สะท้อนเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่


         แม้เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่(เคยบันทึกไปครั้งหนึ่งแล้ว) จะประกาศเป้าหมายชัดเจนว่า หัวใจอยู่ที่เด็ก  ซึ่ง ก.ค.ศ.จะพยายามแก้คำกล่าวหาเดิมที่ว่า  ผลการประเมินยังเป็นการดูที่เอกสารและไม่ส่งผลถึงความก้าวหน้าที่ตัวผู้เรียนชัดเจน และได้พยายามอุดช่องโหว่เหล่านี้ให้มากที่สุด  โดยเชิญเจ้ายุทธจักรจาก สมศ.มาปรับรื้อใหม่ ซึ่งวิธีการหลายอย่างได้สืบทอดจากแนวทางของ สมศ. ก็ตาม   แต่ผมก็ยังมีข้อกังวนแทนครูหลายประการ และมีข้อเสนอแนะบางประเด็นสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสะท้อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาแนวทางปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดแล้ว อย่างเหมาะสมกันต่อไป  กล่าวคือ
       1.อยากเห็นตัวอย่างสถานศึกษาที่เป็นเจ้าของเรื่องเสนอชื่อครูที่เก่งและดีจริงๆในโรงเรียนเพื่อขอรับการประเมินวิทยฐานะเสียเอง ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.เปิดทางให้ นอกจากให้เจ้าตัวเสนอขอเอง(เดิมก็เคยมีหลักเกณฑ์นี้) โดยต้องดูครูที่เป็นปูชนียบุคคลจริงๆ และอาจไม่สนใจที่จะเสนอตัวเองขอรับการประเมิน  ซึ่งเป็นครูที่ทั้งนักเรียน  เพื่อนครู ผู้ปกครอง ชุมชน เห็นชื่อแล้วต่างพยักหน้าศรัทธายกนิ้วให้ด้วยใจจริง เพื่อจะได้ขยายแบบอย่างที่ดีให้แก่วงวิชาชีพครูต่อไป ซึ่งไม่ต้องใช้ระบบโควตา ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเสนอ
       2. เห็นด้วยที่มอบการประเมินด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรมฯ ให้ผู้บังคับบัญชาประเมิน และใช้สมุดประวัติ(กพ.7)เป็นเอกสารอ้างอิง  ดูไม่ยุ่งยากดี  ถ้าหากผู้บังคับบัญชาใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือส่งเสริมพัฒนา มากกว่าการขู่ หรือใช้อำนาจ/อภิสิทธิ์ หรือเกรงใจกัน  ก็น่าจะทำให้ความประพฤติของครูด้านนี้ดีขึ้นในระยะยาว ซึ่งผู้บริหารก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย
      3.ด้านคุณภาพการสอนและการพัฒนาผู้เรียน ที่ให้ส่งประจักษ์พยานการสอน และ
SAR นั้น แม้จะเป็นเรื่องหนักใจของครูพอสมควร แต่ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่สะท้อนคุณภาพการสอนและการพัฒนาผู้เรียนพอสมควร  แต่ไม่อยากให้มีคุณพ่อคุณแม่รู้ดี ทำแบบฟอร์มเบ็ดเสร็จให้กรอก (จนเกิดการเผยแพร่ เผยน่าน)กันเต็มเมือง  และคุณพ่อคุณแม่เหล่านั้นก็เป็นกรรมการประเมินด้วย  เลยต่างลากเข้ากรอบของตนเอง  ในที่สุดครูก็ติดกรอบเหมือนเดิม  ไม่เกิดคุณลักษณะตามมาตรฐานวิทยฐานะที่กำหนดไว้จริง  ครูที่ไม่ควรได้แต่อยากได้ก็จะรู้ทาง   และเกิดเอกสารล้นโรงเรียนเหมือนเดิม  จนขาดความเป็นชีวิตจริง  ที่เป็นภาพลวงตา  ทางแก้ก็ต้องดูด้านผลการสอนและการพัฒนาผู้เรียน(ด้าน 3)ว่าส่งผลจริงหรือไม่ ถ้าประเมินจากร่องรอยสภาพจริงประกอบด้วยก็จะดี และไม่ควรดูที่จำนวนเอกสารให้เป็นภาระแก่ครูมากนัก
        4.ด้านผลการสอนและการพัฒนาผู้เรียนที่ดูจาก
NT,O-net,A-net ฯลฯ ที่เชื่อถือได้ และผลงานวิจัยนั้น  ในวิธีการประเมินและการดูผลการประเมินก็ควรดูสภาพพื้นฐานจากเหตุผลจริง ไม่ดูแต่ข้อมูลเชิงปริมาณ หรือดูรูปแบบการเขียนตามหลักวิชาการเท่านั้น  แต่ควรดูด้านคุณภาพโดยรวมและผลข้างเคียงทางบวกอื่นประกอบด้วย  คงไม่ใช้เกณฑ์เดียวกันประเมินทุกโรงเรียนทุกสภาพเหมือนกันหมด  และควรกระตุ้นให้สถานศึกษาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหา  สาเหตุของปัญหา และแนวทางในการพัฒนา(นวัตกรรม) เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนักเรียน(พัฒนาให้ครบทั้ง KPAด้วย)
โดยส่งเสริมให้ครูแต่ละกลุ่มสาระ/แต่ละระดับชั้นทำงานเป็นทีมกันมากขึ้น (เพราะการประเมินระดับขาติเขาประเมินเป็นระดับชั้นและกลุ่มสาระ ไม่ใช่รายวิชา)แล้วรับอานิสงส์จากมูลค่าเพิ่มร่วมกัน  ก็จะทำให้คุณภาพการศึกษาขับเคลื่อนไปทั้งโรงเรียน เป็นเครื่องมือหนึ่งในการ SBM ได้
        5.ประเด็นสำคัญอยู่ที่กรรมการประเมินถ้ายังยึดหลักกระจายอำนาจแบบปูพรม ให้ พื้นที่ประเมิน โดยคุมระบบเพียงให้เลือกจากบัญชีผู้ประเมินของ ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นองคาพยพที่กว้างใหญ่มาก  แม้จะให้สัดส่วนผู้ประเมินจากภายนอกมากกว่าก็ตาม  แต่ถ้าขาดความจริงจังเรื่องการสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก  และระบบกำกับติดตามผู้ประเมินก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงในมาตรฐานการประเมินที่จะเกิดขึ้น  ผมยังติดใจวิธีประเมินผู้บริหารต้นแบบของ สกศ.เดิมที่เขาใช้ผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆจำนวนไม่มาก และเส้นทางประเมินก็สั้น ดูของจริงไม่กี่วันก็รู้ผล และได้คนดีจริงๆพร้อมที่จะเผยแพร่ผลการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสง่าผ่าเผย (เคยนำเสนอแล้ว) ดูอย่าง ผอ.นคร ตังคะพิภพ  เป็นตัวอย่างของ ผอ.ต้นแบบที่ สกศ.ไปประเมิน  แต่เป้าหมายของ ก.ค.ศ.ยังต้องการประเมินเจาะลึกในสมรรถนะเฉพาะแต่ละสาขาวิชา จึงต้องใช้ผู้ประเมินที่เป็นเจ้ายุทธจักรจากสำนัก/สาขาต่างๆเป็นจำนวนมาก และคงคุมยากด้วย  ก็ต้องสื่อสารและหาทางเฝ้าระวังติดตามมาตรฐานการประเมินอย่างใกล้ชิดด้วย  ต้องระวังอย่าให้ตึงหรือหย่อนเกินไป ระบบต้องพยายามรักษาครูดีดีให้อยู่ในระบบ และมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ  ไม่ให้ครูดีต้องท้อและเบื่อในระบบ
              ยังมีอีกหลายประเด็นที่อยากสะท้อน  ก็ขอทิ้งไว้เท่านี้ก่อน  เพื่อฟังการสะท้อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากท่านอื่นๆบ้าง
 

หมายเลขบันทึก: 185985เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ

  • ประเด็นที่ท่านอาจารย์เสนอมาก็น่าสนใจดีครับ
  • แต่ครูสุขอเสนอความเห็นว่า บางครั้งเอกสารก็มีความจำเป็นครับ คือเป็นหลักฐานบอกให้รู้ว่า ครูมีความดี มีคุณภาพ อย่างไร บางอย่างคนก็ลืมง่าย เดี๋ยวจะกลายเป็นความชั่วมี แต่ความดีไม่เคยปรากฏ แต่ก็ไม่ควรให้มีเอกสารฟุ่มเฟือยมากเกินไป เพราะต้องเสียเงินในการลงทุน เสียเวลาในการสอนด้วย
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ..ท่านอาจารย์ธเนศ

ขอบคุณที่นำเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่มานำเสนอ...เพราะครูหลายๆ ท่านเป็นกังวล อยากทราบความชัดเจน...ตามประเด็นข้อเสนอแนะที่อาจารย์นำเสนอ ตนเองมีความคิดเห็นดังนี้

  • ข้อที่ 1  เห็นด้วยค่ะ...ครูหลายท่านเป็นครูดี..ที่ไม่อยากทำผลงานมองว่า เป็นแค่เอกสารหลักฐาน....ไม่ได้ลงถึงเด็ก ทำให้ครูเหล่านั้นเลือกที่จะเก็บตัว ปิดทองหลังพระไปเรื่อย กรณีจะให้ผู้บริหารส่งครูเหล่านั้นเข้าประกวดถ้าทำได้ก็ดีค่ะ...แต่คงต้องสร้างเกณฑ์ที่ชัดเจนที่จะป้องกันปัญหาที่ตามมาอีกหลายๆประเด็น ขอให้เกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมีความยุติธรรมส่งเสริมคนดี
  • ข้อที่ 2 การประเมินจาก กพ.7 ก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ แต่สภาพความเป็นจริงคือการกรอกข้อมูลในกพ 7 ที่พบมักจะไม่ครบถ้วน และขาดความสมบูรณ์
  • ข้อ 3 เห็นด้วยกับอาจารย์ทุกประการค่ะ
  • ข้อ 4 หลายๆสถานศึกษากำลังใช้เป็นข้อมูลสารสนเทศในการพัฒนาหรือปรับปรุงระบบการบริหารด้านวิชาการ
  • ข้อที่ 5 สนับสนุนค่ะ

ขอบคุณค่ะ..ท่านอาจารย์ธเนศสำหรับข้อเสนอที่ดี และสร้างสรรค์

   ขอบคุณทั้งสองท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
   การทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของ ก.ค.ศ.ทุกครั้ง เขาก็พยายามเอาปัญหาที่พบมาหาวิธีแก้ไขให้ดีขึ้นทั้งสิ้น แต่ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่วิธีปฏิบัติ พอเราเอาวิชาเป็นตัวตั้ง องคาพยพเลยกว้างใหญ่ไพศาล ต้องอาศัยผู้ประเมินจากหลายสาขาวิชา ซึ่งค่อนข้างดูแลยาก ตัวแทน ก.ค.ศ.ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่สามารถเป็นตัวแทนดูแลระบบนี้ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันได้หรือไม่ เป็นประเด็นหนึ่งที่ ก.ค.ศ.ต้องคัดสรรมาให้ดี
     ผมเห็นด้วยกับ ดร.สุพักตร์ว่าถ้าเอาสมรรถนะเฉพาะแต่ละวิชามาประเมินตรงนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยากซึ่งจะเกิดปัญหาองคาพยพกว้างใหญ่อย่างที่เห็น(ซึ่งจริงๆตอนนี้เราประเมินผลงานวิชาการกัน เราก็ดูที่สมรรถนะเฉพาะแต่ละวิชากันอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้ประกาศเป็นทางการก็ตาม)ถ้าเราใช้การประเมินแบบ สกศ.ที่ประเมินผู้บริหารต้นแบบ โดยเน้นสมรรถนะหลักและประจำสายงาน องคาพยพอาจไม่ต้องกว้างขวางมาก ใช้ผู้ทรงคุณวุฒิมาประเมินไม่มาก แต่ต้องเก่งและเที่ยงธรรมจริงๆ(สามารถตบสีข้างม้าก็รู้ว่าม้าดีหรือไม่ดี)ส่วนสมรรถนะเฉพาะแต่ละวิชาก็ให้องค์กรวิชาชีพ เช่น ศูนย์วิชา หรือโรงเรียน หรือเขตพื้นที่ ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรหรือประเมินความก้าวหน้าของบุคลากรในหน่วยงานตนโดยเฉพาะก็คงดี
     แต่พอไม่ประเมินแยกเป็นรายวิขาเฉพาะแต่ละสาขาวิชาหลายคนก็ไม่ยอมรับอีก ก็จึงเป็นปัญหา "เหมือนลิงแก้แห"อย่างทุกวันนี้ ...ใจจริงผมยังชอบการประเมินแบบ สกศ.นะ

สวัสดีค่ะ

ดิฉันเห็ด้วยเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงระบบการประเมิน การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครูในยุคปัจจุบัน ถ้าหากเป็นไปได้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประเมินควรเป็นบุคคลที่มีความรู้ในสายงานของครูผู้ส่งงานจริงๆ ไม่ใช่บุคคลที่มีเพียงแค่วิทยฐานะสูงกว่าผู้ส่งงานเท่านั้นเป็นตรวจและประเมินงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประเมินควรแยกไปตามสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ เช่นเดียวกันกับการตรวจผลงานสมัย อาจารย์ 3 เพราะมีความชัดเจนมากก่วา ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ 3 รู้สึกภาคภูมิใจและดูเป็นผู้มีควสามรู้จริงๆ ในสายงานที่ระบุถึงความเป็นผู้ชำนาญการในการสอนในรายวิชาของตนเองจริงๆ รวมทั้งนวัตกรรมที่สร้าง มีการทดลองใช้อย่างจริงจัง มาตรฐานเกณฑ์การประเมิน ควรอยู่ในระดับเดียวกันทุกสาขาวิชา

ขอบคุณมากค่ะที่ให้โอกาสแสดงความคิดเห็น

ครูปา

สวัสดีค่ะ

กำลังหาหัวข้อทำรายงานเกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะแบบเก่าและแบบใหม่ ว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรค์อย่างไร ได้แนวคิดที่มีประโยชน์อย่างยิ่งของอาจารย์ ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ การแก้ไขทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของ ก.ค.ศ.ทุกครั้ง เขาก็พยายามเอาปัญหาที่พบมาหาวิธีแก้ไขให้ดีขึ้นทั้งสิ้น แต่ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่วิธีปฏิบัติ

และคำว่ามาตรฐานเดียวกัน (ของใคร) ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ธเนศ ในสิ่งดี ๆ ที่นำมาเสนอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท