คุณหมอกินไข่มากกับคุณหมอกินไข่น้อย แบบไหนอายุยืนกว่ากัน


ท่านอาจารย์ดอกเตอร์ลุค ดจุสส์ และดอกเตอร์ เจ. ไมเคิล กาซีอาโน และคณะ แห่งโรงพยาบาลบริแกน แอนด์ วีเมนส์ และวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคุณหมอผู้ชาย 21,327 คน (Physicians' Health Study) เริ่มจากปี 1981 (พ.ศ. 2524) ติดตามไปนานกว่า 20 ปี

...

คนไทยพอพูดถึงเรื่อง "ไข่" กับ "นม" แล้ว ดูเหมือนจะแบ่งเป็นพรรค เป็นฝัก เป็นฝ่าย ซีกหนึ่งชอบไข่ อีกซีกหนึ่งชอบนม รบกันทางความคิด... วันนี้มีข่าวดีมาฝากพวกเราที่เดินทางสายกลางเรื่องไข่ครับ

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์ลุค ดจุสส์ และดอกเตอร์ เจ. ไมเคิล กาซีอาโน และคณะ แห่งโรงพยาบาลบริแกน แอนด์ วีเมนส์ และวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคุณหมอผู้ชาย 21,327 คน (Physicians' Health Study) เริ่มจากปี 1981 (พ.ศ. 2524) ติดตามไปนานกว่า 20 ปี

...

ผลการศึกษาพบว่า คุณหมอผู้ชายที่ชอบกินไข่กับไม่ชอบกินไข่มีอายุยืนไม่เท่ากัน ขั้นแรกให้แบ่งก่อนว่า เป็นเบาหวานหรือไม่ หลังจากนั้นค่อยว่ากันว่า กินไข่สัปดาห์ละกี่ฟอง

คุณหมอผู้ชายที่เป็นเบาหวานนั้น... ถ้ากินไข่ ไม่ว่าจะสัปดาห์ละกี่ฟองจะมีโอกาสตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันกำเริบ (heart attack) และเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันรวมกันเป็น 2 เท่า

...

คุณหมอผู้ชายที่ไม่เป็นเบาหวานนั้น... ถ้ากินไข่ ไม่เกินสัปดาห์ละ 6 ฟอง ไม่พบว่า มีโอกาสตาย (จากโรคข้างต้น) เพิ่มขึ้น

ทว่า... ถ้ากินไข่สัปดาห์ละ 7 ฟองขึ้นไปพบว่า โอกาสตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันกำเริบ (heart attack) และเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันรวมกันเพิ่มขึ้น 23%

...

สรุปว่า โอกาสเสี่ยงตายจากโรคหัวใจอุดตันกำเริบ และเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันดังตาราง

เป็นเบาหวานหรือไม่ + กินไข่สัปดาห์ละกี่ฟอง โอกาสตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจ+สมอง
เป็นเบาหวาน+กินไข่ 200%
ไม่เป็นเบาหวาน+กินไข่สัปดาห์ละ 6 ฟองหรือน้อยกว่านั้น ไม่เพิ่มขึ้น
ไม่เป็นเบาหวาน+กินไข่สัปดาห์ละ 7 ฟองขึ้นไป 23%

...

เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปพบว่า คุณหมอผู้ชายที่กินไข่มากที่สุดมีลักษณะเฉพาะ (เมื่อเทียบกับคุณหมอที่กินไข่น้อยกว่า หรือไม่กินไข่) ดังต่อไปนี้

  • อายุมากกว่า
  • อ้วนมากกว่า
  • กินผักมากกว่า
  • กินอาหารเช้าที่ทำจากธัญพืชน้อยกว่า
  • ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า
  • สูบบุหรี่มากกว่า
  • ออกกำลังน้อยกว่า

...

กลุ่มคุณหมอที่ชอบกินไข่มากที่สุดมีจุดอ่อนที่อายุมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ว่า คุณหมอสหรัฐฯ รุ่นหลังๆ จะกินไข่น้อยลง เนื่องจากกลัวโคเลสเตอรอลในไข่แดง (ไข่ขาวไม่มีโคเลสเตอรอล)

นอกจากนั้นยังมีจุดอ่อนที่อ้วนมากกว่า กินเหล้ามากกว่า สูบบุหรี่มากกว่า ออกกำลังน้อยกว่า กินอาหารเช้าที่เป็นธัญพืชน้อยกว่า... มีดีอย่างเดียวคือ กินผักมากกว่า

...

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า อาหารเช้าที่ทำจากธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท(เติมรำ) อาหารเช้าทำจากรำ ฯลฯ เป็นอาหารเช้ากลุ่มที่ต่อต้านโรคอ้วนได้ดีมากเป็นพิเศษ คนที่ไม่กินอาหารเช้ามีแนวโน้มจะเสี่ยงอ้วนมากขึ้น

คนที่กินเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบ "ดื่มหนัก" เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันเลือดสูง และเส้นเลือดสมองแตกเพิ่มขึ้น

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์รอเบิร์ท เอคเคล แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐฯ อดีตประธานสมาคมโรคหัวใจสหรัฐฯ กล่าวว่า

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ไข่ดีหรือไม่ดี... ไข่เป็นอาหารชั้นดี ทว่า... ไข่มีโคเลสเตอรอล การยึดหลัก "สายกลาง" หรือความพอดีมีความสำคัญในการกินอาหารทุกชนิด

...

ผู้เขียนมีประสบการณ์เห็นชาวเอเชียใต้ ซึ่งอาจเป็นชาวอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน หรือบังคลาเทศท่านหนึ่งสั่งไข่ดาวเป็นอาหารเช้า

ท่านสั่ง "ไข่แดงหนึ่ง-ไข่ขาวสอง" ซึ่งฟังดูเข้าท่ามากๆ เพราะคนเราไม่ควรกินไข่แดงเกินวันละ 1 ฟอง ไข่แดงมีโคเลสเตอรอลประมาณ 225 มิลลิกรัมจากขีดจำกัด 300 มิลลิกรัมใน 1 วัน

...

เรียนเสนอให้พวกเรายึดหลัก "สายกลาง" ในเรื่องการใช้ชีวิตให้มาก โดยเฉพาะไข่นี่... ถ้าเป็นไปได้ เรียนเสนอให้กินไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 2-3 ฟองไว้ก่อน เพราะเราอาจจะมีโรคไขมันในเลือด หรือโคเลสเตอรอลสูงโดยไม่รู้ตัวได้ แถมคนอีกหลายคนอาจจะมีเบาหวาน หรือภาวะใกล้เป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

ส่วนนมนั้น... ถ้าอายุเกิน 2 ปีแล้ว ควรเลือกชนิดไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมันไว้ก่อนน่าจะดี เนื่องจากนมเต็มส่วนมีไขมันอิ่มตัวค่อนข้างมาก (ประมาณ 23-25% ต่อ 200 มิลลิลิตร)

...

ถ้าวันไหนกินไข่แดง หรือกินนมไขมันเต็มส่วน... ควรลดอาหารมันๆ อาหารทอด และเนื้อสัตว์ให้น้อยลง กินผัก ถั่ว ผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัย

ถ้ากินไข่ขาวซึ่งไม่มีโคเลสเตอรอล หรือนมไม่มีไขมัน... สบายใจได้เลย ทว่า... ถ้าเลือกได้ ควรเลือกนมที่เสริมวิตามิน D เพราะจะช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมได้มากทีเดียว

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 

ที่มา                                                  

  • Thank Reuters > Maggie Fox > Seven or more eggs a week raises risk of death > [ Click ] > April 9, 2008. / Am J of Clinical Nutrition.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 9 เมษายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 176110เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 

ขอบพระคุณคุณหมอวัลลภ ที่นำเสนอเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ ครับ

 

  • เป็นไปได้หรือไม่ที่คนที่เป็นเบาหวานมีขบวนการที่เรียกว่า กลูโคลนิโอเจเนสิส ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเมื่อกินไข่

 

หมอสุข

กลูโคลนิโอเจเนสิส คืออะไรค่ะ

  • วันสงกรานต์ ชวนให้ สำราญจิต

  • ชวนลิขิต ให้มวลมิตร คิดสร้างสรรค์

  • สงกรานต์นี้ ชวนทำดี  ดีทุกวัน

  • ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมกันสร้าง พลังใจ

  • สุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ

ขอขอบพระคุณอาจารย์หมอสุข...

  • ขอขอบพระคุณที่แวะมาให้ข้อคิดเห็น...

คนเรานี่แปลกมากๆ ครับ...

  • สารพิษที่พบว่า น่าจะมีพิษต่อร่างกายมากที่สุดคือ ออกซิเจนกับน้ำตาล
  • ออกซิเจนที่มากเกิน > ทำให้เกิดปฏิกริยาออกซิเดชั่น (oxidation) หรือธาตุไฟกำเริบ ทำให้อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะผนังเส้นเลือดเสื่อมเร็ว

ส่วนน้ำตาล...

  • ถ้าน้อยไปจะเสี่ยงเป็นลม มึนงง สมองเสื่อม แถมยังเสี่ยงกรดมากเกินจากการเปลี่ยนไปใช้ไขมัน
  • ถ้ามากไปจะทำให้เกิดการสร้าง sorbitol (alcohol sugar) หรือน้ำตาลชนิดพิเศษในอวัยวะต่างๆ ที่ดูดซับน้ำไว้ ทำให้อวัยวะต่างๆ มีผิวไม่เรียบ ไม่ลื่น โดยเฉพาะเส้นเลือด ทำให้อวัยวะเสื่อมเร็วเช่นกัน
  • คนที่มีน้ำตาลสูงเกิน.... ถ้าเปรียบจะคล้ายคนที่มี "เชื้อไฟ" มากเกิน

คนไข้เบาหวาน...

  • เชื้อไฟ (น้ำตาล) มีแนวโน้มจะมากเกินอย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ เนื่องจากระดับน้ำตาลในคนไข้ไม่ค่อยคงที่เท่าคนทั่วไป คือ หนักไปทางมากเกิน + น้อยเกิน (เวลาน้อยเกินจะมีการสร้างน้ำตาลใหม่ออกมาอย่างมากมาย)

ขอขอบคุณ... คุณ apple n angle

  • gluconeogenesis = กลูโคนีโอเจเนซิส
  • gluco = น้ำตาล / neo = ใหม่ / genesis = การสร้าง

กลูโคนีโอเจเนซิส

  • กระบวนการสร้างน้ำตาลใหม่ที่ตับจากโปรตีน + ไขมัน เรียกว่า "กลูโคนีโอเจเนซิส" ครับ
  • กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นทันทีที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นจากการอดอาหาร ออกแรง-ออกกำลัง กินแป้ง/น้ำตาลไม่พอ หรือผลจากยา เช่น ยารักษาเบาหวาน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ฯลฯ
  • ประโยชน์ของกระบวนการนี้คือ ป้องกันสมอง และเซลล์ประสาทขาดน้ำตาล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักครับ..

ขอขอบคุณอาจารย์หมอเจ๊...

  • ขอขอบพระคุณสำหรับความปรารถนาดีปีใหม่ไทย / สงกรานต์...
  • ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทุกคนได้รับความปรารถนาดีจากอาจารย์หมอเจ๊โดยทั่วกันทุกท่านทุกคนเทอญ...
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท