วันแรกของวิชาลักษณะหนี้


อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก : ในโลกนี้ การกู้หนี้คือ ทุกข์อย่างหนึ่ง

                วันนี้เป็นวันที่สามของการเรียน  รีบออกมาจากนครปฐมตั้งแต่บ่ายสามครึ่ง  วันนี้เลยถึงคณะนิติไวหน่อย  ประมาณ 5 โมงกว่า ๆ  ไม่สายเหมือนวันก่อน  วิชาที่เรียนคือวิชากฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไป  ได้ข่าวจากรุ่นพี่ว่าวิชา(หนี้)นี้ยาก  แต่ยังไงใส่หัวใจนักเรียนแล้วก็คงต้องสู้  ใช่ไหมครับ  ยากแค่ไหน มีคนอื่นเขาเรียนผ่านเราก็น่าจะผ่านได้นะ 

                อาจารย์ผู้บรรยายประจำวิชานี้ คือ ท่านอาจารย์ รศ.ดร.ดาราพร ถิระวัฒน์ ครับ  และเนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกของวิชานี้และเป็นวันแรกที่ท่านอาจารย์ได้พบกับลูกศิษย์รุ่น 51  ท่านจึงไม่เข้าสู่เนื้อหามาก  แต่เป็นการเกริ่น ๆ และทำความรู้จัก ทำความเข้าใจเบื้องต้นกับวิชานี้เท่านั้น

                เท่าที่เก็บสาระสำคัญในส่วนที่เป็นสาระของวิชาได้นั้น  พอจะมีประเด็นดังนี้ครับ (หากขาดตกไปตรงไหน เพื่อน ๆ หรือผู้รู้ช่วยเติมแต่งด้วยน่ะครับ)  เอาเป็นว่าสรุปเชิงถามตอบเหมือนเคยก็แล้วน่ะครับ

                กฎหมายลักษณะหนี้มีความสำคัญมากน้อยเพียงใดในปัจจุบันนี้ ?  ตอบ  ในทางการศึกษากฎหมาย เมื่อเรียนรู้กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาแล้ว  มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ผลสืบเนื่องจากนิติกรรมและสัญญาต่อ  ผลสืบเนื่องที่ว่านั้นก็คือ เรื่อง หนี้  เพราะนิติกรรมสัญญาเป็นบ่อเกิดที่สำคัญของหนี้  ท่านอาจารย์เปรียบเทียบว่า  วิชานิติกรรมและสัญญาเหมือนการสร้างห้องห้องหนึ่ง  ซึ่งผู้สร้างจะต้องเข้าใจเรื่องวิธีการสร้าง ขั้นตอนการสร้าง  โครงสร้างหรือองค์ประกอบต่าง ๆ จนกระทั่งสร้างห้องเสร็จ  วิชากฎหมายลักษณะหนี้จะไม่สนใจรายละเอียดเหล่านั้น  แต่จะรับช่วงต่อ คือ มาศึกษาการอยู่ การใช้ การรักษาห้องต่อไป  เป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ที่ผู้อยู่ในห้องนั้นจะต้องกระทำ  ต้องดูแลเอาใจใส่เมื่อมีการสร้างห้องมาแล้ว  วิชาลักษณะแห่งหนี้จึงเป็นวิชาที่ต้องเรียนสืบเนื่องจากนิติกรรมและสัญญา

                นอกจากนี้ พบว่าในหลักเรื่องหนี้นั้น  ถ้าสาวความเป็นมาก็มีมาตั้ง 2,000 กว่าปี  คือ ตั้งแต่สมัยโรมัน มีการเขียนไว้นานมาก แต่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แม้โดยรายละเอียดจะต่างกัน แต่หลักการสำคัญก็ยังคงเดิม  กฎหมายเรื่องหนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยความถูก ความผิด ความดี ความชั่ว  มีเหตุผลในตัวของมันเอง แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป  หลักการนี้ก็ยังคงอยู่

                ที่สำคัญในปัจจุบันนั้น พบว่า  สัญญาในเอกเทศสัญญาบรรพ 3 มีชื่อสัญญาประเภทต่าง ๆ ที่มีบทบัญญัติ  จำนวน 23  ชื่อเท่านั้น  แต่ในทางธุรกิจปัจจุบันมีมากกว่านี้เยอะ ที่มีชื่อต่างจากชื่อสัญญาตามบทบัญญัติทางกฎหมาย  (เช่น สัญญาแชร์เปียหวย)   ปัญหาจึงมีอยู่ว่าเวลาเกิดเรื่องใครจะรับผิดชอบ  จะเอากฎหมายอะไรมาว่า  สัญญาบางอย่างก็เขียนไว้ไม่หมด  สิ่งที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาก็คือ กฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไปนี้แหล่ะ  กฎหมายลักษณะหนี้จึงมีความสำคัญมากในปัจจุบัน....ท่านอาจารย์ยังย้ำอีกว่า  หนี้หลักทั่วไปนี้ใช้เป็นฐานของมูลหนี้ทุกเรื่องได้  ในปัจจุบันนี้ ป.พ.พ. ตั้งแต่มาตรา 194-353 ซึ่งเป็นเรื่องหนี้จึงใช้มากกว่าอดีตมากทีเดียว 

 

หนี้คืออะไร ? ตอบ  ท่านอาจารย์ได้เสนอคำจำกัดความไว้ว่า  ความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างบุคคลฝ่ายหนึ่ง (ลูกหนี้) ที่จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง (เจ้าหนี้)  คำว่า หนี้ จึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างบุคคลสองฝ่าย  กล่าวคือ ความสัมพันธ์อันนั้นมีกฎหมายรองรับอยู่   ซึ่งความสัมพันธ์บางอย่างนั้น ไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น การบอกรักกัน  ไม่มีกฎหมายรองรับ หรือ คนจะทำดีบุญกุศล ถึงแม้จะเป็นเรื่องความถูกต้องดีงามที่ศาสนาต่าง ๆ ก็ส่งเสริม  แต่ก็ไม่มีกฎหมายไหนเขียนไว้ว่า คนในรัฐต้องทำบุญ  อย่างนี้เรียกว่า ไม่มีกฎหมายรองรับ  แต่ว่าเรื่องหนี้มีกฎหมายรองรับ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่อง สิทธิ และ หน้าที่  ดังในมาตรา 194 และ 213  บ่งชัดเรื่องหน้าที่ของลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้  และสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ กรณีที่ลูกหนี้ไม่ทำตามสัญญา เป็นต้น

 

                ในชีวิตประจำวันคุณเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ?   ตอบ  แม้เราจะไม่ต้องการเป็น เจ้าหนี้หรือลูกหนี้   แต่โดยความเป็นจริงตามหลักการทางกฎหมาย เราเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ทุกวัน  ดังเช่นในสัญญาซื้อขาย  เมื่อเราตกลงซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง  ในฐานะผู้ซื้อเราเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับสินค้า(ทรัพย์) จากผู้ขายซึ่งอยู่ในฐานะลูกหนี้ที่มีหน้าที่จะต้องส่งมอบสินค้า(ทรัพย์)ให้เรา   ในทางกลับกันในฐานะเป็นผู้ซื้อ เราก็ยังเป็นลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องชำระราคาแก่ผู้ขาย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับเงิน(การชำระราคา)   จะเห็นได้ว่า  ในชีวิตประจำวันนั้นเราเป็นได้และได้เป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้  อย่างนี้นี่เอง

                ดูตัวบทกฎหมายประกอบ  ม.461 (เรื่องการส่งมอบทรัพย์สิน)  ม.453 (เรื่องการโอนกรรมสิทธิ์) และ ม.486-487 (เรื่องการชำระราคา)

 

                องค์ประกอบสำคัญแห่งหนี้คืออะไร ?  ตอบ  ท่านอาจารย์อธิบายว่า  องค์ประกอบสำคัญแห่งหนี้นั้นมี 3 ประการ ได้แก่  

                                1) ลูกหนี้ 

                                2) วัตถุแห่งหนี้ 

                                3) เจ้าหนี้ 

                ในบรรดา 3  ประการนี้  ข้อ 1 และ 2  สำคัญที่สุด  เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องรู้และต้องมีแน่เวลามีมูลหนี้เกิดขึ้น  จะบอกลอย ๆ ว่าจะมีการชำระเงินเกิดขึ้นโดยไม่มีลูกหนี้และวัตถุแห่งหนี้ไม่ได้เลย   ใครเป็นลูกหนี้ หรือใครมีหน้าที่จะต้องทำและทำอะไร    เพราะฉะนั้น ลูกหนี้จะต้องมีเสมอเมื่อหนี้เกิด  และวัตถุแห่งหนี้ก็ต้องมีด้วยวัตถุแห่งหนี้คือ ความผูกพันที่จะต้องทำการชำระสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคำตอบที่ว่าลูกหนี้จะต้องทำอะไรนั่นเอง    

                ทั้งนี้ เจ้าหนี้นั้น  โดยปกติก็ต้องมีด้วย  แต่บางกรณีเจ้าหนี้ไม่มีก็ได้    อาจเกิดคำถามว่า ลูกหนี้จะไปชำระให้ใครในเมื่อไม่มีเจ้าหนี้   ความหมายก็คือ  มีบางกรณีที่ในขณะที่หนี้เกิดขึ้นนั้น  อาจจะยังไม่ยังไม่แน่นอนว่าคือใคร    เช่นกรณีเรื่องตั๋วเงิน  ซึ่งจะต้องชำระหนี้ตามคำสั่ง  คือ ต้องรอคำสั่งว่าผู้ที่ถือตั๋วเงินอยู่จะต้องไปชำระเงินกับใคร (ชำระหนี้ตามเขาสั่ง)  เพราะฉะนั้นในขณะนี้เจ้าหนี้ยังไม่มีและลูกหนี้ก็ไม่รู้ว่าจะชำระหนี้กับใคร

 

                วัตถุแห่งหนี้คืออะไร ? ตอบ หลายคนมักเข้าใจว่าวัตถุ  หมายถึง สิ่งมีรูปร่าง  ตามความหมายในพจนานุกรม  แต่ในทางกฎหมายหาเป็นเช่นนั้นไม่   วัตถุแห่งหนี้ (subject of obligation)  หมายถึง  ตัวเนื้อหาของการชำระหนี้  กล่าวคือ ลูกหนี้มีหน้าที่ชำระหนี้  จะต้องทำอะไร   ซึ่งมี  3  ประการ ได้แก่

                 1)  กระทำการ   เช่น  การทำตามสัญญาจ้างแรงงาน  เช่น  โรงงานประกอบเครื่องยนต์  มีสัญญาจ้างงานลูกจ้างมาทำหน้าที่ประกอบเครื่องยนต์  ลูกจ้างต้องกระทำการตามสัญญาซึ่งอาจจะด้วยแรงกายหรือสติปัญญาก็ตาม   ในฝ่ายโรงงานก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำตามสัญญา เช่น  การชำระค่าจ้างเป็นต้น  

                2)  งดเว้นกระทำการ   ในมาตรา 194 วางหลักไว้เกี่ยวกับการงดเว้นกระทำการว่า  ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ด้วยการงดเว้นกระทำการอันใดอันหนึ่งก็ได้   เช่น  ข้อตกลงห้ามแข่งขันทางการค้าหรือกรณีห้ามนักร้องที่สังกัดค่ายเพลงคู่สัญญา  ไปร้องเพลงกับค่ายอื่น เป็นต้น  อย่างนี้เรียกว่างดเว้นกระทำการ  คือ อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรก็เป็นการชำระหนี้ได้ 

                3) ส่งมอบทรัพย์สิน  เช่น  กรณีที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา 

               

         ข้อสังเกต   เวลาเราพูดถึงเรื่องหนี้กระทำการ  ย่อมเป็นเรื่องทางกาย สติปัญญาความสามารถ  ส่วนประเด็นนี้เป็นเรื่องของการเคลื่อนที่ของตัวทรัพย์  การส่งทรัพย์  ต่างจากการกระทำทางกายภาพและอาจจะต่างกันที่อาจจะมีการบังคับการไม่เหมือนกัน  เห็นได้ชัดในมาตรา 213  เนื่องจากเรื่องการส่งมอบทรัพย์  ศาลสั่งบังคับให้ลูกหนี้ชะรำหนี้ให้เจ้าหนี้ได้เสมอ  แต่กรณีที่ลูกจ้างเบี้ยวงาน  จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้ลูกหนี้ทำงานไม่ได้และไม่มี  อย่างดีก็แค่ไล่ออก  เพราะการกระทำนั้นอยู่ในสภาพแห่งหนี้ที่ไม่เปิดช่อง   แต่ถ้าจะแปลงเป็นค่าเสียหายก็ได้  (ม. 213)

 

หมายเลขบันทึก: 186381เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2008 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาแล้วๆ กำลังรออยู่เลยค่ะ

ลองเอาไฟล์มาให้แพรโหลดขึ้นที่เวปอีเลินนิ่ง

http://elearning.siam.edu/

เลือกวิชาสรุปกฏหมาย อยู่ในคณะนิติศาสตร์

แพรเปิดวิชานี้เพื่อรวบรวมชีทสรุปและแนวข้อสอบของการเรียนกฏหมาย

ทุกวิชา ของคณะนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิตนะคะ

ว่างๆลองเข้าไปดูนะคะ

การเรียน แล้วนำมาเขียน สรุป บันทึก จำแม่นนักแล

    น้องๆ ที่มีโอกาส เรียนกฎหมายในวันนี้ ควรใช้สิทธิที่จะตักตวงความรู้ให้ช่ำชอง เชี่ยวชาญ รับเอาความรู้และเก็บเอาไปครุ่นคิดให้แตกฉานให้มากที่สุด วิชานี้ เป็นวิชาที่สำคัญ ต่อจากวิชานิติกรรมและสัญญา อันเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้และผลแห่งหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้เงินหรือหนี้งาน ใครที่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ ต้องรู้สิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน ใครที่เป็นเจ้าหนี้ก็อาจจะเป็นลูกหนี้ในเวลาเดียวกันด้วย เรียนเข้าไปเถอะน้อง พี่ๆ ผ่านชีวิตแบบนี้มาแล้ว ดีว่า ได้พยายามที่จะผ่านวิชานี้ไปให้ได้ เรียนอย่างเข้าใจ แล้วจะตอบคำถามทุกรูปแบบได้ แล้วนำไปใช้แก้ปัญหาได้ดีอีกด้วย...แต่พวกพี่ๆ มีมติที่เรียนรู้สาขากฎหมายมหาชน เลยอยู่อีกซีกหนึ่งที่อยู่คนละเขตอำนาจศาล...

    ถ้า ม.ราชภัฏนครปฐม ไม่ได้แยกสาขา ก็เรียนกันไปจนสำเร็จหลักสูตร น.บ. และถ้าหากสนใจเรียนทางด้านกฎหมายมหาชน ซึ่งในอนาคตจะต้องการบัณฑิตด้านนี้อย่างมาก ก็มีหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน เรียน 1 ปี เพื่อเสริมให้มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานได้จริง โดยไม่ต้องรอเรียนในสาขากฎหมายมหาชน ระดับชั้นปริญญาโท ที่เน้นทฤษฎี  สนใจก็เข้าไปศึกษาในPub-Law10TU แลกเปลี่ยนกันได้ เพราะพี่ๆ รุ่นนี้ 80 ชีวิต ประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ทางกฎหมายมาค่อนชีวิต อาจจะพอให้คำแนะนำได้บ้าง นะจ๊ะ

ขอบคุณพี่ Public Law10 TU น่ะครับที่ให้กำลังใจและคำแนะนำ

ขอบคุณครับ

สามารถดูประมวลกฏหมายแพ่งและกฏหมายอาญาได้

ประกอบกับสรุปแต่ละวิชาที่เว็บอ้างอิง นะคะ

http://gotoknow.org/bookmark/dhammarit

เมื่อไรจะมีวิชาแพ่งทั่วไปบ้างค่ะ

ขอบคุณครับคุณวรกมล ที่สอบถามมา

ทำให้วันนี้ต้องจัดการให้มีให้ได้

เพราะมีข้อเท็จจริงว่า มีผู้ต้องการติดตาม

จะพยายามสรุปมานำเสนอน่ะครับ

ขอบคุณครับ

เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2551 ไม่ได้มาเรียนเนื่องจากไม่สบาย ไม่ได้เรียนกฏหมายหนี้ ถามเพื่อนๆก็บอกว่าไม่ค่อยเข้าใจ อยากให้คุณญาณภัทร ช่วยสรุปหนี้เมื่อวันที่ 2 ได้ไหมค่ะ

้เจ้าหนี้มีกี่ประเภทครับอะไรบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท