การเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต (๑)


           เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มาบรรยายในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” ให้กับ คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ฟังผมได้วิธีคิดที่ผมตีความ(เอาเอง)จากการบรรยายของท่านอาจารย์วิจารณ์ดังนี้ครับ

๑) การพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นอย่างที่ต้องการนั้น บางครั้งจะตีความว่าเป็นภาพใหญ่ ภาพที่ทั้งหมดขององค์กรต้องเป็นต้องมี จนบางครั้งอาจเห็นว่ายากที่จะมี ยากที่จะทำและยากที่จะประสบความสำเร็จตามสิ่งที่ต้องการ จนบางครั้งอาจทำให้ท้อถอยไป หรือพลอยจะหมดกำลังใจไปก็มี แต่ท่านอาจารย์วิจารณ์ให้หลักคิดที่ว่า ขอให้เชื่อก่อนว่าภายในองค์กรของเราเรามีสิ่งที่ต้องการนั้นอยู่แล้ว แต่อาจเป็นเพียงส่วนน้อย แต่จะมีอยู่แน่นอน ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้องค์กรมีภาพฝันตามที่ต้องการ ก็คือไปหาสิ่งที่เราต้องการที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะมีอยู่เพียงจำนวนน้อย แต่เชื่อได้แน่ว่ามีอยู่ในองค์กรแน่นอน แล้วนำมาวิเคราะห์ หาสาเหตุ หาความสำเร็จให้เจอ เพื่อนำมาขยายผลให้ใหญ่ขึ้น จากภาพเล็กๆ จำนวนน้อยๆ จนกลายเป็นภาพที่ค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น มีจำนวนมากขึ้น จนในที่สุดก็เป็นภาพส่วนใหญ่ตามที่ต้องการ แน่นอนครับวิธีการอย่างนี้เป็นวิธีการที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลา และความพยายามทุ่มเทครับ

          ๒) ต้องคอยเตือนตนเองว่า “ไม่เชื่อ” ประโยคนี้ต้องตีความดีดีครับที่บอกว่าไม่เชื่อ นั้นคือ เราต้องตั้งสมมติฐานว่า  “ไม่เชื่อ หรือยังไม่ถูกต้อง(ทั้งหมด)” แต่ต้องพยายามทำงานเพื่อพิสูจน์ หรือ ค้นหาความจริงให้ได้ อาจารย์ยกตัวอย่างของการบรรยายว่า เป็นการชวนคิดชวนตั้งคำถาม เพื่อให้ไปค้นหาและพิสูจน์ครับ ว่าเป็นจริงตามที่บอกหรือไม่
          ครั้งหนึ่งผมจำได้ว่าได้มีโอกาสตามสมาชิกของ สคส.ไปเยี่ยมโรงเรียนชาวนา ของมูลนิธิข้าวขวัญที่ สุพรรณบุรี ไปดูการเรียนรู้ของชาวนา – เกษตรกร เรื่องข้าว ผมสังเกตเห็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทางมูลนิธิข้าวขวัญจัดให้กับเกษตรกรนั้น ก็มักเน้นว่า “อย่าเชื่อทั้งหมด ให้ไปลองทำ ลองพิสูจน์ เพื่อให้เห็นผลด้วยตนเอง” ผมคิดว่าวิธีการแบบนี้จะไปกระตุ้นให้คนมีวิธีการในการหาชุดความรู้ ของตนเอง ไม่นำความรู้ที่วิทยากรบอก หรือ สอน แล้วมาทำทั้งหมด แต่ให้หาหนทางในการพิสูจน์ความรู้ชุดนั้นด้วยตนเอง และยังช่วยให้เกษตรกร ไม่ถูกหลอกง่ายๆ จากอีกต่อไป

          ๓) การทำงานต้องรู้จักการสร้างเครือข่าย Networking คือต้องรู้จักการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในหน่วยงานคือต้องมี Collaboration ด้วย เป็นวิธีคิดที่ไม่พยายามยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนี้ ไม่ถือตนเป็นใหญ่ ต้องรู้จักประสานความร่วมมือ การประสานจุดมุ่งหมายและการมองภาพใหญ่ขององค์กรเป็นหลักครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #hcu#km for change
หมายเลขบันทึก: 189422เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2008 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท