เพราะเหตุใด เพลงพื้นบ้านจึงสูญหายไป ที่เหลืออยู่ได้ก็เพียงส่วนน้อย


การหลงลืมปล่อยปละละเลย ไม่ได้คิดถึงอนาคตอันยาวไกลออกไป ขาดชีวิตจิตวิญญาณของผู้สืบสานที่แท้จริง จึงทำให้การตามเก็บของเก่าที่ร่วงหล่นจมดินไม่ทัน หาไม่เห็นไม่มีให้ดู อย่างน่าเสียดาย

 

เพราะเหตุใด?

เพลงพื้นบ้านจึงสูญหายไป

ที่เหลืออยู่ได้ก็เพียงส่วนน้อย

 

          แต่เดิมมาชาวบ้านในชนบท ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เมื่อมีคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ๆ ก็จะมีผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์นำเอาความสามารถของตนเองออกมาแสดงในกลุ่มคน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณี การแสดงประจำท้องถิ่นมีควบคู่ไปกับงานเกษตรกรรม เมื่อทำงานเหนื่อยก็หยุดพักเล่นเพลง หรือทำงานไปด้วยร้องเล่นเต้นรำ ทำท่าทางไปด้วย ทำให้มีความสุขไปกับการทำงาน เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ลงตัว จึงทำให้เพลงพื้นบ้านหรือศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นเคียงคู่อยู่กับวิถีชีวิตของชาวบ้านมานานนับร้อยปี

 

          ความคงที่หรือจะให้ศิลปะการแสดงต่าง ๆ คงอยู่ได้จะต้องมีผู้สืบทอด มีผู้เข้ามารับช่วงสานต่อเอาไว้เป็นรุ่น ๆ ต่อเนื่องกันไป นักเพลงรุ่นก่อนจึงต้องมีลูกศิษย์เอาไว้รับมอบ หากไม่มีผู้มารับมอบผลงานก็จะนอนตายตาไม่หลับ เมื่อถึงเวลาหนึ่งในช่วงบั้นปลายชีวิต คนเพลงรุ่นครูจึงต้องหาทายาทมารับมรดกทางปัญญา เป็นการส่งต่อกันไปเป็นช่วงเป็นตอน ความต่อเนื่องของการรับช่วงนี้เองที่ทำให้เพลงพื้นบ้านหลาย ๆ ชนิด มีให้เห็นมาจนถึงเวลาในปัจจุบันนี้

 

          ที่อำเภอดอนเจดีย์ มีครูเพลงที่โด่งดังมากหลายท่าน ได้แก่ ลุงเคลิ้ม ปักษี, ป้าทรัพย์  อุบล, ป้าอ้น  จันทร์สว่าง ฯลฯ ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะลุงป้าท่านมีวงเพลงเป็นคณะออกเล่นตามงานที่มีผู้มาจ้างวานได้อย่างมีคุณค่าและสร้างความสนุกสนาน ลุงเคลิ้ม ปักษี เป็นครูเพลงในระดับที่มีลูกศิษย์ลูกหาที่มีฐานะเป็นหัวหน้าวงเพลงมาขอฝึกหัดเพลงใหม่ ๆ จากท่านเป็นจำนวนมาก เพราะลุงเคลิ้ม ปักษี เป็นคนเขียนเพลงท่านเป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลงเก่า ๆ เอาไว้เป็นจำนวนมาก นักเพลงพื้นบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลก็ต้องเดินทางมาหาท่าน เพื่อขอเรียนรู้และฝึกหัดเพลง

 

ส่วนป้าอ้น จันทร์สว่าง มีลุงศรีนวล จันทร์สว่าง สามีของท่านเป็นนักเขียนบทเพลง ป้ายังเก็บบทเพลงเก่า ๆ ที่เป็นลายมือของลุงเอาไว้ ในวันที่ผมไปขอฝึกหัดเพลงกับป้าอ้น ยังได้รับเนื้อเพลงมาหลายบท ป้าทรัพย์ อุบล เป็นนักเพลงรุ่นบรมครูอีกท่านที่มีลูกศิษย์ไปขอฝึกหัดเพลงจากท่านเป็นจำนวนมาก รวมทั้งศิลปินคนดัง ๆ ในปัจจุบันยังเคยไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของป้าทรัพย์ อุบล ป้าเป็นนักเพลงที่เสียงดี มีเสน่ห์ในการร้อง รำ ทำท่าทาง ทั้งที่ท่านก็รำไม่สวย แต่ดูรวม ๆ แล้วดีน่าสนใจมาก น่าเสียดายที่บุคคลทั้ง 3 ที่ผมกล่าวถึง ทุกท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว ตามกาลเวลา ท่านได้ถ่ายทอดความรู้มาถึงผมในด้านเพลงพื้นบ้านหลายอย่าง

 

 

เมื่อครูเพลงลาจากโลกนี้ไป ยังคงเหลือลูกศิษย์ที่เคยติดสอยห้อยตาม ยืนหยัดทำหน้าที่แทนต่อไป เหมือนหนึ่งว่า เพลงพื้นบ้านยังไม่ตาย ยังคงมีให้เห็นให้ได้ดูอย่างต่อเนื่อง

เมื่อหัวหน้าวง นักเพลงคนสำคัญมีชื่อเสียงที่สุดของคณะจากโลกนี้ไปยังมีนักแสดงที่มีความสามารถเทียบเท่าหรือรองลงไป (คอรอง) ในคณะทำหน้าที่แทนได้ทันที ยังคงมีคนเล่นเพลงพื้นบ้านวงนั้นให้ได้เห็นเล่นให้ดูได้ต่อไป

สถานศึกษาที่ฝึกทักษะการแสดงเพลงพื้นบ้านให้กับนักเรียนทั้งในหลักสูตรและเสริมหลักสูตร รวมทั้งจัดกิจกรรมชุมนุมให้กับนักเรียนที่มีความสนใจได้ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รุ่นเก่าจบไปมีรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยไม่มีขาดระยะ

ครูสอนเพลงพื้นบ้าน เป็นนักแสดงที่มีความสามารถรับงานแสดงได้มานาน ได้ถ่าย ทอดความรู้สู่นักเรียน ฝึกหัดอย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่องมายาวนาน นำคณะเพลงอีแซวนักเรียนออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ครูยังคงยืนเป็นเสาหลักให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้สู่การแสดงมืออาชีพตลอดมา

เยาวชนกลุ่มหนึ่ง มีความสามารถในการแสดงเพลงพื้นบ้าน จนเป็นที่ยอมรับ และแสดงความสามารถทางเพลงพื้นบ้านได้เหนือกว่าเยาวชนทั่วไป ทำให้มีงานแสดงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จำเป็นที่รุ่นพี่ต้องสอนรุ่นน้องให้มีมาตรฐานคงที่หรือดีขึ้นกว่าเดิมตลอดมา

บุคคล คนหนึ่ง หรือกลุ่มคนที่รวมตัวกันสร้างสรรค์งานแสดงอย่างเหนียวแน่น เริ่มต้นจากการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จัก ปรับปรุงผลงานให้เป็นที่ถูกใจของผู้ชม จนมีผู้ว่าจ้างวานให้ไปทำการแสดงในหลายสถานที่ต่าง ๆ  อย่างต่อเนื่อง มีให้เห็นอย่างสุขใจ หาดูได้ทันทีเมื่อมีความต้องการ

 

 

ถ้าหากว่า ได้มีการสานต่อเอาไว้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่อง เมื่อนั้นเพลงพื้นบ้านที่เราเคยเห็นก็คงยังมีให้คนรุ่นหลังได้พบเห็นตลอดไป  แต่การหลงลืม ปล่อยปละละเลย ไม่ได้คิดถึงอนาคตอันยาวไกลออกไป ขาดชีวิตจิตวิญญาณของผู้สืบสานที่แท้จริง จึงทำให้การตามเก็บของเก่าที่ร่วงหล่นจมดินไม่ทัน หาไม่เห็นไม่มีให้ดูตลอดไป อย่างน่าเสียดาย

 

ชำเลือง มณีวงษ์ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน (ราชมงคลสรรเสริญ) ปี 2547

 

หมายเลขบันทึก: 188796เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2008 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท