ผู้บริหารโรงเรียนเลิศหล้าสะท้อนมุมมองการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการศึกษา-ดูงานจิระศาสตร์


คณะผู้บริหารและครูอาจารย์ ๑๒๐ คน จากโรงเรียนเลิศหล้า สนใจมาศึกษา-ดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการศึกษา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๙

กิจกรรม Shop Share & Learn
          เป็นธรรมเนียมของชาวจิระศาสตร์วิทยา เมื่อมีอาคันตุกะมาศึกษา-ดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ คณะผู้บริหารและตัวแทนครูอาจารย์ที่ว่างจะมาดูแลต้อนรับ อำนวยความสะดวก  เริ่มต้นด้วยการแนะนำคณะบุคลากรหลักๆ อาคาร-สถานที่และนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำโรงเรียนโดยภาพรวม ใช้เวลาประมาณ ๑๕-๒๐ นาที โดยใช้สถานที่ห้องประชุมอาคาร ๙

          ต่อจากนั้นทีมงานของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ที่มาต้อนรับได้นำคณะผู้มาศึกษา-ดูงานไปเยี่ยมชมกิจกรรมการเรียนการสอน (ระยะนี้นักเรียนกำลังสอบปลายภาคเรียน) ชมห้องเรียน-ห้องประกอบต่างๆตลอดจนสนทนาสอบถามพูดคุยกับครูอาจารย์และพนักงานของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาที่ปฏิบัติงานตามพื้นที่ต่างๆในโรงเรียน  ใช้เวลาประมาณ ๒๐-๓๐ นาที

          เสร็จจากการเดินเยี่ยมชมตามพื้นที่แล้ว คณะผ้มาศึกษา-ดูงาน ได้ไปรับประทานอาหารว่าง (น้ำชา กาแฟ โอวัลตินและทานขนมไทยๆ จำพวกขนมกล้วย ขนมฟักทอง ฯลฯ ซึ่งโรงเรียนจัดเตรียมไว้ที่หอประชุมจิระวิทยาคาร อาคาร  ๕)  ระหว่างที่รับประทานอาหารว่าง ดร.สุทธาทิพ ไชยรัตนะ และ ดร.ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ รองผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  ได้แนะนำให้ผู้มาศึกษา-ดูงาน รับทราบแนวทางการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับตัวแทนครูโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ซึ่งได้นำนิทรรศการผลงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดจนนำเสนอตัวอย่างแฟ้มเอกสาร ผลงานของฝ่ายต่างๆ

          เมื่อรับประทานอาหารว่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผอ.จิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์ ได้เกริ่นนำเล่าเรื่องการบริหารจัดการในโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ในลักษณะการกระจายอำนาจจากผู้บริหารระดับสูงไปสู่คณะครูและบุคลากรในโรงเรียน รูปแบบคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งได้มาจากกระบวนการสรรหาและการเลือกตั้งตัวแทนจากครูและบุคลากรในโรงเรียน อาทิ คณะกรรมการสภาครู คณะกรรมการสายชั้น  คณะกรรมการกลุ่มสัมพันธ์เอื้ออาทร STAR: Small Team Activity Relationship คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ  กิจการนักเรียน  บุคลากร  อาคาร-สถานที่  ธุรการ-การเงิน และฝ่ายความสัมพันธ์กับชุมชน เป็นต้น

           ภายหลังจากแนะนำบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ให้ตัวแทนฝ่ายต่างๆเล่าประสบการณ์การจัดกิจกรรม/โครงการต่างๆในฝ่ายของตนเอง โดยมีผู้แทนนำเสนอเรื่องราว ดังต่อไปนี้
          ๑) อาจารย์ชรินทร์  เดือนแจ่ม กรรมการฝ่ายกิจการนักเรียน เล่าเรื่อง "การจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน" โดยทางโรงเรียนได้ขอความร่วมมือจากครูประจำชั้นรับผิดชอบร่วมกับครูพิเศษ ทำหน้าที่ติดตาม ดูแลช่วยเหลือ แนะนำนักเรียนในเรื่องการเรียนและการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง  นอกจากนั้นยังอาศัยกลไกของสภานักเรียน และสโมสรอินเตอร์แรคท์ (Interact Club) ช่วยกำกับดูแลอีกทางหนึ่งด้วยทำให้โอกาสที่นักเรียนจะประพฤติปฏิบัติตนไม่ถูกไม่ควรน้อยลงหรือไม่มีโอกาสเลย
          ๒) อาจารย์สมควร  พรอยู่ศรี กรรมการฝ่ายกิจการนักเรียนและผู้ช่วยฯฝ่ายแผน เล่าเรื่อง "กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน" โรงเรียนได้สนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมชมรม ชุมนุมต่างๆตามความถนัด ความสนใจของแต่ละบุคคล จัดให้มีกิจกรรมเวทีศักยภาพ (แสดงความสามารถทางด้านดนตรีและศิลปการแสดง) ดังจะเห็นได้ว่าพระเอก-นางเอกลิเก "ศรราม-น้ำเพชร" ก็เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้ด้วย  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาระเบียบวินัยและคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน
          ๓) อาจารย์ฉวีวรรณ  ปุยสุวรรณ กรรมการฝ่ายบุคลากร เล่าเรื่อง "การพัฒนาบุคลากร" โรงเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพด้านความรู้ ความสามารถที่ไม่เหมือนกัน และทุกคนสามารถพัฒนาได้ทั้งครู คนงาน และคนขับรถ  ดังนั้นนับตั้งแต่กระบวนการสรรหา พัฒนา และการบำรุงรักษาให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจในการทำงาน เป็นกระบวนการที่ฝ่ายบุคลากรได้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกับฝ่ายบริหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาบุคลากรกิจกรรมสำคัญๆที่จัดได้ผลดี เช่น กิจกรรมการเข้าค่ายคุณธรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต, กิจกรรมมิตรภาพ-อวยพรวันเกิด, กิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์, กิจกรรมการแข่งขันกีฬาบุคลากร, กิจกรรมกีฬานันทนาการ (Fit & Firm) ฯลฯ
           ๔) อาจารย์ธนภรณ์  จันทร์ประเสริฐ และอาจารย์ปราณี  ประวาลพฤกษ์ กรรมการฝ่ายวิชาการ ได้เล่าเรื่อง "แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผล ระดับปฐมวัยและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ทั้งนี้ได้เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ (Jirasart Teaching's Model) เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ลักษณะบูรณาการจากประสบการณ์ตรงทั้งในและนอกห้องเรียน มีการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง และเน้นการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนผ่านกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนอย่างหลากหลาย พร้อมทั้งมีระบบการรายงาน"พัฒนาการ/ความพร้อมของผู้เรียน"ให้ผู้ปกครองทราบความก้าวหน้าหรือปัญหาอุปสรรคอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาผู้เรียนระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองอย่างดียิ่ง
 
สะท้อนองค์ความรู้นำไปสู่การประยุกต์ใช้ ( AAR:After Action Review)
         ภายหลังจากคณะครู (คุณกิจตัวจริง) ได้เล่าประสบการณ์ของฝ่ายต่างๆแล้ว คณะผู้มาศึกษา-ดูงาน ซึ่งประกอบด้วยครูอนุบาล และ ป.๑-๖ ได้แยกย้ายเข้ากลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะเจาะลึกลงถึงแก่น ตามความสนใจของแต่ละคน  โดยมีคณะครูของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยและคุณกิจ ส่วนคุณลิขิตต่างคนต่างจดกันเอง

         ตอนท้ายสุดของการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ อาจารย์เสรี  ปาลเดชพงศ์        ผู้อำนวยการโรงเรียนเลิศหล้า ได้กล่าวว่า "โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เปรียบเสมือนตลาดวิชา" ซึ่งโรงเรียนต่างๆสามารถเข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความรู้ได้อย่างหลากหลาย  อันเนื่องมาจากความใจกว้าง เปิดใจ ให้ข้อมูลความรู้ ความคิดเห็นอย่างจริงใจของท่านผู้อำนวยการจิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ และคณะผู้บริหาร รวมทั้งคุณครู อาจารย์ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาทุกท่าน

         สำหรับประสบการณ์ ความรู้ที่ได้รับในวันนี้จะได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนเลิศหล้า ทั้ง ๓ โรงเรียน (ถนนเพชรเกษม, ถนนนวมินทร์ และถนนกาญจนาภิเษก) ดังต่อไปนี้
         ๑) การกระจายอำนาจ (Decentralization) ของผู้บริหาร ให้ครูและบุคลากรมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ
         ๒) การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน (Sense of belonging)  ทั้งครู คนงาน และคนขับรถมีความรัก ความสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและช่วยกันพัฒนาโรงเรียน
         ๓) การพัฒนาบุคลากร (Personnel Development)  โดยการเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรได้เข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา ศึกษา-ดูงาน และศึกษาต่อ พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้บุคลากรแสดงความรู้ความสามารถตามความถนัดความสนใจ
         ๔) การใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์และคุ้มค่า (Utility of Resources) เห็นได้ชัดเจนว่าโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยามีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัดแต่ทุกพื้นที่ได้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ใช้สอย สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็น "ครูที่พูดไม่ได้"

         ก่อนจากลากันในวันนี้ ได้มีลิเก "ศรราม-น้ำเพชร" สองพระเอก-นางเอกลิเกชื่อดัง มาร้องลิเกออดอ้อนผู้ฟัง และเวลา ๑๒.๓๐ น.คณะผู้มาศึกษา-ดูงานจึงได้เดินทางกลับ

 

  ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
       ๖  มี.ค.๔๙

         

 

หมายเลขบันทึก: 17755เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2006 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท