ประชุมกลุ่มสนทนาตรวจสอบหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา


          เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผมได้รับเชิญจาก สำนักงาน ก.ค.ศ.ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประชุมกลุ่มสนทนาตรวจสอบหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา(Focus Group)  ที่โรงแรมเฟิสท์  โดยมี ดร.พนม  พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธานการประชุม  ซึ่งการทำหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว  สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 79 กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และมีหน้าที่พัฒนาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้มีความรู้  ทักษะ  เจตคติที่ดี  คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพที่เหมาะสม  ในอันที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความก้าวหน้าแก่ราชการ  ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด
          ร่างหลักเกณฑ์ที่นำเสนอสรุปได้ว่า
          1.ผู้บังคับบัญชาทุกคน  ทุกระดับ ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  พัฒนาหน่วยงานหรือสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาข้าราชการครูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้มีคุณลักษณะของความเป็นครู  มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล  และความก้าวหน้าแก่ราชการ
        2.ผู้บังคับบัญชาทุกคน ทุกระดับมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการครูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ  ต่อเนื่องและได้มาตรฐาน  ถือว่าการทำงานและการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน  จำเป็นต้องพัฒนาตลอดเวลา  ซึ่งข้าราชการครูผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทุกคนมีหน้าที่ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  ให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางวิชาการและด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  และให้ผู้บังคับบัญชานำผลการพัฒนาไปใช้เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาดำเนินการบริหารทรัพยากรบุคคล  เช่น การเลื่อนขั้นเงินเดือน  เปลี่ยนตำแหน่งหรือสายงาน  การเลื่อนวิทยฐานะ  การยกย่องเชิดชูเกียรติ  เป็นต้น
          วิธีการ  ที่นำเสนอกันนั้น  ส่วนใหญ่ระบุว่า  ควรมีมาตรฐานครู หรือสมรรถนะเฉพาะของครูที่ชัดเจน  แล้วหน่วยงานมีการประเมิน/สำรวจความต้องการจำเป็น
(NA) เป็นฐานข้อมูล แล้วแต่ละคนมีการวางแผนพัฒนาตนเอง(ID Plan) แล้วดำเนินการพัฒนาตามความต้องการจำเป็น  ซึ่งอาจพัฒนาโดยสถานศึกษาเอง  หรือพัฒนาโดยหน่วยงานภายนอกที่มีหลักสูตรเป็นที่ยอมรับ เป็นทางเลือกที่หลากหลาย  โดยจะต้องไม่ใช้การเกณฑ์ครูไปอบรมแบบเหมาโหลเหมือนที่ผ่านมา   ศธ.อาจจัดคูปองให้แก่ครูเพื่อใช้ในการพัฒนาตนเอง(กำหนดชั่วโมง)  เมื่อกลับมาก็มีการพัฒนาการทำงาน  มีการนิเทศภายใน  และประเมินความก้าวหน้า  โดยผลการประเมินจะต้องส่งผลต่อการบริหารงานบุคคล  (ไม่ใช่ทำดีแค่ไหนก็ได้ขั้นครึ่งเหมือนกันหมด)  และมีอีกหลายๆประเด็นที่ผู้ทรงคุณวุฒให้ข้อเสนอแนะในที่ประชุม  เพื่อให้ ก.ค.ศ.ไปกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการฯต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 173962เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2008 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท