เคยไหมคะ เวลาที่เราอยากให้คนอื่นทำอะไรสักอย่าง เราใช้วิธีการอะไรกันบ้าง ฉันมีเรื่องอยากเล่าให้ฟังค่ะ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็เป็นความรู้สึกดีๆ ที่อยากแบ่งปัน
“พี่ ทำไมไม่ใส่ถุงมือล่ะ มันไม่สะอาดนะ ถึงมันจะแช่ฟอร์มาลินก็เหอะ พี่รู้ได้ยังไงว่ามันไม่มีเชื้อโรคแล้ว” ฉันถามแบบใส่อารมณ์ตื่นเต้นเข้าไปด้วย
พี่สะดุ้งเล็กน้อย แล้วก็ตอบแบบงงๆ กับคำถามฉัน “ไม่เห็นจะเป็นอะไรนี่หมอ เนื้อมันอยู่ในกระป๋อง ผมใส่ถุงมือแล้วหยิบอะไรก็ไม่ถนัด” พี่เขาตอบฉันแบบกล้าๆ กลัวๆ
“หมอไม่กล้าจับหรอกนะ ไอ้กระป๋องเนื้อนั่นน่ะ พี่รู้ได้ยังไงว่าข้างนอกมันจะไม่เปื้อน หมอแทบไม่จับของห้องนี้โดยไม่ใส่ถุงมือเลยนะ ไม่มีตรงไหนไว้ใจได้เลยว่าสะอาด พี่อยู่ห้องนี้มากกว่าหมอ น่าจะใส่นะ ดีกว่าวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้นแล้วจะมาเสียใจว่าทำไมไม่ใส่เสียตั้งแต่แรกนา”
“ครับๆ” คำตอบยอดฮิต แต่ก็ไม่ยักเห็นว่าทำ
ฉันพูดอย่างนี้อยู่สองสามครั้ง แล้วก็เลิกเพราะยังไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลง ประกอบกับฉันหลุดจากวงจร “ตัดเนื้อ” ไประยะหนึ่ง ถ้าวันไหนกลับมาเจอกันก็กระทุ้งถามสักครั้งพอให้พี่แกได้สะดุ้งบ้าง
และแล้ววันนั้นก็มาถึง หลังจากที่ฉันเกือบลืมมันไปแล้ว“อุ๊ย พี่ใส่ถุงมือแล้วเหรอ ทำไมล่ะ” ฉันยิ้มและกระหายอยากรู้คำตอบมากมาก
“ก็หมอบอกผมตั้งหลายครั้ง ผมเลยลองใส่ดู ตอนแรกๆ มันไม่สะดวก แต่ใส่ไปนานๆ ก็ชิน ป้องกันไว้ก่อนก็ดีเหมือนกัน”
“ดีๆ พี่ เก่งจังเลย” ฉันให้กำลังใจพี่เขา แถมด้วยแอบปลื้มใจลึกๆ
แล้วตั้งแต่นั้นมา พี่แกก็ใส่ถุงมือ อย่างน้อยก็ทุกครั้งที่ฉันเห็น โอ้โห ภูมิใจชะมัดทำให้พี่แกเปลี่ยนพฤติกรรมได้แบบไม่ต้องลงแรงเลย
ฉันได้อะไรบ้างจากเหตุการณ์นี้ จากการวิเคราะห์ของฉันเองฉันได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงอะไรที่มัน “ฝัง” แน่นมากๆ ต้องอาศัย “แรงส่ง” หลายอย่าง
อย่างแรกคือ แรงส่งจากความสัมพันธ์ ครั้งแรกที่ฉันพูดกับพี่เขานั่น มันเมื่อฉันย้ายมาที่นี่ใหม่ๆ ฉันก็ suggest แบบไม่ได้ดูตาม้าตาเรือ (ภาษาใต้ก็ไม่ดูหวันไหนนั่นแหละ) เพราะถือว่า ฉันปรารถนาดี แต่ไม่รู้เลยว่า กว่าที่ใครคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองนั้น ต้องใช้เวลา ความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์อันดีของคน suggest กับคนที่ “ต้องเปลี่ยน” เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีการนำเสนอโครงการวิจัยของนักศึกษาระบาดวิทยาที่ฉันเรียนอยู่ รุ่นพี่ญี่ปุ่นคนหนึ่งนำเสนอโครงการวิจัยที่น่าประทับใจมากๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชาวบ้านต่อการใช้น้ำ เนื่องจากพบว่าน้ำที่ชาวบ้านใช้อยู่นั้นมีสารหนูซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง งานวิจัยของพี่เขาต้องการแสดงให้เห็นว่าการลดปริมาณสารหนูในร่างกายต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้น้ำของชาวบ้าน พี่เขาต้องใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ ความไว้วางใจกับชาวบ้านเท่าไหร่รู้ไหมคะ สิบปีค่ะ เรื่องของฉันนี่แค่หลายเดือนเท่านั้น จิ๊บจ๊อยมากมาก
อย่างที่สองคือ แรงส่งจากการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ฉันว่าทุกคนคงเข้าใจเรื่องนี้ดี ง่ายๆ ดูจากบล็อกของพวกเราก็ได้ อยากให้เขาทำเราก็ต้องเริ่มทำก่อน ถ้าเราไม่ทำเสียเอง ใครมันจะไปเชื่อและทำตามเราจริงไหมคะฉันหวังว่า พี่เขาจะเป็นอีกแรงหนึ่งของฉันที่ช่วยให้คนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงตาม เมื่อก่อนฉันมีแรงเดียว เดี๋ยวนี้ฉันมีสองแรงแล้ว ขอบคุณพี่มากๆค่ะ ที่ช่วยให้ฉันพราว (proud) ในตนเอง
ยังไม่จบค่ะ เรื่องราวทำนองแบบนี้ มีอีกแยะค่ะ