เยี่ยมพื้นที่โครงการพันธมิตรสร้างเสริมสุขภาพ จ.พิษณุโลก


เยี่ยมพื้นที่โครงการพันธมิตรสร้างเสริมสุขภาพ จ.พิษณุโลก


          วันที่ 29 ก.ค.48   ช่วงเช้าผมร่วมการประชุมวิชาการ “นเรศวรวิจัย” ครั้งที่ 1   ช่วงบ่ายคุณไพฑูรย์  ช่วงฉ่ำ “คุณประสาน” ของ HKM  รพ.ภาคเหนือตอนล่าง (ซึ่งตอนนี้พัฒนาขึ้นเป็นวิทยากรใหญ่ด้าน KM รับปรึกษาและจัด workshop ทั่วประเทศไปแล้ว) มาชวนไปพบ “คุณอี๊ด”   คุณกาญจนา  แสงรัตน์   กับคุณอู๋  คุณจินตศักดิ์  อู่ไทย   ผู้รับผิดชอบศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรประชาชน  จ.พิษณุโลก   ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก   แล้วชวนกันไปเยี่ยมชม “ศูนย์ประสานงานการเรียนรู้  ชุมชนคนวัดโบสถ์  จ.พิษณุโลก”   ที่ ต.ท้อแท้  อ.วัดโบสถ์  จ.พิษณุโลก     ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเครือข่ายพันธมิตรเสริมสร้างสุขภาพ    หัวหน้าโครงการคือ “หมอตู่”  คุณศรายุทธ  พูนพิน   ภรรยาของหมอตู่   เป็นหัวหน้าสถานีอนามัย   ที่สำคัญมีแกนนำชาวบ้านมาร่วมกันดำเนินการโครงการกันอย่างคึกคัก    ได้แก่ “ป้าน้ำเชี่ยว”  (นางน้ำเชี่ยว  มากศรทรง),   “ลุงเทพ”  (นายสุเทพ  ปานทรัพย์,   อ.ฉลอง,   และคนอื่น ๆ    ทำให้ผมได้พบชาวบ้านที่เป็นคนดี   ที่มีใจชอบทำงานที่ก่อประโยชน์แก่ชุมชน   ผมมีความสุขมากที่ได้พบปะทำความรู้จักกับคนเหล่านี้


          หมอตู่และคณะเล่าการดำเนินการโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ให้ฟัง   แถมมีกระดาษ flip chart แผ่นใหญ่เขียน mindmap เอามาคุยให้ฟังอย่างสนุกสนาน   เริ่มจากคุยฝืด ๆ แบบนั่งเก้าอี้   พอมีกระดาษ flip chart ร่องรอยของการระดมสมองของจริงมาให้ดู   ทุกคนก็ลงมานั่งกับพื้นซักถามและเล่ากันอย่างออกรส


          โครงการชีวิตสาธารณะ  ท้องถิ่นน่าอยู่   สนับสนุนโดย สสส. ดำเนินการตั้งแต่ปี 2546   จะจบโครงการปี 2549


          เรื่องที่เล่าในวันนั้น   เน้นที่การใช้พิธีกรรม   คือพิธีไหว้ครูดนตรีไทย   เป็นเครื่องมือสร้างความรู้สึกเป็นชุมชนของคนตำบลท้อแท้   และขยายเป็นของทั้ง อ.วัดโบสถ์   ต้องดูวีดีโอที่หมอตู่ถ่ายทำและให้เสียงบรรยายเอง   จึงจะเข้าใจว่าพิธีกรรมดังกล่าวสร้างความร่วมมือร่วมใจ   สร้าง “ชีวิตสาธารณะ  ท้องถิ่นน่าอยู่”  อย่างไร


          ตอนแรกผมคิดในใจว่า   ทำเฉพาะเรื่องพิธีกรรมยังไม่ครบเรื่อง   ควรจะต้องมีเรื่องอื่น ๆ ที่ทำให้คนในท้องถิ่นมีสุขภาพดี   และมีรายได้พอเพียงด้วย


          แต่กลับมาอ่านเอกสาร 4 ชุดที่หมอตู่ให้ยืมมา  ได้แก่
1.      การดำเนินงานสุขภาพใจภาคประชาชน   หมู่ 4  บ้านเหล่าขวัญ   ต.ท้อแท้  อ.วัดโบสถ์      จ.พิษณุโลก   ดำเนินงานโดยเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคีความร่วมมือ   จากเอกสารนี้เห็นเครือข่ายองค์กรชุมชนภายในบ้านเหล่าขวัญมากมาย   เช่น กลุ่มเกษตรกร  เครือข่ายหอกระจายข่าว   กลุ่มจักสาน   กลุ่มพลังแผ่นดิน   กลุ่มกองทุน   คณะกรรมการหมู่บ้าน   คณะกรรมการชุมชน   เชื่อมโยงกับ อบต.,  เทศบาล ฯลฯ   และเห็นกิจกรรม   ตัวอย่างเช่น   เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (1 ครั้ง เม.ย.48  คน 25 คน)   สถานที่นัดพบ   สัปดาห์ละ 2 วัน   วันจันทร์และวันพฤหัสบดี  เวลา 14.00 – 15.00 น.   มีกิจกรรมนั่งสมาธิ   รำกระบองท่าป้าบุญมี   ออกกำลังกาย   การละเล่นพื้นบ้าน เช่น ลำตัด  รำวง  ละครชาวบ้าน
          มีการรับประทานอาหารร่วมกัน  เดือนละครั้ง
          เยี่ยมบ้านผู้มีปัญหาสุขภาพใจ   เดือนละครั้ง
          มีการศึกษาเรียนรู้นอกชุมชน   โดยร่วมกันทัศนาจร  เขาสมอแครง   โรงเจทีฮุกตึ้ง   วัด
เจดีย์ยอดด้วน   เจ้าแม่กวนอิมหยกขาว
          ผู้สูงอายุพาเด็กสวดมนต์ไหว้พระ 9 วัด
          พิธีไหว้ครูรวมใจชุมชน   วันที่ 19 พ.ค.48
          งดเหล้าเข้าพรรษาช่วงเวลาแห่งบุญฟื้นฟูสุขภาพ  31 ก.ค.48 ที่วัดช่างเหล็ก
          รวมพลังขับขี่จักรยานเทิดพระเกียรติ 12 สิงหามหาราชินี ทุกปี
          และอื่น ๆ อีกมาก   ที่สำคัญคือมีการประชุมถอดบทเรียนจากกิจกรรมที่ทำไปแล้ว   ว่ามีข้อควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง   และเกิดความคิดที่จะทำกิจกรรมอะไรร่วมกันอีก
2.      โครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขท้องถิ่น   โดยใช้กระบวนการสุขศึกษาและการมีส่วนร่วมของชุมชน   เรื่องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมในผู้สูงอายุ
หลักการก็คือ   ใช้ผู้สูงอายุเป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน   โดย
มีกิจกรรมหลัก ๆ ได้แก่
          การออกกำลังกาย
          ใช้ความรู้เรื่องสุขภาพ
          ทำสมาธิ  สวดมนต์
          ตรวจสุขภาพ
          เชื่อมเครือข่าย
          ศึกษาดูงาน
          อาชีพเสริม
          ที่สำคัญคือ   มีการเก็บข้อมูลก่อนและหลังดำเนินการ   และมีเวทีประเมินผลเพื่อวางแผนดำเนินการต่อร่วมกัน
3.      สร้างสุขภาพดีบนวิถีชีวิตชุมชน   โดยนางน้ำเชี่ยว  มากศรทรง
         ประธานชมรม อสม. ชุมชนสถานีอนามัยบ้านท้อแท้
          ป้าน้ำเชี่ยว  นอกจากเป็นประธานชมรม อสม. ยังเป็นครู กศน. ด้านงานประดิษฐ์ด้วย   มีฝีมือทำบายศรีสวยงามมาก   ลูกศิษย์เต็มอำเภอ
          กิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพกำหนดไว้เป็นปฏิทินตลอดปี   มีทั้งกิจกรรมตามเทศกาล   และกิจกรรมที่ทำสม่ำเสมอคือ   เรื่อง “อ” ทั้งหลาย
4.      32 ปีแห่งการพัฒนางานในชุมชน   หมู่ 2 บ้านท่าช้าง  ต.ท้อแท้   อ.วัดโบสถ์  โดยนาย       สุเทพ  ปานทรัพย์   อสม. หมู่ 2 บ้านท่าช้าง
          เป็นเอกสารเล่าประวัติการทำหน้าที่ อสม.,   การตั้งหอกระจายข่าว,   การก่อตั้ง
เครือข่ายเกษตรธรรมชาติ ต.ท้อแท้,   การก่อตั้งชมรมฝึกซ้อมดนตรีไทยคนวัดโบสถ์   และการเป็นคณะทำงานของศูนย์ประสานงานการเรียนรู้ชุมชนคนวัดโบสถ์


          จะเห็นว่าหมอตู่และคณะทำงานของศูนย์ประสานงานการเรียนรู้ชุมชนคนวัดโบสถ์   มีความสามารถในการขับเคลื่อนความเป็นชุมชนของท้องถิ่น   สร้างชีวิตสาธารณะ – เมืองน่าอยู่ใน อ.วัดโบสถ์   นอกจากจัดกิจกรรมโยงกันเป็นเครือข่ายแล้ว   ความสามารถพิเศษคือการบันทึก   ทั้งในรูปของเอกสารและในรูปของวีซีดีประกอบคำบรรยาย   เรื่องความสามารถในการบันทึกนี้สำคัญมากและเป็นความสามารถที่หาได้ยากในกลุ่มคนทำงานชุมชน
          ที่หน้าสถานีอนามัย ต.ท้อแท้   มีป้ายบอกชื่อการรวมกลุ่มคนไว้ 5 กลุ่ม  ดังนี้
                   - ศูนย์ประสานงานการเรียนรู้ชุมชนคนวัดโบสถ์
                   - ชมรม อสม. ตำบลท้อแท้
                   - เครือข่ายเกษตรธรรมชาติ  ต.ท้อแท้
                   - ชมรมฝึกซ้อมดนตรีไทย  คนวัดโบสถ์
                   - ชมรมรักษ์สุขภาพคนท้อแท้


          ก่อนกลับผมเห็นผู้สูงอายุ 4 – 5 คนนั่งรอออกกำลังกันอยู่   จึงขอให้ลองแสดงท่ากายบริหารให้ดู   จึงได้รูปมาฝากแฟนบล็อก


          ผมต้องบอกตัวเองว่า   สมัยร้อยปีก่อนวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน   คนมามีกิจกรรมร่วมกันที่วัด   เวลานี้สถานีอนามัยที่มีหมออนามัยดี ๆ กำลังก้าวเข้ามาเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมชุมชนในชนบท


          ผมกลับมาทบทวนสิ่งที่ได้เห็นที่ศูนย์ประสานงานการเรียนรู้ชุมชนคนวัดโบสถ์  อยู่ 3 – 4 วัน   ก็บอกตัวเองว่า   คณะแกนนำของศูนย์ประสานงานกำลังทำ KM กันอยู่   เป็น KM ระดับชุมชน   มีการหมุนเกลียวความรู้     มีการจดบันทึก   มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   มีเป้าหมายที่ความเข้มแข็งของชุมชนและสุขภาวะของคนในชุมชน   แต่กิจกรรม KM ที่นี่ยังมีช่องทางทำให้ชัดเจนขึ้นได้   โดยเฉพาะการบันทึกขุมความรู้และแก่นความรู้ให้เป็นทางการมากขึ้น


          ผมเข้าใจว่าคุณไพฑูรย์กับหมออี๊ดชวนผมไปเยี่ยมศูนย์ประสานงานการเรียนรู้ชุมชนวัดโบสถ์   เพื่อขอคำแนะนำว่าจะใช้ KM เป็นเครื่องมือขยายกิจกรรมแบบนี้ไปสู่สถานีอนามัยอื่น ๆ ได้อย่างไร   เพื่อขยายไปสู่โครงการพันธมิตรสร้างเสริมสุขภาพ


          ผมมองว่า   น่าจะทำกระบวนการ 2 จังหวะ


          จังหวะแรกเลือกชุมชนคล้าย ๆ สอ.ท้อแท้   สัก 5 – 10 แห่ง   มาร่วมจัดตลาดนัดความรู้   เพื่อเล่าเรื่องราวของความสำเร็จและ “สกัด” ขุมความรู้ในการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพโดยเครือข่ายในชุมชน   และจัดกลุ่มเป็นแก่นความรู้   รวมทั้งทำตารางแห่งอิสรภาพ


          จังหวะที่ 2   จัดตลาดนัดความรู้   เอาตารางแห่งอิสรภาพเพื่อการเสริมสร้างสุขภาพโดยเครือข่ายชุมชน   ไปวัดชุมชนอื่น ๆ ที่ชักชวนมา   แล้วจัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist)


          รายละเอียดคงจะมีมากมาย   แต่แนะแค่นี้คุณไพฑูรย์ก็เดินต่อได้ฉลุยแล้ว

 

                           

         รูปที่ 1   จากซ้ายไปขวา   ลุงเทพ,  คุณอู๋,  พี่อี๊ด,  หมอตู่,  คุณไพฑูรย์

 

 

                        

        รูปที่ 2  mind map “วัดโบสถ์น่าอยู่”

 

 

                         

       รูปที่ 3  แลกเปลี่ยนกันอย่างออกรส

 

 

                         

       รูปที่ 4  ชมรมออกกำลังกาย



                                                                                                                  วิจารณ์  พานิช
                                                                                              1 ส.ค.48

หมายเลขบันทึก: 1909เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2005 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 เรียนอาจารย์ น.พ.วิจารณ์

         ต้องขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่ได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานของตำบลท้อแท้  หนูจะนำข้อแนะนำครั้งนี้ถ่ายทอดต่อให้ทีมงานเครือข่ายตำบลท้อแท้ และ เครือข่ายพันธมิตรจากอำเภอและ ตำบลอื่นๆของพิษณุโลกต่อไปค่ะ  และขณะนี้ได้นำข้อมูลที่อาจารย์ได้เขียนครั้งนี้ส่งต่อให้เครือข่ายทุกอำเภอแล้วค่ะ   

                                กาญจนา  แสงรัตน์   4 ส.ค.48   

อยากได้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยมีรายละเอียดครบถ้วนทั้งหมดของอำเภอวัดโบสถ์  จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดทำเป็นรายงานส่งทางมหาวิทยาลัย  จะกรุณาค้นหาและส่งมาให้ได้ไหมคะ  จะเป็นพระคุณอย่างสูง  ขอบคุณค่ะ  (  หากได้ช่วยส่งมาเร็ว ๆ เลยนะคะ แล้วจะไม่ลืมพระคุณค่ะ )

อยากได้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยมีรายละเอียดครบถ้วนทั้งหมดของอำเภอวัดโบสถ์  จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดทำเป็นรายงานส่งทางมหาวิทยาลัย  จะกรุณาค้นหาและส่งมาให้ได้ไหมคะ  จะเป็นพระคุณอย่างสูง  ขอบคุณค่ะ  (  หากได้ช่วยส่งมาเร็ว ๆ เลยนะคะ แล้วจะไม่ลืมพระคุณค่ะ )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท