เมื่อพวกเราทำดีกับผู้ป่วยเอดส์


เรื่องเล่าของสถาบันบำราศนราศนราดูร จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเอดส์รายแรก

เมื่อปี พ.ศ. 2527  สถาบันบำราศนราดูร ยังเป็นโรงพยาบาลบำราศนราดูร สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นประวัติศาสตร์ของสถาบันบำราศเกี่ยวกับการรับผู้ป่วยเอดส์รายแรก หน้าที่หลักของสถาบันเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อและโรคติดต่ออันตราย เมื่อมีคำสั่งจากกรมควบคุมโรคให้รับผู้ป่วยเอดส์รายแรกในปี พ.ศ. 2527 ได้เกิดเหตุการณ์ที่บุคลากรมีความวิตกกังวลกันอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในการรับผู้ป่วยเอดส์ มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องป้องกันต่างๆอย่างรีบด่วน แต่ผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตเสียก่อน เรื่องโรคเอดส์จึงเงียบไป

ปี พ.ศ. 2529 สถาบันบำราศรับผู้ป่วยรายแรก เป็นผู้ป่วยชาย สัญชาตินิโกร ชาวอเมริกัน  ต้องโทษด้วยคดีร้ายแรง ค้าและเสพเฮโรอีนชนิดฉีดเข้าเส้น มาด้วยอาการมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ

(endocarditis)  ผู้ป่วยรายนี้เปรียบเสมือนครู ให้ประสบการณ์ การเรียนรู้ในการดูแลผู้ป่วยเอดส์ ดิฉันไม่เคยลืมไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 21 ปี แม้แต่ชื่อ นามสกุล แววตา และคำพูด ซึ่งในปี 2529 ดิฉันปฏิบัติงานอยู่ตึกอายุรกรรม คือตึก พิเศษ 3/5 ปัจจุบัน  วันที่ผู้ป่วยรับเข้าเป็นผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนั่งรถเข็นนั่ง มีโซ่ล่ามที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง พร้อมมีผู้คุมมาด้วย 2 คนเข้าห้องแยกท้ายตึก สภาพผู้ป่วยในขณะนั้น มีหายใจเหนื่อยหอบ มีไข้ หนาวสั่น  สภาพที่เห็นวันนั้นเกิดความสงสารและเห็นใจ เนื่องจากมีการเจ็บป่วยทางกาย ร่วมกับมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้นยังถูกจำกัดอิสรภาพในการเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งดิฉันอาจไม่ชินกับสภาพการล่ามโซ่รู้สึกอึดอัดถูกจำกัดอิสรภาพ ซึ่งเป็นระเบียบของเรือนจำที่ผู้ป่วยต้องได้รับการควบคุมตลอดเวลาเพื่อป้องกันการหลบหนี

วันที่ 1 ของการปฏิบัติกับผู้ป่วยเอดส์  หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยใน  เจ้าหน้าที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะให้การดูแล เนื่องจากยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเอดส์  ไม่มีใครกล้าเข้าไปให้การพยาบาลเลยทุกคนกลัว  ดิฉันเองก็กลัวเหมือนกัน แต่กลัวด้วยเหตุผล และยังมีจิตสำนึกของการที่เราเป็นพยาบาล ในฐานะที่เป็นพยาบาลเราไม่สามารถเลือกได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร ไม่แบ่งชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา เราสามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยได้ ต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วยทุกคนที่ควรได้รับบริการพยาบาลจากอาชีพ  เมื่อดิฉันคิดได้จึงได้เข้าไปให้การพยาบาลผู้ป่วยรายนี้ด้วยความระมัดระวัง

วันที่ 2 ของการปฏิบัติกับผู้ป่วยเอดส์  ดิฉันรับเวรแล้วได้เดินไปดูแลผู้ป่วยรายนี้พบว่า ถาดอาหาร แก้วยา  ตั้งอยู่หน้าห้องโดยที่ผู้ป่วยยังไม่ได้รับประทานอาหารและยา เลยในห้องกระบอกน้ำแห้งไม่มีน้ำเลย  จึงถามว่าคุณกินน้ำที่ไหน ผู้ป่วยตอบว่ากินน้ำที่ก๊อกในห้องน้ำเพราะโซ่ยาวพอ  จึงได้นำอาหารและน้ำไปให้ จัดสิ่งแวดล้อมในห้อง  ถามอาการเจ็บป่วย และวัดสัญญาณชีพ ตามแพทย์เพื่อสั่งการรักษาซึ่งในวันแรกๆ การเข้ามาเพื่อให้การพยาบาลดิฉันเรียนรู้จากแพทย์ แพทย์ใส่เครื่องป้องกันอะไร ดิฉันก็ใส่ตาม เครื่องป้องกันทั้งหลายที่มีอยู่ ใส่ป้องกันตั้งแต่ศีรษะ เช่น หมวกคลุม (hood) แว่นตา  ผ้าปิดปากจมูก (mask) เสื้อคลุม ถุงมือ รองเท้าบู๊ท ซึ่งหาได้เนื่องจากโรงพยาบาลมีอยู่ เป็นไอ้โม่งที่เห็นแต่ลูกตาเท่านั้น เข้าไปปฏิบัติกิจกรรมพยาบาล ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยาเข้าเส้นเลือด วัดสัญญาณชีพ พูดคุยถามอาการ ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีขึ้น ผู้ป่วยเริ่มชวนคุยและถามคำถามที่ออกมาจากความรู้สึกที่ได้รับจากการสังเกตและความรู้สึกที่ได้รับว่า ตึกนี้มีพยาบาลคนเดียวหรือ คุณไม่กลัวผมหรือ ผมต้องโทษร้ายแรง ตัวก็ดำ  ผมก็หยิกและผมติดเชื้อเอชไอวีด้วย พยาบาลคนอื่นไม่เคยเข้ามาดูแลผมเขาคงกลัวติดเชื้อจากผม ดิฉันเข้าใจความรู้สึกคุณดี มีพยาบาลหลายคน แต่ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องทำ ดิฉันจึงมาดูแลคุณ การติดเชื้อเอชไอวีของคุณดิฉันมีเครื่องป้องกัน และผู้ป่วยเริ่มเล่าเรื่องในอดีตที่บ้านเกิดจนมาติดคุกที่เรือนจำคลองเปรม

วันที่ 3-5 ของการปฏิบัติกับผู้ป่วยเอดส์  ความคุ้นเคยกับผู้ป่วยมีมากขึ้น ผู้ป่วยชวนพูดคุยมากขึ้น การใช้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น เริ่มรู้สึกร้อน อึดอัด เหงื่อออก  เกิดการเรียนรู้ ด้วยตัวเองว่าการ ใช้เครื่องป้องกันเกินความจำเป็นนั้นทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกว่าถูกรังเกียจ จิตสำนึกถามตัวเองว่าทำไมต้องใส่เครื่องป้องกันมากมาย จากการศึกษาข้อมูลการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ว่าสามารถติดต่อได้ทางใดบ้าง หลังจากวันที่ 5 เป็นต้นมาก็เริ่มถอดเครื่องป้องกันออก เหลือเพียงถุงมือและ mask เท่านั้นเพื่อป้องกันโรคที่ติดต่อได้ทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอด และการสัมผัสสารคัดหลั่งเท่านั้น  และได้ให้การพยาบาลทุกวันจนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและย้ายกลับไปอยู่เรือนจำบางขวาง

จากกรณีผู้ป่วยรายนี้  คำว่า ศักดิ์ศรี และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยยังมีอยู่ถึงแม้จะเป็นผู้ต้องโทษคดีรุนแรง เขามีสิทธิได้รับบริการทางการพยาบาลอย่างเท่าเทียมผู้ป่วยอื่น สิ่งที่ประทับใจคือสอนประสบการณ์การให้การพยาบาลผู้ป่วยเอดส์เป็นรายแรก มันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และเราทำได้ สอนให้รู้จักการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกลัวอย่างมีเหตุผล ทำให้มองผู้ป่วยเอดส์อย่างเข้าใจ ปลุกจิตสำนึกของความเป็นคน หลังจากผู้ป่วยรายนี้กลับเรือนจำก็มีผู้ป่วยรายอื่นถูกส่งมารักษาจากทั่วประเทศ จนห้องแยกเต็ม ผู้บริหารต้องเปิดตึกเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ส่งมาอย่างต่อเนื่อง

ปลายปี พ.ศ. 2529 ได้ปรับปรุงตึกร้างที่ไม่ได้ใช้งาน อยู่ห่างไกลจากหน่วยงาน และไกลจากหอผู้ป่วยอื่น เพื่อเปิดรับผู้ป่วยเอดส์ โดยให้ชื่อว่าตึก 9 เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นผู้ป่วยหญิง ชั้นบนเป็นผู้ป่วยชาย รับได้ทั้งหมด30 เตียง เมื่อตึกปรับปรุงเสร็จก็ประกาศ เวียนหาอาสาสมัครเพื่อปฏิบัติงานที่ตึก 9 ดิฉันเป็นอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยเอดส์เป็นคนแรก และขอเลือกทีมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตึกเอดส์เอง ต้องไม่ใช่มาจากการบังคับ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง  ขวัญกำลังใจขณะนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ต้องดูความสามารถ การมีทัศนคติที่ดีกับผู้ป่วยเอดส์  

ดิฉันได้ชวนเจ้าหน้าที่มาร่วมงานด้วยทั้งหมด 5 คน  โดยในระยะแรกกิจกรรมพยาบาลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์  เช่น การเจาะเลือด การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ดิฉันจะลงมือทำเองเนื่องจากต้องการสร้างความมั่นใจ และความศรัทธาที่เขาเหล่านั้นเชื่อมั่นและยอมมาปฏิบัติงานร่วมกับดิฉัน ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และมีกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง จนสามารถลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย  เราเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไม่ทำเองในช่วงที่วิกฤตอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานได้ ถ้ามีในช่วงนั้นการอุบัติเหตุจากการทำงานและติดเชื้อเอดส์ คิดว่าคงไม่มีใครกล้าทำงานกับผู้ป่วยเอดส์ อีกเลยและคงไม่เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในด้านการรักษาผู้ป่วยเอดส์จนมีผู้มาศึกษา ดูงานจากนานาชาติ ดังเช่นทุกวันนี้ 

บุคลากรของสถาบันมีความหวาดกลัว กลัวตาย กลัวติดเชื้อเอดส์  กลัวการรังเกียจจากสังคมทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติกับผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งมีผู้ป่วยชายไทยรายหนึ่งที่มูลนิธิเก็บได้จากกองขยะนำส่งที่สถาบันด้วยอาการ ไข้สูง หายใจเหนื่อย อ่อนเพลียมาก  ตามร่างกายมีแต่แผลเน่าทั้งตัว มีกลิ่นเหม็นมาก ทำแผล ฟอกแผล  เล็บมือมีหนอนไช เจ้าหน้าที่ต้องนำมาอาบน้ำชำระร่างกาย เริ่มให้อาหาร น้ำเกลือ และยาตามแผนการรักษา จนผู้ป่วยเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนผู้ป่วยคนอื่นที่มาด้วยปัญหาแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือถูกทอดทิ้งจากสังคมครอบครัว 

 แต่กว่าจะถึงวันนี้พวกเราผู้ร่วมชะตากรรมดูแลผู้ป่วยเอดส์ ได้ร่วมกันแก้ปัญหา ให้กำลังใจ ปลอบใจซึ่งกันและกันบางครั้งต้องร้องไห้ร่วมกัน เนื่องจากความกดดันจาก ครอบครัว สังคม  ในสถาบันลงโทษเราเหมือนเราเป็นผู้ป่วยเอดส์ ปฏิเสธความสัมพันธ์ ความเป็นเพื่อน ผู้ที่เคยร่วมงานกันมาแม้แต่เดินสวนทางกัน ยังหลบไม่ยอมเดินสวนทางกับเรา เสื้อผ้าที่เคยจ้างซักรีดถูกปฏิเสธ รายได้พิเศษจากการทำงานโรงพยาบาลเอกชนเลิกจ้าง โรงเรียนที่ลูกเรียนถูกเชิญผู้ปกครองให้ย้ายลูกออกไปเรียนที่อื่น   อาหารที่เคยผูกปิ่นโตมื้อกลางวันกับโรงอาหารถูกปฏิเสธอย่างหมดศักดิ์ศรีของความเป็นคน ถูกรังเกียจจากเจ้าหน้าที่โรงครัวแยกของใช้ทั้งหมด ช้อน ถ้วย จาน ถาดอาหาร และตะโกนว่าเจ้าหน้าที่ตึกเอดส์มาแล้ว และเอาน้ำยาโซเดี่ยมไฮโปคลอลัยท์ลาดพื้นทันทีที่เจ้าหน้าที่เดินออกมา  อาหารผู้ป่วยถูกทิ้งไว้โคนต้นมะขาม ถาดผู้ป่วยเจ้าหน้าที่ตึกต้องล้างเอง เสื้อผ้าผู้ป่วยต้องซักเอง ตากไว้ที่ราวจะมีผู้หวังดีเอาสเปรย์สีแดงมาพ่นไว้ให้ตากเฉพาะที่พ่นสีแดงไว้ เพราะกลัวเชื้อเอดส์กระโดดติด ถ้าผู้ป่วยเสียชีวิตจะมีเตาเผาศพให้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย  แต่ก็ถูกประชาชนบริเวณรอบๆร้องเรียน กลัวติดเชื้อเอดส์จากเขม่าที่เผาศพ เนื่องจากไม่มีญาติมารับกลับจนศพล้นไม่มีที่เก็บ

เจ้าหน้าที่ถูกตอกย้ำด้วยเสื้อผ้าให้ใส่สีแดง และทุกอย่างเป็นสีแดง ให้เห็นชัดเจน จนทนไม่ไหวขอเปลี่ยนเป็นสีม่วงแทน  เราถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเราผู้ปฏิบัติงานแต่เราต้องต่อสู้กับบุคลากรกันเอง ถูกสังคมรอบข้างรังเกียจ เจ้าหน้าที่บางคนหนีไปปฏิบัติงานอื่นที่ไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยเอดส์  ถ้าเข้าใจการติดต่อของโรคดีเขาเหล่านั้นจะมีความเสี่ยงสูงถ้าเขาแต่งงาน มีเพศสัมพันธ์ ถึงหนีการปฏิบัติงานกับผู้ป่วย แต่สามีที่บ้านถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงเขาก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอดส์ได้ 

ด้วยทีมงานที่เข้มแข็งช่วยเหลือกัน  เป็นกำลังใจให้กันและกัน เรามีกันเพียง 5-6 คน เท่านั้นที่เข้าใจกัน ไม่มีใครเลยที่เข้าใจความรู้สึกเจ็บปวดของพวกเราอาสาสมัคร แต่ด้วยทุกคนมีความรักสถาบันและศรัทธาในอาชีพ สงสารผู้ป่วยที่ถูกสังคมลงโทษ ถูกตราบาป  เราจึงยอมทำงานต่อไปและใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของบุคลากร ให้สามารถยอมรับผู้ป่วยเอดส์  และใช้ความชุกของการติดเชื้อเอดส์ที่เพิ่มขึ้นและใกล้ตัวมากขึ้นจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้เกิดรูปแบบของการดูแลตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์    ถึงแม้ในระยะแรกบุคลากรในสถาบันยังมีความกลัว และปฏิเสธ  แต่ เราไม่ได้โกรธคิดว่าเขาเหล่านั้นขาดสติ และกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ขาดประสบการณ์ ขาดความรู้ พวกเราก็พยายามอดทนเพื่อให้เกิดการยอมรับได้ในที่สุด 

พ.ศ. 2532 จำนวนผู้ป่วยมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  และเริ่มมีการศึกษาดูงานจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเนื่องจากมีนโยบายให้มีการกระจายผู้ป่วยเอดส์ลงตามหน่วยงานต่างเช่น สูติ ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม บุคลากรเริ่มยอมรับมากขึ้น ทัศนคติต่อผู้ป่วยเอดส์ดีขึ้น

พ.ศ. 2540  สถานการณ์ขณะนั้นมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ส่งมารับการรักษาต่อ และได้มีการจัดตั้งหน่วยให้บริการผู้ป่วยแบบเบ็ดเสร็จ (Ambulatory Care Unit) จะให้บริการตรวจและรักษา วินิจฉัย ทำกิจกรรม เช่น เจาะหลัง  เจาะปอด ได้ผลและสั่งการรักษาแบบเบ็ดเสร็จ เป็นการลดจำนวนการครองเตียงลง  การรับเป็นผู้ป่วยในเป็นทางเลือกสุดท้าย ผู้ป่วยได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้นจากญาติ ครอบครัว ได้รับยาต้านไวรัส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พวกเราดีใจและภูมิใจที่สามารถผ่านวิกฤตช่วงนั้นมาได้อย่างปลอดภัย ไม่มีใครติดเชื้อจากการปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันที่รุมเล้าเรา ถึงแม้จะได้รับอุบัติเหตุถูกเข็มตำจากการปฏิบัติงานแต่ก็ไม่ติดเชื้อเอดส์ ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ด้วย AZT เพียงตัวเดียวเท่านั้นกินทุก 4 ชั่วโมง นาน 6 สัปดาห์ กินยา 1 สัปดาห์แรก เริ่มมีอาการ เวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหมือนคนแพ้ท้อง เมายาตลอด อยากพักแต่ก็ต้องทำงานเนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่เปลี่ยน สงสารคนที่อยู่เวรก็จำกัด อยู่เวรบ่าย-ดึก  ต้องอดทนเพราะความกลัวติดเชื้อ  ทนกินยาไปจน 4 สัปดาห์ เล็บมือและเท้าเปลี่ยนเป็นสีม่วง และเริ่มมีภาวะซีด ทราบได้ทันทีว่าเป็นผลข้างเคียงจากการกินยา AZT  จึงปรึกษานายแพทย์ สมสิทธิ์  แต่หมอถามว่าจะกินต่อ หรือจะหยุดยา  จึงตัดสินใจกินต่อจนครบ เป็นพยาบาลคนเดียวและคนแรกที่กินยาต้านไวรัสเอดส์ ครบ 6 สัปดาห์ เพื่อจะได้ทราบว่าถ้ากินยาจนครบ  6 สัปดาห์แล้วจะมีผลข้างเคียงอะไรต่อ และสามารถบอกผู้ป่วยได้ว่ามีอาการอย่างไร   ต้องเป็นหนู ทดลองยาต้านไวรัส   และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในการกินยา ผลข้างเคียงของยา  ในที่สุดเราก็ประสบความสำเร็จ ไม่มีอาสาสมัครคนใดติดเชื้อ  ดีใจที่สังคมเริ่มมองเห็นว่ามันไม่ได้น่ากลัว  ไม่ได้ติดกันง่ายๆ  เริ่มมีเพื่อนร่วมงานอีกครั้ง เพราะความอดทน ตั้งใจ และเสียสละของผู้ร่วมงานที่ดี

อดีตที่เจ็บปวดของพวกเราคือ เมื่อต้องไปทำงานที่เสี่ยงต่ออันตรายพวกเขาจะนึกถึงแต่เรา  แต่เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เขากลับลืมพวกเรา  จนคิดว่าจะไม่เล่าอะไรให้ใครฟังอยากให้มันตายไปพร้อมกับพวกเรา  อย่าว่าแต่ผู้ป่วยเลยที่ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตัวเราเองไม่เหลือความเป็นคนเลย แต่พวกเราก็สามารถทำให้ทุกคนในสถาบันยอมรับทำให้ศักดิ์ศรีของพวกเราและผู้ป่วยกลับมาอีกครั้ง แต่จากประสบการณ์ทำให้เราเห็นใจผู้ป่วยเอดส์มากขึ้นและจะไม่กระทำกับผู้ป่วยเหมือนกับเราที่ถูกกระทำมาแล้วในอดีต  เราดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันเป็นที่ยอมรับในด้านการรักษาผู้ป่วยเอดส์ของนานาชาติ  

          พ.ศ 2535-3536 โครงการนำร่อง  Access to Care ( ATC )

พ.ศ. 2547- 31 ตุลาคม 2549  เริ่มเปิดโครงการยาต้านไวรัส เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 จำนวน 5,000 ราย  จัดทำกลุ่มปฐมนิเทศ ( Focus group ) ในกลุ่มเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนกินยาต้านไวรัสเอดส์

          พ.ศ. 2549 เริ่มโครงการ NAP

 

และท้ายสุดดิฉันขอขอบคุณ ผู้ร่วมงานทุกคนที่ร่วมเป็น ร่วมตายกันมาขออนุญาตจารึกชื่อของทีมที่ดูแลผู้ป่วยเอดส์ทั้งที่ยังอยู่ปัจจุบันและผู้ที่ลาออกไปแล้ว ซึ่งยังอยู่ในความทรงจำไม่มีลืมเลือนดังนี้  ผู้ป่วยเอดส์ทุกๆคนทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว

               นายแพทย์สมสิทธิ์    ตันสุภสวัสดิกุล

               นางพรศิริ              เรือนสว่าง

               นางเจียมใจ            สายทอง

               นางวิรัช                บูรณวิโรจน์

               นางอรวรรณ           ประจงจัด

               นายถวัทน์             ฤกษ์เฉลิม

               นางราตรี               ประยูรอนุเทพ

               นางสมปอง             สวนทุเรียน

               นางปราณี              ยินยอม

               นส.ทิพาพร             สายนุ้ย

               นาย เจริญ              โจมกุ่ย

 

          และที่จะลืมไม่ได้เลยคือพระคุณของพ่อแม่ที่สอน อบรมลูกมาให้เข้มแข็งและอดทน เคารพในการตัดสินใจของลูก และมั่นใจว่าลูกต้องทำได้  สามีและบุตรที่ให้กำลังใจมาตลอดทำให้สามารถทุ่มเทกับงาน  ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆเหล่านั้นมาได้โดยไม่มีความกังวล จนประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน

 

บันทึกเรื่องราวโดย พรศิริ เรือนสว่าง

หมายเหตุ

1) สถาบันบำราศนราดูรเป็น รพ. 1 ใน 15 แห่ง ที่ได้รับ Humanized Healthcare Award  ประเภทองค์กร จาก พรพ. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 ในการประชุม 9th HA National Forum

2) คุณพรศิริ เรือนสว่าง ได้รับรางวัล อาจารย์อารี-สมสวาท ซึ่งเป็นรางวัล Humanized Healthcare ประเภทบุคคล

 

หมายเลขบันทึก: 171673เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2008 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอแสดงความยินดีกับรางวัลที่ได้รับค่ะ และขอเป็นกำลังใจในการดูแลผู้ป่วยเอดส์ต่อไปค่ะ ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ดูแลผู้ป่วยเอดส์อยู่

จะขอกล่าวสดุดีพรศิริ ผู้ตรองตริการพยาบาลด้านโรคเอดส์

จบพยาบาลทหารเรือของประเทศ แล้วข้ามเขตสู่นิด้ามาจบโท

ปี 2529 เฝ้าผู้ป่วย เข้ามาด้วยโรคร้ายหนักอักโข

สู่บำราศนราดูด้วยร่างโซ ทุกคนโห่ขับไล่ให้เดียวดาย

ด้วยเมตตาวิชาชีพพร้อมมุ่งมั่น เธอบากบั่นช่วยดูแลไม่ห่างหาย

แม้คนไข้เป็นนักโทษจิตผ่อนคลาย โรคทางกายบรรเทาเบาสมใจ

กาลต่อมาต้องเปิดศึกรับศึกหนัก เธอชวนชักรุ่นน้องร่วมจุดหมาย

อาสาเป็นทีมงานด้วยมากมาย ถูกผู้ป่วยทำร้ายในบางครา

ทีมงานนั้นต้องพบอุปสรรค เมื่อลูกรักไปโรงเรียนถูกกังขา

กลัวโรคเอดส์ติดตัวกระจายมา อาจพกพากลับสู่เคหาตน

อนิจจาครูหญ่เขาไล่ออก จะไปบอกกับใครเขาไม่สน

พรศิริเสริมพลังใจทุกคน จงอดทนเธอคงได้กุศลแรง

ครั้นผู้ป่วยทุเลาเขาขอโทษ ที่เขลาโฉดโหดร้ายช่ใจแข็ง

ผมทำไปเพราะฤทธิ์ยาอย่าคลางแคลง ขอแสดงกตัญญูรู้บุญคุณ

ขอสรรเสริญพรศิริ ณ วันนี้ คุณความดี จงอยู่ไปไม่ดับสูญ

จงเจริญก้าวหน้าเพิ่มพาพูน เจิดจำรูญจรัสแสงนิรันดร์เอย

ประพันธ์และอ่านคำสดุดี

โดย พญ.อารยา ทองผิว พี่สาวผู้น่ารักสำหรับชาว HA

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

ป.ล. ขอแก้ไข Access to Care ย่อเป็น ATC ครับ (เนื่องจากตอนนั้นผมเป็นคนเริ่มเองครับ)

ขอบคุณครับ ได้แก้ไขแล้วครับ

ขอยกย่องคุณพรศิริ ด้วยคนครับ ขอให้มีความเจริญก้าหน้าในอาชีพการงาน มีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นนะครับ

สิ่งสำคัญกับผป.โรคนี้คือ กำลังใจ และกรพูดคุยให้ผป.ยอมรับตนเองไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์มากไปกว่าเดิม และไม่กล่าวโทษความผิดกับจัวเอง เพื่อที่จะได้ต่อสู้กับโรคและยาจำนวนมากที่เขาต้องทาน สิ่งสำคัญที่จนท.จะช่วยได้คือการทำความเข้าใจกับครอบครัวเพื่อให้เขาไม่โดนทอดทิ้งและกลับไปสู่สังคมและมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท