เทคโนโลยีเย็นๆ


เราเรียกของเราเองว่า  เทคโนโลยีร้อน คือเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขัน  ส่วนเทคโนโลยีเย็น คือ เทคโนโลยีเพื่อการพึ่งตนเอง ....ด้วยเป้าหมายที่ต่างกัน  พฤติกรรมหรือวิธีการก็ออกมาต่างกัน

บันทึกก่อนหน้านี้ได้พูดถึงเทคโนโลยีร้อน  บันทึกนี้จึงอยากพูดถึงเทคโนโลยีเย็น

เศรษฐศาสตร์มองเทคโนโลยีว่าเป็น  "องค์ความรู้"ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   

เราตีความว่า  "เทคโนโลยีร้อน" นั้นมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกตลาด  คือทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงหรือการผลิตเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยการผลิตเท่าเดิม (การเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานหรือ supply)  หรือทำให้สินค้ามีคุณค่าเพิ่มขึ้น (การเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์หรือ demand)   

ส่วน "เทคโนโลยีเย็น" นั้น สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ "ไม่จำเป็น" ต้องผ่านกลไกตลาด   เพียงแต่มุ่งเพื่่อแก้ปัญหาของตัวเอง  การปฏิวัติเขียว เช่น ข้าว นั้นมีจุดสำเร็จมาจากประเทศที่พึ่งตนเองด้านอาหารไม่ได้  เริ่มต้นจึงเป็นเทคโนโลยีเย็น  แต่เมื่อมันถูกนำมาใช้เพื่อการแข่งขัน  เทคโนโลยีก็เป็นประเด็นร้อนขึ้นมา

เกษตรกรไทยเผชิญปัญหาหนี้สิน ปัญหาคุณภาพทรัพยากรเสื่อมโทรม  สุขภาพมีปัญหาเพราะสารเคมี  จึงเริ่มหาทางออกด้วยการค้นหาองค์ความรู้ที่แก้ปัญหาได้จริงด้วยการหันกลับมาสู่ธรรมชาติและต่อยอดภูมิปัญญา  เทคโนโลยีชาวบ้านเพื่อการพึ่งตนเองจึงเป็น เทคโนโลยีเย็น 

เศรษฐศาสตร์แบ่ง "สิ่งดี (goods)" (ที่ภาษาไทยแปลแล้วให้ภาพผิดว่า "สินค้า")  ออกเป็น 2 ประเภท  คือ สินค้าสาธารณะ (public goods) และสินค้าเอกชน (private goods)  

"องค์ความรู้"  นั้น เป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ  เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมใช้ได้โดยไม่เป็น "ปฏิปักษ์" กัน  หมายความว่า  แม้คนหนึ่งใช้ความรู้นี้ไปแต่ความรู้ก็ยังไม่สูญหาย  คนอื่นๆนำไปใช้ได้อีก    เราจึงควรสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าสาธารณะ เช่น ความรู้มากๆ  เพราะเมื่อผลิตขึ้นมาครั้งหนึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับคนหลายคน

(ต่างจากสินค้าเอกชน เช่น ข้าว  เพราะถ้าคนที่หนึ่งทานข้าวไป อีกคนก็ไม่มีข้าวทาน  สังคมต้องใช้ทรัพยากรผลิตข้าวเพิ่มมาให้คนที่สองได้ทาน)

สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือเมื่อมองจากฐานคิดเรื่องการแข่งขัน   กล่าวคือ  คนที่ลงทุนคิดสร้างความรู้ใหม่ แต่ปรากฏว่ามีคนอื่นๆมาลอกเลียนหรือเอาไปใช้โดยไม่ได้ช่วยร่วมทุนร่วมแรงด้วยแถมยังกลับมาเป็นคู่แข่ง  คนที่ลงทุนคิดเทคโนโลยีก็ไม่อยากลงทุน  

เกิดเป็นความขัดแยังกันว่า  ในขณะที่สังคมต้องการให้สร้างความรู้ขึ้นมาเยอะๆ แต่เอกชนไม่มีแรงจูงใจจะลงทุนสร้างความรู้เพราะยากจะกีดกันคนอื่น    จึงเกิดแนวคิดสร้างอำนาจกีดกันขึ้นมาให้แก่คนคิดเทคโนโลยีด้วยการสร้างระบบ "ทรัพย์สินทางปัญญา"  เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์  เพื่อให้คนคิดเทคโนโลยีสามารถผูกขาดเทคโนโลยีได้ในช่วงเวลาหนึ่ง    (ไม่ให้อำนาจผูกขาดตลอดไปเพราะจริงๆก็อยากให้ความรู้นั้นเป็นประโยชน์กับสังคมทั่วไปตามทฤษฎี...   เพียงแต่ว่า โดยข้อเท็จจริง "ความรู้" ก็มีอายุขัย" เพราะมีความรู้ใหม่ๆขึ้นมาแทนเสมอๆ  กว่า"ความรู้" จะเป็นอิสระให้ทุกคนเข้าถึงได้ ก็กลายเป็น "ความรู้เก่า"ที่อาจล้าสมัยไปแล้ว)

แต่ "เทคโนโลยีเย็น" เพื่อการพึ่งตนเองนั้นเป็นความรู้เพื่อการอยู่รอด ไม่ได้มุ่งแข่งขันกัน   การถ่ายทอดความรู้แก่กันก็ช่วยให้ทุกคนดีขึ้น  เป็นบุญกุศล  ไม่แข่งกัน ไม่ต้องกีดกัดความรู้  ความรู้จึงเป็น "สิ่งดีสาธารณะ" โดยแท้จริง

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 174174เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2008 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะ อาจารย์ปัทมาวดี

เทคโนโลยีเย็นกับร้อน แค่ชื่อก็เห็นภาพแล้วนะคะ ว่าจะส่งผลกระทบต่อไปอย่างไร

มาเก็บเกี่ยว "สิ่งดีสาธารณะ" จากบันทึกของอาจารย์(อีกแล้ว)

ขอบคุณมากคะ

ด้วยความเคารพ

---^.^---

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะคุณพิมพ์ดีด

หวังว่าบันทึกจะเป็น "สิ่งดีสาธารณะ" เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดระหว่างกันและกันของทุกคนค่ะ

ขอบคุณมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท