BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

บรรณ, บรรณานุกรม, บรรณารักษ์, บรรณาธิการ,


บรรณ

บรรณ เขียนล้อสันสกฤต ถ้าเขียนบาลีแท้ก็จะเป็น ปณฺณํ (ปัณณะ)...  สำหรับนักเรียนไวยากรณ์  พอเรียนไปไม่นานก็เจอศัพท์นี้ให้ท่องแล้วว่า ปัณณะ  ใบไม้, หนังสือ   นั่นคือคำว่า ปัณณะ หรือ บรรณ แปลว่า ใบไม้  หรือแปลว่า หนังสือ ก็ได้...

คำว่า ปัณณะ หรือ บรรณ ตามความหมายเดิมที่แปลว่า ใบไม้ นี้ ท่านก็ตั้งวิเคราะห์ไว้หลายนัย แต่นัยที่ผู้เขียนชอบใจก็คือ...

  • อจิเรน ปตตีติ ปณฺณํ
  • อันว่าธรรมชาติใด ย่อมตกไป โดยกาลไม่นาน ดังนั้น อันว่าธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ปัณณะ (สิ่งตกไปโดยไม่นาน)

ขยายความว่า ใบไม้ เมื่อเกิดมาแล้วไม่นานก็ย่อมตกไป คือย่อมร่วงหล่นไป...  ต่อมาคำว่า บรรณ (ปัณณะ) ก็มีความหมายงอกขึ้นจากเดิม กล่าวคือ มิได้หมายถึงใบไม้เท่านั้น แต่หมายถึง หนังสือ ด้วย...

เดาเอาว่า... เพราะข้อความในชมพูทวีปยุคโน้นนิยมเขียนใส่ใบไม้ และข้อความที่เขียนใส่ใบไม้นี้แหละ เรียกว่า หนังสือ ... ดังนั้น บรรณ จึงแปลว่า หนังสือ ได้อีกความหมายหนึ่ง

อนึ่ง จากความหมายว่า ใบไม้ งอกไปเป็นความหมายว่า หนังสือ นี้ ... ผู้เขียนคิดว่าทำนองเดียวกับคำว่า papyrus ตามภาษาชาวอียิปต์ซึ่งหมายถึง เปลือกไม้ ... ต่อมาเปลือกไม้ชนิดนี้ใช้เขียนข้อความลงไป และเรียกเพี้ยนไปว่า paper ในภาษาอังกฤษนั่นเอง... ซึ่ง paper ในภาษาไทยก็คือ กระดาษ นั้นเอง...

เมื่อเปรียบเทียบทำนองนี้ จะเห็นได้ว่า จาก ใบไม้ มาเป็น หนังสือ และ จาก เปลือกไม้ มาเป็น กระดาษ โดยทำนองความเป็นมาก็ไม่ต่างกันนัก...

.............

บรรณ (ปัณณะ) ซึ่งแปลว่า หนังสือ นั้น เมื่อโอนสัญชาติมาเป็นภาษาไทย ก็มักจะเข้าสมาสและสนธิ เพื่อสร้างเป็นศัพท์ใช้ในความหมายเฉพาะอีกหลายศัพท์ เช่น

บรรณานุกรม หมายถึง ลำดับของชื่อหนังสือที่ใช้อ้างอิงในการเขียนหนังสือเล่มนั้น ซึ่งเท่าที่เจอ หน้าบรรณานุกรมนี้ จะปรากฎอยู่ถัดไปจากเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นๆ เสมอ (ถ้ามี ! เพราะหลังสือบางเล่มก็ไม่มี)

  • บรรณ + อนุกรม = บรรณานุกรม (ลำดับแห่งหนังสือ)

........

  • บรรณ +อารักษ์ = บรรณารักษ์ (รักษาทั่วถึงซึ่งหนังสือ)

บรรณารักษ์ ถ้าเพ่งถึงบุคลก็อาจแปลได้ว่า ผู้ดูแลรักษาหนังสือ ก็คือเจ้าหน้าที่ห้องสมุดนั่นเอง... แต่ถ้าเพ่งถึงศาสตร์แขงหนึ่ง (บรรณารักษ์ศาสตร์) ก็อาจหมายถึง วิชาว่าด้วยการดูแลรักษาหนังสือ

ประโยคแทรกสักนิด... ผู้เขียนเคยเรียนวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์เบื้องต้นนิดหน่อย ชอบใจปรัชญาห้าประการของบรรณารักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนมักจะเอามาขัดคอเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเสมอ เมื่อไม่ได้ดังใจ... เช่น

  • หนังสือเพื่อคุณ (ฺBooks are for you)
  • คุณคือหนังสือ (You are books)

จำได้ว่าตอนแรกเรียนท่องได้ครบ แต่ตอนนี้เหลือสองข้อเท่านั้น... ลองค้นหาในอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่เจอ แม้บรรณารักษ์หรือท่านใดจำได้ครบถ้วน ช่วยบอกกล่าวด้วย...

...........

 

  • บรรณ + อธิการ = บรรณาธิการ (ครอบงำหนังสือ)

คำว่า บรรณาธิการ นี้ก็เช่นเดียวกับคำว่าบรรณารักษ์ กล่าวคือ บางครั้งก็หมายถึงบทนำเรื่องของหนังสือพิมพ์ที่เรียกกันว่า บทบรรณาธิการ ... แต่บางครั้งก็อาจเพ่งเฉพาะถึงตำแหน่งที่รับผิดชอบดูแลหนังสือพิมพ์ฉบันนั้นโดยเฉพาะก็เรียกกันว่า บรรณาธิการ (หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ก็อาจแยกย่อยเป็นบรรณาธิการฝ่ายบริหาร บรรณาธิการทั่วไป หรือผู้ช่วยบรรณาธิการ เป็นต้น)

อธิบายเพิ่มอีกนิด... คำว่า อธิการ นั้น ตามศัพท์แปลว่า กระทำยิ่ง. กระทำใหญ่. กระทำทับ. (อธิ+การ) ซึ่งผู้เขียนคิดว่าแปลหักข้อความตามสำนวนไทยว่า ครอบงำ น่าจะตรงที่สุด...

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ บทบรรณาธิการ ก็คือบทที่ครอบงำหนังสือพิมพ์เล่มนั้นไว้ทั้งหมด... ส่วน ตำแหน่ง บรรณาธิการ ก็คือตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจตรารับผิดชอบเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้น ดังที่ทราบกันอยู่ว่า ถ้าหนังสือพิมพ์ถูกฟ้องก็มักจะฟ้องบรรณาธิการด้วย ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง...

............

ผู้เขียนได้นำศัพท์ว่า บรรณ มาเล่าพร้อมยกตัวอย่างศัพท์อื่นที่มีคำนี้ผสมอยู่ด้วยอีกเล็กน้อย... แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า บรรณ นี้ ยังมีใช้อยู่ในภาษาไทยอื่นๆ อีกหลายศัพท์ เช่น เวชบรรณ บรรณรุจิ บรรณกร บรรณาการ ฯลฯ

อนึ่ง เดียวนี้มีหนังสือในอินเทอร์เน็ตมากมายและหลากหลายประเภท... ในภาษาอังกฤษคำว่า E' book รู้สึกว่าจะครอบคลุมถึงหนังสือประเภทนี้ด้วย... ส่วนในภาษาไทย ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นใครบัญญัติศัพท์แปลกใหม่มาใช้... ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะใช้ศัพท์ว่า อินเทอร์บรรณ

  • อินเทอร์เน็ต + บรรณ = อินเทอร์บรรณ

อินเทอร์บรรณ คือ หนังสือที่มีปรากฎอยู่ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าไปอ่าน เขียน หรือแก้ไขได้ตามระเบียบ...

ก็ขอฝากศัพท์นี้ไว้ด้วย (เผื่อใครสนใจ)

  • อินเทอร์บรรณ
  • อินเทอร์บรรณ
  • อินเทอร์บรรณ
  • และ อินเทอร์บรรณ

 

หมายเลขบันทึก: 170793เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2008 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

นมัสการครับ

  • จากการอ่านเนื้อความนี้มีคำว่า papyrus และ paper ดูจะใกล้เคียงกันอยู่นะครับกับ "ปัณณะ" คำว่า ปัณณะ ตอนเรียนบาลีไวยากรณ์ อาจารย์ไม่ได้อ่านว่า "นะ" รู้สึกจะออกว่า "เนอะ"
  • คำว่า อินเทอร์บรรณ เมื่อพิจารณาศัพท์ว่า inter น่าจะกว้างกว่า Ebook กระมังครับ

นมัสการขอบคุณครับ

  • นมัสการพระคุณเจ้าครับ
  • นอกจากคำว่า บรรณ แล้วยังมีอีกศัพท์ที่น่าสนใจนะครับ คือคำว่า อักขระ
  • อักษร หรือ อกฺษร/อกฺขร ประกอบขึ้นจากศัพท์ อ+ขร สังโยคเป็น อกฺขร แปลว่า "ไม่หมดไม่สิ้น" อธิบายว่า จะใช้คำประสมเท่าไรก็ไม่รู้จักหมดไม่รู้จักสิ้น (นกฺขรนฺติ นกฺขียนฺตีติ อกฺขรานิ)

ไม่มีรูป

นม.

 

คำว่า papyrus และ paper ดูจะใกล้เคียงกันอยู่นะครับกับ "ปัณณะ" ... เห็นด้วยว่าใกล้เคียงกัน แต่ก็อาจเป็นความบังเอิญก็ได้...

ส่วนการออกเสียงสระอะ เป็น เนอะ นี้ คงเป็นกุศโลบายอาจารย์ท่านนั้น ซึ่งก็เคยเจอเหมือนกัน...

และตอนเรียนสันสกฤต อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า คมฺฺ (มีจุดใต้ ม.ม้า มองไม่ค่อยเห็น) ต้องออกเสียงว่า คะมึ ... ถ้าเป็น คม  (ไม่มีจุดใต้ ม.ม้า) ก็ให้ออกเสียกว่า คะมะ ...

ตอนสอนบาลีจะเล่าประเด็นเหล่านี้ให้นักเรียนฟังด้วย... แต่ให้ความเห็นส่วนตัวว่า...

มติการออกเสียงทำนองนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของท่านเหล่านั้น... แต่พวกเราเรียนเพื่อแปลเท่านั้น ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้ รับฟังไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องถือเป็นสาระมากนัก...

เจริญพร

P

กวินทรากร

 

เคยเล่าไว้บ้างแล้ว ดูที่...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

  • ตามประสาคนข้างชั้นหนังสือค่ะ
  • แวะไปเติมเต็มที่ชั้น 020.8 ส444ร  พบ "รวมบทความบรรณารักษศาสตร์" ของ สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ปี พ.ศ. 2520 มาค่ะ
  • ได้คำตอบที่ท่านเปิดประเด็น

ดร. เอส. อาร์. รังกะนาธาน (S.R. Ranganathan)

เป็น"บิดาแห่งบรรณารักษศาสตร์อินเดีย"

หนังสือเรื่อง Five Law of Library Science (1931) แสดงปรัชญาทางบรรณารักษศาสตร์อันมีชื่อเสียง 5 ประการของรังกะนาธาน คือ

  • หนังสือมีไว้ใช้ประโยชน์ (Books are for use)
  • ผู้อ่านแต่ละคนมีหนังสือที่ตนอ่าน (Every reader his book)
  • หนังสือทุกเล่มมีผู้อ่าน (Every book its reader)
  • ประหยัดเวลาของผู้อ่าน  (Save the time of the reader)
  • ห้องสมุดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโตได้  (Library is growing organism)

 หนังสือมีอายุนานมากแล้ว แต่พลิกดูประวัติการใช้งาน มีผู้ใช้ยืมเป็นประจำ หลังสุดคืนมาเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ค่ะ อุ่นใจได้ว่า หนังสือทุกเล่มมีผู้อ่านค่ะ

(โชคดีช่วงนี้ปิดเทอม หนังสือยังอยู่ล้นชั้นหนังสือ หาเล่มไหนก็เจอค่ะ)

 

ในความคิดเห็น

  • ปรัชญานี้ใช้ได้ในยุคสมัยนี้อยู่  แปลว่าเอาไปใช้ขัดคอเจ้าหน้าที่ฯ ก็ยังได้อยู่ใช่มั้ยคะท่าน
  • เป็นเพียงคนข้างชั้นหนังสือ แต่ได้ข้อมูลมาเพราะพี่บรรณารักษ์ ฉายา Encyclopedia เดินได้ค่ะ

P

ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

 

  • ขออนุโมทนา (อย่างยิ่ง) ที่เอามาฝาก

จำได้เลาๆ ว่าเป็นปราชญ์อินเดีย (แต่ไม่แน่ใจ) ลองค้นหาแล้วก็ไม่เจอ... จึงลองฝากไว้เล่นๆ เพราะเห็นว่ามีบรรณารักษ์หลายท่านในที่นี้..

  • หนังสือเพื่อคุณ น่าจะตรงกับคำว่า หนังสือมีไว้ใช้ประโยชน์ (Books are for use)

อาจารย์ท่านขยายความว่า บรรณารักษ์จะต้องจัดเตรียมบรรดาหนังสือที่มีอยู่ไว้บริการต่อผู้ที่เข้ามาใช้ ทำนองว่า หนังสือเพื่อคุณ

 

  • คุณคือหนังสือ น่าจะตรงกับคำว่า ผู้อ่านแต่ละคนมีหนังสือที่ตนอ่าน (Every reader his book)

อาจารย์ท่านขยายความว่า บรรณารักษ์พอเห็นใครเข้ามาห้องสมุดก็ให้ระลึกว่า เค้ามาหาหนังสือ ทำนองว่า คุณคือหนังสือ

...........

คุณโยม ดาวลูกไก่ คงจะเห็นด้วยว่า หลักการ ๕ ข้อนี้ยังคงทันสมัยอยู่... เพราะห้องสมุดเมืองไทยโดยมาก มักจะไม่ได้มาตรฐาน (ยกเว้นห้องสมุดในสถานศึกษาระดับสูงๆ )... เข้าห้องสมุดใด ไม่ได้ดังใจ ก็มักจะยกสองข้อนี้มาชี้แนะ ทำนองขัดคอบรรณารักษ์เสมอ... (5 5 5)

 

อาจารย์รตน ที่สอนวิชานี้ ท่านเล่าว่า บางประเทศถือว่า อาชีพบรรณารักษ์ คล้ายๆ กับนักบุญ ที่คอยบริการชุมชนให้เกิดความเพลิดเพลิน ส่งเสริมให้คนมีความคิดความอ่านกว้างไกล และมีวิชาความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป... แต่เป็นการทำงานเบื้องหลังความสำเร็จของสิ่งเหล่านี้ คล้ายกับปิดทองหลังพระ...

ดังนั้น อาชีพบรรณารักษ์ในบางประเทศจึงมีเกียรติและได้รับการยกย่องจากสังคมอย่างสูง... แต่ (ท่านว่า) เมืองไทย ถือว่าอาชีพนี้ เป็นเพียงคนเฝ้าห้องสมุดหรือเฝ้าหนังสือ จะเอาใครมาเป็นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจบบรรณารักษ์...

เฉพาะประเด็นนี้ ก็อาจสะท้อนให้เห็นว่า เมืองไทยยังคงไกลอีกมากที่จะพัฒนาการให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตามที่คาดฝันได้ (ทำท่าเครียด 5 5 5... )

เจริญพร

 

นมัสการครับ

ผมแอบแวะมาอ่านบล๊อกท่านเป็นครั้งคราวครับ

ผมยังไม่เวลาเรียนบาลี แต่ว่าสนใจครับ หวังในใจว่า อีกสักห้าหกปีไปแล้วจะมีเวลาบ้างจะไปเรียน ตอนนี้ได้แต่ตุนตำรากับพจนานุกรมไว้บ้างเล็กน้อย

ผมขออนุญาตเสริมคำเพิ่มเติมครับ คือ บรรณาธิกร หมายถีงโปรแกรมประเภท text editor ในคอมพิวเตอร์ครับ เห็นมีคนใช้กัน เพื่อความสมบูรณ์ของกระทู้นี้ครับ

ไม่มีรูป

บุรชัย

 

  • บรรณาธิกร หมายถีงโปรแกรมประเภท text editor ในคอมพิวเตอร์

อนุโมทนา...

เจริญพร

กระผมได้รับความรู้ในหน้าเว็บแห่งนี้ และรู้สึกมีความสุขใจและตื้นตันใจ..

โดยเฉพาะ คำกล่าวสอนของพระอาจารย์ชัยวุฒิ ในหลากหลายข้อคิดครับ..

ดาวเรือง เกี๋ยงซอง

ดีมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท