นั่งอ่านหนังสือเก่าไปเรื่อยๆ เจอพระสูตรสองอันที่น่าสนใจคือ จูฬราหุโลวาทสูตร ซึ่งตรัสสอนพระราหุลเมื่อครั้งยังบรรพชาเป็นสามเณร และ อภัยราชกุมารสูตร ซึ่งพระอภัยราชกุมารเป็นราชบุตรของพระเจ้าพิมพิสาร
สำหรับข้อความฉบับเต็มนั้น เชิญท่านสาธุชนศึกษาได้เองตามอัธยาศัยจากลิงก์ที่ได้ให้ไว้ข้างบนแล้ว
เรื่องเหล่านี้ ผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้คนไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นข้อเท็จจริงง่ายๆ ไม่ใช่อภิธรรมขั้นสูงเลย (สอนผู้เยาว์) แต่กลับมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
จูฬราหุโลวาทสูตร
[๑๒๗] ... ดูกรราหุล เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสา ทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
การกล่าวเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงระหว่างเพื่อนฝูง ดูว่าจะเป็นเรื่องที่อำกันได้อย่างสนุกสนาน และตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าเพื่อนย่อมอภัยให้แก่กันได้
ข้อเท็จจริงคือการกล่าวเท็จก็คือการกล่าวเท็จ เมื่อกระทำแล้วก็คือการกล่าวเท็จ แม้ผู้ฟังจะเข้าใจได้และให้อภัย แต่ผู้กล่าวเท็จก็กล่าวเท็จไปแล้ว ส่วนสมมุติฐานว่าเพื่อนจะให้อภัยนั้น เป็นการคิดไปเองล่วงหน้า ถ้าเพื่อนให้อภัยคงไม่เสียหายเท่าไหร่ แต่ถ้าเพื่อนหลงเชื่อแล้วกระทำการอะไรที่ผิดพลาดไปจากความเท็จนั้น (เช่นโกรธ) ผู้ที่กล่าวเท็จก็จะไม่มีปัญญาไปแก้ไขสิ่งที่ตนได้ทำลงไป
ระงับกรรมที่สาเหตุ เลิก "แก้ปัญหา" ไปตามเหตุการณ์เสียทีดีไหมครับ
อภัยราชกุมารสูตร
[๙๔] ... ดูกรราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบ ด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่ จะพยากรณ์วาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้น เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ...
- วาจาที่ไม่จริง, ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง, ฟังไม่เข้าหู --> ไม่กล่าว
- วาจาที่จริง, ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง, ไม่เข้าหู --> ไม่กล่าว พูดไปก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ
- วาจาที่จริง, เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง, แต่ไม่เข้าหู --> หาจังหวะพูดตามกาลเทศะ
- วาจาที่ไม่จริง, ไม่เป็นประโยชน์, ผู้ฟังชอบ --> ไม่กล่าว เป็นวาจาที่เกิดจากความไม่จริงใจ
- วาจาที่จริง, ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟัง, ผู้ฟังชอบ --> ก็ไม่กล่าว เรื่องไร้สาระ
เรื่องไม่จริง ไม่ควรกล่าวอยู่แล้ว; แต่ถึงเรื่องที่จะพูดเป็นเรื่องจริง ก็ยังไม่แน่ว่าสมควรพูด ควรพิจารณาว่าเกิดประโยชน์ต่อผู้ฟังหรือไม่ และผู้ฟังอยู่ในสภาพที่จะรับฟังหรือไม่ ดังนั้นบรรดาสาวๆ เม้าธ์กันน้อยๆ หน่อยครับ อิอิ