BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ว่าด้วย... ดิลักขณาทิคาถา ๘


ติลักขณาทิคาถา

สามคาถามแรกว่าด้วยการเห็นไตรลักษณ์ ซึ่งผู้เขียนได้เล่าไปตามลำดับ จะว่าด้วยคาถาที่ ๔ เป็นต้นต่อไป....

 

  • อัปปะกา เต มนุสเสสุ           เย ชะนา ปาระคามิโน
  • อะถา ยัง อิตะรา ปะชา        ตีระเมวานุธาวะติ
  • บรรดามนุษย์ทั้งหมาย ชนเหล่าใดที่เป็นผู้ถึงฝั่ง ชนเหล่านั้นมีน้อย
  • เมื่อเป็นอย่างนั้น หมู่สัตว์นอกนี้ ย่อมแล่นไปตามริมฝั่งนั่นแล

 

นี้ คือ คาถาที่ ๔ ในติลักขณาทิคาถา ซึ่งเป็นการแสดงโดยใช้สำนวนเปรียบเทียบ... อธิบายโดยย่อว่า คำสอนทางพระพุทธศาสนาเปรียบโลกนี้เป็นสองฝ่าย กล่าวคือ โลกของปุถุชนคนธรรมดา ที่ยังคงเวียนว่ายตายเกิด สุขบ้างทุกข์บ้าง ตามแต่สิ่งทั้งหลายจะเข้ามาเกื้อหนุนหรือบั่นทอน ... การดำเนินชีวิตของคนในโลกนี้ก็เพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา และแสวงหาสิ่งที่พึงปรารถนา... แต่พวกเขา (หรือพวกเราก็ตาม) ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่พึงปรารถนาและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาว่า สิ่งใดคือสิ่งใดกันแน่ จึงต้องแสวงหาค้นคว้ากันไปเรื่อยๆ...

สภาพที่คนเราแสวงหาค้นคว้ากันไปเรื่อยๆ ทำนองนี้ ดูประหนึ่งว่าต้องการจะข้ามไปสู่อีกโลกหนึ่งซึ่งมีแต่สิ่งที่พึงปรารถนาเท่านั้น... หรืออีกนัยหนึ่ง การที่คนเราแสวงหาไปเรื่อยๆ  ทำนองนี้ ทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่าย ระอา...  ต้องการที่จะพ้นไปจากสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ทำนองนี้  ซึ่งก็ต้องแสวงหาเช่นเดียวกันเพื่อให้พ้นสภาพทำนองนี้...

สาเหตุหลักที่เรายังไม่พ้นไปจากสภาพทำนองนี้ ก็เพราะว่า เรายังไม่รู้ ไม่เข้าใจทะลุปรุโปร่งถึงความจริงแท้ กล่าวคือ ยังไม่เห็นความจริงตามที่เป็นจริงด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า ปัญญา นั่นแล...

ดังนั้น เราสามารถจะพ้นไปจากสภาพทำนองนี้ได้ก็ด้วยปัญญา นั่นคือ ต้องเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา (นี้คือ สามบาทแรกในสามคาถาเบื้องต้นที่ได้เล่ามา...)

และ เมื่อเราเห็นด้วยปัญญาตามนัยดังกล่าวแล้ว เราก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายในการแสวงหาสิ่งต่างๆ บรรดามีอย่างไม่รู้จักจบสิ้น... ซึ่งความเบื่อหน่ายในการแสวงหาทำนองนี้เอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในบาทหลังของสามคาถาเบื้องต้นว่า เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นหนทางแห่งความหมดจด

เมื่อมาถึงคาถาที่ ๔ นี้ พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า คนน้อยนักที่สามารถจะมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง ตามที่เรียกกันว่า เห็นด้วยปัญญา ...  เพราะโดยมาก ยังคงกระเสือกกระสน แสวงหา ค้นคว้ากันไป  คล้ายๆ กับกลุ่มคนที่เที่ยวแล่นไปตามชายฝั่งเพื่อจะข้ามไปฝั่งโน้น แต่ไม่สามารถจะข้ามไปได้...

.........

เมื่อมาถึงคาถาที่ ๕ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า...

  • เย จ โข สัมมะทักขาเต      ธัมเม ธัมมานุวัตติโต
  • เต ชะนา ปาระเมสสันติ      มัจจุเธยยัง สุทุตตะรัง
  • ก็ ชนเหล่าใดแล ย่อมเป็นไปตามธรรม ในธรรม อันพระองค์ตรัสไว้แล้วโดยชอบ
  • ชนเหล่านั้น จักถึง ซึ่งฝั่ง ที่ข้ามได้ยากยิ่งนัก ที่ล่วงเลยบ่วงมารไปได้

 

คำว่า บ่วงมาร ก็คือ วัตถุกาม (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) และ กิเลสกาม (ความรักใคร่ ความยินดี ความพยาบาท ความขึ้งเครียด...) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เปรียบเทียบได้ดัง บ่วงของพญามารที่ผูกเราไว้มิให้ข้ามไปสู่ฝั่งโน้นได้... แต่ถ้าเราปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วโดยชอบ เราก็จะหลุดพ้นจากบ่วงเหล่านี้ แล้วก็ข้ามไปสู่ฝั่งโน้นได้...  และแม้สามารถจะทำคือข้ามไปได้ ก็มิใช่ทำได้ง่ายๆ กล่าวคือ  ทำหรือข้ามไปได้ยากยิ่งนัก...  ทำนองนี้

อนึ่ง คำว่า ฝั่งนี้ ก็คือโลกแห่งปุถุชนคนธรรมดา่ที่เรียกกันว่า โลกิยะ ... ส่วน ฝั่งโน้น ก็คือโลกแห่งอริยชนคนเจริญแล้วที่เรียกกันว่า โลกุตตระ... และเมื่อถือเอาความหมายสูงสุด ฝั่งโน้น ก็คือ พระนิพพาน อันเป็นจุดหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนานั่นเอง

..............

  • จะประพฤติเป็นไปตามธรรมในธรรมที่พระบรมศาสดาจารย์ตรัสไว้ชอบแล้วอย่างไร ?

นั่นคือ เนื้อหาที่เหลือทั้งหมดในติลักขณาทิคาถา  ซึ่งผู้เขียนค่อยๆ นำมาขยายความในตอนต่อๆ ไป....


หมายเลขบันทึก: 171546เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2008 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการพระอาจารย์

มาลงชื่อเข้าเรียนวิชาธรรมศึกษาครับ

นมัสการพระอาจารย์

ผมเคยอยู่แต่ในวัตถุกาม (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) และ กิเลสกาม พอจะขยับเข้าสู่แดนโลกุตตระกับเขาบ้าง มันรู้สึกไม่คุ้นชินยังกล้าๆกลัวๆตัดสินใจไม่เด็ดขาดสักที หรือเป็นเพราะยังขาดความรู้ที่ถูกต้องอยู่ครับ

P

ปู่หลง

 

  • ไม่แน่ใจเหมือนกัน ?

ความสงสัยทำนองนี้เช่น สงสัยในอดีต สงสัยในอนาคต สงสัยในปัจจุบัน ฯลฯ สำหรับปุถุชนก็เป็นเรื่องธรรมดา  ซึ่งศัพท์ธรรมเรียกว่า อวิชชา

ผู้ที่เริ่มสงสัยกล้าๆ กลัวๆ แสดงว่าเริ่มมีแสงแห่งปัญญาเกิดขึ้น.... ส่วนผู้ที่ไม่สงสัยเลย มีอยู่ ๒ กลุ่ม กล่าวคือ

  • ผู้ที่หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ปราศจากความสงสัย
  • ผู้ที่ยังมืดสนิท เพราะไม่มีแสงแห่งปัญญาเข้ามากระทบจิตเลย

 

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

  • เข้ามาเรียนธรรมอีกแล้วครับ
  • เจ้าลูกชายโทนของกระผม ตอนนี้เขาอายุ 8 ขวบแล้วครับ อยากเรียนถามท่านว่า เขาพอจะบวชเรียนภาคฤดูร้อนได้หรือยังครับ จะเด็กเกินไปหรือไม่ ถ้ายังบวชไม่ได้อายุประมาณเท่าใดจึงจะเหมาะครับ ?

กราบ 3 ครั้ง

P

นิโรธ

 

ตามพระวินัย ถ้าหยิบก้อนหินขว้างไล่กาให้หนีไปได้ ก็ถือว่าบวชได้ ซึ่งก็ประมาณ ๗-๘ ขวบ นี้แหละ... และอาตมาก็เคยเห็นเด็กวัยนี้บวชเณร...

แต่ถ้าให้เหมาะสมก็ควรจะให้โตอีกสักหน่อย... ๑๐ ขวบขึ้นไป น่าจะเหมาะสม เพราะเด็กเกินไป ยังไม่ประสีประสานัก บวชไปแล้วก็กลายเป็นภาระต่อพี่เณร (หรือหลวงพี่ หลวงอา) ต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ...

ลองปรึกษากับวัดที่จัดบวชเณรฯ ดู เอาเด็กไปให้พวกเค้าดูตัวด้วย แล้วก็ฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่ก่อนพิจารณาอีกครั้ง...

เจริญพร

กราบนมัสการพระอาจารย์

  • เป็นบุญเหลือเกินที่ท่านแวะไปทักทายใน เราจะสอน "ไตรลักษณ์" อย่างไร ?
  • มีโอกาสเมื่อไหร่ กระผมก็แวะเข้ามาศึกษาธรรมะที่ท่านโปรดเอาไว้ใน G2K แห่งนี้เรื่อยมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้วครับ
  • กราบขอบพระคุณครับ

(กราบ 3 ครั้ง)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท