ไตรลักษณ์กับการพัฒนา


กฎไตรลักษณ์กำหนดเพียงว่ามีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้กำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ตัวเราเองต่างหากที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลง

ไตรลักษณ์กับการพัฒนา

 

นลเฉลย

        ผมเขียนเรื่องวงจรไตรลักษณ์ ไปแล้วก็คิดว่าอยากจะเล่าต่อถึงเรื่องการพัฒนากับไตรลักษณ์ ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องวงจรไตรลักษณ์ ท่านก็คงจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งไม่เที่ยง เพราะความไม่เที่ยงทำให้ทุกข์ แล้วก็เกิดการแปลงสภาพ เปลี่ยนรูปจากตัวตนเดิม ไปเป็น "รูป" หรือ ตัวตน ใหม่

หลายคนเมื่อคิดถึงเรื่อง ไตรลักษณ์ แล้วมักจะคิดถึงความเสื่อม คิดว่า ไตรลักษณ์พูดถึง การเกิดขึ้น แล้วมีความเสื่อม แล้วก็ดับสิ้นไป ทำให้รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการเปลี่ยนที่แย่ลง จริงๆแล้วไตรลักษณ์ พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลง บอกว่าทุกสิ่งต้องเปลี่ยน ตอนเปลี่ยน (ถ้าเราไปยึดติด) ก็ทำให้เกิดทุกข์ และเพราะความเปลี่ยนแปลงนี่แหละ ไม่ว่าเราจะพยายามต้านไว้แค่ไหนสุดท้าย ทุกๆสิ่งก็ต้อง "แปลงสภาพแต่ที่สำคัญ กฎไตรลักษณ์ ไม่ได้บอกว่า การเปลี่ยนสภาพนั้น เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เสื่อมลง หรือ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น กฎไตรลักษณ์กำหนดเพียงว่ามีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้กำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ตัวเราเองต่างหากที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ลองนึกถึงตอนที่คนเราตาย การตายคือการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพจากการเป็นมนุษย์ ไปเป็นสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (เทวดา วิญญาณ เดรัจฉาน สัตว์ เปรต พรหม ฯลฯ) แต่สิ่งที่กำหนดว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรนั้นอยู่ที่คนตาย ถ้าทำความดีไว้ ก็เปลี่ยนแบบ พัฒนา ขึ้นไปเป็นสิ่งที่ดีกว่า ถ้าทำไม่ดีไว้ ก็เปลี่ยนแบบเสื่อมลงไปเป็นสิ่งที่แย่กว่าเดิม บางท่านอาจจจะเคยได้ฟังมาว่า  การที่ผู้ตายจะจุติ ไปเป็นอะไรนั้นขึ้นอยู่กับสภาพจิตของผู้ตายในขณะที่ละร่าง ถ้าในขณะนั้นผู้ตายนึกถึงความดี เรื่องดีๆ ที่ทำก็จะไปจุติในภพที่ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ตายคิดกังวลนึกถึง แต่เรื่องร้ายๆก็จะไปจุติในภพภูมิที่แย่ลง ความเชื่อนี้เป็นที่มาของการ บอกให้ผู้ที่จะเสียชีวิตท่อง อะระหังสัมมา นึกถึงบุญที่ทำ ถ้าผู้ตายทำบุญมามาก ก็จะนึกถึงเรื่อง บุญ ได้ง่าย แต่ถ้าผู้ตายทำแต่เรื่องไม่ดี กังวลแต่เรื่องไม่ดีโอกาสที่จะไปสู่ภพที่ดีก็คงยาก นั่นเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต  แต่กฎไตรลักษณ์ไม่ได้ เป็นกับเรื่องใหญ่ๆ เท่านั้น กฎไตรลักษณ์เกิดกับทุกสิ่ง มีผลกับทุกการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแค่ไหน มีผลครอบคลุมหมดทั้งเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของปัจเจกชน จนถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ครับรวมการเปลี่ยนแปลงขององค์กรด้วย  องค์กรทุกองค์กร มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่มีองค์กรไหนที่จะเกิดขึ้นมาแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง อาจพูดได้ว่าการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เป็นเรื่อง ปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นไปตามกฎอนิจจัง ของไตรลักษณ์  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลายครั้งทำให้เกิดทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทุกขัง จนสุดท้ายต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์กร อนัตตา  เอาละครับทีนี้ถ้ามันจะต้องเป็นไปอย่างนั้น ตามกฎไตรลักษณ์ แล้วเราต้องทำอะไรด้วยหรือ รอให้องค์กรเปลี่ยนไปตามวัฏจักร ของมันก็น่าจะได้ จริงอยู่ครับ เราจะทำหรือไม่ทำอะไร ก็จะไป หยุด การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจไปในทิศทางที่แย่ลง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลง เข้าใจทุกข์ มองเห็นปัญหา เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญญา ไม่ได้มองปัญหาเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกข์ เราจะช่วยกำหนดให้ทิศทางการเปลี่ยนแปลง ไปในทิศทางที่พัฒนาขึ้นได้

 
              ถึงตรงนี้หลายท่านคงพอจะนึกออกแล้วนะครับว่า การพัฒนา คือการเปลี่ยนแบบหนึ่งตามกฎไตรลักษณ์ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่ดีขึ้น ถ้าเราเข้าใจหลักไตรลักษณ์ เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ไปทุกข์ กลัว กังวล กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ใจเราก็จะสงบ ใจเราก็จะมีพลัง เกิดปัญญา เห็นช่องทางในการทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น การเกิดปัญญาจากปัญหา หรือ ปัญญาจากการเห็นทุกข์นี้ เองที่ช่วยให้เราบังคับทิศทางตอนที่ เกิดการ “คลายสภาพ” (อนัตตา) ให้สิ่งที่เราอยากเปลี่ยน เปลี่ยนไปในทิศที่ดีขึ้นได้ เอาละครับคงจะพอเห็น ความเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกัน ของการพัฒนา กับความเข้าใจกฎไตรลักษณ์ นะครับ ท่านผู้อ่าน อ่านแล้วคิดเห็นประการใด จะเล่าแลกเปลี่ยนกันก็ยินดีครับ ขอบคุณและสวัสดีครับ

 

 

 

บุญกุศลอันใด ที่เกิดจากบทความชิ้นนี้ ขออุทิศให้ แก่ ผู้อ่านที่นำไปใคร่ครวญ ขบคิด ปฏิบัติ

และขออุทิศ แด่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ ของผู้เขียน

 

ไม่สงวนลิกข์สิทธิ์ ใดๆทั้งสิ้น สามารถนำไปแจกจ่าย คัดลอก ทำซ้ำ ได้ตามต้องการ

หากมีข้อซักถาม ข้อแนะนำหรืออยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดจากการอ่านบทความชิ้นนี้ กรุณาส่ง อีเมล์มาที่

นิลฉงน นลเฉลย  <[email protected]> 

 

คำสำคัญ (Tags): #พัฒนา#ไตรลักษณ์
หมายเลขบันทึก: 188209เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2008 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท