ทัศนคติเชิงบวก: สิ่งที่สมุทรสาครและตากเรียนรู้


ข้อเขียนส่วนนี้ตกตะกร้าในรายงานฉบับจริง แต่อยากให้ได้อ่านค่ะ

เป็นแนวคิดใหม่ที่ค้นพบจากสองพื้นที่แรกที่ไปศึกษา

 ประการแรก คือในจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มมีการเปลี่ยนท่าทีต่อแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นภาระ มาเป็นการมองว่าแรงงานข้ามชาติ และนายจ้างเป็น “ลูกค้า” เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครมีความต้องการแรงงานข้ามชาติในธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมงขนาดใหญ่ ยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มเติมตามฤดูกาล และมีแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนมากแม้จะไม่ทั้งหมด กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพ การซื้อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นกิจกรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ว่านำรายได้เข้าสู่โรงพยาบาลที่ให้บริการไม่น้อย ประกอบกับแรงงานที่ขึ้นทะเบียนก็มีกำลังซื้อสูง สามารถเลือกใช้บริการสุขภาพได้ทั้งในโรงพยาบาลและตามคลินิก ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายต่อครั้งสูง แต่สะดวกกว่าไปรับบริการที่โรงพยาบาล ดังนั้นจึงเกิดนวัตกรรมเพื่อรองรับ การตรวจสุขภาพและการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ  โรงพยาบาลยังต้องแข่งขันการให้บริการและอำนวยความสะดวกกับคลินิกเอกชน เช่นการจ้างล่ามและพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว การให้ความรู้ด้านสุขภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้บริการ

  

เมื่อระบบหลักประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติมี “ลูกค้า” มากเพียงพอ ก็สามารถรองรับลูกค้าที่มีหลักประกันสุขภาพและไม่มีหลักประกันสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง ทั้งยังสามารถสร้างสรรค์โครงการส่งเสริมป้องกันโรคเพื่อประชากรแรงงานข้ามชาติได้โดยไม่แบ่งแยก

ประการที่สองเสียงสะท้อนจากจังหวัดตาก แสดงให้เห็นว่าการลงทุนด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคในจังหวัดชายแดน เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาวะของประชากรสัญชาติไทยอย่างแยกไม่ออก เพราะองคาพยพของสุขภาพในสังคมชายแดนที่ประกอบด้วยคนสัญชาติและคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นไม่สามารถแยกกันได้ เมื่อมีฐานคิดดังนั้นแล้ว ย่อมเกิดการปรับเปลี่ยนความคิดจากเปลี่ยน”ภาระ”ในการรักษา เป็นช่วยประคับประคองแรงงานข้ามชาติและคนชายแดนให้ได้รับสิทธิในสุขภาพอย่างเพียงพอที่จะไม่กระทบกระเทือนสมดุลด้านสุขภาพของพื้นที่ ในสายตาของแพทย์ผู้ปฏิบัติงานการลงทุนดังกล่าวมีผลทำให้ การวางแผนครอบครัวเริ่มได้ผล อัตราการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยลดลง เช่นเดียวกับระนอง อัตราการวางแผนครอบครัวเพิ่ม การส่งต่อกรณีทำแท้งไม่ปลอดภัยที่พบในโรงพยาบาลลดลง และสามารถติดตามควบคุมโรคระบาดได้ก่อนจะลุกลาม   

เห็นไหมคะ เพียงแค่คิดบวก ก็เปลี่ยนท่าทีที่มีผลต่อสุขภาพแรงงานข้ามชาติได้บ้างแล้วค่ะ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 187197เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาอยู่ในภาคการผลิตที่เราทำไม่ได้ การใช้มาตรการเชิงป้องกันน่าจะเป็นวิธีการที่ควรใช้เพื่อประโยชน์ในระยะยาวในการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพในเขตชายแดน และทำให้แรงงานเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพและได้รับการดูแลตามมาตรฐานแรงงานที่ควรจะได้รับ แต่แรงงานที่อยู่นอกระบบล่ะ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับจังหวัด แต่ลักลอบทำงานอยู่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ หรือด้านสังคมอื่น ๆ ตามมา เราก็คิดแง่บวกน่ะ ว่า จังหวัด โดยเฉพาะสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่มีภารกิจในการดูแลแรงงานเหล่านี้ และนายจ้างก็คงร่วมกันทำแรงงานนอกระบบ มาเป็นแรงงานในระบบในไม่ช้า... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท