Nan & Ball Chongbunwatana
นายและนาง คมกฤชและประณยา จองบุญวัฒนา

19: พี่บัง...ก็รัก (ษ์) โลก ค่ะ


ผู้ที่ต้องทำการค้ากับสหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ก็คงจะทราบดีว่า มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี (หรือ Non Tariff Barrier) นั้น เข้มงวด เคร่งครัด มากมาย ขนาดไหน แนวโน้มที่ประเทศพัฒนาแล้วจะยกมาตรการด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการความปลอดภัยด้านอาหารและสุขภาพ มาตรการด้านสังคม เช่น CSR หรือ SRI และมาตรฐานด้านวิชาชีพ มาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า (ในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรม หรือ ภาคธุรกิจ การค้า รวมทั้งภาคบริการ ในประเทศของตนก็คงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ วัน

บันทึกเรื่องนี้ ที่จริงเป็นบันทึกแรกๆ ที่ตั้งใจว่าจะเขียน เพราะรู้สึกประทับใจ ตั้งแต่มาถึงที่บังกลาเทศช่วงสองสามวันแรกแล้วว่า ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็น ประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด ( แณณไม่ชอบคำว่า  ด้อยพัฒนา เลยค่ะ เป็นคำที่ฟังแล้วมีความรู้สึก Negative หรือในทางลบ อย่างไรก็ไม่ทราบนะคะ เป็นความรู้สึกส่วนตัวค่ะ ตรงกันข้ามค่ะ คำว่า พี่บัง..มีพี่ที่รักและเคารพกันท่านหนึ่งแนะนำด้วยเมตตาจิตว่าต้องระวังเพราะอาจจะดูเหมือนไม่ให้เกียรติเค้า แต่แณณ ผู้พูดและเขียน ใช้คำนี้ด้วยความรู้สึกที่ดี ที่ให้เกียรติเค้าค่ะ ถึงยกให้เค้าเป็นพี่ไงคะ แณณก็เลยไม่ได้เปลี่ยนยังคงเรียกพี่บังฯ ต่อไปค่ะ เพราะเชื่อว่าคำพูดหนึ่งคำ คนสามารถตีความไปได้หลายแง่ แต่หากผู้เขียนได้เขียนด้วยความรู้สึกที่ดีจริงๆ ผู้อ่านหรือฟังก็คงจะสัมผัสได้นะคะ )

เล่าถึงความประทับใจต่อค่ะ แณณประทับใจว่า ประเทศที่ได้ชื่อว่า มีการพัฒนาน้อยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ตระหนักถึงความสำคัญ จำเป็น เร่งด่วน ของปัญหาสภาวะโลกร้อน ได้มีนโยบายเพื่ออนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม และเป็นมาตรการสำคัญหนึ่ง ที่จะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ รัฐบาลบังกลาเทศจึงประกาศให้ร้านค้า ตั้งแต่ร้านหาบเร่ แผงลอย ตามข้างถนน จนกระทั่ง ห้างใหญ่ๆ ดังๆ เลิกใช้ถุงที่ผลิตจากพลาสติกใส่ของให้ลูกค้าที่มาซื้อหา จับจ่าย ของกิน ของใช้ แต่เค้าจะใช้  ถุงที่ผลิตจากวัสดุและใยธรรมชาติแทนค่ะ ที่สำคัญคือเป็นแบบนี้ทุกร้านค่ะ ทุกสาขาธุรกิจ จะไม่มีการใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้าเลยค่ะ

                                

ไม่น่าเชื่อนะคะ ว่าประเทศนี้ประสบความสำเร็จมากๆ ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว อย่างนี้พี่ไทยเราต้องสู้สู้แล้วค่ะ พี่บังฯ ยังทำได้เลย แล้วทำไม พี่ไทยเรา ซึ่งเป็นที่ชื่นชมในสายตาคนบังกลาเทศอยู่แล้วว่าประเทศของเราเป็นประเทศที่ดี น่าอยู่ เป็นประเทศที่อยู่ในความสนใจและความนิยมของคนบังกลาเทศมาก จะทำไม่ได้หล่ะคะ ของไทยเราเองที่จริงตามห้างร้านต่างๆ ปัจจุบันก็มีโครงการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก แต่ตามเคาน์เตอร์และร้านค้าทั่วไปก็ยังใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้าอยู่ดีนะคะ แต่ที่บังกลาเทศนี่นะคะ  ไม่มีเลยค่ะ ใครมีโอกาสมาก็ลองมาพิสูจน์ดูก็ได้ค่ะ ขนาดปลาสดๆ เค้ายังไม่ใส่ถุงพลาสติกให้เลยค่ะ แต่จะใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาลบางๆ ให้ ดูเปียกๆ แฉะๆ อย่างไรไม่ทราบ แต่ก็เอาหน่ะ เข้าใจในเจตนาที่ดีของเค้า รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม  ดีค่ะ

ช่วงที่เรามาถึงแรกๆ เราออกไปหาซื้อตะกร้า ถังผง ถังขยะ ที่ทำจากพลาสติก ปรากฎว่าราคาแพงมาก ตะกร้าถังขยะ ที่เคยซื้อตามตลาดนัดบ้านเรา ราคาคงแค่ 10-20 บาท หรืออย่างแพงก็คงไม่เกิน  50 บาทนั้น มาที่นี่ ราคาสูงถึงเกือบ 150 บาทเลยทีเดียวค่ะ สามีแณณมีโอกาสสนทนากับนักธุรกิจชาวไทยท่านหนึ่งที่มาลงทุนทำธุรกิจผลิต ผลิตภัณฑ์จำพวกพลาสติกที่บังกลาเทศเป็นเวลานานแล้ว เราแปลกใจว่า ธุรกิจประเภทนี้จะยังอยู่ได้หรือไม่เพราะสวนกระแสกับนโยบายรัฐบาลในปัจจุบันที่รณรงค์ให้เลิกใช้ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก

 นักธุรกิจท่านนี้บอกว่า ช่วงที่นโยบายออกมาใหม่ๆ นั้น ยอมรับว่าภาคธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล บางราย ถึงกับต้องม้วนเสื่อกลับบ้านกันไปเลยทีเดียว แต่สำหรับนักธุรกิจท่านนี้แล้วนั้น อาจจะเป็นเพราะได้หุ้นส่วนชาวบังกลาเทศที่ดี ธุรกิจของท่านนี้ ก็สามารถยืนหยัด สวนกระแสนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลบังกลาเทศมาได้ (ท่านแอบเล่าให้เราฟังว่าเพราะรู้จักและไว้ใจกันมานาน ตั้งแต่ทำธุรกิจกับคนบังกลาเทศคนนี้ ไม่เคยประสบปัญหา การโกง เกิดขึ้นเลย แถมยังแอบพูดติดตลกว่า หากจะว่าไป ที่เคยโดนโกงจริงๆ ก็คนไทยกันเองนี่แหละ ไม่ใช่คนบังกลาเทศหรอก ...อ้าว ไหงงั้นหล่ะคะเนี่ย....) และส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการปรับตัว และหาตลาดใหม่ได้ทัน จากที่เคยเป็นฐานการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศส่วนหนึ่งและส่งออกไปยังต่างประเทศอีกส่วนหนึ่ง ก็เปลี่ยนมาเป็น ส่งออกไปต่างประเทศ ในแถบสหภาพยุโรป 100 % ต้องถือว่าเป็นความโชคดีด้วยนะคะ เพราะการจะหาตลาดใหม่ในยุโรปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สหภาพยุโรป มีกฎ ระเบียบด้านการค้า ที่เข้มงวด เคร่งครัด มากมาย ซึ่งแม้ในปัจจุบัน ในกรอบองค์การการค้าโลกและกรอบความร่วมมือต่างๆ จะกำหนดพันธกรณีให้แต่ละประเทศภาคี สมาชิก ลดอุปสรรคทางการค้าที่อยู่ในรูปของมาตรการด้านภาษี ให้เหลือน้อยลงไปทุกวันจนกระทั่งเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ มาตราการกีดกันทางการค้าอื่นๆ เช่น โควต้า  ฯลฯ ก็ต้องใช้น้อยที่สุดและเป็นกรณีๆ ไปเท่านั้น

แต่ปัจจุบัน ผู้ที่ต้องทำการค้ากับสหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ก็คงจะทราบดีว่า มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี (หรือ Non Tariff Barrier)  นั้น เข้มงวด เคร่งครัด มากมาย ขนาดไหน แนวโน้มที่ประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นตลาดสำคัญ ใหญ่ๆ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จะยกมาตรการด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการความปลอดภัยด้านอาหารและสุขภาพ มาตรการด้านสังคม เช่น CSR (Corporate Social Responsibility แปลเป็นไทยได้ว่า ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อภาคสังคม) หรือ SRI (Socially Responsible Investment  หรือ Sustainable and Responsible Investment  แปลเป็นไทยได้ว่า การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ การลงทุนที่รับผิดชอบและยั่งยืน ) และมาตรฐานด้านวิชาชีพ มาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า (ในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรม หรือ ภาคธุรกิจ การค้า รวมทั้งภาคบริการ ในประเทศของตนก็คงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ วัน เพราะหากไม่มีกำแพงภาษีมาป้องกันการไหลเข้า การไหลเวียน ของสินค้าและบริการจากทั่วทุกมุมโลกแล้ว มาตรการดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะเป็นกำแพงชั้นดี ที่จะคอยป้องกัน แทนค่ะ 

 ประณยา จองบุญวัฒนา

18 มีนาคม 2551

แก้ไขขนาดของรูปให้เล็กลงเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2551   

หมายเลขบันทึก: 171517เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2008 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้ามารอบสองค่ะ

อยากบอกว่าต้องชื่นชมเขานะคะที่เอาจริง

บ้านเราหากจะช่วยกันให้มากขึ้นก็ทำได้สบายๆ วัตถุดิบมากมาย และพี่ว่าดูดีด้วยที่ใช้ถุงจากธรรมชาติใส่ของให้ผู้บริโภค ทำให้ของดูมีค่าขึ้น

P    ขอบคุณค่ะพี่นุชที่กรุณาแวะมาสองรอบ

  • หากพี่นุชซึ่งแณณนับถือว่าเป็นผู้มีรสนิยมดี แนะนำอย่างนี้ คนน่าจะทำตามกันนะคะ
  • น่าจะให้คนที่มีอิทธิพลทางสื่อ โฆษณาแนะนำถุงผ้าแบบนี้ให้คนใช้กัน เป็นแฟชั่น
  • สร้างกระแสให้แรงๆ จนประเทศเราเลิกใช้ถุงพลาสติกไปเลยก็เข้าทีดีนะคะพี่นุช 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท