006 : ผ้าคลุมโรมัน vs จีวรพระ - ญาติกันนะ..จะบอกให้



เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยทีเดียวว่า แม้พระพุทธองค์จะเป็นชาวอินเดีย แต่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์นั้นกลับริเริ่มโดยช่างชาวกรีกซึ่งสนใจพุทธศาสนา

เพราะแต่เดิมนั้น อินเดียโบราณไม่นิยมทำรูปคนไว้เป็นที่เคารพบูชา (บางท่านว่าเป็นถึงกับข้อห้ามทีเดียว) โดยช่างอินเดียจะใช้สัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ในเหตุการณ์สำคัญที่กล่าวถึงในพุทธประวัติ เช่น

  • เมื่อประสูติ ก็จะใช้รูปกอบัว หรือรูปพระนางสิริมหามายาประทับยืนหรือนั่งบนกอบัว หรือสร้างเป็นรอยพระบาทที่มีดอกบัวอยู่ตรงกลางพระบาท
  • เมื่อตรัสรู้ ก็ทำเป็นรูปบัลลังก์ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเครื่องหมายแทนพระพุทธองค์
  • เมื่อประทานปฐมเทศนา ก็ใช้รูปธรรมจักรกับกวางหมอบ
  • เมื่อเสด็จปรินิพพาน ก็ใช้ภาพกองมูลดิน หรือสร้างเป็นพระสถูป เพื่อระลึกถึงพระองค์

 

 

ในราวปี พ.ศ.217-218 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้บุกยึดดินแดนแถบลุ่มน้ำสินธุ และตั้งแม่ทัพนายกองปกครองบ้านเมืองเพื่อรักษาพระราชอาณาจักร

 

ครั้นเมื่อสิ้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ก็ไม่มีผู้ใดสืบทอดอำนาจเด็ดขาด ราชอาณาจักรก็แตกแยกออกเป็นประเทศต่างๆ  โดยทางเอเชียนี้พวกกรีก (หรือชาวโยนก) ก็ต่างตั้งตนเป็นอิสระหลายอาณาเขตด้วยกัน จากนั้นก็ชักชวนสมัครพรรคพวกของตนให้เข้ามาตั้งรกรากในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาเรียกว่า อาณาเขตคันธารราษฎร์ (Gandhara) ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า กันดาฮาร์ (Kandahar) 


อาณาเขตคันธารราษฎร์ในยุคเริ่มแรกนี้อยู่ในประเทศบัคเตรีย ซึ่งแม่ทัพกรีกคนหนึ่งตั้งตัวเป็นเจ้า ครั้นต่อมาบัคเตรียแพ้สงครามก็จำต้องตัดอาณาเขตคันธารราฐให้แก่พระเจ้าจันทรคุปต์ ต้นราชวงศ์โมริยะ และเป็นพระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช

ดังนั้น เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชอุปถัมภ์เชิดชูพระพุทธศาสนาไว้สูงสุด พระพุทธศาสนาก็จึงเข้าไปประดิษฐานในคันธารราฐนับแต่นั้น 

เมื่อพระพุทธศาสนาของอินเดียผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมของชาวกรีกในคันธารราฐ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ช่างกรีกจะแหวกหลักประเพณีเดิมของอินเดียที่ห้ามสร้างรูปบุคคล เนื่องจากพวกกรีกนั้นคุ้นเคยกับการสร้างปฏิมากรรมเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ อยู่แล้ว


          


ชุดผ้าคลุมของชาวโรมันเรียกว่า โทกา (toga)          พระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบคันธารราษฎร์

 

ผลก็คือ พระพุทธรูปองค์แรกๆ ของโลกจึงมีรูปร่างละม้ายคล้ายพวกกรีก กล่าวคือ มีพระพักตร์คล้ายฝรั่ง (บ้างว่าคล้ายใบหน้าของเทพอพอลโล) พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก พระเกศาเป็นเส้นผมอย่างคนสามัญและยาวสลวย แต่เกล้าขึ้นสูง (ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการไปเป็นพระเกตุมาลาในภายหลัง) 

ส่วนจีวรของพระพุทธองค์นั้นก็ทำหมือนกับเสื้อคลุมของชาวกรีก-โรมัน โดยจีวรมีลักษณะคล้ายผ้าหนา ส่วนใหญ่ห่มคลุมทั้งสองบ่า และมีริ้วรอยย่นเป็นริ้วใหญ่คล้ายของจริง

นี่คือ กำเนิดของพระพุทธรูปแบบคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งพระพุทธรูปทั้งปวงในโลก


เมื่อศรัทธาและภูมิปัญญาของตะวันออกกับตะวันตกมาพบกัน

ณ สถานที่ที่มีความพร้อม และเวลาอันเป็นมงคล

ศิลปะที่งดงามที่สุดในโลกแบบหนึ่งจึงถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยนี้เอง


ประตูสู่มิติอื่น
         ขอแนะนำหนังสือ อัฟกานิสถาน แหล่งผลิตพระพุทธรูปองค์แรกในโลก สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พฤษภาคม 2535 (ISBN 974-322-609-5) 

 


 

ประว้ติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ มิติคู่ขนาน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่นจุดประกายเสาร์สวัสดี  เสาร์ 19 กุมภาพันธ์ 2548
  • ตีพิมพ์ในหนังสือ มิติคู่ขนาน สนพ. สารคดี 
  • นำมาเผยแพร่ใน GotoKnow เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • อนุญาตให้วารสารออนไลน์ วทามิ นำไปเผยแพร่

  

หมายเลขบันทึก: 184966เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2008 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สวัสดีครับ หนังสือน่าอ่านครับ
  • วันนี้ต้องไปร้านหนังสือ...ลองหาอ่านดูนะครับ

สวัสดีรับ อาจารย์กวิน

       เป็นหนังสือที่ดีมากครับ เล่มค่อนข้างบางหน่อย อ่านรวดเดียวอาจจะจบได้ ;-)

ขอบคุณมากค่ะพี่ชิว เหมือนกันมากจริงๆ ค่ะ

ปล. เพิ่งมาเห็นว่าพี่ชิวมีบล็อกนี้ ก็เลยเพิ่ง add เข้าแพลนเน็ตค่ะ อ่านแล้วนึกถึงตอนเด็กๆ ค่ะ จันชอบอ่านต่วยตูนพิเศษ :)

อ่าฮ้า! ต่วยตูนพิเศษนี่เป็นวารสารในดวงใจฉบับหนึ่งเลยทีเดียว พี่อ่านตั้งแต่เด็กเหมือนกันครับ :-)

ต่วยตูนพิเศษนี่เขียนได้มันส์มาก แต่ต้องระวังเรื่องรายละเอียด เพราะมีเพี้ยนๆ ประปราย (แต่โดยรวมถือว่าพอใช้ได้)

สวัสดีค่ะ

ตามมาอ่านค่ะ

ขอบพระคุณค่ะที่แนะนำไปค่ะ

สวัสดีครับ คุณณัฐรดา

        หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ ^__^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท