ชยสาโรภิกขุ – วิถีพุทธ วิถีแห่งสากล (๑)


การได้พบวิถีพุทธ คือความเป็นที่สุดแห่งชีวิตของท่าน เป็นความพอ และความพอดี

 ชยสาโรภิกขุ : วิถีพุทธ วิถีแห่งสากล (๑)

อาจไม่ใช่เรื่องง่าย  ถ้าชาวตะวันตกสักคนหนึ่งจะเข้าถึงแก่นแท้แห่งพุทธศาสนา

อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินเป็นไปได้  ในเมื่อพุทธศาสนานั้นมิใช่ศาสนาแห่งความเชื่อ  หากแต่เป็นศาสนาแห่งการแสวงหา

พระฝรั่งวัดป่ารูปหนึ่งประกาศกล่าวอย่างหนักแน่นไว้ในเบื้องแรกว่า  การได้พบวิถีพุทธ  คือความเป็นที่สุดแห่งชีวิตของท่าน เป็นความพอ และความพอดี

เวลาผ่านมานานร่วมสามสิบปี  หลังจากเดินทางออกจากประเทศอังกฤษแผ่นดินเกิด  มายังประเทศไทยเพื่อบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  ปวารณาตนเป็นศิษย์หลวงพ่อชา  ปัจจุบันจำพรรษาเพียงลำพังในที่พักสงฆ์  ที่อำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา

วิถีแห่งพุทธยังคงเป็นที่สุดแห่งชีวิต  หากแต่มีรายละเอียดและความหมายใหม่ๆ ในการเข้าถึงสารัตถะ

ด้วยการไตร่ตรอง เพ่งพินิจ ท่านประจักษ์แจ้งว่า  พุทธศาสนาเป็นระบบการศึกษา  เป็นระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในโลกมนุษย์  เป็นระบบการศึกษาที่พาดิ่งลึกเข้าไปในตัวตนอันกว้างใหญ่แห่งทุกข์  เป็นการศึกษาเพื่อมุ่งพัฒนาชีวิตในทุกๆ ด้าน

เมื่อพุทธศาสนาเป็นระบบการศึกษา  ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้หรือที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาสมัยใหม่

ชยสาโรภิกขุ  ได้แสดงทัศนะเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน  พุ่งตรงเข้าสู่หัวใจ

มองย้อนกลับไปยังหนทางความรุนแรงของมนุษย์ในประวัติศาสตร์  จุดเริ่มต้นมาจากความเชื่อ มิได้มาจากการไตร่ตรอง  การแบ่งแยกจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  หากจะมีหนทางใดที่พามนุษย์พ้นไปเสียจากความแตกต่างนั้น

แนวทางนั้นย่อมมีความเป็นสากลอย่างที่สุด

ในความเป็นสากลแห่งพุทธศาสนา  สำคัญต่อระบบการศึกษา  จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ  เกื้อหนุนการพัฒนาชีวิต  นำไปสู่สัมมาทิฐิ  ลดความรุนแรงยุ่งเหยิงบนโลก

แต่เหตุใดกันเล่า  ผู้คนที่ถือกำเนิดในแผ่นดินที่ความจริงสากลสำคัญนี้หยั่งราก  จึงเคยคิดกังวลแต่เพียงว่า

สิ่งนี้ยังไม่ได้ถูกบัญญัติเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ!!

 

คัดลอกจากบทสัมภาษณ์ ชยสาโรภิกขุ

วารสาร ฅ.คน

ปีที่ 3 ฉบับที่ 7 (31) พฤษภาคม พ.ศ. 2551

หมายเลขบันทึก: 182483เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับ

  • ขอบคุณมากครับ น้องบ่าว ที่รัก
  • เรื่องดีๆ เชิดชูคนดีๆ กี่เดือนกี่ปี ก็ อมตะ นิรันดร์กาลครับ
  • อีกหนึ่งท่านที่น่าเลื่อมใส ศรัทธา แม้จะลาสิกขาจากเพศบรรพชิตแล้ว ก็ยังเข้มแข็งในการเผยแผ่ "พุทธแท้" มาอย่างต่อเนื่องในดินแดนอันเป็นบ้านเกิดของท่าน ที่ Chicago USA ครับ .. อดีตท่าน สันติกะโรภิกขุ คนนี้แหละที่พี่บ่าวได้ยินกับหู ตอนที่ท่านอาจารย์พุทธทาส บอกท่านปัญญาฯว่า "สันติกะโร .. ใช้ได้"

สวัสดีครับพี่บ่าวที่เคารพ

ผมได้แวะเข้าไปอ่านบันทึกที่พี่บ่าวแนะนำแล้วครับ  ขอบอกว่าชอบมากครับ

ชีวิตนี้ ผมได้แต่ศึกษางานจากท่านเหล่านั้น  แต่ลึกๆ ก็อยากไปกราบท่าน แต่ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะท่านไม่อยู่ให้ทำแล้ว

ล่าสุดที่เราได้สูญเสียท่านอาจารย์ปัญญาฯ ไปนั้น รู้สึกว้าเหว่ครับ  พระดีๆ ที่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าท่านคือเพชรแท้ๆ นั้น ได้จากเราไปจนเกือบหมดแล้วครับ

ถีงจะมีพระหลายรูปที่พอจะเชื่อได้ว่าท่านคงเป็นกัลยาณมิตรได้นั้น  ก็เป็นอันว่าแน่ใจได้ยาก เพราะหลายท่านเมื่อกาลเวลาผ่านไป ลายก็ออก

ช่างว้าเหว่จริงๆ หรือใกล้ถึงเวลา ตัวใครตัวมัน กันแล้วครับ?

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ

^ ^ ดีใจที่ได้เห็นบันทึกค่ะ สบายดีนะคะ

เห็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัิติชอบ สืบทอดพระพุทธศาสนาก็เกิดปิดิตามไปด้วย

ขอบคุณนะคะ

Pกมลวัลย์

สวัสดีครับ อ.กมลวัลย์
 
ผมสบายดีครับ  และก็หวังว่าอาจารย์อยู่ต่างบ้านต่างเมืองคงสบายดีเช่นกันนะครับ  คิดถึงอาหารไทยหรือเปล่าครับ?
 
บทสัมภาษณ์ที่ผมคัดลอกมานี้คงต้องมีอีกหลายตอนครับ  เพราะเป็นสัมภาษณ์ที่ยาว น่าสนใจ และมีคุณค่ามากเลยครับ
 
มีมุมมอง แง่คิด ข้อเสนอแนะที่น่าศึกษามากมาย  ด้วยเพราะท่านเป็นฝรั่ง(ไม่ได้แปลว่าฝรั่งดีกว่าคนไทยนะครับ อิอิ) เคยไปมาหลายประเทศทั่วโลก  บวชตั้งแต่ยังหนุ่ม  หาอาจารย์มาแล้วหลายแห่ง  แต่ทำไมมาจบลงที่หลวงปู่ชา  ที่พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย
น่าสนใจเชียวล่ะครับ
โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
ธรรมะสวัสดีครับ

 
  • แต่เหตุใดกันเล่า  ผู้คนที่ถือกำเนิดในแผ่นดินที่ความจริงสากลสำคัญนี้หยั่งราก  จึงเคยคิดกังวลแต่เพียงว่า สิ่งนี้ยังไม่ได้ถูกบัญญัติเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ!!

  • นั่นซิ...!

  • จะติดตามตอนต่อไปขอรับ

P 5. ทนัน ภิวงศ์งาม

สวัสดีครับอาจารย์

  • บทสัมภาษณ์ยาวพอสมควร คงได้ลงหลายตอน น่าสนใจมากครับ
  • อ้อ มีเรื่องหน้าแตกจะเล่าให้ฟังครับ  เมื่อคืนวานผมก๊อปแผ่นให้อาจารย์เสร็จ ตั้งใจเต็มที่ครับว่าวันจันทร์ต้องส่งให้ได้
  • เที่ยงวันจันทร์ว่างพอดี  ไปรษณีย์อยู่ไม่ไกลนัก
  • เดินอาดๆ อย่างมั่นใจ พอถึงหน้าไปรษณีย์
  • .....แป่ว
  • คงทราบนะครับว่าเกิดอะไรขึ้น

ธรรมะสวัสดีครับ

 

  • วันวิสาขบูชานะ เขาหยุด!
  • คงลืมละซิท่า ลืมไปวัดด้วยรึเปล่าขอรับ (เอ๊ะ...ไป/ไม่ไป ต่างกันอย่างไร? หือ...)
  • ยังไงก็ขอบพระคุณมากในความตั้งใจ
  • ไม่ต้องเร่งรีบอะไรครับ รู้ว่าได้ก็ม่วนอกม่วนใจ๋ยิ่งแล้ว
  • โชคดีมีความสุขครับ

ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ

ศาสนากับการเมืองควรแยกออกจากกัน

เขียนเมื่อไหร่เกิดวิวาทะเมื่อนั้น

------------------------------

ขอบคุณครับ

P ทนัน ภิวงศ์งาม

  • ลืมจริงๆ ครับอาจารย์ ลืมอย่างไม่น่าให้อภัยเลย
  • แต่วันนี้สมใจแล้วครับ ส่งคุณเอ็มเอสเลยครับ
  • ถ้าไปรษณีย์ทำตามหน้าที่ พรุ่งนี้หรือมะรืนคงถึงครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

 

 

P จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

สวัสดีครับ ไม่ได้คุยกันนานเลยนะครับ สบายดีนะครับ

ประเด็นเรื่องนี้ละเอียดอ่อนจริงๆ ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ

ผมคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน  เราจะแยกศาสนาและการเมืองออกคงยาก  มิหนำซ้ำการเมืองควรใช้ศาสนาเป็นฐานด้วยซ้ำ  หรือจะใช้เป็นเครื่องมือก็ได้

เพราะถ้าเอาศาสนามาใช้อย่างถูกต้องแล้วปัญหาคงไม่เกิดอย่างปัจจุบันหรอกครับ

จะบรรจุหรือไม่บรรจุก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องจับเข่าคุยกัน  อาจดีหรือไม่ดีก็ได้  ขึ้นกับสถานการณ์

ปัญหาอยู่ที่คนนี่แหละครับว่าเอามาใช้อย่างไร

มีดหนึ่งด้าม  ถ้าอยู่ตามประสามันก็ไม่เป็นไร  ไม่มีผลได้ผลเสียอะไร  แต่เมื่อใดที่พ่อครัวหยิบมาใช้ในงานของตนก็เป็นประโยชน์  แต่ถ้าผู้ร้ายหยิบขึ้นมาใช้ในงานของตนเมื่อไร ปัญหาหนักก็ตามมา

ปัญหาก็อยู่ที่คนนี่แหละครับ จะพระ จะฆราวาส ก็คนทั้งนั้น

ประสาอะไร  แค่รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน มาตราเดียวกัน  ยังตีความกันคนละทางสองทาง

ฉีกแล้วเขียน ๆๆๆ มันก็เปล่าประโยชน์

ไม่มีมันเสียเลยไม่ดีกว่าหรือครับ?  อิอิ ถามเล่นๆ น่ะครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท