีน้องๆ ที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมเชิงนันทนาการและกีฬามากโดยเปรียบเทียบ และก็จะมีมหาวิทยาลัยที่มักจะเป็นตัวเชื่อมประสานสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกันอยู่ ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนไป แต่คนทำงานควรจะต้องมาทำความเข้าใจเพื่อนๆร่วมกันในเรื่องนี้
  3. ทำงานให้เต็มที่ ให้สนุก ให้สบายใจ - เนื่องจากว่า เครือข่ายมันเป็นการทำงานแบบอาสาสมัคร ไม่มีใครมีอำนาจส่ังการเด็ดขาด ไม่ได้มีแรงจูงใจที่เป็นตัวเงินมาล่อ สำหรับพี่พี่เข้าใจว่า การได้เห็นงานเคลื่อนไปตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน กับ การทำงานแล้วรู้สึกสนุกท้าทาย และสบายใจนั้น เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งมันจะนำไปสู่ประโยชน์อื่นๆต่อไป ถามไถ่กันทั้งเรื่องงาน และเรื่องชีวิตของแต่ละคน ให้เป็นมากกว่าเพื่อนร่วมงาน คือ เป็น “เพื่อน” กันจริงๆ และถ้าเป็นได้ถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้ พี่เชื่อว่าพวกเราจะเข้มแข็งมากๆ 
  4. งานสำเร็จไม่สำคัญเท่าทุกคนได้ร่วมรับรู้ รับผิดชอบ และเรียนรู้ร่วมกัน - พี่เชื่อว่างานแต่ละงาน เราย่อมอยากให้มันสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่แน่นอนว่าความผิดพลาด ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง หรือการกระทบกระทั่งกันระหว่างงานย่อมมี สถานการณ์ประเภทที่ว่า เพื่อนอาจจะไม่ทำงานตามที่เราคาดจนอยากจะทำเองก็อาจจะมี แต่หากมีเพียงคนกลุ่มเดียวจากทั้งเครือข่ายที่ผลักงานไปจนเสร็จ เราจะเรียกว่ามันเป็นงานของเครือข่ายได้อย่างไร และเพื่อนๆของเราจะได้ประโยชน์อันใดจากการทำเครือข่ายเล่า เรื่องนี้พวกเราอาจจะเห็นว่าทำได้ลำบาก แต่เรื่องความไว้วางใจ และให้เกียรติเพื่อนที่ทำงานด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะเดียวกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเราและช่วยพากันผ่านอุปสรรคที่อาจจะง่ายขึ้นเมื่อช่วยกันหลายๆคนไปได้ก็สำคัญ เมื่อจบงานเราจึงมาเรียนรู้ร่วมกันที่จะวางระบบ หรือวางเงื่อนไขในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต
  5. ให้เชื่อว่าทุกคนทำเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดของตัวเองแล้ว - การมองโลกในแง่ดีต่อกัน สำคัญต่อการทำงานมาก เพราะหากเรามองว่า ทุกคนอยากเห็นงานสำเร็จ ทุกคนทำเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดแล้ว เราย่อมมองข้ามประเด้นที่ว่า เค้าไม่รับผิดชอบ เค้าไม่ดี ไปสู่การพยายามเข้าใจข้อจำกัด และอุปสรรค อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และความรู้สึกที่ดีต่อกันในการทำงาน การคุยเรื่องข้อจำกัดของแต่ละคนในทีมอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้สามารถเห็นข้อจำกัดของเพื่อนได้ง่ายขึ้นและร่วมกันหาทางแก้ไขได้ง่ายขึ้น อีกอย่างคือ คนที่ทำผิด ทำพลาด ย่อมรู้สึกผิดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปซ้ำเติม แต่ควรที่จะช่วยกันมองและหาทางออกให้กับปัญหา และให้กำลังใจกัน คำตำหนิที่รุนแรง ควรใช้เป็นมาตรการสุดท้าย กับคนที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีเท่านั้น 
  6. ไว้วางใจเพื่อน และอย่าทำให้เพื่อนเสียความไว้วางใจกับเรา - อันนี้ออกจะดูเป็นปัจเจกชน แต่สำคัญมาก และต่อเนื่องจากข้อสี่ แต่เห็นว่าสำคัญจึงอยากจะย้ำเอาไว้ตรงนี้ การไม่ไว้วางใจเพื่อน จะทำให้เพื่อนหยุดทำงานและรอฟังเราโดยอัตโนมัติ คือ สมมติเราเป็นเจ้าภาพงานนี้ ขอให้เพื่อนทำงาน ก.ไก่ แต่เพื่อนทำไม่ได้ดั่งใจเรา เราจึงเข้าไปแทรกแซง ทำแทน หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อนคนนั้นเองที่อาจจะวางแผนการทำงานไว้แล้วแต่ไม่เหมือนที่เราอยากให้เป็น ก็จะรวนไปหมด และไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป และจะกลายเป็นรอให้เราบอกให้ทำโดยปริยาย หรือไม่ก็รู้สึกแย่ไปเลย ในทางกลับกัน ตัวเพื่อนที่จะช่วยทำงานเองก็ควรจะ Active และสื่อสารกับเพื่อนที่เป็นเจ้าภาพงานมากพอเช่นกัน ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ บอกเป็นระยะว่างานคืบไปเท่านั้นเท่านี้ หรือตอนนี้กำลังติดเรื่องเรียนจะทำให้เสร็จภายในวันนี้ๆ เป็นต้น พยายามทำให้ได้ตามที่สัญญาไว้ ถ้าทำไม่ได้ให้คุยกันเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง 
  7. พยายามพบปะกันสม่ำเสมอ เข้าประชุมเลิกประชุมพร้อมกัน ตรงเวลา - เรื่องนี้อาจดูเบสิค แต่สำคัญมากๆ การพบปะกันสม่ำเสมอ ทำให้แต่ละคนแต่ละที่ยังต่อกันติดกับงานเครือข่าย การทำให้มันสม่ำเสมอยังทำให้แต่ละคนสามารถวางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องบอกน้องๆว่า ถ้าเรานัดล่วงหน้าแล้วก็ช่วยลงวันนัดเอาไว้สักหน่อย ไม่ใช่บอกว่าเดี๋ยวดูก่อนว่าว่างหรือเปล่า เพราะนั่นหมายถึงว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเครือข่ายมากพอ บางทีอาจจะควรหาคนอื่นที่ให้ความสำคัญกับเครือข่ายกว่านี้มาทำแทนเราเสีย (อย่างน้อยก็ควรจะอยู่รองในอันดับสี่ คือ รองจากเรื่องการเรียน ,ครอบครัว และงานมหาวิทยาลัยตนเอง) การเข้าและเลิกประชุมพร้อมกัน จะทำให้การประชุมไม่สะดุด และทุกคนรับรู้เรื่องราวไปพร้อมๆกัน การตรงเวลา จะทำให้ต้นทุนในการมาพบกันน้อยลงมากๆ และทำให้ทุกคนจัดการกับเวลาของตนเองได้ง่ายขึ้น เมื่อต้นทุนน้อยลงย่อมทำให้คนอยากมาประชุมมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ดีในการทำงานอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 191089เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2008 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท