โค้ชส้ม Citrus
Miss. ปรีดิ์ฤทัย โค้ชส้ม ตั้งจิตญาณพัฒน์

ยิ่งได้ฟังมากขึ้น ยิ่งฟังได้ลึกซึ้งขึ้น


คำว่า Deep Listening ที่เคยคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ยิ่งวนเวียนกับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้รับรู้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นอีก จนคิดว่าแล้วเมื่อไรจึงจะเรียกได้ว่าเข้าใจมากที่สุดแล้ว

     มีโอกาสไปช่วยเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้  เกี่ยวกับ Dialogue ให้กับบริษัทหนึ่งของธุรกิจเคมีภัณฑ์  โดยร่วมทีมกับคุณคนดอย   ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับคำว่า Deep Listening ได้อย่างกินใจตัวเองมากขึ้น  จากเดิมที่เคยมีกรอบความคิดเกี่ยวกับคำ คำนี้ว่า การตั้งใจฟังคนในวงพูดอย่างเปิดใจ ไม่มีอคติ ฟังด้วยความรัก ความปรารถนาดี ช่วยเสริมในสิ่งที่สร้างสรรค์และช่วยประคับประคองกัน 

    

      เคยได้ยินผู้อำนวยการเรียนรู้รุ่นน้องท่านหนึ่งที่เคยนำกลุ่มกิจกรรมนี้แต่เป็นแบบตัดมาอย่างหนังสั้นๆ ตอนหนึ่ง  พูดว่า เวลาฟังเพื่อนในวงต้องฟังทั้งร่างกาย ไม่ใช่ใช้แต่เพียงหูฟัง นอกจากนั้นยังต้องฟังด้วยใจ  ในขณะนั้นตัวเองไม่เคยเข้าสัมมนาในเรื่องนี้ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ  ภาษาวัยรุ่นก็คือ มันไม่ get” ขนาดว่าไปอบรมมาแล้ว ก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง   ซึ่ง ณ ขณะที่ผ่านหลักสูตรใหม่ๆ  คิดว่าตัวเองเข้าใจแล้วล่ะ 

 

        แต่เมื่อได้มาเป็นทีมผู้สังเกตการณ์ และเป็นคนที่ได้รับการอุปโลกว่า มาช่วยเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้คนหนึ่ง  ทำให้เรามีโอกาสฟังอย่างตั้งใจจริงๆ โดยต้องฟังคนในวงสะท้อนความคิดของเขา ทั้งหมดเกือบ 25 คน ยิ่งได้ฟัง มากขึ้น ก็ยิ่งเข้าใจคำว่า deep listening หรือการฟังอย่างลึกซื้งมากขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับคุณคนดอย มาแบ่งปันข้อมูลที่ได้จากหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 เม.ย. ซึ่งเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตตปัญญาศึกษา และอ้างถึง อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู ทำให้เห็นแง่มุมของการฟังแบบลึกซึ้งได้ละเอียดมากขึ้นอีก ต้องขออนุญาตใช้คำว่า "ยิ่งฟังยิ่งลึก"

        ได้แต่บอกกับตัวเองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 28 เม.ย. ในฐานะที่ไปช่วยนำกิจกรรม และเสริมความคิด ประสบการณ์จากการรับรู้ และการทดลองนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เรื่องสุนทรียสนทนา และ Transformative Facilitating Skills ไปปฏิบัติจริงให้กับวงสนทนา  เรามิได้เป็นผู้ให้แต่อย่างเดียว แต่ได้รับทั้งจากเพื่อนในทีมและจากการเล่าความรู้สึก ความคิดของคนในวงใหญ่ด้วย

        กิจกรรมการให้จับมือกันเล่าเรื่องโดยมองหน้า มองตากันเป็นคู่ๆ   รอบแรกให้เล่าเกี่ยวกับเรื่องประทับใจ โดยผลัดกันให้คนแรกเล่าก่อน คนที่สองฟัง รอบที่สองให้คนที่ฟังเล่ากลับว่าได้ยินเรื่องราวอะไรจากปากของคนแรกบ้าง  แล้วก็ให้คนที่สองมีโอกาสเล่าให้คนแรกฟัง

        อีกกิจกรรมที่ฝึกการฟังอย่างมีเงื่อนไข เพิ่ม คราวนี้จับวงสี่คน ให้จับมือกัน ทุกคนต้องปิดตาแล้วเล่าเรื่องที่เคยทำพลาดในชีวิตที่คิดอยากกลับไปแก้ไข

        ผลการสะท้อนบทเรียนคราวนี้  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางท่านเริ่มประจักษ์แจ้งกับคำว่าฟังอย่างลึกซึ้ง สังเกตจากการที่บอกว่า  การจ้องตาและจับมือทำให้เขาได้สัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูด เขาไม่เพียงแค่ได้ยินเสียง หรือจับประเด็นจากคำพูดที่ออกมาจากปากเท่านั้น  ยิ่งตอนฉากปิดตา บางคนกล้าเปิดเผยความจริงที่ตัวผู้เล่าเองยังน้ำตาซึม

        ต้องขอขอบคุณ คุณคนดอยที่นำบทความจากหนังสือพิมพ์มาแบ่งปัน เรื่องการฟังที่มีระดับ

  ระดับแรก คือการฟังที่ได้ยินว่าผู้พูด พูดอะไรออกมาเป็นเนื้อหาสาระที่เราจับความได้

  ระดับสอง คือ การฟังที่สัมผัสความรู้สึกของผู้พูดได้ด้วย ว่าในขณะที่พูดนั้นมีความรู้สึกใดปะปนออกมาบ้าง

  ระดับสาม คือ การฟังที่เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้พูดด้วยว่าเขา มีแรงบันดาลใจ หรือความปรารถนาที่จะทำอะไรต่อไป

        โดยส่วนตัวแล้ว นำเรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับ open mind / open heart / open will หรือheart/head/hand ได้พอดิบพอดี  และยังคิดต่อไปว่า การที่คุณภาพของการฟังจะลงลึกถึงระดับสามได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ดาษดื่น  เหตุปัจจัยที่จะเกิดเช่นนี้ได้ ต้องมาจาก ผู้พูดก็ต้องเปลือยตัวตนพอสมควร มีความไว้วางใจผู้ฟัง ผู้ฟังเองก็ต้องตั้งใจ ตั้งกาย ฟัง โดยมีเขื่อนกั้นอคติ หรือคำพิพากษามิให้ไหลเข้ามาแทรกแซงความคิดในขณะที่ฟัง

หมายเลขบันทึก: 180103เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2008 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท