บันทึกสาระวันแรกของการเรียนกฎหมายมหาชนเบื้องต้น


ที่ใดมีสังคม ที่นั่นย่อมมีกฎหมาย

          วันนี้  (วันพฤหัสฯที่ 5 มิ.ย.) เดินทางมาทันเวลาเรียนพอดี  แต่ก็ยังมีเพื่อน ๆ นับร้อยที่มานั่งอยู่ก่อน จนห้องดูเหมือนแคบไปเลย  ต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยอาจารย์ผู้บรรยายอย่างใจจดใจจ่อ สายตาและท่าทีสื่อถึงหัวใจที่มุ่งมั่น  มีความฝันและมีพลัง วันนี้เป็นวันแรกของการเรียนการสอนวิชากฎหมายมหาชนเบื้องต้น  เท่าที่ทราบจากการปฐมนิเทศเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา  วิชานี้เพิ่งปรับมาให้นักศึกษาบาคบัณฑิตเรียนในเทอมแรกของปีแรก(ชั้นปีที่ 2)  ซึ่งปกติรุ่นพี่เรียนวิชานี้ในภาคแรกของปีที่สอง(ชั้นปีที่ 3)

          อาจารย์ผู้บรรยายประจำวิชาในกลุ่มที่ 1 ณ ห้อง 301  คือ ท่านอาจาย์ รศ.สมยศ  เชื้อไทย  ซึ่งท่านอาจารย์บอกว่ายังมีอาจารย์ที่จะมาแบ่งกันบรรยายเนื้อหารายวิชาในกลุ่มนี้อีกท่านหนึ่งคือ ท่านอาจารย์ ผศ.ดร.หัสวุฒิ  วิฑิตวิริยกุล (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด)  ท่านจะมาบรรยายในส่วนแรก(ตามเค้าโครงการบรรยาย) ที่ว่าด้วย ลักษณะของกฎหมายมหาชน  ส่วนท่านอาจารย์สมยศเอง จะมาบรรยายในส่วนที่ 2 และ 3 ต่อไป  ข้อสอบมี 5 ข้อ  3  ชั่วโมง  เป็นอัตนัยล้วน  

          วันนี้  ท่านอาจารย์สมยศ เชื้อไทย  ยังมิได้ลงสู่เนื้อหามากนัก เพียงแต่เป็นการเกริ่นถึงแนวทางการศึกษา เค้าโครงและสาระสำคัญของวิชานี้เท่านั้น  เบื้องต้นท่านกล่าวให้ฟังว่าวิชากฎหมายมหาชนนั้นมาหลังกฎหมายแพ่ง  มีลักษณะทางเนื้อหาที่แตกต่างจากกฎหมายเอกชนหรือแมแต่กฎหมายอาญาซึ่งมีระบบมากกว่า  กฎหมายมหาชนมีพัฒนาการในประเทศไทยไม่ถึง 10 ปี  ยังต้องมีการพัฒนาและต้องจัดระบบอีกเยอะ ขณะนี้รัฐธรรมนูญเองก็ยังไม่รู้จะไปทางไหนอย่างไร 

          กฎหมายมหาชนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ  กฎหมายปกครองและการคลัง  นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อมโยงกับศาสตร์หลายแขนง เช่น สังคมวิทยา  ประวัติศาสตร์และปรัชญา 

 

หลักการศึกษากฎหมาย 3  ประการ

 

          ท่านอาจารย์ได้แนะนำถึงสูตรของการเรียนกฎหมายหรือหลักการศึกษากฎหมาย 3  ประการ  ซึ่งท่านบอกว่าถ้าทำได้ 3  เกณฑ์นี้ก็จะเรียนกฎหมายได้ดีและจบนิติศาสตร์บัณฑิตแน่นอน  หลักการนั้นมีดังนี้ครับ

1.      ต้องจดจำหลักเกณฑ์ของกฎหมายได้

          1)  องค์ประกอบและผลทางกฎหมาย

          องค์ประกอบคือ ส่วนเหตุ  เป็นที่มาของผล  ตัวเหตุนี้ใช้ส่องดูข้อเท็จจริงเพื่อหาข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญในทางกฎหมาย  ข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบนั้นมีลักษณะเป็นการกระทำหรือเป็นเหตุการณ์ เช่น นาย ก.แทงนาย ข. ตาย   นายเหลืองยิงนายแดงตาย   สังเกตได้ว่าข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบในหลักกฎหมายนั้นมีลักษณะเป็นนามธรรม  เช่นในกฎหมายอาญา  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  มีความผิด...นาย ก.แทงนาย ข. ตาย  นายเหลืองยิงนายแดงตาย  เหมือนหรือต่างกัน  เหมือนกัน คือ การฆ่าผู้อื่น  มันตรงกันในสาระสำคัญ  แต่มันต่างกันโดยรูปธรรม แต่ฆ่า เป็นนามธรรม ท่านต้องเห็นรูปธรรมกับนามธรรมตรงกัน  ตรงกันในสาระสำคัญ    นาย ก.แทงนาย ก.ตาย  ผิดไม่?ตามบทนี้  เพราะว่าไม่ได้ฆ่าผู้อื่น  วิชากฎหมายจึงเป็นวิชาที่เป็นสีขาวและสีดำ  ไม่มีสีเทา

          สาระสำคัญ คือ สิ่งสำคัญที่ใช้วินิจฉัยข้อเท็จจริงกับหลักกฎหมาย 

          ข้อเท็จจริงทางกฎหมาย บางครั้งไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น เรือไทยและอากาศยานไทยหรือเครื่องบินไทยให้ถือว่าเป็นราชอาณาจักรไทย  อันที่จริงถ้าไปอยู่ในต่างประเทศมันก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง  แต่กฎหมายใช้คำว่า ให้ถือว่า  เพื่อทำให้กฎหมายไทยเข้าไปมีอำนาจจัดการกับกรณีต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาท ถ้าหากไม่บัญญัติเช่นนี้ก็จะเป็นปัญหาว่าใครจะจัดการ

          ผลทางกฎหมาย คืออะไร ?  ในทางแพ่งก็คือสิทธิและหน้าที่  ในทางอาญาก็คือโทษ  ในทางมหาชนก็คือมาตรการในการใช้อำนาจ  เช่น  สั่งปิดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตถ้าสถานบริการจัดแสดงลามกอนาจาร  เป็นต้น

          ผลในทางกฎหมาย เป็นสิ่งที่เราค้นหา องค์ประกอบเป็นแว่นตาที่เราใช้มองข้อเท็จจริง   การเห็นข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องจึงเป็นเรื่องยาก  วิชานิติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการประเมินคุณค่าของการกระทำว่าถูกหรือผิด  มีลักษณะเชื่อมโยงกับจริยศาสตร์ว่าด้วยความดีและความไม่ดี        

          นักกฎหมายจึงต้องมีความคมชัด ลึก  คือ คมในประเด็นว่าเถียงกันเรื่องอะไร  พิจารณาให้จบเป็นประเด็น ๆ ไป  เพื่อนำไปสู่ข้อยุติ  ชัดในแง่ของเนื้อหาหลักเกณฑ์และเข้าใจถึงเหตุผลและความคิด ต้องชัดเจน  กฎหมายเหมือนไม้บรรทัดที่จะใช้วัดสิ่งทั้งหลาย  ถ้าเรามีไม้บรรทัดแต่เส้นระยะไม่ชัดก็วัดไม่ได้   เช่น  บุคคลมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์  จึงบรรลุนิติภาวะ  ชัดตรงไหน  ตรงที่คำว่า บริบูรณ์  นั่นเอง

          2) ถ้อยคำของกฎหมาย

          ถ้อยคำของกฎหมายบางคำไม่สามารถใช้พจนานุกรมตีความได้  เช่น  สิทธิไล่เบี้ย   คำว่า สิทธิ แปลว่า อำนาจอันชอบธรรม  ไล่  แปลว่า ขับไล่  เบี้ย  แปลว่า หอย   รวมความว่า  สิทธิอันชอบธรรมที่จะขับไล่หอย   มันไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น   ถ้อยคำในทางกฎหมายมหาชนเองก็มีบางคำที่ยังไม่ชัดเจนในความหมาย  เช่น ปฏิวัติ หรือ รัฐประหาร เป็นต้นอาจจะไม่มีคำนิยาม  หรือบางคำที่ต้องเข้าใจให้ชัดว่าต่างกัน เช่น ผู้เยาว์  ใช้คำว่า เด็ก ไม่ได้ต่างกัน   ที่สำคัญในภาษาไทยสุดยอดความยากคือ ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน ประโยคหลักหรือประโยคย่อย   ใช้ประธานร่วมหรือกรรมร่วมอย่างไร  ก็ยังมีปัญหากันบางครั้งในเรื่องภาษา 

2.      ต้องเข้าใจความคิดหรือเหตุผลของกฎหมายที่เรียกว่า เจตนารมณ์ หรือ ความมุ่งหมาย ของกฎหมาย

ตัวบทเหมือนสร้อยไข่มุกเป็นเม็ด ๆ มันแยกกันแต่สัมพันธ์กัน  ในทางกฎหมายสิ่งที่ร้อยให้ตัวบทเป็นหมวดหมู่เดียวกันคือ ความคิดทางกฎหมาย

การเรียนรู้กฎหมายก็คือ การค้นหา ความคิด หรือ เจตนารมณ์  หรือ เหตุผล หรือ ความมุ่งหมาย ที่ร้อยรัดตัวบทกฎหมายนั่นเอง 

ในกฎหมายมหาชนไม่มีประมวลกฎหมายมหาชน เพราะอะไรหรือ  เพราะความยากของกฎหมายมหาชนอยู่ที่ว่าเป็นกฎเกณฑ์แบบแผนความประพฤติที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองหรือการบริหาร

งานทางการบริหารคือะไร?  มันมีความหลากหลาย  จำกัดความยาก  ง่าย ๆ ว่างานแม่บ้านคืออะไร ? ก็ยากที่จะอธิบาย  ยากที่จะวางระบบจัดหมวดหมู่ต่าง ๆ  อีกประการหนึ่งคือความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัต  จึงสร้างเกณฑ์ยาก  ซึ่งต่างจากกฎหมายในทางแพ่งและทางอาญา   เพราะฉะนั้นในทางการบริหารหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่เรื่องของ ดุลยพินิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้มันดีที่สุด

          เพราะฉะนั้น ต้องค้นหาเหตุผลให้ได้  ตั้งคำถามเสมอว่า ทำไม ทำไมและทำไม 

3.   ต้องใช้เป็น  คือ นำกฎหมายไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงในคดีได้  ที่เรียกว่า การปรับบท หรือ การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าปรับกับหลักกฎหมายเกณฑ์ของกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ ได้หรือไม่และมีผลทางกฎหมายอย่างไร

          การเรียนนิติศาสตร์ต้องมีตัวอย่างมาคิด  ต้องมีข้อสอบมาทำ  แล้วจะเข้าใจมากขึ้น  เพื่อนำตัวบทที่เป็นนามธรรมมาปรับบทเข้ากับข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมให้ได้  เวลาทำข้อสอบต้องหาประเด็นให้เจอว่าอยู่ที่ไหน  หาที่ไหนหรือ  หาที่องค์ประกอบ ถ้าถามเรื่องผู้เยาว์มีประเด็นเรื่องอายุแน่นอน  เปลี่ยนจากภาวะผู้เยาว์ไปสู่บรรลุนิติภาวะที่อายุ   

          คำถามมี 2 ลักษณะ คือ ปลายปิดและปลายเปิด  ปลายปิดเขาชี้ประเด็นมาแล้ว  ปลายเปิดเราต้องหาประเด็นเอง 

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมอื่น ๆ

          ท่านอาจารย์ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า

-          นิติศาสตร์เป็นศาสตร์เฉพาะ วิธีการเรียนจึงจำเป็นต้องเกาะติดหน่อย  แต่ปัญหาส่วนมากคือ ไม่มีเวลาอ่านและติดตาม 

-    การจำหลักกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องจำทุกตัว  แต่ให้เข้าใจหลักให้ได้  ว่ามาตรานี้วางหลักไว้อย่างไร  ไม่จำเป็นต้องเรียงตัวอักษรตามตัวบท    ตัวบทคือ สรีระทางกฎหมาย  ที่ทำหน้าที่สื่อ ความคิดหรือหลักเหตุผลทางกฎหมาย  ตัวบทจึงเป็นดุจร่างกาย ส่วนเหตุผลนั้นเป็นจิตวิญญาณ  ตัวบทมันเปลี่ยนได้  แต่หลักเหตุผล  หลักคิด  หลักความถูกต้องมันคงอยู่อย่างนั้น 

-    ขอบเขตของกฎหมายมหาชนจะกว้าง  ครอบคลุมรัฐธรรมนูญ  ศาลปกครองและการคลัง  สาระสำคัญจึงไปรวมศูนย์อยู่ที่รัฐ  ซึ่งในมิติของกฎหมายจะมองรัฐในเชิงสถาบัน  หมายถึง ระบบของนิติสัมพันธ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  เพราะฉะนั้น ปัญหาทั้งหลายมันเชื่อมโยงอยู่กับรัฐหรืออำนาจของรัฐ 

-          เมื่อเกิดรัฐสมัยใหม่จึงต้องมีกระบวนการทางนิติบัญญัติออกมาเพื่อจะสร้างชาติใหม่ 

-          ความยากของกฎหมายมหาชน คือ การค้นประเด็นทางกฎหมาย

-    กฎหมายไม่ใช่ตัวบทอย่างเดียว  เพราะบางอย่างก็ต้องอาศัยจารีตในการตัดสิน ดังเช่นใน ป.พ.พ. มาตรา 4 (ตัวบท)  กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณี ซึ่ง ต้องด้วย บทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมาย ตามตัวอักษร หรือ ตามความมุ่งหมาย ของบทบัญญัตินั้นๆ  (วรรคสอง)  เมื่อ ไม่มีบทกฎหมาย ที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้น ตามจารีตประเพณี แห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดี อาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมาย เช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัย ตามหลักกฎหมายทั่วไป

-    การปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ดีที่สุด แต่เลวน้อยที่สุด  แต่ข้อเลวไม่ควรพูดบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ขาดความศรัทธาในประชาธิปไตย  ทุกอย่างมีดีมีเลว  กระบวนการยุติธรรมก็มีโอกาสผิดพลาดได้  คนในคุกบางคนอาจเป็นผู้บริสุทธิ์   ผู้บริสุทธิ์บางคนอาจยอมรับสารภาพโดยไม่ได้ทำผิด

-    หลักความเสมอภาค สิ่งที่เหมือนกันต้องได้รับผลอย่างเดียวกัน  แต่รวมไปถึงสิ่งที่ต่างกันให้ผลเหมือนกันไม่ได้  เช่น อาจารย์กับนักศึกษา  ต่างกันโดยสถานภาพ  แต่เหมือนกันโดยความเป็นคน  หลายเรื่องที่เราพยายามทำสิ่งที่ต่างกันให้เหมือนกันมันจึงมีปัญหา 

 

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

คราวหน้ามาว่ากันใหม่น่ะครับ

หวังว่าเพื่อน ๆ และผู้สนใจคงได้ประโยชน์จากการสรุปการเรียนครั้งนี้บ้างไม่มากก็น้อย 

ขอบคุณที่ติดตามและตามติดน่ะครับ

สวัสดี

ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม  คลิกเลย ครับ 

 

         

 

         

หมายเลขบันทึก: 186835เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2008 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น้อง TuLaw 51

สามารถเข้าเรียนวิชากฏมหาชนเพิ่มเติมได้

ในกลุ่มวันศุกร์ ห้อง LT 2 ชั้น 3 ค่ะ

เวลา 19.30-21.30 น.

อาจารย์สอนสนุกมากๆค่ะ

ขอบคุณมากๆ ครับ

ขอบคุณครับพี่ต้น(ญาณภัทร) ที่สรุปเนื้อหาและบรรยายได้อย่างดีเยี่ยมเลยครับ

ผมขอนำบล็อกนี้ไปประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ ในเว็บบอร์ดรู้จักนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท