ข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว(ข้าวนึ่ง) แบบไหนดีกับสุขภาพมากกว่า


ท่านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงอัมพิกา มังคละพฤกษ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดหลังการกินข้าวเหนียว

...

โลกเรามีข้าวอยู่หลายกลุ่มสายพันธุ์... สายพันธุ์ข้าวที่มีคนกินน้อยที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ ข้าวเหนียว(ข้าวนึ่ง) ซึ่งกินกันเฉพาะภาคอีสาน-ภาคเหนือของไทย ลาว ส่วนน้อยของรัฐฉาน(ไทยใหญ่)ของพม่า และส่วนน้อยของเขตสิบสองปันนาในจีน

เสน่ห์ของข้าวเหนียวคือ ความอิ่มทน... กินแล้วมีแรงทันที แรงดี แถมยังมีแรงทำงานได้นานมากเป็นพิเศษ ข้อเสียคือ ถ้ากินมากๆ แล้วจะง่วงเร็วมากๆ เช่นกัน

...

ท่านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงอัมพิกา มังคละพฤกษ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดหลังการกินข้าวเหนียว

กลุ่มตัวอย่างเป็นคนไข้เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบในเด็กอ้วนและผู้ใหญ่ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก

...

ผลการศึกษาพบว่า ข้าวเหนียวเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าข้าวเจ้าถึง 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ 50 หน่วย

อาจารย์อัมพิกากล่าวว่า การกินข้าวเหนียวคราวละมากๆ ทำให้คนไข้เบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น และเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนมากขึ้น

...

นอกจากนั้นยังทำให้กลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานแฝง (pre-diabetes) หรือ "ว่าที่" เบาหวาน กลายเป็นโรคเบาหวานเต็มตัวเร็วขึ้น

การศึกษาก่อนหน้านี้ทำในอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยร่วมกับนักโภชนาการจากโรงพยาบาลลำปางพบว่า คนไข้เบาหวานส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า มื้อหนึ่งควรจะกินข้าวเหนียวมากน้อยเท่าไร

...

คณะผู้วิจัยได้ทำ "กระติ๊บข้าวเหนียว" มาตรฐาน ซึ่งเป็นกล่องไม้ไผ่สานเป็นรูป 4 เหลี่ยม ทำให้คนไข้เบาหวานรู้ว่า ควรจะกินข้าวเหนียวมื้อหนึ่งมากน้อยเท่าไร เช่น 1 กระติ๊บ 2 กระติ๊บ ฯลฯ

เมื่อคนไข้เบาหวานรู้ปริมาณข้าวเหนียวที่กินได้ในแต่ละมื้อ ซึ่งจะต่างกันไปตามเพศ (ผู้ชายกินได้มากกว่าผู้หญิง) และการใช้แรงงาน (ทำงานออกแรง หรือออกกำลังมาก... กินได้มากกว่าคนที่ไม่ออกแรง-ออกกำลัง) แล้ว

...

ผลการศึกษาพบว่า คนไข้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น หลังได้รับคำแนะนำจากนักโภชนาการง่ายๆ ผ่านกระติ๊บข้าวเหนียวมาตรฐาน

ผู้เขียนขอเรียนเสนอทางเลือกที่มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นเร็วหลังอาหาร (ลดค่าไกลซีมิค อินเด็กซ์ / glycemic index) ซึ่งช่วยป้องกันเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคอ้วน และโรคอ้วนลงพุงดังต่อไปนี้

...

  • ลดปริมาณข้าวเหนียวต่อมื้อให้น้อยลง หรือเปลี่ยนข้าวเหนียวเป็นข้าวเจ้า
  • เปลี่ยนข้าวขาว (ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว) เป็นข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ

...

  • เปลี่ยนขนมปังขาวเป็นขนมปังเติมรำ (โฮลวีท / ขนมปังสีรำ)
  • อย่ากินแต่ข้าวกับเนื้อ > ให้กินข้าวกับผักหรือผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้)

...

  • เปลี่ยนโปรตีนจากเนื้อเป็นโปรตีนจากพืชอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง > โปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง เต้าหู้ โปรตีนเกษตร งา ฯลฯ มีเส้นใยชนิดละลายน้ำสูง ทำให้การย่อย และดูดซึมน้ำตาลช้าลง
  • กินอาหารที่มีไขมันต่ำแทนอาหารไม่มีไขมัน

...

  • ดื่มนมไขมันต่ำหรือนมไม่มีไขมัน หรือนมถั่วเหลือง
  • ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำทุกวัน

...

การกินข้าวพร้อมเส้นใย (ไฟเบอร์) ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยจากข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้) โปรตีนจากพืช นม หรือไขมันชนิดดี (ไม่ใช่อาหารผัด-ทอด น้ำมันปาล์ม หรือกะทิ) ช่วยทำให้การย่อย และการดูดซึมน้ำตาล (จากอาหาร) ช้าลง

เมื่อการย่อยและการดูดซึมน้ำตาลช้าลง จะทำให้ระดับน้ำตาลหลังอาหารไม่เพิ่มขึ้นเร็ว

...

การออกแรง-ออกกำลังช่วยให้กล้ามเนื้อใช้น้ำตาล และไขมันเป็นแหล่งกำลังงานเพิ่มขึ้น

กล้ามเนื้อของคนที่ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำจะเป็น "ฟองน้ำ" ที่ช่วยดูดซับน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มขึ้นเร็ว เปรียบคล้าย "เขื่อน" ที่ช่วยป้องกันน้ำท่วมหลังเขื่อนในหน้าฝน

...

การเป็นเบาหวานอาศัยการรักษาจากคนไข้เป็นหลัก โดยการใส่ใจอาหาร ออกกำลัง-ออกแรง และดูแลสุขภาพทั่วไปให้ดี การรักษาจากหมอเป็นเรื่องรอง

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • ขอขอบพระคุณนิตยสารใกล้หมอ > ลดข้าวเหนียว เลี่ยงโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน > ใกล้หมอ > ปี 32  ฉบับ 3 เดือนมีนาคม-เมษายน 2551. หน้า 19.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 12 พฤษภาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 181946เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนถามท่าน

ผมให้นักเรียนทดสอบแป้งในข้าวจ้าวเปรียบเทียบกับข้าวเหนียว ผลการทดลอง(โดยไอโอดีน)ผลข้าวเจ้าให้สีน้ำเงินม่วงเข้ม..แต่ข้าวเหนียวได้สีม่วงแกมน้ำตาลอ่อน..จะสรุปว่าข้าวจ้าวมีแป้งมากกว่าข้าวเหนียวได้หรือไม่...

ขอบคุณครับ

การทดลองโดยใช้วิธีของอาจารย์น่าสนใจมากๆ ครับ..... เรียนเสนอให้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาอาจารย์เทคนิคการแพทย์ที่โรงพยาบาล ทำเป็นการวิจัยร่วมกัน // ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมด้วยน่าจะดีครับ // การทดสอบโดยใช้สีจุดอ่อน อาจต้องใช้เทคนิค เทคนิคการแพทย์เข้าช่วย โดยการทำเจือจางเป็นความเข้มข้นต่างๆ กัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท