เรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด.............ตอนที่ ๒


พื้นฐานชีวิตและสังคม เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนกระบวนการคิด

ก่อนที่จะมาเรียนรู้การขับเคลื่อนกระบวนการคิดสู่ห้องเรียน..เรามาทำความเข้าใจกับครูทั้งหลาย เพื่อเปลี่ยนหลักคิด วิธีคิด และวิธีที่ครูสอน เสียก่อนดีไหม ที่ผ่านมาเราสอนเด็กในลักษณะการครอบงำ เปรียบเสมือน "การครอบกะลา"ครูจึงมีอิทธิพลต่อเด็กสูง จนเกิดคำว่า ครูคือปูชนียบุคคล ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ หรือเบ้าหลอมของเด็ก เรายึดปรัชญาความเชื่อนี้มาตลอดในวงการศึกษาไทย ทำให้การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นในลักษณะคับแคบทางความคิด คือเรียนรู้จากครู จำจากครู ทำตามที่ครูสอน ครูบอก ครูคือแบบอย่างที่ดีที่สุด ครูเป็นคนเก่งที่สุด พ่อแม่คนที่สองของเด็กก็คือครู เด็กเชื่อครูมากกว่าเชื่อพ่อแม่ การสอนของครูก็เน้นการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และการปลูกฝังให้เป็นคนดี ผลผลิตของเรา จึงได้เด็ก เก่งภาษา เก่งเลข และเป็นคนดีโดยการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ หรือครู  แต่...ไม่เก่งในการใช้ความคิด ไม่เก่งในการสร้างความดี เพราะได้สรุปมาจากความคิดแล้วว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นดี 

ในขณะเดียวกัน ต่างชาติใช้หลักปรัชญา การศึกษาเพื่อชีวิต การเรียนรู้จากห้องเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เปรียบเสมือน "การหงายกะลา" ครูเป็นผู้จัดการความรู้มากกว่าสอนความรู้ วิธีสอนเน้นและส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างหลากหลายทั้งเน้นทักษะการคิดพื้นฐาน และทักษะการคิดระดับสูง เด็กมีโอกาสฝึกคิดทั้งอิสระและเป็นแบบแผน แล้วสรุปจากความคิดมาเป็นองค์ความรู้ ความคิดของเด็กจึงก้าวไกลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน นักการศึกษาของเขาจึงได้คิดค้นกระบวนการ ทฤษฏีที่สอดรับกับหลักการสอนของพวกเขา จึงเกิด "กระบวนการทักษะชีวิต" "กระบวนการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง" "การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา" และอื่นๆอีกมากมาย ส่งผลให้เด็กเหล่านั้นได้รับการพัฒนาเสริมส่งอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตที่ออกมาเด็กของเขาจึงมีความเชื่อมั่นสูง มีความกล้า กล้าคิดกล้าทำ กล้าตัดสินใจ ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ นิสัยและพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาจากฐานความคิดของเด็กทั้งสิ้น  มิใช่ฐานความจำ

ผมไม่ได้อวดอ้าง ยกย่องเด็กต่างชาติว่าเขามีคุณภาพกว่าเด็กไทย (แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้น) หากแต่ต้องการเปรียบเทียบให้เห็น วิธีการสอนของเขา ซึ่งในแต่ละวิธีนั้นยังมีเทคนิคอีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง สรุปก็คือว่า เขาสอนเด็กโดยยึดที่ตัวเด็ก และเน้นกระบวนการคิดเป็นหลัก แต่...เราสอนเด็กโดยยึดที่ตัวครู และเน้นกระบวนการจำเป็นหลัก แถมยังมีสภาพทางสังคม (วิถีชีวิต การเลี้ยงดู วัฒนธรรมความเชื่อ) ที่คอยเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น

เห็นไหมครับคุณครู แค่เริ่มต้นในความเป็นพื้นฐานของสังคม วิธีคิด และหลักการสอนของครูเท่านั้นก็เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน เราต้องเชื่อว่าแม้จะปฏิรูปการศึกษามาหลายปี แต่...หลักการสอน กระบวนการสอน วิธีการสอน เทคนิคการสอนของครูส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนตามครรลองที่ควรจะเป็น และสอดรับตามวิถีชีวิตของคนไทย เราจำฝังใจอยู่อย่างเดียวว่า จัดการเรียนรู้โดย "เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ" หรือ Child Center นั่นคือหน้าที่ของครูยุคปฏิรูปฯ  แท้จริงเรานำเอาหลักคิดของเขามาใช้  แต่..เราเอามาใช้ไม่หมด ใช้อย่างเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง หรือถ้าจะพูดพล่อยๆหน่อยก็คือ ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ถูก เนื่องจากครูบางส่วนสละคราบความนึกคิดคำว่า "ครอบงำ"ยังไม่ออก ครูไทยก็คือครูไทยวันยังคำ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะวิถีชีวิตและสังคมของของครู ของเด็ก มันก็เหมือนกันคือ ถูกครอบงำมาโดยวิถีไทยทั้งสิ้น

ถึงเวลาที่ครูจะสลัดความเป็นคราบเก่าออกไปให้หมดหรือยัง    เรามาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีพูด วิธีทำ หันมาจัดการความรู้ให้เด็กที่เน้นกระบวนการคิด ไม่ใช่สอนหนังสือ สอนความรู้  โดยยึดเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ในการคิดพื้นฐาน ม้งก็คิดอย่างม้ง กะเหรี่ยงก็คิดอย่างกะเหรี่ยง ลีซอก็คิดอย่างลีซอ หากแต่การคิดในระดับสูง นำเอาองค์ความคิดที่เป็นสากลมาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเด็กของเรา ดีไหมครับคุณครู อาจารย์เก

 

หมายเลขบันทึก: 186564เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2008 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เห็นด้วยกับที่อาจารย์เสนอ มันเป็นเหมือนพายเรือในอ่าง เพราะทุกคนรู้ว่า ปฏิรูปแล้วน่ะ แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก มีแต่ครูที่ทำผลงานลูกเดียว ไม่สอน อาจารย์ว่าจะโทษใครดี?

ปล. ชื่ออาจารย์เก ...อ่านแล้ว.. ทึ่ง

เป็นประเด็นน่าสนใจค่ะ...ตนเองสนใจเรื่องการส่งเสริมศักยภาพการคิด แล้วจะมา ลปป ด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์เก

ดิฉันติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์เกแล้ว บันทึกนี้อาจารย์เกใส่คำสำคัญเป็นคำ หรือ ประโยคสั้นๆ ที่สอดคล้องกับบันทึกได้ดียิ่งขึ้นแล้วคะ

สำหรับบันทึกนี้เขียนเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา ดิฉันจึงอยากแนะนำให้เพิ่มคำสำคัญ การศึกษา การเรียนการสอน เพิ่มเติมเข้าไปคะ เพื่อเป็นประโยชน์ในการค้นหาบันทึกของสมาชิกคะ

และดิฉันอยากจะเชิญชวน อาจารย์เก เข้าร่วมโครงการ ครูดี "ครูเพื่อศิษย์"  <---คลิกเพื่ออ่าน คะ

สวัสดี ลุงเก

วันนี้จะตรงไปที่ประเด็น ที่ว่าทำอย่างไรเราจะช่วยกัน "หงายกะลา" กันดีกว่า ทุกเวลาทุกสถานที่ครูช่วยส่งเสริมการคิดให้กับนักเรียนได้ เริ่มตั้งแต่กิจกรรมยามเช้าก่อนเริ่มเรียนวิชาแรก ใช้เวลาสัก 10-15 นาที จัดกิจกรรมกระตุ้นการคิดให้กับเด็ก จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของครูประจำวิชาที่จะใช้เทคนิควิธีการที่จะพัฒนาการคิดให้กับนักเรียนอาจจะใช้ในรูปแบบการสอนบูรณาการทักษะการคิดหรือให้เทคนิคการสอนการคิดตรงไปเลย และก่อนกลับบ้านการบ้านก็น่าจะใช้กิจกรรม "ฝึกคิดฝึกเขียนฝึกเรียนที่บ้าน" ให้ใช้กิจกรรมที่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการฝึกคิดให้กับนักเรียนด้วย และที่สำคัญที่สุดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่เกิดทักษะชีวิตมาก

อีกสักพักพี่จะเขียนลง blog ของพี่ (ไม่รู้เมื่อไร คงเร็วนี้แหละ)

เอาเป็นมาตอนนี้ก็ขอติดตามงานของ ลงเกไปตามประสาคนยังมีความขี้เกียจมากกว่าความขยัน

พี่รออ่านยุทธศาสตร์ (กลเม็ดเด็ดพาย) ของลุงเกค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาแสดงความเห็น และนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์

คุณสุพัตรา ต้องเริ่มที่ตัวครูครับ เปลี่ยนหลักคิด วิธีคิดเสียก่อน และพร้อมที่จะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน

คุณครูนกทะเล หนูเป็นแบบอย่างของคนที่เปลี่ยนความคิดแล้ว และกำลังจะก้าวไปในทางที่ถูก

อาจารย์มะปรางเปรี้ยว คนดีที่สร้างขวัญกำลังใจและความอบอุ่น ผมเขียนเพิ่มแล้วครับ ขอบพระคุณที่แนะนำมาให้อีก อาจารย์ต้องตรวจการบ้านผมและเสนอแนะมาทุกครั้งนะครับ

พี่หวานที่เคารพ ผมคิดได้อย่างหนึ่ง อยากให้พี่หวานช่วยแนะนำ กิจกรรมนอกห้องเรียนที่เน้นหรือฝึกการคิดให้เด็ก เป็นตัวอย่าง ทั้งในรอบวัน และที่บ้านครับ ถ้าพี่หวานเข้ามาอ่านอีกครั้ง ได้โปรดชี้แนะกิจกรรมดังกล่าวมาให้ผมอีกรอบ ผมจะใช้เป็นสื่อในการประชุมสัมมนาครูในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ ขอบคุณพี่หวานอีกครั้ง

ลุงเก....

พี่จะส่งการพัฒนากิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ของนักเรียน ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ของ ปรียานุช สถาวรมณี ซึ่งพี่ได้นำไปเป็นแนวทางให้ครูจัดกิจกรรมมาแล้วได้ผลดี แต่คงส่งผ่านทาง e-mail ของคุณน่ะ

สวัสดีค่ะ คุณลุงเก สบายดีไหมค่ะ

หนูนารีจุติ ลุงต้องขอโทษที่เหินห่างจากเครือข่าย ไม่อยากแก้ตัวว่ามีภารกิจมาก ไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองตลอดทั้งเดือนกันยายน-ต้นพฤศจิกายน อยากจะบอกหนูว่าลุงกลับมาแล้วพร้อมกับสุขภาพที่พอสู้ได้ (ไม่รับประกัน 100 เปอเซ็นต์) ขอบใจหนูมากที่เป็นห่วง รู้ข่าวว่าเธอมาเที่ยวแม่โจ้ น่าจะเลยมาถึงแม่ฮ่องสอนเสียเลย ลุงจะได้มีโอกาสต้อนรับบ้าง ลุงเก

ไหว้สาอาจารย์เกที่เคารพยิ่ง....

ผมกำลังศักษาค้นคว้าเรื่องพระมหาเถรต่ำแหญ้อยู่ครับเขาบอกว่าเป็นพระเถรทางมอญ  พม่า หรือไทยใหญ่อะไรทำนองนี้ครับ..

ผมจึงเข้ามาถามว่าประวัติพระมหาเถรต่ำแหญ้ของอาจารย์มีหรือไม่ครับ  หากมีกรุณาให้ความรู้ผมด้วยครับ..

ไหว้สาขอบคุณมาพร้อมนี้ครับ....

ด้วยความนับถือ.....ลุงหนานพรหมมา

กราบเรียน ป้อหนานอาจ๋านตี้เคารพ                                         เรื่องมหาเถรคำแหญ้ ไม่มีในตำนาน หรือนิยาย เรื่องเล่า ในวรรณกรรมของชาวไทยใหญ่ครับพ่ออาจารย์ ผมขอยืนยัน ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นวรรณกรรมประเภทมุขปาถะของชาวมอญมากกว่า เพราะถ้ามีคำว่ามหาเถร น่าจะเป็นเรื่องราวของชาวมอญ ทั้งนี้และทั้งนั้นผมก็ยังไม่เคยได้ยิน เพิ่งเคยได้ยินที่พ่ออาจารย์นี่แหละครับ เข้าใจว่าในวรรณกรรมของพม่าก็คงไม่มีครับ จึงแจ้งเบาะแสให้พ่ออาจารย์รับทราบ เพื่อโฟกัสพื้นที่ค้นหาให้แคบลง พ่ออาจารย์ลองสอบถามไปทาง พม่าศึกษา ของมหาวิทยาลัยนเรศวรหรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจพบเบาะแสบ้างก็ได้                                    เรียนป้อหนานอาจ๋าน มาด้วยความเคารพ                                อาจารย์เก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท