วันนี้ไปเผาศพคุณลุงชด โพชนุกูล ที่ระโนด กลับมาก็มีคำถามจากคุณสุภาวรรณ โภชนุกูล (ไม่รู้ลูกใคร !) เรื่องความหมายของนามสกุลรออยู่ จึงขอโอกาสเล่าประวัติและความหมายนามสกุลส่วนตัว
ต้นตระกูลโพชนุกูล-โภชนุกูล เริ่มต้นจาก นายฉิ้น แซ่ตััน (แซ่ตั้ง) ซึ่งเดินทางมาจากเมืองจีนเมื่อประมาณสองร้อยปีก่อน โดยบัดนี้ฮ้วงซุ้ยหรือหลุมศพของท่านอยู่ในป่าช้าตรงข้ามวัดกระดังงา ต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา (ใครรู้ตัวว่าเป็นลูกหลานประจำตระกูล ผ่านไปผ่านมา ก็ควรแวะเยี่ยมบ้าง)
ตามคำบอกเล่าของคุณลุงชุบ โพชนุกูล ท่านว่า โพชนุกูล มาจากพยางค์แรกในวรรคต้นของโพชฌังคปริตว่า...
- โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา ฯ
นั่นคือ นำพยางค์แรกว่า โพช มาสมาสและสนธิเข้ากับคำว่า อนุกูล จึงกลายเป็น โพชนุกูล ดังนี้
- โพช + อนุกูล = โพชนุกูล
ตามนัยนี้ โพช มาจากคำว่า โพชฌะ ซึ่งแปลว่า ความรู้ ...ส่วนคำว่า อนุกูล มาจาก อนุ (ตาม) + กูล (ก่อตัวขึ้นมา) = อนุกูล (ตาม+ก่อตัวขึ้นมา)... ดังนั้น เมื่อแปลโดยตรงตัว คำว่า อนุกูล อาจแปลได้ว่า ก่อตัวขึ้นมาตามลำดับ ... แต่ถ้าจะเพ่งถึงความหมายตามนิยมเท่าที่เคยเห็น อนุกูล หมายถึง
- วงศ์ตระกูล หรือเชื้อสาย (เพราะต้องใช้เวลาในการค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา)
- การช่วยเหลือ การบำรุงรักษา (เพราะจะได้ให้สิ่งนั้นค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาได้)
เมื่อถือเอาตามนัยนี้ โพชนุกูล (โพช+อนุกูล) ก็อาจแปลได้ว่า...
- เชื้อสายหรือวงศ์ตระกูลแห่งความรู้
- การทำให้ความรู้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาตามลำดับ
- การหมั่นบำรุงรักษาความรู้
............
ต่อมา คำว่า โพชนุกูล เริ่มมีปัญหาในการใช้ เพราะเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์ โรงเรียน หมู่บ้าน หรือธนาคาร เป็นต้น มักจะเขียนผิดเป็น โภชนุกูล ...โดยอ้างว่า โพชนุกูล เขียนผิด ไม่มีความหมาย ถ้าจะเขียนให้ถูกต้องเขียนเป็น โภชนุกูล
ตอนแรกเข้าโรงเรียน ผู้เขียนก็ใช้ว่า โพชนุกูล จนกระทั้งตอนอยู่ ป.๓-๕ เริ่มมีนโยบายจากก๋งและญาติผู้ใหญ่บางท่านให้เปลี่ยนเป็น โภชนุกูล จำได้ว่า ช่วงนั้นผู้เขียนมั่วเรื่องนามสกุลอยู่สองสามปี... แต่บางครอบครัว บางท่านก็ไม่ประสงค์จะเปลี่ยน ยังคงใช้ โพชนุกูล เหมือนเดิม....
กลายเป็นว่าสับสนปนเปกันมาจนกระทั้งปัจจุบัน กล่าวคือ พี่กับน้อง พ่อกับลูก หรือก๋งกับหลาน เขียนนามสกุลไม่เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องค่อนข้างจะธรรมดาสำหรับตระกูลนี้
...........
- โภชนะ + อนุกูล = โภชนุกูล
คำว่า โภชนะ มาจากรากศัพท์ว่า ภุชะ ใช้ในความหมายว่า กิน ... ดังนั้น โภชนะ จึงแปลว่า สิ่งที่ถูกกิน ซึ่งโดยตรงก็คือ อาหาร ... แต่เมื่อขยายความให้กว้างขึ้น สิ่งที่ถูกกินด้วยตา หู จมูก ลิ้น และกาย ก็คือ ปัจจัย ๔ (อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค) ... ดังนั้น โภชนะ จึงอาจแปลโดยอ้อมได้ว่าปัจจัย ๔
เมื่อนำคำว่า โภชนะ มาสมาสและสนธิเข้ากับ อนุกูล ก็อาจได้ความหมายว่า
- เชื้อสายหรือวงศ์ตระกูลแห่งปัจจัย ๔
- การทำให้ปัจจัย ๔ ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตามลำดับ
- การตามช่วยเหลือด้วยปัจจัย ๔
.............
อนึ่ง ถ้านับ นายฉิ้น แซ่ตัน (แซ๋ตั้ง) ต้นตระกูลที่มาจากเมืองจีนเป็นรุ่นแรก และจากคนรุ่นหนึ่งมาถึงคนอีกรุ่นหนึ่งใช้เวลาประมาณ ๒๕ ปี... ปัจจุบันนี้ ตระกูลโพชนุกูล-โภชนุกูล เดินทางมาถึงรุ่นที่เจ็ด (ผู้เขียนรุ่นที่ห้า) ดังนั้น จึงประมาณคร่าวๆ ว่า น่าจะมีอายุเกิน ๑๗๕ ปีและคงจะเกือบๆ หรือถึง ๒๐๐ ปี...
อีกอย่างหนึ่ง การแตกเป็นกิ่งก้านสาขาออกไป ถือว่าเป็นความเจริญงอกงามกว้างใหญ่ไพศาลแห่งวงศ์ตระกูล ดังนั้น สำหรับผู้เขียนเอง ใครจะใช้ว่า โพชนุกูล หรือ โภชนุกูล ก็ตาม ก็ใช้ไปเถิด (ฟังว่ามีบางคนเปลี่ยนกลับไปกลับมา 5 5 5...)