กองทุน "กรอ.-กยศ." "เจตนาดี" แต่ "อ่อน...ประชาสัมพันธ์"


ในช่วงที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทยอยเปิดเทอมไปแล้ว และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกำลังเตรียมเปิดภาคเรียน   เป็นช่วงที่พ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากัน เพราะต้องดิ้นรนหาเงินหาทองมาเพื่อใช้จ่าย   เป็นค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน นักศึกษา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย ให้กับลูกหลาน ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่ใช่น้อย นี่ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่ต้องวิ่งเต้นหาเงินมาจ่ายเป็นค่า "แป๊ะเจี๊ยะ" เพื่อแลกกับที่นั่งในโรงเรียนดัง

ที่เห็นชัดเจนคือข้อมูลจากผู้อำนวยการสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร นายบุญเลิศ พัฒนารุ่งอโนทัย ที่ระบุว่า ในปีการศึกษา 2551 มีผู้ปกครองนักเรียน และนิสิตนักศึกษาเข้าไปใช้บริการสถานธนานุบาลกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติ 10% มีวงเงินในการจำนำสิ่งของถึง 550 ล้านบาท และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมจะมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก 10% มีวงเงินในการรับจำนำสิ่งของประมาณ 600 ล้านบาท ในช่วงนี้จึงต้องเตรียมวงเงินเพื่อรองรับเดือนละ 500-600 ล้านบาท

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายครั้งหลายครา เรามักได้ยินข่าวที่ว่า "ว่าที่นิสิต นักศึกษา" อาจต้องพลาดโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีค่าเล่าเรียน บางรายต้องขอรับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา แต่บางรายเครียดหนักถึงขั้น "ฆ่าตัวตาย"

 แม้ว่าล่าสุด รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช จะฟื้นกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ควบคู่ไปกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และเริ่มปล่อยกู้สำหรับนิสิต นักศึกษาปี 1 ในภาคเรียนที่ 1/2551 เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง และขยายโอกาสในการเข้าสู่ระดับอุดมศึกษามากขึ้น โดยในส่วนของกองทุน กรอ. จะแบ่งกลุ่มผู้กู้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับอนุปริญญา ระดับปริญญาตรี และปริญญาตรีนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และระดับการศึกษาเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์กายภาพ แพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ฯลฯ รวมถึง สาขาวิชาในสายสังคมศาสตร์บางสาขา

เงื่อนไขใหม่ของกองทุน กรอ. คือทุกคนยื่นขอกู้ได้โดยไม่จำกัดรายได้ของครอบครัว โดยคาดการณ์ไว้ว่าจะมี  ผู้ยื่นขอกู้ประมาณ 3 หมื่นคน ใช้งบประมาณภาคเรียนละ 909 ล้านบาท แต่กู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา  โดยจะมีเพดานการให้กู้ต่อปีการศึกษาเท่ากับอัตราของกองทุน กยศ. ดังนี้ สายสังคมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ 6 หมื่นบาท สายวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรศาสตร์ 7 หมื่นบาท สายพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ 8 หมื่นบาท และสายแพทยศาสตร์ 1.5 แสนบาท

สำหรับสาขาวิชาที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในประกาศคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่สามารถยื่นกู้กองทุน กรอ. ได้ สามารถยื่นกู้กองทุน กยศ. ได้ ดังนี้ นักเรียนมัธยมปลาย กู้ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาได้ 1.4 หมื่นบาท  ค่าครองชีพ 1.2 หมื่นบาท รวมปีละ 2.6 หมื่นบาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)   
กู้ค่าเล่าเรียนฯ
2.1 หมื่นบาท ค่าครองชีพ 1.5 หมื่นบาท รวม 3.6 หมื่นบาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาบริหารธุรกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ฯลฯ กู้ค่าเล่าเรียนฯ 2.5 หมื่นบาท ค่าครองชีพ 2.4 หมื่นบาท รวม 4.9 หมื่นบาท สาขาช่างอุตสาหกรรม กู้ค่าเล่าเรียนฯ 3 หมื่นบาท ค่าครองชีพ 2.4 หมื่นบาท รวม 5.4 หมื่นบาท

ส่วนระดับอนุปริญญา/ปริญญาตรี สาขาสังคมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ กู้ค่าเล่าเรียนฯ 6 หมื่นบาท  ค่าครองชีพ 2.4 หมื่นบาท รวม 8.4 หมื่นบาท สาขาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรกู้ค่าเล่าเรียนฯ 7 หมื่นบาท ค่าครองชีพ 2.4 หมื่นบาท รวม 9.4 หมื่นบาท สาขาพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ กู้ค่าเล่าเรียนฯ 8 หมื่นบาท ค่าครองชีพ 2.4 หมื่นบาท รวม 1.04 แสนบาท และสาขาแพทยศาสตร์ กู้ค่าเล่าเรียนฯ 1.5 แสนบาท ค่าครองชีพ 2.4 หมื่นบาท รวม 1.74 แสนบาท

ล่าสุด นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หารือร่วมกับ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ น.พ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการ กยศ. เห็นควรขยายเพดานรายได้ครอบครัวขั้นต่ำต่อปีจาก 1.5 แสนบาท เป็น 2-2.5 แสนบาท     เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่เดือดร้อนด้านการเงินกู้เงินเรียนได้มากขึ้น โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการ บริหาร กยศ.ให้ทันใช้ในภาคเรียนที่ 1 รวมถึง เปิดโอกาสให้นักศึกษาปี 2-4 ที่มีความจำเป็นยื่นขอกู้ได้อีกด้วยซึ่ง  กยศ. คาดกันว่าจะมีผู้กู้เพิ่มขึ้น 10-15% หรือประมาณ 8 หมื่นคนจากจำนวนผู้กู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 8.4 แสนคนโดยใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท โดยขณะนี้มีผู้กู้รายเก่า และผู้กู้รายใหม่ ยื่นขอกู้กองทุน กยศ. ผ่านระบบ e-Studentloan แล้วกว่า 6 แสนคน แบ่งเป็น ผู้กู้รายเก่า 4.8 แสนคน และผู้กู้รายใหม่ 1.3 แสนคน ซึ่งจำนวนผู้กู้ยังต่ำกว่าที่ กยศ. คาดการณ์ไว้ถึง 2 แสนคน ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะกู้กองทุน กยศ. ยังคงยื่นกู้ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน

 ขณะเดียวกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินให้นิสิต นักศึกษา รวมถึง กรณีมีปัญหาฉุกเฉิน เช่น ไม่มีเงินเดินทางไปลงทะเบียนเรียน เป็นต้น สกอ. จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์เฉพาะกิจเพื่อช่วยนักศึกษาใหม่ที่ยากจน ปีการศึกษา 2551"  ที่ชั้น 12 ของ สกอ. โดยศูนย์ดังกล่าวจะรับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา และประสานแก้ไขปัญหา โดยสอบถามได้ที่ 0-2610-5416-7, 0-2576-5555 และ 0-2576-5777 นอกจากนี้ สกอ. ยังประสานให้ทุกมหาวิทยาลัยให้ผ่อนผันระยะเวลาการชำระค่าลงทะเบียน รวมทั้ง ว่าจ้างทำงานพิเศษเดือนละ 2,400 บาท ซึ่งจ้างได้ประมาณ  1 หมื่นคน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เตรียมประสานกับ สกอ. ในการช่วยเหลือ  เด็กยากจนที่จบ ม.6 และสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ยังกู้กองทุน กยศ. และกองทุน กรอ. ไม่ได้ โดยจะส่งต่อข้อมูลระหว่าง สพฐ. และ สกอ. โดยจะประสานกับ สกอ. จนกว่าเด็กยากจนเหล่านี้จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเรียบร้อย ซึ่งหากทำได้จริง ก็จะเป็นประโยชน์กับเด็กยากจนอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพยายามสร้างโอกาสในการเข้าถึงระดับอุดมศึกษาให้กับเด็กที่ยากจน  และด้อยโอกาส แต่ดูเหมือนว่าอุปสรรคในการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาของเด็กกลุ่มนี้ยังคงมีมากมาย ทั้งเรื่องค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสูงขึ้น หรือการประชาสัมพันธ์ที่อ่อนปวกเปียกของกองทุน กรอ. และกองทุน กยศ. ซึ่งเข้าไม่ถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึง ความช่วยเหลือต่างๆ ที่ยังไม่ลงถึงกลุ่มเด็กที่ยากจน หรือต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ ซึ่งผู้บริหารในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคนหนึ่งในภาคอีสาน บอกว่าในช่วงรอยต่อระหว่างการศึกษา  ขั้นพื้นฐาน 12 ปี กับการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เกิดผลกระทบอย่างมากกับลูกหลานชาวนาหรือกรรมกรที่หาเช้ากินค่ำ ทำให้หลายครอบครัวต้องขายที่นาและทรัพย์สินที่มีอยู่ เพื่อเอาเงินมาให้ลูกหลานเป็นค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียน  ในมหาวิทยาลัย ขณะที่หลายคนเครียดจนถึงกับฆ่าตัวตาย เพียงเพราะไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนมาเป็นค่าเล่าเรียน    ให้ลูกหลาน

ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า "เป้าหมาย" และ "ปรัชญา" ของสถาบันได้เปลี่ยนไปโดยปริยาย โดยเน้น "ธุรกิจ" มากขึ้น เปิดสอนหลักสูตรภาคพิเศษ และมุ่งหา "ลูกค้า" เพิ่มขึ้น ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยเองก็ห่วงแต่"ภาระงาน"ของตนจนไม่มีเวลาเอาใจใส่นิสิตนักศึกษาว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ฉะนั้นถึงเวลาหรือยังที่ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องต้องหันหน้าเข้าหากันวางกลไกในการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกองทุน กรอ.,กองทุน กยศ. และแหล่งทุนรวมถึงมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ให้ลงไปสู่คนยากคนจน และคนด้อยโอกาส เพื่อให้คนเหล่านี้มีโอกาสเรียนต่อใน "มหาวิทยาลัย" อย่างจริงจังเสียที!!

มติชนสุดสัปดาห์  (คอลัมน์การศึกษา)  30  พ.ค.  2551 

 

หมายเลขบันทึก: 185260เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2008 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาอ่านข่าวสาร ครับ

ขอบคุณครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท