อาขยาน (2)


“เสนาะกรรณวันวาน เสนาะกานท์วันพรุ่ง คือจุดหมายมุ่ง ท่องอาขยาน ”

อาขยาน (2)

การฝึกเด็กๆให้ท่องบทอาขยานเป็นการสร้างพื้นฐานในการแต่งคำประพันธ์

            ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2540 - 2546  เคยกำหนดให้นักเรียนท่องอาขยานบทรอง ( บทที่ครูเลือกมาให้นักเรียนท่อง)  คือ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน นักเรียนทุกคนท่องจำได้...แม้บางคนจะท่องได้ไม่หมดแต่พอเพื่อนขึ้นต้นให้ก็พอท่องตามเพื่อนๆ ไปได้        

            มาถึงภาคเรียนที่ 2 สอนเรื่องการแต่งคำประพันธ์ สังเกตเห็นว่านักเรียนที่ท่องบทอาขยานได้ขึ้นใจ  สามารถแต่งคำประพันธ์ได้ดี ทั้งเสียงและความหมาย  การใช้คำก็ไม่มีลักษณะกลอนพาไป  เล่นสัมผัสได้ถูกต้องคล้องจองเหมาะสมเป็นส่วนใหญ่ 

            เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547-2549 ที่ไม่ได้กำหนดให้ท่องบทอาขยานอย่างเคร่งครัด  การสอนแต่งคำประพันธ์ก็ยากขึ้น  ผลงานนักเรียนไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

             จึงนำประสบการณ์ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ มาส่งเสริมให้นักเรียนท่องบทอาขยานอย่างเคร่งครัดจนถึงปัจจุบัน    เนื่องจากมีข้อมูลที่ชี้ชัดว่า  การท่องอาขยานไม่ได้ทำให้เด็กเป็นนกแก้วนกขุนทอง  แต่เป็นการปูพื้นฐานด้านการจำ...ที่ใช้เป็นพื้นฐานความรู้  ก้าวสู่การคิดวิเคราะห์  สังเคราะห์ และการสร้างสรรค์จินตนาการด้วยสุนทรียภาพแห่งถ้อยคำ  อันนำไปสู่การพัฒนาในการแต่งคำประพันธ์ได้ดี

            เมื่อครั้งมีการสัมมนาเชิงปฎิบัติการเรื่อง อาขยาน : รากร่วมแห่งวัฒนธรรม ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  คณะวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านการอ่านอาขยาน  ได้แสดงทรรศนะไว้อย่างหลากหลายเพื่อสื่อให้เห็นได้ว่า  บทอาขยาน  คือ ความงามทั้งสุนทรียทางวรรณกรรม  คีตกรรม และนาฏกรรม 

            และในครั้งนั้น คุณปพิชญา  พรหมกันธา   ได้สรุปแนวคิดของวิทยากรด้วยบทร้อยกรองแสดงความรู้สึกที่มีต่อบทอาขยาน...ความสำคัญของบทอาขยานได้อย่างน่าประทับใจว่า

            สดับโสตจดจำคำของปราชญ์              ยามประกาศอลังการสารภาษา

อาขยานฐานร่วมรวมปัญญา                            สุนทรียะคือค่าแห่งร้อยกรอง

            เสรีภาพกาพย์กลอนถูกรอนสิทธิ์         อิสรภาพความคิดจะหม่นหมอง

ถ้าเราขาดรากร่วมรวมทำนอง                         วรรณศิลป์,ครรลอง,คือของใคร

            เมื่อไม่อยากให้รากร่วมนั้นร่อยหรอ      เราจะให้ใครหนอร่วมพิสมัย

คันธคีรีมีลั่นทมห่มฉันใด                           อาขยานคือหัวใจแห่งกาพย์กลอน

            สุนทรียภาพแห่งถ้อยคำจากบทอาขยานจะมีสีสันและจิตวิญญาณได้เพียงใดนั้น  คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้....เป็นสำคัญ

เสนาะกรรณวันวาน   เสนาะกานท์วันพรุ่ง   คือจุดหมายมุ่ง  ท่องอาขยาน                

หมายเลขบันทึก: 181991เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านต่อครับ

น่าจะได้มีการคัดบทกลอนดีๆ ให้เด็กได้อ่านได้ท่องกันเพิ่มเติม

นอกเหนือจากที่เคยเห็นในรุ่นก่อนๆ

ส่วนความเรียงร้อยแก้วดีๆ ก็น่าส่งเสริมเหมือนกันนะครับ

สมัยเรียน ผมยังเคยท่องศิลาจารึกหลักที่ 1 หน้า 1(พ่อขุนรามคำแหง)

ไม่เป็นกลอน แต่ก็ท่องได้สนุกดีด้วย

สวัสดีครับ

เข้ามาอ่านบทอาขยานครับ

ครูดอยอยากเขียนหรือแต่งอาขยานเป็นจังครับ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณนะค่ะที่นำเรื่องราวดี ๆ มาร่วมแบ่งปันค่ะ ขอแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คำสำคัญ คลิก เพื่อศึกษาเพิ่มเติมค่ะ

สวัสดีค่ะ...ธ.วัชชัย

***ขอบคุณค่ะสำหรับคำแนะนำ

***นอกจากอาขยานบทหลักที่มีในบทเรียน...จะมีบทอาขยานบทรองที่ครูกำหนดให้และมีบทอาขยานอิสระที่นักเรียนเลือกมาท่องตามความสนใจค่ะ

***ความเรียงร้อยแก้วดีๆ...ก็ต้องสนับสนุนให้มากเพราะนักเรียนในปัจจุบันส่วนใหญ่ให้ความสนใจน้อยลงจริงๆ

สวัสดีค่ะ...ครูดอย

***เคยแนะนำนักเรียนที่อยากแต่งคำประพันธ์ให้เก่งด้วยการให้ฝึกอ่านคำประพันธ์ทุกประเภท...ทุกวัน.....เท่าที่มีโอกาสจะซึมซับจนแต่งได้เองค่ะ

สวัสดีค่ะ *-*( D.i.N.@ )"+"

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำ...การมีพันธมิตรที่ดีทำให้ได้ศึกษาเพิ่มเติม...การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นพลังและขุมทรัพย์ที่มีค่าอนันต์จริงๆนะคะ...ดิฉันดีใจทุกครั้งที่ได้รับคำแนะนำ "ผู้แนะนำเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ให้"อย่างแท้จริงค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์กิติยา

  • ครูสุจะได้สอนวิชาภาษาไทยชั้นป.4/1 (ก็งงฝ่ายวิชาการว่า ทำไมไม่ให้สอน 4/2 ห้องตัวเอง หรือ ตารางอาจจัดยากก็ได้) คงจะสอนบทอาขยานแก่เด็กด้วย
  • จะเอาอาจารย์ไปช่วยปรึกษาด้านภาษาไทยนะครับ เผื่อติดขัดตอนสอนเด็ก จะได้มาถามปรึกษาอาจารย์นะครับ
  • ขอบคุณครับ

อาขยาน เป็นเรื่องที่ควรจัดการให้กับนักเรียนมากๆ  ครูอ้อยให้นักเรียนท่องก่อนเรียน  นอกจากนักเรียนจะไม่ลืมแล้ว  ยังเป็นการทำสมาธิ ให้เกิดความพร้อมด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เขียนกลอนด้วยรู้สึกสัมผัสชัดผ่าน อาขยานอ่านด้วยหัวใจที่ใส่ฝัน

เรียบเรียงร้อยเรื่องราวก้าวให้ทัน แต้มเติมชั้นเชิงช่องครรลองชน

ครูปพิชญา พรหมกันธา

โรงเรียน วารีเชียงใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท