วิ่งหาความเสี่ยง พาตัวเองเข้าคุก


          วิ่งหาความเสี่ยง พาตัวเองเข้าคุก

            กล่าวกันว่า การเป็นครูนั้นเราต้องสอนนักเรียนของเราให้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการให้มากที่สุด เพื่อให้เขาได้มีความรู้ มีความสามารถในการศึกษาต่อ ในการทำงานหาเลี้ยงชีพได้อย่างเหมาะสม แต่ในการเป็นครูแพทย์นั้น สิ่งหนึ่งที่เราจะลืมไปไม่ได้เลยก็คือ การสอนให้เขาได้ทราบว่า จริยธรรมของวิชาชีพเป็นอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อปั้นให้เขาได้เป็นหมอที่ดีของสังคมได้ และหมอที่ดีย่อมส่งผลดีต่อประชาชนในวงกว้างต่อไป

            ทุกวันนี้ ผมเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิจการนักศึกษา ซึ่งถ้าจะเรียกให้ถูกนั้น ก็น่าจะเรียกว่าเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองก็น่าจะเหมาะสม เพราะหน่วยงานนี้เริ่มงานตั้งแต่การคัดเลือกเขาเข้ามาเรียนผ่านการสอบสัมภาษณ์ การดูแลนักศึกษากลุ่มพิเศษที่เราระบุตัวเขาตั้งแต่สอบสัมภาษณ์เสร็จ การดูแลความเป็นอยู่ สวัสดิการ หอพัก และอื่นๆอีกมากมาย และยังรวมไปถึงการลงโทษในกรณีที่มีการทำผิดระเบียบต่างๆด้วย

            ตั้งแต่ผมจำได้นั้น ในปีพ.ศ. 2543 นั้น ผมจบมาเป็นอาจารย์ในปีแรก ได้รับเชิญให้ไปร่วมกิจกรรมของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ที่ลีลารีสอร์ท ที่ถูกจัดขึ้นมาโดยหน่วยกิจการนักศึกษาของคณะ เราเรียกกิจกรรมนี้ว่า ไมตรีสัมพันธ์ แต่หลังๆมานี้ มันถูกเรียกว่า พัฒนนิเทศ เพราะว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการพัฒนา กิจกรรมนี้เป็นเช่นไร ใครอยากรู้ก็กรุณาติดตามครับ

            ปฐมบทของกิจกรรมนี้เริ่มต้นจากหลักการที่ว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรของนักศึกษา เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคมที่ดีให้นักศึกษาอย่างยั่งยืน นักศึกษาแพทย์แต่ละชั้นปีมีนับร้อย พวกเขาอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เข้าเรียนในชั้นปีที่หนึ่ง และปัญหาแรกของพวกเขาก็คือ การปรับตัวเข้าหากันและการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของคณะแพทย์ และเมื่อย่างเข้ามาในปีที่สองและสาม พวกเขาก็มักจะมีปัญหากันบ้าง มากน้อยไปแตกต่างกันในแต่ละปี จนกระทั่งเมื่อล่วงเข้ามาสู่ปีที่สี่ถึงหก ซึ่งเป็นปีที่ทั้งชั้นปีต้องกระจัดกระจายแยกกันไปเรียนในวอร์ดต่างๆ หากพวกเขามีความสามัคคีกลมเกลียวกันดีแล้วตั้งแต่ชั้นปีต้นๆ กลุ่มพวกเขาก็น่าจะมีความสุขไปกับการขับเคลื่อนของชั้นปีไปตลอดการเรียนแพทย์นั่นเอง เรามาดูกันนะครับว่า เราทำอะไรให้นักศึกษาแพทย์ของเราบ้าง

            ในชั้นปีที่หนึ่งนั้น เราจะเน้นให้นักศึกษาแพทย์รู้จักกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆและคณะ ดังนั้น กลยุทธ์ที่เราจัดกิจกรรมให้ก็คือ เหนื่อยร่วมกัน

            ตัวผมเองนั้นจำไม่ได้แล้วว่า ก่อนหน้านั้นเราทำอะไรไปบ้าง จวบจนเมื่อเรากำลังจะมีนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 31 กำลังจะเข้ามาเรียนนั้น วันหนึ่งซึ่งผมกำลังดูแลเด็กๆชั้นปีที่ 2 อยู่ที่อุทยานเขาปู่เขาย่า จังหวัดพัทลุงอยู่นั้น ในตอนเช้าของวันที่สอง ผมก็ออกไปเดินเล่นกับอาจารย์กันยิกา ซึ่งเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาในขณะนั้น ท่านได้ปรารภกับผมว่า เดี๋ยวนี้นักศึกษาแพทย์ไม่เคยรู้จักคำว่าเหนื่อย อดทน เราน่าจะมีกิจกรรมที่ทำให้พวกเขาเหนื่อยพร้อมๆกันบ้าง เพื่อเป็นการฝึกฝน เพื่อให้เกิดความสามัคคีเป็นเบื้องต้น ว่าไปนั่น ธนพันธ์จึงขันอาสาจัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นเอง ดังนั้น น้องปีหนึ่งรุ่นนั้น จึงต้องไปเดินทางไกลกันในสวนสัตว์สงขลา โดยต้องแบกกับข้าว หม้อหุงอาหาร เดินกันตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงเย็น ผ่านด่านกิจกรรมต่างๆที่ผมต้องไปขอให้ทหารมาช่วยจัดการให้ สร้างความทรหดและสนุกสนานเป็นอย่างมาก มาตอนเย็นก็ต้องกางเต็นท์ หุงหาอาหารกินกันเอง ช่วงกลางคืนก็ออกเดินดูสัตว์ (ในกรง) ซึ่งนำโดยเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ และมาจบด้วยรุ่นพี่ปีสองออกมาจัดกิจกรรมทำซึ้งให้ นั่นก็ยังเป็นที่กล่าวถึงกันมาจนถึงบัดนี้ และในปีหนึ่งของทุกๆปี เราก็จะจัดกิจกรรมในแบบนี้ ต่างกันก็แต่สถานที่ที่จะโยกย้ายไปตามความเหมาะสม และป้องกันอาจารย์เบื่อ

            ล่วงมาจนปีที่สอง ซึ่งพวกเขาต้องเตรียมพร้อมที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนครั้งใหญ่ของชีวิต นั่นก็คือการเตรียมตัวเรียนในระบบ problem-based learning (PBL) อีกทั้งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา พวกเขาจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างภายในชั้นปี ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากกิจกรรมต่างๆที่ต้องใช้คนทั้งชั้นปีมาเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน และจากการสังเกตส่วนตัวของผมเองก็จะพบว่า กิจกรรมกีฬาของมหาวิทยาลัยนั้น เป็นแชมป์ครองอันดับหนึ่งที่ทำให้ชั้นปีเกิดความแตกแยกมาตลอด ซึ่งกิจกรรมกองเชียร์เป็นสาเหตุอันนี้ครับ ดังนั้น เป้าหมายหลักของกิจกรรมก็น่าจะเป็น การเรียกให้ความสามัคคีกลับคืนมานั่นเอง จุดมุ่งหมายต่อมาก็คือ การเป็นตัวเชื่อมให้เขาเลือกกลุ่มองค์การบริหารภายในชั้นปี เลือกประธานชั้นปี หรือหากเขาเลือกกันแล้วก็เป็นการให้เขาได้มาพูดคุยกัน ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆกัน และพยายามให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม เพราะการเรียนในระบบ PBL นั้น พวกเขาต้องอาศัยเพื่อนๆเพื่อช่วยกันเรียนกันทั้งกลุ่ม ดังนั้นกิจกรรมก็ควรจะเหนื่อยน้อยกว่าปีหนึ่ง แต่ต้องเน้นให้ทำกิจกรรมกันเป็นกลุ่มๆ เราใช้ walk rally เป็นตัวจัดการครับ

            ล่วงมาจนถึงชั้นปีที่สาม ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะได้เรียนพร้อมกันในชั้นพรีคลินิก ในปีสุดท้ายนี้ เราจะจัดกิจกรรมให้เขาได้ใช้ปัญญามากกว่าใช้แรงงาน เป็นต้นว่า จัดกลุ่มนั่งพูดคุยกัน

เมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา (24-25 พฤษภาคม 2551) ผมพร้อมด้วยหน่วยกิจการนักศึกษา ก็ได้ฤกษ์พานักศึกษาแพทย์ออกไปข้างนอกอีกครั้ง ในปีนี้เราพาเด็กๆไปที่ เขาพลายดำ อ.สิชล นครศรีธรรมราช ที่นี่เป็นอะไรก็ลืมดูไป ไม่แน่ใจว่าเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือ อุทยานแห่งชาติ (หรืออะไรก็ไม่รู้) บริเวณที่ทำการอุทยานจะถูกโอบล้อมด้วยภูเขาทั้ง 3 ด้าน เหลือด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่หันหน้าออกทะเล เราอาจจะจัดกิจกรรมให้เด็กๆเดินทางไกลลงไปทะเลได้เช่นเดียวกันครับ

ก่อนจะออกไปจัดกิจกรรมนั้น บรรดาอาจารย์ที่ปรึกษาของหน่วยกิจการฯต้องมานั่งคุยกันก่อน ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง จะจัดกิจกรรมรูปแบบใด กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างกันนั้น บางครั้งอาจารย์ก็ทะเลาะกันเสียเอง...พูดเล่นครับ ไม่ถึงกับทะเลาะออก แค่ออกความคิดเห็นกันดังๆเท่านั้นเองน่า

อ.อนุพงศ์เป็นพ่องาน เพราะท่านเป็นรองคณบดีหน่วยกิจการนศ. ส่วนผมเป็นหัวหน้าทีม เพราะว่าอายุแก่รองลงมา และเขาวางตัวให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของชั้นปีสองนี้ เจ้าภาพเตรียมไว้บางส่วนแล้วว่าจะให้จัดเป็น walk rally และในช่วงของการออกไปเที่ยวด้วยกันนั้น ได้จัดให้เล่น     เกมคิลเลอร์คำ ส่วนผมนั้นเขาอยากให้จัดกิจกรรมบำรุงสมอง

ในเช้าวันเสาร์ผมต้องถูกนาฬิกาปลุกตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง เพราะท่านอนุพงศ์อยากออกเดินทางตั้งแต่เวลา 5.15 น. ได้ยินเพียงเท่านี้ผมก็อยากตาย เพราะปกติเป็นคนนอนดึก นี่ต้องมาตื่นก่อนไก่ซะอีก อยากตายครับอยากตาย และแล้วพวกเราก็สามารถออกได้ตามเวลา อาจารย์ 12 คนประกอบด้วย ผม อ.อนุพงศ์ น้องแอ๊มป์พร้อมด้วยเบนจี้ จากอายุรศาสตร์ อ.จ๋ำ จากพยาธิวิทยา อ.ปราโมทย์ จากรังสีวิทยา อ.ต้น จากนิติเวช อ.จืด จากศัลยศาสตร์ อ.โน๊ต รังสีรักษา อ.โอ๋ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ อ.โห ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ และแขกรับเชิญ อ.เจ๊าะ อดีตอาจารย์ศัลยศาสตร์ตกแต่ง ซึ่งปัจจุบันได้ออกไปประกอบวิชาชีพอิสระไปซะแล้ว แต่เนื่องจากใจรักครับ ออกนอกบ้านเมื่อไหร่ เราเลยชวนท่านเมื่อนั้น นอกจากหมู่อาจารย์แล้ว เรายังมีพี่ๆปี 5 มาช่วยอาจารย์ดูแลน้องๆด้วยกันอีก 7 คน

เราไปถึงเขาพลายดำกันราวๆ 10 โมง รถบัสใหญ่ไม่สามารถขึ้นเขาได้ เราต้องขนนักเรียนจากที่ทำการอบต.ด้วยรถหกล้อบ้าง รถตู้บ้าง และกว่าจะรวมกันในห้องประชุมได้ก็ปาเข้าไปเกือบสิบโมงครึ่ง จากนั้นเราเปิดโอกาสให้นักเรียนจัดกิจกรรมกลุ่มกันเองสักพัก ราวๆครึ่งชั่วโมง แล้วผมก็เข้ามาเสียบแทน เริ่มต้นก็เล่นเกมปลาทูปลาร้า จากนั้นก็เล่นเกมผสมเงิน (ผู้ชาย 2 สลึง ผู้หญิง 1 บาท) จนสามารถจัดกลุ่มได้ 10 กลุ่ม ผมเลยเริ่มการบรรยายในสไตล์ผมเอง

จุ๊ๆๆ ประเด็นในการสนทนาประสาครูศิษย์วันนี้ก็คือเรื่องเพศครับ ฮ่า ฮ่า เพราะเขาให้ผมเป็นเจ้าภาพ และผมเป็นหมอสูติ และเพราะผมเห็นคนท้องตอนเรียนมาก และเพราะผมเห็นคนทำแท้งมามาก และเพราะผมไม่อยากเห็นลูกศิษย์ท้องตอนเรียน ฯลฯ (มันมากซะจนต้องมากล่าวถึงกันนี่แหละ)

ผมใช้วิธีแกล้งให้คิด สะท้อนให้เห็นด้วยตัวเอง แสดงความคิดเห็นแบบสนุก ผ่านโจทย์คำถามไม่กี่ข้อ เช่น ข้อดีของการมีเพศสัมพันธ์ ข้อเสียของการมีเพศสัมพันธ์ ทำอย่างไรให้ท้อง ทำอย่างไรไม่ให้ท้อง ท้องแล้วทำอย่างไรดี และวิธีการคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง แล้วเมื่อแต่ละกลุ่มส่งคำตอบมา ก็มาเล่นกับคำตอบนั้น ซึ่งเป็นวิธีถนัดของผมเองเลยเชียว ปรากฏว่าเวลามันน้อยเหลือเกิน ล่วงเข้าไปเที่ยงกับสิบห้านาที ผมก็เลยถามเด็กๆว่า หยุดเลยดีไหม เพราะนี่มันเวลากินข้าวแล้ว เด็กๆก็ตะโกนบอกมาว่า ให้พูดจนจบ กำลังเข้าได้เข้าเข็มอยู่ ว่าแล้วฟ้าฝนก็เป็นใจ ตกลงมาโครมๆเพื่อให้ผมพูดของผมต่อไป จนกระทั่งบ่ายโมงนิดๆ ฝนจึงหยุดพร้อมผมพูดจบ เท่ดีจริงๆ

ช่วงบ่ายเราก็เล่น walk rally โดยจัดกลุ่มเด็กๆตามกลุ่ม PBL แล้วพาไปทรมานกัน โดยฐานของการเล่น walk rally นั้นมีอยู่ 7 ฐาน เข้าเล่นกันทีละ 3 กลุ่ม เหนื่อยบ้าง เปียกบ้าง หนักบ้าง กว่าจะเสร็จก็ล่วงเข้าไป 5 โมง แล้วก็ให้เด็กๆไปพักผ่อน (ปล.เบาๆ ระหว่างเขามีกิจกรรมกันนั้น ผมแอบไปนอนที่บ้านพักแล้ว เพราะว่าอดนอนมาทั้งคืนครับ)

หลังมื้อกลางคืน เราก็ไปรวมกันที่ห้องประชุมเหมือนเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่นเกมที่เขาเตรียมมากันเอง จุดประสงค์ของช่วงนี้ก็คือ ให้เขาอยู่ด้วยกันนานๆ เล่นกันเองโดยที่ไม่ต้องมีอาจารย์เข้ามาร่วม (เพราะอาจารย์จะไปกินบาร์บีคิว) แล้วเราก็สร้างความประหลาดใจให้เด็กๆ โดยได้เตรียมเค้กมาอวยพรวันเกิดของนักเรียน 2 คนที่เกิดวันเสาร์และอาทิตย์รุ่งขึ้น งานนี้เล่นเอาเจ้าตัวอายจนม้วน เพราะนี่เป็นวันเกิดแรกของการเรียนหมอที่เพื่อนๆร้องเพลงให้ลั่นห้อง

เราและนศพ.ปี 5 ที่มาด้วยกัน จากเด็กๆมาแล้วเดินกลับบ้านพัก ระหว่างทางมืดตึ๊ดตื๋อ ผมก็เห็นแสงหิ่งห้อยบินไปมามากมาย แต่ที่แปลกใจก็คือแสงที่อยู่บนพื้นหญ้านี่สิ มันใหญ่กว่าหิ่งห้อยมาก มากเสียจนต้องเดินเข้าไปดู ปรากฏว่ามันเป็นแมลงตัวใหญ่คล้ายหนอน แต่มีขามากมายเหมือนกิ้งกือ ยาวราวๆ 5-6 ซม อ้วนประมาณ 1 ซม คนที่มาด้วยกันเขาบอกว่าน่าจะเป็นแมลงที่ชื่อว่า กระสุนพระอินทร์ (ผมไปหาดูใน internet แล้วจึงรู้ว่า มันไม่ใช่กระสุนพระอินทร์ เลยลองใช้คำว่า หนอนเรืองแสง หาดู ก็พบว่ามันน่าจะคล้ายๆกัน เลยเป็นอันว่า ผมยังไม่รู้จักแมลงชนิดนี้ครับ) นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตผมเลยนะครับ ที่เห็นแมลงแปลกๆแบบนี้ ยังไม่พอสำหรับการเป็นครั้งแรก เพราะเช้าอีกวัน ผมยังได้เห็นกิ้งก่าบินตัวเป็นๆ ชัดๆ อีก 2 ตัวแน่ะครับ

บาร์บีคิวรอเราอยู่ที่บ้านพักอยู่แล้ว พี่เกสร แม่บ้านคนเก่งได้ตระเตรียมเอาไว้อย่างดี ทั้งปู กุ้ง หมึก น้ำจิ้มสุดแซบ (แผล็บๆๆ) ขาดแต่น้ำเมาเท่านั้น ที่ไม่มีใครหยิบติดมือขึ้นมา เรียกว่ากินกันจนพุงเกือบแตก ใครอยากคุยก็มานั่งกิน ใครยังอิ่มอยู่ก็ไปนั่งเล่นเกมไพ่คิลเลอร์ งานนี้ อาจารย์ลูกศิษย์ต่างก็ฆ่ากันจ้าละหวั่น กว่าจะได้หลับนอนก็นู่น เกือบตีหนึ่ง

วันอาทิตย์ก็ต้องตื่นขึ้นมาแต่เช้า เพราะนัดเด็กๆเอาไว้ว่า จะลงไปที่ชายหาด เพราะที่นี่เขาบอกว่า เราสามารถเห็นโลมาสีชมพูได้ด้วย บรรยากาศยามเช้าสวยงามมาก พวกผมนั่งซดกาแฟไป ดูแลเด็กๆไป อ.แอ๊มป์บรรยายเรื่องเบาหวานกับโภชนาการให้เหล่าอาจารย์พุงกลมฟังที่ชายหาด อ.เจ๊าะแกลงไปเล่นปาจานร่อนกับเด็กๆ โชว์กล้ามเป็นมัดๆ (อันนี้ผมขยายเอง ฮา) ราวๆ 8 โมง ก็ได้เวลากลับ เจ้าโลมาไม่ยอมมาอวดโฉมให้เห็นนะครับในวันนี้

ในช่วงเช้าวันนี้ เราก็มาสรุปกิจกรรมที่ทำไป มีการเฉลยคิลเลอร์ที่ฆ่าเพื่อนได้มากที่สุด อาจารย์แต่ละท่านก็มากล่าวอวยพรคนละเล็กคนละน้อย แต่นั่นแหละ ปาเข้าไปเกือบเที่ยง แล้วเราก็กลับบ้านกัน

กว่าเด็กๆจะถึงหอพัก ก็เกือบทุ่ม ตราบจนเมื่อรถบัสคันสุดท้ายจอดนั่นแหละ พวกผมจึงหายใจได้โล่งคอ มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีประกาศจากคณะมาว่า ต่อไปนี้ อาจารย์ที่ไปร่วมกิจกรรมนักศึกษา พัฒนนิเทศ ฯลฯ ไม่สามารถคิดภาระงานได้ เมื่อนั้นธนพันธ์ก็เต้นผาง เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยเอามาคิดอยู่แล้ว แต่เมื่อประกาศออกมาแบบนี้ เรียกว่ามาหยามกันนี่นา ก็เลยโวยออกไปตรงๆ ระดมเพื่อนๆน้องๆออกมาโวยด้วยอีกที เรียกว่า แบบนี้มันยอมกันไม่ได้ อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ให้คิดภาระงานเป็นวิทยากรสิ อันนี้ก็ยอมไม่ได้ (เพราะโวยแล้ว อารมณ์มันพาไปครับ) อย่าลืมว่า เราพาเด็กออกไปข้างนอกนั้น มันติดคุกไปครึ่งตัวแล้ว เราไม่ได้ไปเป็นแค่วิทยากร พูดปาวๆๆแล้วก็กลับเสียเมื่อไหร่ เราไปกับเด็ก เล่นกับเด็กๆ นอนกับเด็ก เรียกว่าเฝ้ามันทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้ลูกเขาบาดเจ็บเสียหายล้มตายจากไป เรากำลังสร้างหมอครับ ไม่ใช่ผลิตหมอแบบเครื่องจักร งานกิจการนักศึกษาเป็นงานสำคัญไม่เคยยิ่งหย่อนไปกว่างานแพทยศาสตรศึกษาเลย เราต้องเป็นเบ้าหลอมทางจริยธรรมให้เขา ไม่ใช่สอนแต่บรรยาย อันนี้ธนพันธ์ไม่ปลื้มเลย กว่าตัวเราเหล่าอาจารย์จะหลุดออกจากคุกนั้น ก็ต่อเมื่อเด็กคนสุดท้ายก้าวขาที่สองผ่านประตูรถนั่นแหละ และหลังจากการโวยออกไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็มีประกาศฉบับใหม่ออกมาว่า อาจารย์ท่านใด ที่ไปร่วมกิจการนักศึกษา สามารถคิดภาระงานได้ ก็เป็นอันว่าจบไป

สวัสดี

หมายเลขบันทึก: 186029เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อิอิ มาอ่านเรื่องอาจารย์แกล้งเด็ก

ผมเห็นคุณค่าของการทำกิจกรรมร่วมกันครับ ผมสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรม มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกสาวโทร.ไปมาขออนุญาตไปเดินป่าบาราฮาลากับอาจารย์และเพื่อน ถามว่าไปกันกี่คน เขาบอกว่า ๔-๕ คน ก็บอกอนุญาต แม่เขาถามว่ารู้หรือยังลูกไปกับใคร ก็เลยโทร.ไปถามมันๆบอกว่าเพื่อนที่เรียนด้วยกันมีแต่ผู้ชายทั้งนั้น กับอาจารย์ที่เป็นผู้ชาย คิดสาระตะแล้วลูกเราเอาตัวรอดได้น่า และเราไม่ใช่หรือที่สอนให้มันรักธรรมชาติ เอาวะ..ให้มันไป และเขาก็ได้รับประสบการณ์ที่ดีมากๆกับการไปร่วมกิจกรรมครั้งนั้น

สวัสดีครับท่าน และขอบคุณสำหรับการเห็นดีเห็นงามครับ

เรื่องเที่ยวนี้ โรงเรียนเราสอนไม่เป็นครับ พวกผมเองก็พยายามสอนให้เด็กเที่ยวครับ ผมถือว่า คนเราจะเก่งและดีได้ ต้องบริหารจัดการเวลาเป็นครับ

คุณหมอครับ "ภาระงาน" นี้มันคืออะไรครับ

แต่ที่แน่ๆ มีอาจารย์คุมไป จัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มันก็ยังดีกว่าการรับน้องแบบผิดๆ ที่ใช้ความรุนแรงเข้าว่าหล่ะครับ

พี่หนึ่งครับ

ภาระงาน คืองานที่เราทำให้กับมหาวิทยาลัยครับ

เดี๋ยวนี้เราไม่ใช่ข้าราชการธรรมดา เราต้องบันทึกการทำงาน แล้วเขาจะคำนวณว่า เราทำงานไปเท่าไหร่ กี่ units

มัน idiot ดีใช่ไหมพี่

จริงๆแล้ว คนที่มันทำงานตามหน้าที่ มันไม่สนใจเรื่องพวกนี้หรอก เพราะยังไงเขาก็ทำงานครับ แต่ระบบนี้ เขามีเพื่อให้คนที่ไม่ทำงาน ต้องทำงานตามภาระงานขั้นต่ำของหน่วยงานนั้นๆครับ ส่วนตัวก็คิดว่าดี เพราะยังไงเราก็อยู่ในเมืองไทย เมืองที่ข้าราชการจำนวนหนึ่งอืดเหมือนเรือเคยครับ ทำงานไปวันๆ ไม่สนใจตาสีตาสาที่ไหน

แต่จริงๆแล้ว งานบางงานเราทำเพราะใจรัก อย่างเช่น งานออกนอกสถานที่กับนักศึกษาแบบที่เล่ามา ที่ผ่านมาก็ไม่เคยหรอกที่จะมาลงบันทึกภาระงาน แต่นี่มันถูกหยามกันเห็นๆครับพี่

ก็แค่นี้แหละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท