ต่อจากตอนที่แล้ว เล่าโดย คุณปัทมาวดี เติมวิเศษ
คุณพรศิริ เรือนสว่าง กับ
รางวัลการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์
( Humanized Healthcare Award )
คุณพรศิริ เรือนสว่าง รองหัวหน้ากลุ่มการพยาบาล ผู้ได้รับรางวัล อาจารย์อารี-สมสวาท เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ จากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ในการประชุมวิชาการ 9th HA National Forum แนะนำตัวด้วยวิดิทัศน์ และเพลงมาร์ชพยาบาล
เพลงมาร์ชพยาบาล
“ อันความ กรุณา ปราณี จะมี ใครบังคับ ก็หาไม่
หลั่งมาเอง เหมือนฝน อันชื่นใจ จากฟากฟ้า สุราลัย สู่แดนดิน
ข้อความนี้ องค์พระธีรราชเจ้า พระโปรดเกล้า ประทานให้ ใจถวิล
ใช้คุณค่า กรุณา ไว้อาจิณ ดั่งวาริน จากฟ้า สู่สากล
* อันพวกเรา เหล่านักเรียน พยาบาล ปณิธาน อนุกูล เพิ่มพูนผล
เรียนวิชา กรุณา ช่วยปวงชน ผู้เจ็บไข้ ได้พ้น ทรมาน
แม้โรคร้าย จะแพร่พิษ ถึงปลิดชีพ จะยึดหลัก ดวงประทีป คือสงสาร
แม้เหนื่อยยาก ตรากตรำ ใจสำราญ อุทิศงาน เพื่อคนไข้ ทั้งใจกาย ”
คุณพรศิริ เล่าเรื่องของผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งเปรียบเสมือนครูคนแรกที่สอนให้รู้จักการดูแลผู้ป่วยเอดส์ ทั้ง ให้ข้อคิดที่ดี ในการมองผู้ป่วยเอดส์ด้วยความเข้าใจ
จิตสำนึกของความเป็นพยาบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบ
“ …. ด้วยจิตสำนึกแห่งวิชาชีพ และจรรยาพยาบาล เราไม่สามารถปฏิเสธ ไม่สามารถเลือกที่จะดูแลหรือไม่ดูแลผู้ป่วยคนใดคนหนึ่งได้ ศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของทุกคนมีอยู่ แม้เขาจะติดเชื้อเอชไอวี แม้จะต้องโทษคดีรุนแรงแต่เขามีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกัน ”
อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
“................ ด้วยสภาพของผู้ป่วยที่เห็น ติดเชื้อเอชไอวี ร่างกายที่ทรุดโทรม หายใจหอบเหนื่อย มีไข้ หนาวสั่น นั่งอยู่บนรถเข็น ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง มีผู้คุม 2 คน เนื่องจากเป็นคนไข้ที่มาจากเรือนจำกลาง คดียาเสพติด ทำให้เกิดความสงสารที่เห็นเขาเจ็บป่วย แล้วยังต้องถูกจำกัดอิสรภาพในการเคลื่อนไหวอีก...”
ก้าวพ้นความกลัวด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง
คุณพรศิริ เล่าว่า “ มีคำถาม 2 ประโยคของผู้ป่วยที่ยังอยู่ในความทรงจำจนทุกวันนี้
“ คุณไม่กลัวผมหรือ” กับ “ ตึกนี้มีพยาบาลคนเดียวหรือ”
คำถามนี้ทำให้เราสะท้อนใจว่า ผู้ป่วยกำลังทวงสิทธิของเขาหรือเปล่า ทำไมพยาบาลคนอื่นๆจึงรังเกียจ ไม่มาดูแลเขา
....ด้วยความกลัวที่ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เวลาจะเข้าไปให้การพยาบาล จะใส่อุปกรณ์ป้องกันเต็มที่ ปิดทุกส่วนของร่างกาย เหลือไว้เพียงลูกตา กลายสภาพเป็นไอ้โม่ง นานๆเข้าก็รู้สึกลำบาก ร้อนและอึดอัด จึงย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง
“ เราจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันมากมายขนาดนี้หรือ? ”
“ ผู้ป่วยเขาจะนึกว่าเรารังเกียจเขาหรือเปล่า ?”
“ เอดส์ติดกันได้ทางไหนบ้าง?”
เมื่อตั้งสติคิดได้ ความกลัวต้องมีเหตุผล หาความรู้เพิ่มเติมโรคนี้ติดต่อกันได้อย่างไร เมื่อ เราไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเขา ไม่ได้ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับเขา เราไม่ได้ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นทางหลักที่จะติดเชื้อเอดส์ได้ ทำไมเราจะต้องป้องกันมากมายอย่างนั้น คิดได้ จึงเหลืออุปกรณ์ป้องกันเพียงแค่ ถุงมือกับหน้ากากอนามัย ( Mask ) เท่านั้นประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเอดส์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ทำให้มั่นใจมากขึ้น การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกลัวอย่างมีเหตุผล ใช้อุปกรณ์ป้องกันในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ”
บททดสอบของการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์มิได้จบเพียงแค่นี้ เมื่อสถาบันเปิดตึกรับผู้ป่วยเอดส์ คุณพรศิริอาสาสมัครที่จะทำงาน พร้อมทีมงานที่ได้มาด้วยความสมัครใจเช่นกัน ประสบการณ์จากครูคนแรก ถูกนำมาถ่ายทอดให้แก่ทีมงาน เรื่องการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยไม่มีปัญหาเพราะทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแม้งานจะหนัก เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเจ้าหน้าที่ในตึกต้องทำเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นล้างถาดอาหารผู้ป่วย ซักเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของผู้ป่วย ทุกคนไม่ย่อท้อ
ความกดดันจากครอบครัว สังคมในโรงพยาบาลลงโทษผู้ปฏิบัติงานเหมือนเป็นผู้ป่วยเอดส์ คุณพรศิริเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ กว่าจะถึงวันนี้ พวกเราผู้ร่วมชะตากรรมดูแลผู้ป่วยเอดส์ ได้ร่วมกันแก้ปัญหา ปลอบใจกัน ร้องไห้ร่วมกันมา เนื่องจากความกดดัน เราถูกรังเกียจ ถูกปฏิเสธความสัมพันธ์ ความเป็นเพื่อน เดินสวนกันยังหลบ เสื้อผ้าที่เคยจ้างซักถูกปฏิเสธ เจ้าหน้าที่โรงครัวแยกของใช้ จาน ช้อน แม้แต่ลูกเจ้าหน้าที่ถูกทางโรงเรียน ขอให้ย้ายโรงเรียน ถูกตะโกนใส่ว่าเจ้าหน้าที่ตึกเอดส์มาแล้ว และทันทีที่เดินคล้อยหลัง เขาใช้น้ำยาไฮโปคลอไรท์ราดตามทางเดินไล่หลังมา ......... ทุกคนถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ป่วยเอดส์ ”
ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็ง ด้วยความรักในสถาบัน ด้วยศรัทธาแห่งวิชาชีพ และความรักสามัคคีของทีมงาน ซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกันดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ทำให้คุณพรศิริและทีมงานก้าวพ้นวิกฤติการณ์ นั้น บทเรียนที่ผ่านมาได้หล่อหลอมและพัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพในการดูแลผู้ป่วยเอดส์ ของสถาบันบำราศนราดูร
คุณพรศิริ จะคอย ถ่ายทอดประสบการณ์และปลูกฝังจิตสำนึกของการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ให้กับทีมงานและให้ ความสำคัญกับทีมงานทุกคน คุณอรวรรณ ทีมงานคนหนึ่งบอกว่า “ ทำงานกับพี่ติ๋มมานาน ฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน พี่เขาจะบอกเสมอว่า เวลา เหนื่อยเราก็เหนื่อยด้วยกัน เมื่อถึงเวลาพักเราจะพักด้วยกันทั้งหมด”
ผู้ป่วยรายหนึ่งถูกนำส่งโรงพยาบาลโดยมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง สภาพร่างกายเปื่อยพุพอง น้ำเหลืองเยิ้ม มีหนอนในเล็บที่เน่าจนเกือบหลุด ทีมงานให้การดูแลโดยไม่รังเกียจ จนผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้ญาติผู้ป่วยอื่นๆ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ญาติ ยังดูแลอย่างไม่รังเกียจ เขาเหล่านั้นเริ่มสนใจและหันกลับมาดูแลผู้ป่วย
คุณสมปอง ผู้ช่วยเหลือคนไข้กล่าวว่า “ แรกๆก็กลัวค่ะ แต่พอได้มาสัมผัส ทำงานจริงๆไม่น่ากลัวอย่างที่คิด .....คนไข้จะให้กำลังใจเราด้วย ..พอคุ้นเคยกับคนไข้ก็ไม่กลัวแล้ว อยากทำงานที่นี่ ”
“ .... ดูแลเขาด้วยใจ ภูมิใจที่เราทำให้เขาดีขึ้น ถอดเล็บให้อาบน้ำให้ ไม่รังเกียจ แต่สงสัยและสงสาร เขามีความเจ็บปวดบ้างไหม ............อยากให้น้องๆช่วยกันตั้งใจ ดูแลผู้ป่วย เปรียบเหมือนกับเขาเป็นญาติเรา เราทำให้เขา บุญกุศลก็ได้กับตัวเราเอง”
รอยยิ้มของผู้ป่วย คือ ความสุขของผู้ให้บริการ เป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่
แขกพิเศษที่รับเชิญมา คือ คุณพุทธิพร ลิมปนดุษฎี เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์และมุ่งมั่นกับการพัฒนาคุณภาพบริการ กล่าวว่า. “...ปัญหาของผู้ป่วยเป็นการบ้านที่เราต้องนำมาคิดเสมอเพื่อหาทางแก้ไข ทำอย่างไรให้ดีขึ้น ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของเราสุขสบายและปลอดภัย จนเกิดนวตกรรมหลายอย่าง เช่น SHIP ,CEPOR, ฟองน้ำมหัศจรรย์, การดูแลผู้ป่วย crypto..”
“.... อยากมาที่บำราศฯเพราะไม่ถูกรังเกียจ เคยไปที่อื่น พยาบาลไม่เข้ามาดูแล ” เป็นคำพูดของผู้ป่วยที่กล่าวถึงบริการของเรา ทำให้เราภาคภูมิใจที่ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในบริการของเรา
คุณพุทธิพร ให้ความสำคัญกับความรู้สึก จิตใจรวมทั้ง ครอบครัวของผู้ป่วยด้วย ตัวอย่างเช่น ช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ที่ไม่สามารถไปรับปริญญาได้เพราะสภาพร่างกายไม่อำนวย ได้ถ่ายรูปร่วมกันกับพ่อแม่ในชุดครุยรับปริญญา เป็น ความสุขของพ่อแม่และผู้ป่วยครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิต หรือนิมนต์พระมาให้ผู้ป่วยทำบุญวันเกิด ฯลฯ
ปิดท้ายด้วยบทกลอนจากบทประพันธ์ของคุณณัฐนันท์ หาญณรงค์
อันความดี ดีอยู่ คู่คงโลก ถึงวิโยค ชีพลาลับ ชื่อกลับหรู
เยาวชน คนรุ่นหลัง ยังเชิดชู ทั้งวิญญู ทรงคุณค่า เกื้อการุณย์
สองบัณฑิต ที่สังคม ชื่นชมค่า จะรักษา เกียรติไว้ มิให้สูญ
ปัญญาชน คนดี มีพร้อมมูล ช่วยเกื้อกูล สังคม ดุจร่มไทร
วานนี้ วันนี้และพรุ่งนี้ จะสรรสร้าง คุณความดี ที่ยิ่งใหญ่
ทุกทุกอย่าง ด้วยชีวิต ด้วยจิตใจ Humanized Healthcare แด่ปวงชน
ปิ่งจ๊ะ....ปิ่งถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีนะ ขอชื่นชม เค้าติดตาม blog ของปิ่งเสมอ และพยายามโทรหาปิ่งเบอร์เก่าแต่ติดต่อไม่ได้เลย ปิ่งช่วยติดต่อที่อีเมลนี้ด้วย รักคิดถึงเสมอ
1. นายประจักษ์
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอมา
2. พ.ญ. อัจฉรา เชาวะวณิช
ขอบคุณค่ะท่านผอ. ต้องขอบคุณพี่ปัทมาวดีด้วยค่ะ ที่เล่าได้ดีมากค่ะ
3. ปูนา
ต้องชมพี่ปัทมาวดีที่เป็นคนเล่าเรื่องค่ะ ขอบคุณปูนาที่ให้กำลังใจ อยากอ่าน blog ปูนาบ้างจัง tel.ยังเบอร์เดิมจ้า คิดถึงเสมอ
หวัดดีค่ะพี่ปิ่ง
ดีใจมากที่เจอในบล็อก ไม่ได้เจอตั้งนาน พี่ปิ่งสบายดีนะคะ
คิดถึงเสมอ
เกศ