ถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง มนุษย์ก็จะฉลาดขึ้นๆ และมีศักยภาพมาก


ทำไมคนคนเดียวจึงมีศักยภาพและทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ถึงเพียงนี้

บรรณาธิการสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ส่งหนังสือ
"ปัจฉิมอาพาธพุทธทาสมหาเถระ" ให้ผมเล่มหนึ่ง บนปกหลังมีซีดี MP3
ธรรมบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยและความตายของท่านพุทธทาส
แนบมาด้วย พร้อมกับบอกว่าใครสนใจหนังสือเล่มนี้ก็ให้ติดต่อมูลนิธิโกมลฯ

โดยส่งแสตมป์มูลค่า ๑๐ บาทไปที่มูลนิธิพร้อมระบุที่อยู่ตัวเองไปด้วย

ผมอ่านบางตอนแล้ว ชอบตอนที่หมอประเวศเขียนเรื่องท่านพุทธทาส ว่า
ทำไมคนคนเดียวจึงมีศักยภาพและทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ถึงเพียงนี้
ถ้าตอบคำถามนี้ได้จะพบวิธีแก้วิกฤติการณ์ของโลกทีเดียว

คำตอบของหมอประเวศคือ การเรียนรู้ ท่านพุทธทาสเป็นผู้มีศักยภาพสูง
เพราะท่านเป็นผู้ "เรียนรู้"

หมอประเวศชี้ว่าท่านพุทธทาสมีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
ถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง มนุษย์ก็จะฉลาดขึ้นๆ และมีศักยภาพมาก

มนุษย์ที่บรรลุปัญญาคนหนึ่งๆ มีค่ามหาศาล

ท่านพุทธทาสใช้หลักกาลามสูตรเป็นอย่างมากในการเรียนรู้ของท่าน
ท่านเรียนรู้จากความเป็นจริง

หมอประเวศชี้ว่า ความผิดพลาดใหญ่ของการศึกษาทุกวันนี้ที่ทำให้
ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้ คือการเรียนรู้แบบเอาวิชาเป็นตัวตั้ง
ไม่เอาความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง

วิชาไม่ใช่ความจริง แต่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้

ถ้าเรียนแต่เครื่องมือ แต่ไม่ได้เรียนความจริง ก็ไม่รู้ความจริง

การเรียนรู้ความจริงคือการสัมผัสและการปฏิบัติในธรรมชาติแห่งความเป็นจริง
ของชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม

การสัมผัสของจริงทำให้รู้ความจริง

การเรียนรู้และการปฏิบัติเป็นกระบวนการเดียวกัน

ท่านพุทธทาสใช้หลักการนี้ตลอดเวลา

ท่านใช้ทั้ง โยนิโสมนสิการ การสัมผัสความจริงทำให้เกิดปัญญาระดับหนึ่ง
แต่ต้องนำมาคิดไตร่ตรองโดยแยบคาย จึงจะทำให้สิ่งที่รับรู้มาเป็นปัญญาที่สูงขึ้น

การที่จะสัมผัสและคิดได้ตามความเป็นจริงนั้น ต้องการ จิตใจที่เป็นกลาง
ถ้าจิตใจไม่เป็นกลางก็จะรับรู้และคิดไปตามอคติ

การที่จิตใจจะเป็นกลางได้ต้องดำเนินตามมรรค ๘
ยิ่งดำเนินตามอริยมรรคที่มีองค์ ๘ ประการได้มากเท่าไร จิตใจก็ยิ่งเป็นกลางมากขึ้น
ยิ่งสัมผัสและคิดตามความเป็นจริงได้มากขึ้น ปั้ญญายิ่งเกิดมากขึ้น

หมอประเวศสรุปว่า การดำรงชีวิต การปฏิบัติธรรม และการเรียนรู้
รวมอยู่ในกระบวนการเดียวกัน เป็นชีวิตแห่งการเรียนรู้จากความเป็นจริง
ด้วยความเป็นกลาง

เรื่องที่กล่าวนี้ยังอาจจะสั้นและยากไป แต่อยากให้ทุกท่านเห็นความสำคัญของ
กระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก
และสามารถยกศักยภาพของคนทุกคนได้จริง.

หมายเลขบันทึก: 185065เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2008 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์สุรเชษฐ์ เวชชพิทักษ์ ที่เคารพ
  • กระผมอ่านแล้วคล้อยตามเป็นลำดับและเต็มที่ในที่สุด พร้อมกับเห็นโดยสรุปว่า
  • การระวังจิตให้อยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นการดำรงชีวิต
  • การระวังจิตให้อยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นการปฏิบัติธรรม
  • การระวังจิตให้อยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นการเรียนรู้
  • กระบวนการเรียนรู้ใด ตอบสนองเรื่องจิต(สำนึก) นั่นหละเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
  • ควรมิควรได้โปรดชี้แนะครับ
  • โชคดีมีความสุขครับ

มาอ่านและตั้งใจจดจำ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท