กินไข่แดงแล้วเพิ่ม HDL ได้


กินไข่เพิ่ม HDLได้

ในปี 2547-2549 ผู้เขียนได้มีโอกาสในการรับทุนการวิจัยเพื่อศึกษาถึงผลของการรับประทานไข่ไก่ต่อระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เนื่องจากงานวิจัยในต่าง ๆ ประเทศเริ่มชี้ให้เห็นว่าการรับประทานไข่ไก่มีผลต่อระดับโคเลสเตอรอลในเลือดไม่มากนัก อย่างไรก็ตามความแตกต่างในวัฒนธรรม และเชื้อชาติก็อาจจะทำให้ผลการศึกษาแตกต่างกันออกไป โดยได้ดำเนินโครงการ

 โดยจะให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีรับประทานไข่ไก่ตามปริมาณ และระยะเวลาที่กำหนด โดยมีการควบคุมเมนูอาหารแบบวนทุก ๆ 1 เดือนเพื่อให้สารอาหารที่ได้มีความคงที่ ส่วนไข่ไก่ที่ให้รับประทานนั้นประกอบด้วยหลายเมนู คือไข่ต้ม ไข่ดาว ไข่ดาวน้ำ ไข่ลูกเขย ไข่พะโล้

 

การรับประทานไข่ไก่ 1 ฟองมีผลต่อโคเลสเตอรอลในเลือดอย่างไร

 

  ในปี 2547 นพ.กรภัทร มยุระสาคร ได้ทำการศึกษาชายวัยทำงานสุขภาพดี  จำนวนทั้งหมด 56 คน มีอายุระหว่าง 20-55 ปี โดยการให้อาสาสมัครดังกล่าวรับประทานไข่ไก่วันละฟอง ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งรวมแล้ว 90 ฟอง ผลการศึกษา พบว่าหลังจากรับประทานไข่ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ ระดับโคเลสเตอรอลตัวร้าย(LDL-c) ไม่เพิ่มขึ่น ในทางกลับกัน โคเลสเตอรอลตัวดี (HDL-c)มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเพิ่มขึ้นถึง  22มก./ดล.         

โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าการรับประทานไข่วันละฟองต่อเนื่อง 12 สัปดาห์นอกจากจะไม่ทำให้เพิ่มระดับโคเลสเตอรอลตัวไม่ดีแล้ว กลับทำให้ไขมันตัวที่ดี(HDL-C) เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ท่านใดสนใจรายละเอียด อาจหาอ่านได้จาก ฉบับเต็มที่ www.medassocthai.org/journal/files/Vol91_No.3_400_8537.pdf

หมายเลขบันทึก: 174504เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2008 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

" เป็นบทความมีประโยชน์ดีนะคะ  น่าประชา

สัมพันธ์ให้ทราบกัน "

__แต่มีคำถาม 3 ข้อ  คือ

  1. ถ้าเป็นไข่เป็ดจะได้ผลแบบนี้หรึไม่
  2. ถ้าคนที่ทานไม่ใช่คนสุขภาพปกติแบบอาสาสมัคร จะได้ผลแบบนี้หรึไม่
  3. เมนู ไข่ดาว ไข่ต้ม ไข่...ทั้งหลายเนี่ย เมนูใดที่ก่อให้เกิดHDL-c มากกว่ากัน

.......ขอขอบคุณ"คุณหมอไข่" ล่วงหน้า

สำหรับคำตอบนะคะ.......

ถามตั้ง 3 ข้อแนะ

1. หาคนทำวิจัยในไข่เป็ดได้น้อยมากครับ (ถ้าต้องตอบแบบนักกฎหมาย) ผมตอบว่าไม่ทราบ แต่ถ้าตอบแบบ เวชศาสตร์ครอบครัว นะครับ ผมว่าคงไม่ต่างกัน นะครับ

2. ประเด็นอยู่ตรวงนี้ครับ งานวิจัยทั้งหมด น้อยมากที่จะศึกษาในคนป่วย ด้วยเห็นผลที่ว่า หลักของ เฮซิงกิ ทำให้ศึกษาได้ยาก ดังนั้น ผมก็ต้องตอบว่าในคนป่วยไม่รู้

3. อย่างนี้ครับ ผมนำเรื่องนี้มาวิจัย เพื่อให้คนเห็นว่าไข่ไม่ได้น่ากลัว และสิ่งที่ผมสันนิษฐาน ก็ถูก ในตอนแรกที่ผมเริ่มทำวิจัยนั้น ผมก็ไม่ได้คิดว่ากินไข่แล้ว HDL จะสูงนะครับ เพราะในงานวิจัยระดับโลกก็ไม่มี แต่พอทำไปแล้วมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

ดังนั้น ผมว่าไข่เป็นอาหารธรรมชาติ ดึกดำบรรพ์ กินกันมากนาน อย่าไปกลัวครับ ใครที่เค้าชอบกินไข่ แต่มีโรคหัวใจ.. ก็สอนวิธีการกินแบบสายกลางครับ ในขณะเดียวกัน เท่าที่ผมทำงานวิจัยมาก คนส่วนใหญ่กินแล้วไม่เพิ่มโคเลสเตอรอลแน่นอน หรืออาจทำสอบได้ไม่ยาก ก็ให้เค้าตรวจไขมันในเลือด จากนั้นก็กินไข่สัปดาห์ละ 3 ฟอง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ แล้วก็ไปตรวจเลือดอีกที อย่างนี้ก็จะรู้แล้วว่าเป็นอย่างไร

ส่วนคนที่เค้าไม่ชอบกินไข่ก็ไม่ต้องไปแนะนำเค้านะครับ เพราะ ได้ไม่คุ้ม...เป็นอะไรมาก็โทษเราไว้ก่อน

ส่วนคำถามสุดท้าย ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า HDLที่เพิ่มสูงได้นั้น มาจาก สาร lecithin ในไข่แดงครับ เนื่องจาก สารตัวนี้น่าจะใช้เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต HDL ครับ และเมื่อกินไข่นานพอ HDL ก็สูง...พอ HDL สูง...การ สลายของ LDL ก็มากขึ้นครับ ทำให้สุดท้ายแล้ว LDL ลดลงครับ

ดังนั้น คนที่หวังจะให้ HDL สูงจากการกินไข่นั้น ต้องกินไข่แดงครับ ไม่ใช่ไข่ขาว และสำหรับผม ผมไม่ได้ทำวิจัยว่าไข่แบบไหนดี แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งครับ ..สายกลาง...

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ

น้องจิแวะมาหาอาหารให้กับสมอง คิคิ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ---->น้องจิ ^_^

คุณหมอครับ ผมจะแย่แน่แล้วสิครับ เพราะผมเล่นกล้ามอ่ะครับ

ผมอ่านบทความของคุณหมอ แต่ไม่ได้อ่านให้ดีว่ากินวันละฟองแล้่วจะดี หมายถึงทั้งไข่แดง และขาว

ผมเลยกินไปวันละ 6 ฟองทั้งแดงและขาว

รวมๆแล้ว 2 เดือนผมกินไข่ไปมากกว่า 360 ฟอง

โคเลสเตอรอลผมไม่กระฉูดไปถึงไหนต่อไหนแล้วหรอครับนี่

แต่ผมก็ไม่ค่อยได้กินพวกข้าวแป้งนะครับ จะกินพอให้มีแรงยกเวท แล้วก็จะเน้นพวกเนื้อปลา เนื้อไก่ซะมาก

ทั้งหมดนี้จะแค่บอกเล่าเก้าสิบน่ะครับ ว่าผมอ่านสรุปมากเกินไป ตอนนี้มีไข่ต้มอยู่ในชาม 5 ฟองผมก็กินไข่แดงไปหมดแล้วด้วย แง๊แง๊

คือเมื่อวานในห้องเรียนพรีเซ้นงานเรื่องโรคหัวใจ

ในรายงานที่ไปศึกษามาพบว่าไข่แดงมีโคเรสเตอรอลสูงกว่าไข่ขาว

จึงกล่าวได้ว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่แดง

เนื่องจากมีโคเรสเตอรอลสูงกว่าไข่ขาว

แต่พอพรีเซ้น.. อาจารย์บอกว่ามีงานวิจัยใหม่ที่พบว่าไข่ขาวโคเรสเตอรอลสูงกว่าไข่แดง ??

สงสัยค่ะ .. ตกลงไข่แดงหรือไข่ขาวที่โคเรสเตอรอลสูงกว่ากันคะ ??

คำถามที่น้องถามนั้นตอบได้ง่ายมากครับ....การจะดูว่าอาหารอะไรประกอบด้วยสารอาหารอะไรบ้างนั้น มีการทำกันมาตั้งนานแล้ว ไข่ขาว (egg white) (จากไข่ไก่ 1 ฟอง) 33 กรัม ประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 3-4 กรัม ไม่มีไขมัน ไม่มี คาร์โบไฮเดรต โดยรวมให้พลังงานเท่ากับ 16 แคลอรี่

ส่วนไข่แดง จากไข่ไก่ 1 ฟอง 17 กรัม ประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 3 กรัม มีไขมัน 4 กรัม โดยมากกว่าครึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acids ซึ่งดีกับร่างกาย) มี คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม โดยรวมให้พลังงานเท่ากับ 50 แคลอรี่ มีคอเลสเตอรอล 200 มิลลิกรัม

สาระสำคัญนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่า ไข่มันมี คอเลสเตอรอลเท่าไร แต่อยู่ที่กระบวนการเผาผลาญในร่างกาย (metabolism) ต่างหาก ที่ทำให้มันไม่ส่งผลต่อระดับ ไขมันในร่างกาย

แต่ถ้าให้ตอบคำถามตรง ๆ ก็ตอบว่าใช่ครับ ไข่แดงมีคอเลสเตอรอล (cholesterol) 200 มิลลิกรัม ต่อฟอง แต่ไข่ขาวไม่มีคอเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามไข่แดงก็มีไขมันที่ดี

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณหมอกรภัทร

ในนามของแกนนำผู้ป่วยเบาหวาน และจิตอาสาโรงพยาบาลสมุทรสาคร ขอส่งคำอวยพรในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2554 นี้ ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนับถือ จงปกป้องคุ้มครองให้ท่านและครอบครัวให้มีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง สุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใดขอให้สมความปราถนาทุกประการค่ะ

 

เรียนคุณหมอที่เคารพครับ

ผมเล่นกีฬาเพาะกายอยู่ครับ เลยอยากทราบว่า การกินไข่วันละ สี่ฟองรวมไข่แดงด้วยมันจะอันตรายมั้ยครับ

เพราะผมเองก็เสียดายอีกทั้งต้องมานั่งแยกไข่ขาวออกจาไข่แดงด้วย มันลำบาก ถ้าเกิดว่าทานได้ ผมจะได้ทานมันเข้าไปเลย

เรียนคุณแคน

แต่ละคนมีการเผาผลาญไม่เหมือนกันนะครับ

กรณีคุณ 1. การเผาผลาญมาก..ต้องการสารอาหารทั้งโปรตีน และไขมันในการสร้างกล้ามเนื้อ..วันหนึ่งคงกินอาหารมากกว่าคนอื่น ๆ เค้า อาจจะสองเท่า

2. ไข่แดงมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ นอกเหนือไปจากคลอเลสเตอรอลที่มาก เช่น มี lecithin สำหรับการทำงานของ เซลล์สมอง และการสร้าง ฮอร์โมนต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นในความเห็นผม การไม่จำเป็นต้องแยกคัดไข่แดงทิ้งนะครับ

3. หากท่านไม่สบายใจ ให้ทำอย่างนี้ครับ ไปตรวจเลือด ดูค่าไขมันทุกตัว 1. คลอเลสเตอรอลรวม 2. ไตรกลีเซอร์ไรด์ 3. HDL 4 LDL 4. หลังจากนั้น ก็ให้เริ่มกินไข่แดง รวมไปกันไข่ขาว อย่างเป็นประจำ ตามที่ท่านต้องการ....กินอย่างต่อเนื่องสัก... 4 -6 สัปดาห์....แล้วไปทำการตรวจเลือดอีกครั้ง.......

5. ถ้าผลออกมาว่า LDL ไม่ได้ขึ้น หรือขึ้นไม่เกิน 5% หรือในทางกลับกัน HDL ขึ้นสูง...นั้นก็แปลว่าท่านน่าจะกินได้อย่างสบายใจนะครับ แต่อย่างไรก็ตามก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการที่มีความเข้าใจด้าน ไขมันนะครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ'กรภัทร'

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆนะคะ

 

อ่านผลการวิจัย เรื่องนี้ เห็นมีความขัดแย้งกันมากจิง ๆ  

เห็นด้วยกับคำตอบส่วนใหญ่ของ คุณหมอกรภัทร...  ไข่แดง ไม่น่าจะส่งผลเสียอะไรต่อร่างกายนะคะ

เอาอย่างโบราณ มาเลยดีกว่า คุณยาย เป็นช่างของหวาน ของหวานไทย อันว่าด้วย ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน  สังขยา  มากมาย ที่ทำด้วยไข่ และสมัยก่อนเป็นไข่เป็ดด้วย... ทำมากับมือ (แยกไข่แดง-ไข่ขาว)  คุณยายเสียชีวิตอายุ 94 ปี โดยเฉลี่ยถ้าไม่ใช่อุบัติเหตุก็ 80-90 กว่าโน่นเลย  แม้ขนมเค้ก ของฝรั่งก็เช่นกัน 

และไอ้เรื่องกระทิ-น้ำมันหมู อีกอย่างนะคะ ขนมหรืออาหารคาวหวานไทย  ก็ไม่ได้เลี่ยงของพวกนี้เลย 

ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คุณป้า อายุ 74 ทำตามโบราณ คือน้ำมันหมู หรือกระทิ หรือไข่   แข็งแรงดี ตรวจไม่พบโรค

คุณน้า อายุ 66 ปี  ใช้น้ำมันพืช และค่อนข้างระวัง  เป็นโรคชุดมาเลย

โดยส่วนตัว แืืทบไม่สนผลการวิจัยเลย.. เพราะขัดกับความรู้สึกมาก เป็นคนชอบกินไข่.. 


เรียนคณนุ้ยครับ

หลายๆ โรคในปัจจุบันนั้น พบว่ามีพันธุกรรมเป็นสารตั้งต้น ทำให้มีผลกับบางคนมากกว่าบางคน บางครั้งเราไม่มีทางรู้ได้ด้วยการใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยขาดการระวัง แต่ในทางกลับกันทางการแพทย์ก็ไม่สามารถบอกอะไรเราได้ทุกอย่างเช่นกัน บางโรงพยาบาลเดี๋ยวนี้ก็จัดโปรแกรมค้นหาโรค และทำการรักษาโดยการให้ยา ซึ่งก็ตอบไม่ได้เต็มปากครับว่า การให้ยาเพียงอย่างเดียว แทนที่จะแนะนำให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นดีหรือไม่

ถึงแม้ผมจะเป็นคนหนึ่งที่เชื่อเรื่องการรับประทานไข่แดงแล้วดี โดยมีข้อพิสูจน์จากงานวิจัยที่ทำด้วยตัวเอง และมีงานวิจัยในอเมริกา และอีกหลายๆประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเรามีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับผลดีของไข่ แต่ผมเองก็ยังยึดหลักการของการเดินสายกลาง

เรื่องของอาหารและโภชนาการนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากครับ ถ้ายิ่งรุ้ จะยิ่งเข้าใจว่ามันมีความซับซ้อนมากๆ วงค์การแพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ดีพอ ทำให้หมอ และคนส่วนใหญ่ยังคิดว่า ไขมันในอาหารนั้นไม่ดี จริงๆไขมันก็มีอีกหลายชนิด ทั้งดีและไม่ดี น้ำมันหมู และกะทิ ก็มีส่วนดีเช่นกัน แต่ก็มีส่วนไม่ดีเหมือนกัน นอกจากนี้น้ำมันถั่วเหลืองก็มีส่วนไม่ดีเช่นกัน ถ้าใช้ไม่ถูก

เอาเป็นว่ารายละเอียดพวกนี้มากเหลือเกินครับ ผมขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะครับ

หมอกรภัทร


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท