ดอกมะลิบาน... ที่ รพ.นาหม่อม


. . จะเป็น . . ."เป็นดวงตาสำหรับผู้ที่นัยน์ตาเริ่มบอด".... เป็น mission statement ที่อ่อนโยน เมตตา และงดงามที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา

เล่าเรื่องโดย นพ.สกล สิงหะ

ปีนี้สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (HA) จัดประชุม National Forum HA ครั้งที่ 9 ที่ศูนย์ประชุม IMPACT เมืองทองธานี ใน theme : Living Organization ท่ามกลางรายการวิชาการ นิทรรศการ มากมาย ปีนี้มีชุมนุมเรื่องเล่า เร้าพลัง เป็นการรวบรวมเรื่องราวการดูแลผู้ป่วย ที่น่าประทับใจ ของแต่ละโรงพยาบาล เข้ามาร่วมแสดง ร่วมพูด ร่วมเป็น poster หลายร้อยเรื่อง และเรื่องเล่าของ รพ.นาหม่อม จ.สงขลา ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกคัดมาว่าโดนใจกรรมการ ผมจึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมที่ รพ.นาหม่อม เพื่อไปสัมภาษณ์ ไปสัมผัส บรรยากาศ ณ the source ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า เบื้องหลังเรื่องเล่าแต่ละเรื่องนั้น คุณค่าที่แท้จริงมักจะแฝงเร้น มิสามารถจะบรรยายหรือพรรณนาออกมาได้ทั้งหมด และก็เป็นไปตามที่คาด เรื่องราวที่เป็น "เบื้องหลังการถ่ายทำ" ของเรื่องเล่าโดนใจครั้งนี้ ที่ชื่อเรื่องหวานสดชื่นว่า "ดอกมะลิ ... เบ่งบานในใจเราเสมอ" มีอะไรอีกมากมาย ที่พอผมฟังจบ ต้องขออนุญาตเจ้าของเรื่องทุกคน นำมาถ่ายทอดลง ณ ที่นี้ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้เป็นการ share พลังบริสุทธิ์ แรงบันดาลใจ ทุกอย่างที่ทำให้วันนีเป็นวันที่มีความสุขมากอีกวันหนึ่งของอาชีพแพทย์

โรงพยาบาลนาหม่อม เป็นโรงพยาบาล 30 เตียง มีตำแหน่งสำหรับหมอ 3 คน แต่ตอนนี้มีอยู่แค่ 2 คน เป็น ผ.อ. 1 คือ หมอสุธาทิพย์ ธรรมชาติ และน้องหมอที่พึ่งจบมา 1 ปีอีกคนนึง จึงเป็นที่คาดได้ว่างานจะหนักขนาดไหน ทว่าความหนักของงานนั้น ไม่สามารถจะประเมินได้เลยจากสีหน้า แววตา และน้ำเสียง ของบุคลากรที่นี่ ตั้งแต่คนขับรถ คือคุณจงรัก หนุ่มจะนะ (แต่มาอยู่นาหม่อม) ที่เคยไปทำงานนราธิวาสมาแล้วเกือบสิบปี อาสาสมัคร และทีม Home Care และพยาบาลที่แข็งขันอย่างคุณภัณฑิรา โมสิกะ  และคุณพรรณภัทร สินธุแปง ไปจนถึง ผ.อ. หมอสาวแกร่งของเรา

ปรัชญา รพ. นาหม่อมคือ "ดูแลอย่างใกล้ชิด ดุจญาติมิตรยามป่วยไข้" และทีม รพ.นาหม่อมได้สะท้อนปรัชญานี้ออกมาเป็นภาคปฏิบัติได้อย่างชัดเจน เท่าที่จะชัดได้ ลงไปในเนื้องานของทุกคนใน รพ.

งานที่ รพ.ทำและนำเสนอ และประทับใจมากๆ ก็คืองาน HHC หรือ Home Health Care ที่คุณภัณฑิราผู้เปี่ยมพลัง ดันทุกสิ่งทุกอย่าง ดันทีม ดันคน ดันทรัพยากร ภายใต้การหล่อเลี้ยงสนับสนุนจากบน คือ หมอสุธาทิพย์ และทีม คือพยาบาล คนขับรถ อสม. นายอำเภอ ทำให้รูปแบบเครือข่ายชุมชนดูแลสุขภาพที่ดีอบอุ่นมาก ศูนย์ HHC ของที่นี่ มีศูนย์กายอุปกรณ์ด้วย มีเครื่องมือเครื่องไม้ อาทิ เตียง Fowler เตียงลม และรถเข็น ซึ่งได้งบประมาณมาจาก สปสช ทุนผู้พิการ เครื่อง suction ไว้ดูดเสมหะ ซึ่งของทุกอย่างมีคนรอใช้อยู่เกือบตลอดเวลา

คุณภัณฑิราเล่า case ตัวอย่างให้ฟังจำนวนมาก รุปภาพ powerpoints วิ่งไปเป็นสายๆ แต่คุณภัณฑิราไม่ต้องดูโพยหรือโน้ตแต่อย่างใด แสดงถึงความรู้จักคนไข้ทุกคนเป็นอย่างดี แต่ละ case มีเรื่องเล่าจำเพาะเจาะจงทั้งสิ้น ระบบของ รพ.นาหม่อมนี้ ถ้ามี case เรื้อรังที่จำเป็นต้องไปเยี่ยมบ้าน จะมีการส่งทีมไปดูที่ทางที่บ้านก่อน เพื่อจะได้ตระเตรียมช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ รวมทั้งการไปทำความรู้จักกับ primary caregiver ที่บ้าน เพื่อที่จะแนะนำเทคนิกการดูแลคนไข้ ที่เป็นญาติของตนเองอย่างไรบ้างโดยละเอียด ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ collection รูปถ่ายกิจกรรมของทีม HHC รพ.นาหม่อม จึงประกอบไปด้วยรูปพยาบาล รูปทีม PCU และ HHC กำลังทำความสะอาดลานบ้าน จัดบ้าน เป็นจำนวนมาก คือภาพการเตรียมต้อนรับกลับบ้านคนไข้นั่นเอง จากรูปเหล่านี้แทบจะไม่สามารถแยกออกว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่ ใครเป็นญาติ ทุกคนทำงาน ยิ้มแย้ม เหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

ด้วยระบบเกาะติดของ HHC นี่เอง บางครั้ง รพ.นาหม่อมจึงสามารถตรวจพบว่ามีคนไข้บางคนที่อพยพย้ายที่อยู่มาจากนอกเขต และทำให้ไม่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ เมื่อพบ case แบบนี้ เจ้าหน้าที่ รพ.นาหม่อมก็จะติดต่อประสานกับเขต เพื่อหาทางออก เช่นโอนย้ายสำเนาสำมะโนครัว หรือพามาลงทะเบียนบัตรทอง ติดต่อเรื่องค่าช่วยเหลือคนพิการ หน่วยงานที่รับผิดชอบและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้เป็นต้น

การทำงานมีการประสานกันทั้งทีมแพทย์ ผู้บริหาร หัวหน้าหอผู้ป่วยใน หัวหน้า PCU และ HHC รวมไปถึงคนขับรถ และทีมภายนอกได้แก่ อสม. อบต. และนายอำเภอ สาธารณสุขตำบล

คุณภัณฑิราได้สรุปประเด็นจากการเยี่ยมบ้านไว้น่าสนใจว่า

1.      การดูแลผู้ป่วยที่บ้านเป็นงานที่ละเอียดอ่อน บางครั้งอาจพบกับปัญหาที่ซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ ให้บุคคลสามารถพึ่งตนเองได้ และอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า

2.      การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน บุคคลที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้และอยู่ในครอบครัว และสังคมได้อย่างมีคุณค่าคือ ญาติผู้ป่วย

3.      การเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว จะเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านประสบความสำเร็จ

บทสะท้อนดอกมะลิแห่งนาหม่อมและวิถีแพทย์พยาบาล

ผมได้ไปเยี่ยม รพ.นาหม่อม เจอคุณหมอสุธาทิพย์ คุณภัณฑิรา คุณพรรณภัทร และทีมงาน รวมทั้งคุณจงรัก คนขับรถของ รพ.ที่เป็นคนออกความเห็นและอาสาลงมือตัดต้นไม้ถางหญ้าแต่งลานบ้านให้คุณมะลิ พูดคุยสนทนากันครึ่งวัน

เป็นครึ่งวันที่มีความหมาย และมีความสุขมาก

เบื้องหลังเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง แฝงไว้ด้วยพลัง ด้วยพลังงานและพลังใจอันบริสุทธิ์ การทำงานเพื่อช่วยคนอื่นจนถึงที่สุด อย่างที่ทีม รพ.นาหม่อมได้ทำกับคุณมะลิ เป็นเพียงหนึ่งเรื่องในงานประจำ และมีอีกหลายสิบ หลายร้อย หลายพัน ที่สมาชิกของทีม รพ.นาหม่อม เก็บเอาไว้ในความทรงจำ มิได้เอามาเผยแพร่

ผมเชื่อว่าทุกๆ โรงพยาบาล หากมองหา ก็จะมีเรื่องทำนองเดียวกันอีกมากมายมหาศาล

เรื่องเล่าแบบนี้ ทำให้เรายิ่งมองเห็นได้ว่า อันคุณค่าแห่งโรงพยาบาล แห่งวิชาชีพแพทย์ พยาบาล แห่งปรัชญาอันมีชีวิตเพื่อผู้อื่นนั้น จะเป็นการยากเพียงไร ที่จะนับ ที่จะคำนวณ ว่าเราได้ทำอะไรลงไป และเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ถ้าจะนับ กรณีคุณมะลิก็คงจะเป็น 1 ราย แต่ตัวเลข 1 รายนี้ก็คงจะไม่ justified สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกๆคนที่เกี่ยวข้อง

ตอนผมไปเยี่ยมบ้านคุณมะลิ ก็ได้เห็นลานบ้านอันสะอาดสะอ้าน ไม่มีหญ้ารกปรกพง อันเป็นผลงานของคุณจงรัก คนขับรถโรงพยาบาลนาหม่อมและทีม HHC คุณมะลินั่งห้อยขาอยู่ที่หน้าประตูบ้าน โบกมือทักทายทีมเราอย่างดีอกดีใจ

"คุณครูมาแล้วๆ" มะลิเรียกหา

มะลิอยู่บ้านคนเดียว สามีไปทำงาน น้องสมบูรณ์ก็ไปเรียนหนังสือ หมอสุธาทิพย์เล่าให้ฟังว่าได้นำเอาเรื่องราวของคุณมะลิไปเล่าให้นายอำเภอฟัง ให้ผู้ใหญ่บ้านฟัง พอใครๆ ได้ยินเรื่องราว ก็พยายามจะช่วยกัน จะหาทุนการศึกษาให้น้องสมบูรณ์ เพราะน้องสมบูรณ์เป็นเด็กน่ารัก มะลิบอกว่าขอให้น้องเป็นคนดีก็พอ พอเราถามว่าจะให้น้องเป็นอะไรในอนาคต มะลิก็ตอบว่า "เป็นอะไรก็ได้ น้องเป็นคนดี"  ฟังแล้วช่างอบอุ่นใจ  และภาคภูมิใจในความเป็นแม่ นั่นน่ะสิ สำหรับแม่จะต้องการอะไรอีก เมื่อพบว่าลูกเป็นคนดี มีความกตัญญูกตเวที เด็กอย่างนี้ ทำอะไรก็ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ มะลิพร่ำบอกว่าเธอดีใจแค่ไหน ภาคภูมิใจแค่ไหนที่ได้เห็นทีมคุณครูมาเยี่ยมเธอ

ในการเรียนรู้ชีวิต บทเรียนจริงมีค่า มีความหมายมากกว่าทฤษฎี สมมติฐาน อย่างมากมายมหาศาล ยกตัวอย่างน้องสมบูรณ์ จะมีใครเข้าใจ หรือให้นิยามคำเมตตา กรุณา กตัญญู ได้อีกไหม ทั้งหมดออกมาเป็นเชิงปฏิบัติ จับต้องได้ แต่ต้องจับต้องหรือสัมผัสด้วยหัวใจ ไม่ใช่การนับ การคำนวณ

รพ.นาหม่อมมีหมอแค่ 2 คน ทั้งๆที่มี 3 ตำแหน่ง แต่ด้วยภาระงานขนาดนี้ หมอสุธาทิพย์และทีม ก็ทำงานอย่างยิ้มแย้ม มีกำลัง ขณะที่คุยเรื่องคุณมะลิ หมอสุธาทิพย์ก็ยังฉวยโอกาสพูดคุยกับ อสม. กับอำเภอ ว่าจะนัดประชุมกันเรื่องระบบการกำจัดขยะในอำเภอนาหม่อมกันอย่างไรดี เพราะอยู่นอกเขตเทศบาล ชาวบ้านเผาขยะกันเอง และหลายคนก็เป็นหอบหืด เป็นโรคปอด

ผมเคยอ่านเจอประโยคประโยคหนึ่งว่า "Once we have found our dream work, then we will never have to work again. Just live." เมื่อเราสามารถค้นพบงานเพื่อชีวิตที่มีความหมายอย่างแท้จริงของเราเมื่อไร หลังจากนั้น ก็จะเสมือนกับว่าเราไม่ต้องทำงานอีกต่อไป เพียงแค่ "ใช้ชีวิต" เท่านั้น เพราะงาน และชีวิตเรา ได้บูรณาการเป็นหนึ่งเดียว เหมือนกับการหายใจ เดินไปมา กิน ทำงาน เราจะไม่ทุกข์กับงาน เพราะเรามีแต่ขอบคุณที่เรามีชีวิต เราจะไม่ขึ้งเครียดเกลียดผู้ร่วมงาน นาย ลูกน้อง คนไข้ เพราะทั้งหมดอยู่ในนิเวศชีวิตของเรา เราจะไม่รู้สึกเดือดร้อนเมื่ออยู่เวรแล้วถูกตามมาดูคนไข้ เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของ package

ถึงเวลานี้ เราก็สามารถบอกกับตัวเองได้ว่า เราได้ประจักษ์อีกเหตุผลหนึ่งที่เราพึงภาคภูมิใจในวิชาชีพของเรา ในคนรอบๆข้างของเรา และความน่ารักของมนุษย์ถึงแม้ว่าบางทีจะแฝงอยู่ในโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม

 

และได้เขียนคล้ายๆคำขวัญของกลุ่มบุคลากร รพ.นาหม่อมไว้ว่าเรา

. . จะเป็น . . ."เป็นดวงตาสำหรับผู้ที่นัยน์ตาเริ่มบอด"

"เป็นหนทางสำหรับเด็กเกิดใหม่"

"เป็นความรู้ ความมั่นใจสำหรับผู้เริ่มเป็นมารดา"

"เป็นแขนขาสำหรับผู้พิการ"

"เป็นเสียงขานสำหรับผู้ที่อ่อนเพลีย เปล่งเสียงบอกความต้องการไม่ได้

ซึ่งเป็น mission statement ที่อ่อนโยน เมตตา และงดงามที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา

รพ.นาหม่อมมีประวัติทำงานที่สร้างสรรค์มานานก่อนหน้านี้แล้ว เป็น รพ.ที่ได้รับรางวัลนวตกรรมสร้างเครื่องมือกะลานวดเท้า โดยสามารถชนะการประกวดได้ระดับเขต และแพร่หลายให้ รพ.อื่นในบริเวณรอบข้างนำไปดัดแปลงเอาไปใช้ รวมทั้ง รพ. สงขลานครินทร์ด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 171829เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2008 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นำมาฝากไว้ค่ะ บล็อกของอาจารย์หมอสกลที่บันทึกเรื่องเล่าเร้าพลังมากมาย รวมทั้ง ดอกมะลิบานที่นาหม่อมด้วยค่ะ http://gotoknow.org/blog/phoenix-mirror

เรียน อ.จันทวรรณ ครับ

ขอบคุณมากครับที่กรุณาเชื่อมโยงไปที่ blog ของ อ.สกล

และขอบคุณที่สร้าง gotoknow ให้ พรพ.ได้ใช้เผยแพร่ข้อมูลจากการประชุม HA National Forum ได้อย่างสะดวกสบายครับ

ขอบคุณทีมงาน gotoknow คะที่ทำให้มีโอกาสได้ติดตามสิ่งดีๆแม้ไม่ได้ไปถึงกทม.

ยินดีค่ะ

และขอร่วมแสดงความเสียใจในการจากไปของคุณหมอสุธาทิพย์ค่ะ

อยากดู cilp vdo เรื่องเล่า รพ.นาหม่อนจังคะ

เพิ่งทราบว่ามีผุ้สนใจ เรื่องเล่าจากรพ.นาหม่อม ถ้ายังสนใจเรื่องเล่าดอกมะลิเบ่งบานในใจเราเสมอ ของรพ.นาหม่อม กรุณาติดต่อได้ที [email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท