หมอบ้านนอกไปนอก(57): คุณค่านมแม่


การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยแก้ไขภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง (SIDS: Social Immunodeficiency syndrome) ที่เป็นวิกฤติของสังคมไทยเกิดจากการขาดภูมิคุ้มกันสำคัญในสังคม 3 ชนิดคือความรู้ ความรักและความอดทน

             กลับจากรัสเซียวันรุ่งขึ้นก็มีเรียนต่อเลยเป็นช่วงวิชาเลือกสองเดือนเริ่มต้นในสัปดาห์ที่ 26 เป็นต้นไป จริงๆแล้ววันจันทร์มีปฐมนิเทศร่วมกับกลุ่มผู้ที่เข้าอบรมระยะสั้นนโยบายสุขภาพแต่ผมไม่ได้เข้าร่วม อากาศยังคงหนาวเย็นอยู่ประมาณ 6-7 องศา หนาวน้อยกว่าที่รัสเซีย ตอนไปรัสเซียต้องใส่อุปกรณ์กันหนาวครบครันทั้งหมวกไหมพรม ผ้าพันคอ เสื้อ ที่ครอบหู ถุงเท้าครบครันเพื่อลดการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย จะทำให้ไม่สบายได้ง่าย การปกคลุมร่างกายเพื่อป้องกันความหนาวเย็นนั้นเป็นการเลือกปกป้องในส่วนของร่างกายที่มีเลือดมาเลี้ยงเยอะหรือเป็นเส้นเลือดแดงใหญ่เช่นศีรษะ ลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับขา ข้อเท้า บริเวณเหล่านี้มีเลือดมาเลี้ยงเยอะก็ช่วยระบายความร้อนออกไปจากร่างกายหรือสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายได้ง่าย เวลามีไข้แพทย์จึงแนะนำให้เช็ดตัวลดไข้ที่บริเวณลำคอ รักแร้ จะระบายความร้อนได้เร็ว ไข้ลดลงเร็ว

            นอกจากนี้ส่วนของร่างกายที่มีเส้นเลือดเล็กๆมาเลี้ยง หากถูกอากาศหนาวเย็นมากๆจนเส้นเลือดหดตัวอาจเกิดการขาดเลือดเน่าตายได้ง่ายก็ต้องปกคลุมให้อบอุ่นด้วย บริเวณเหล่านี้หากต้องทำผ่าตัดแพทย์จะไม่ใช้ยาชาชนิดที่มียาหลอดเลือดหดตัว (อะดรีนาลิน) ผสมอยู่เพราะกลัวอวัยวะเหล่านี้ขาดเลือดจากเส้นเลือดหดตัว ผมจำง่ายๆว่ายี่สิบเอ็ดนิ้วสองหูหนึ่งจมูก (นิ้วที่ยี่สิบเอ็ดคืออวัยวะเพศชาย) เมืองไทยเป็นเมืองร้อนจึงไม่ได้ใส่ใจเรื่องเหล่านี้นัก แต่ฝรั่งเขาอยู่เมืองหนาวเขาให้ความสำคัญมากจึงเกิดวัฒนธรรมการใส่หมวก สวมถุงเท้า ผ้าพันคอ รองเท้า สวมกางเกงใน ซึ่งของไทยแต่ก่อนมาจะไม่มี เพิ่งมารับวัฒนธรรมตะวันตกไม่นานมานี้

            อย่างไรก็ตาม การปกป้องให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายจากเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ภายนอกก็ไม่ให้ความอบอุ่นปลอดภัยเท่าการปกป้องดูแลของแม่ในขณะที่ลูกอยู่ในท้อง (มดลูก) แม่ ที่สามารถสื่อสัมผัสกันได้ทางรกและทางจิตใจระหว่างแม่ลูก สานเป็นสายสัมพันธ์แม่ลูก ยิ่งเมื่อคลอดออกมาได้ดื่มนมแม่ด้วยแล้วเกลียวความผูกพันยิ่งกระชับมากขึ้น เด็กหลายคนโชคร้ายได้กินนมแม่แป๊บเดียวด้วยปัจจัยสาเหตุนานัปการ ในขณะที่หลายคนโชคดีที่ได้ดื่มนมแม่นานเพียงพอ แม่บอกว่าผมหย่านมยากมากสองขวบกว่าจะหย่านม ต้องใช้สารพัดวิธีหลอกล่อกว่าจะยอมหย่านมได้ ส่วนลูกๆผมก็ใช้เวลาแตกต่างกันไปน้องแคนขวบครึ่ง น้องขิมขวบสองเดือน น้องขลุ่ยแค่เก้าเดือน แม่และภรรยาผมมีความอุตสาหะในการให้นมลูกมาก

            ภาพเหตุการณ์เยาว์วัยที่ผมยังคงจำได้อย่างแจ่มชัด ยามเย็นพระอาทิตย์ส่องแสงอ่อนโยน ให้แสงสดใสมากกว่าความร้อนระอุ แม่กำลังนั่งขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวอยู่ในครัวของห้างไร่ที่โป่งกว้าว หม้อหุงข้าวที่ตั้งอยู่บนเตาอั้งโล่ใช้ถ่านเริ่มเดือด ชัย (พิชัย บัญญัติ) น้องชายเพิ่งได้เจ็ดแปดเดือนคลานเล่นอยู่บนห้างไม่ห่างจากแม่มากนัก ผมนั่งอยู่นอกชานคอยระวังไม้ให้น้องคลานตกใต้ถุนห้าง ที่สร้างอย่างง่ายๆด้วยพื้นไม้กระดานแผ่นไม่ใหญ่ บางแผ่นเป็นเปลือกไม้ ฝาเป็นฟากไม้ไผ่ มีตับหญ้าคาคลุมกันฝนสาด ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีประตู เปิดโล่งตรงบันไดทางขึ้น หลังคามุงหญ้าคา นอกชานตรงบันไดทางขึ้นมุ่งหญ้าคา เอาไว้นอนเล่นพักผ่อนรับลมเย็นๆช่วงกลางวันและช่วงค่ำ อีกส่วนหนึ่งเป็นนอกชานเปิดโล่งไม่มีหลังคา เอาไว้เป็นที่เก็บถังน้ำและล้างถ้วยชาม ผมนั่งเฝ้าดูน้องไม่ให้คลานตกใต้ถุนห้างด้วยขณะเดียวกันสายตาก็คอยมองไปที่พ่อที่กำลังไถไร่อยู่ด้วยคันไถเทียมวัว มือขวาจับคันไถ มือซ้ายจับเชือกวัว ปากคอยร้องบอกซ้ายขวาให้วัวทำตาม กับสองเท้าเปลือยเปล่าย่ำไปบนรอยไถอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เช่นเดียวกับแม่ที่ตั้งใจปรุงอาหารอย่างดีตามอัตภาพสำหรับพวกเราทุกคนในครอบครัว ตอนนั้นแป๋ว (ชนิดา บัญญัติ) น้องสาวคนสุดท้องยังไม่เกิด น้องสาวเกิดห่างจากผมถึง 15 ปี

            วันอังคารที่ 4 มีนาคม 2551 ผมตื่นเช้าอย่างสดชื่นแม้เมื่อคืนนอนดึก พยายามเข้าอินเตอร์เน็ตที่บ้านพักเพื่ออ่านอีเมล์แต่มีปัญหาเข้าไม่ได้ ตอนเก้าโมงเช้าไปเรียนหนังสือเป็นการแยกกลุ่มแยกห้องกันตามวิชาเลือกที่มี 2 สาขาคือนโยบายสุขภาพและการบริหารระบบสุขภาพเชิงกลยุทธ์ ผมเลือกเรียนนโยบายสุขภาพ ส่วนพี่เกษมเลือกเรียนการบริหารฯ ตอนเช้าเรียนระบบสุขภาพแห่งชาติและกรณีตัวอย่างระบบสุขภาพเบลเยียมที่มีการวิเคราะห์ชัดเจนกว่าเรียนเมื่อสี่ห้าเดือนก่อนเรียนกับอาจารย์ฌอง แวน เดอ แวนเน็ต (Jean Van de Vennet, [email protected] ) และปิแอร์ เดอ ปาแปร์ (Pierre De Paepe, [email protected] ) ซึ่งช่วยกันสอนในเวลาเดียวกัน ผมมักไม่ค่อยเห็นอาจารย์สองคนสอนเรื่องเดียวกันร่วมกันในเวลาเดียวกันในเมืองไทย แต่พบบ่อยๆที่ไอทีเอ็ม แอนท์เวิป

             ช่วงบ่ายไม่มีเรียน ต่อสไกป์กลับบ้านหลังจากที่ไม่ได้คุยกันหลายวันเพราะผมไปเที่ยวรัสเซีย คุยกับภรรยาอยู่นาน ภรรยาให้การ์ดวันเกิด ภรรยาและลูกๆอวยพรวันเกิดให้ แล้วคุยกับน้องแคน น้องแคนร้องไห้อยู่พักหนึ่งบอกว่าคิดถึงพ่อ ลูกคงคิดถึงมากจริงๆเด็กวัย 11 ขวบร้องไห้คิดถึงพ่อนี่คิดว่าหนักหนาจริงๆสำหรับลูก กลับบ้านพักเกือบห้าโมงเย็น ประมาณหกโมงเย็นพี่เกษมเรียกให้ขึ้นไปช่วยเปิดกระป๋องปลากระป๋องที่ห้องครัว ผมรีบขึ้นไปปรากฏว่าเป็นการเซอร์ไพรส์จากเพื่อนๆห้าหกคนมีพี่เกษม ริด้า เกลนด้า ริด ฟงและบูโคล่าซื้อขนมเค๊กมาจัดปาร์ตี้เล็กๆให้ในบรรยากาศแบบมิตรภาพกับเพื่อนๆกลุ่มเล็กๆ ปกติแล้วผมไม่จัดงานวันเกิดตัวเอง วันนี้เพื่อนๆหลายคนถามว่าไม่ฉลองวันเกิดหรือ ผมก็ตอบไปว่าไม่จัดเพราะผมเหนื่อยจากการไปเที่ยวมา ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ดีกว่าบอกไปตรงว่าไม่อยากจัด

              วันคล้ายวันเกิดของผมทุกๆปีในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ผมตื่นเช้าแล้วเข้าไปกอดแม่ หอมแก้มแม่ กราบเท้าแม่พร้อมกับลูกๆทั้งสามคน ผมสอนลูกว่าย่าเป็นบุคคลสำคัญสำหรับเรามาก ถ้าไม่มีย่า ก็ไม่มีพ่อแล้วก็ไม่มีลูกๆ และเช่นเดียวกันสำหรับลูกๆ แม่ก็เป็นบุคคลสำคัญสำหรับลูกๆมาก วันเกิดลูกๆ ลูกต้องกราบแม่กับพ่อด้วย หลังจากผมกราบพระที่บ้านแล้วผมกับครอบครัวก็ไปทำบุญที่วัดกันตอนเช้าไปถวายภัตตาหารพระที่วัดดอยงู ตอนกลางวันไปไหว้พระบรมธาตุและถวายสังฆทานที่วัดพระบรมธาตุบ้านตาก ส่วนตอนเย็นก็ทานอาหารกับคนในครอบครัว เป็นความสุขความอบอุ่นแบบเรียบง่ายในบ้าน  แต่ปีนี้ผมไม่ได้ไปวัด ไม่ได้กราบแม่เพราะอยู่คนละประเทศกัน แม่จำวันเกิดตัวเองไม่ได้ แต่แม่จำวันเกิดของลูกได้

              วันนี้เมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน  แม่ตั้งท้องผมตอนอายุ 25 ปี อยู่ที่บ้านสวรรคโลก แม่เจ็บท้องคลอด ที่สวรรคโลกไม่มีโรงพยาบาล แม่กับพ่อนั่งรถเบาะ (ภาษาถิ่นสุโขทัย ต้องออกเสียงซุโข่ทัยหมายถึงรถเมล์ประจำทางหรือรถบัส)ไปนอนโรงพยาบาลคลองตาล (โรงพยาบาลศรีสังวร อยู่กึ่งกลางระหว่างสวรรคโลกกับสุโขทัยธานี เป็นการประนีประนอมความรู้สึกระหว่างคนสวรรคโลกที่เคยเป็นตัวจังหวัดแล้วถูกยุบเป็นอำเภอกับคนสุโขทัยธานีที่ยกขึ้นเป็นจังหวัดแทน) นอนโรงพยาบาลได้คืนหนึ่งแล้วแม่ก็หายเจ็บท้อง น่าจะเป็นการเจ็บเตือน แม่ขอกลับไปอยู่บ้านพ่อ (บ้านย่า) ที่หนองกระดี่ กลางคืนแม่เจ็บท้องเล็กน้อย แม่ยังออกไปดูลิเกที่วัดหนองกระดี่ได้ พอตกดึกก็คลอดผมกับหมอตำแยที่บ้านย่า หลังคลอดผมแม่เสียเลือดมากและอ่อนเพลียม่อย (ม่อย เป็นภาษาถิ่นสุโขทัย หมายถึงหมดสติไป) ไปนานกว่าจะรู้สึกตัว ผมผิวดำ น้าๆหลายคนบอกว่าเพราะผมเกิดคืนเดือนแรม แม่บอกว่าผมตัวดำ ผิวเหี่ยวย่น ผมคิดว่าอาจคลอดเกินกำหนด

               น้าเล็ก (เล็ก สุนทรวุฒิ) เล่าให้ฟังว่าตอนเกิดใหม่ๆผมดูน่าเกลียดมาก (ส่วนใหญ่เท่าที่ผมทำคลอดหรือดูแลเด็กแรกเกิดผมว่าเกือบทุกคนดูน่ารักทั้งนั้น) ตอนอุ้มขึ้นรถกลับบ้านต้องเอาห่อผ้าไว้มิดชิด กลัวคนเห็นแล้วอายเขา แต่แม่ก็เลี้ยงดูผมอย่างดี ผมดูรูปถ่ายตัวเองตอนอายุ 8-9 เดือนก็ดูน่ารักดี ตากลมโต ผิวไม่เหี่ยวย่นแล้ว แต่อาจเป็นไปได้ว่าช่างภาพเขาตกแต่งภาพให้ดูดีขึ้น (ตอนเล็กๆผมมักโดนแซวเสมอว่าอย่าให้ตกใต้ถุนบ้านนะเพราะจะหาไม่เจอ ตอนนั้นที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้) ที่บ้านย่าช่วงนั้นมีคนคลอดลูกติดๆกันสามคน ย่าผมคลอดอาปลื้ม (สายัณห์ บัญญัติ) อาคนสุดท้องเดือนกุมภาพันธ์ แล้วก็แม่ผม แล้วเดือนเมษายน ป้าหนิด (กุหลาบ แสงชัย) พี่สาวคนโตของแม่ก็คลอดแหม๋ว (เพชรรุ่ง แสงชัย) ลูกสาวคนเล็ก ผมกับอาเลยอายุเท่ากันแต่ผมเรียนหนังสือก่อนปีหนึ่งเพราะแม่จำปีเกิดผิด ตอนผมเล็กๆอาคิด (สมคิด) อาปอง (สมปอง) และอานึก(สมนึก)ไปช่วยแม่เลี้ยงผมช่วงกลางวันตอนที่พ่อกับแม่ออกไปทำไร่

              วันพุธที่ 5 มีนาคม 2551 ช่วงเช้ามีเรียนบทบาทของรัฐต่อระบบสุขภาพทั้งเช้าเรียนกับอาจารย์เรนาร์ด (Robrecht Renard, [email protected] ) จากสถาบันการพัฒนาการจัดการและนโยบาย (Institute of Development Policy and Management) มหาวิทยาลัยแอนท์เวิป (University of Antwerp) ตอนพักกลางวันทางเจ้าหน้าที่อำเภอมาตรวจสอบบ้านพักเพื่อออกใบรับรองบ้านพักให้ครอบครัวเอาไปประกอบการขอวีซ่าแบบครอบครัวที่รอมาเกือบหกเดือนแล้ว ช่วงบ่ายเรียนเทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึกกับอาจารย์วาลาเรีย ([email protected] ) ได้เพื่อนใหม่ชื่อรอย เป็นชาวอินโดนีเซีย กำลังทำโครงการกับอาจารย์เดวิด บริกส์ (David Briggs) ที่มหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ออสเตรเลีย ที่ผมเคยไปอบรมดูงานด้วย 19 วันเมื่อปีก่อน เขาชวนผมจัดตั้งเครือข่ายร่วมกันในกลุ่มอาเซียน ผมคิดว่าโลกมันกลมจริงๆ รอยย้ำกับผมว่าเครือข่ายสำคัญมาก (Network) ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ตอนเย็นแวะไปซื้อข้าวสารและผักมาไว้ทำกับข้าว กลางคืนมีแข่งว่ายน้ำเป็นทีมในงาน Midnight swim ของมหาวิทยาลัยแต่ผมรู้สึกเพลียๆและไม่ได้นำกางเกงว่ายน้ำมาด้วยเลยไม่ไปร่วม ก็เสียดายเหมือนกัน เพื่อนๆไปร่วมงานกันหลายคน

              วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2551 ช่วงเช้าเรียนการวิเคราะห์นโยบายสุขภาพกับอาจารย์จัสติน (Justin Parkhurst) ที่เชิญมาจากLondon School of Hygiene & Tropical Medicine จากอังกฤษ และมีกิจกรรมกลุ่มในการวิเคราะห์นโยบายการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ช่วงบ่ายว่าง ผมรู้สึกเพลียและปวดหัวมาก จึงหกลับมานอนที่บ้านพัก ผมตัดสินใจระหว่างกินยาแก้ปวดกับนอน ผมเลือกนอนพักตื่นมาตอนเย็นหายปวดและสดชื่นขึ้นมากและดีใจที่พยายามเป็นอิสระจากยาได้ ตอนกลางคืนนั่งแก้ไขงานวิจัยผู้สูงอายุจนเสร็จเพื่อส่งไปพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ผมชอบส่งไปที่นี่เพราะชอบที่ทางบรรณาธิการให้ข้อแนะนำในการเขียนและปรับแก้ไข ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการเขียนงานวิจัยได้อย่างดีมาก งานที่เขียนนี้เป็นการเขียนงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ในรูปแบบวิจัยปฏิบัติการ (Action research)

              วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม 2551 ตอนเช้าเรียนบทบาทของรัฐ (Role of the state) กับอาจารย์เรนาร์ดต่อหลังพักกลางวันมีการสรุปบทเรียนในรอบสัปดาห์กับอาจารย์วาลาเรียและอาจารย์วิม (Wim Van Damme, [email protected] ) แล้วผมกลับบ้านพักไปซื้อไก่ที่ร้านอัลดี้ เบิกเงินที่ธนาคารฟอร์ติสแล้วก็กลับไปร่วมงานเลี้ยงรับรองผู้ที่มาร่วมอบรมหลักสูตรระยะสั้นทุกหลักสูตรโดยมีนักศึกษาหลักสูตรผม หลักสูตรควบคุมโรคและหลักสูตรควบคุมโรคสัตว์ร่วมเป็นเจ้าภาพ บรรยากาศก็สนุกสนานและเป็นกันเองดี มีอาจารย์มาร่วมงานหลายคน ทำให้เราที่อยู่ต่างหลักสูตรรู้จักคุ้นเคยกันมากขึ้น งานเลิกตอนสองทุ่ม กลับมาทานข้าวกับต้มข่าไก่ที่บ้าน ข้าวยังคงเป็นอาหารหลักเลิศรสเสมอ

               วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2551 ศูนย์บริการนักศึกษาจัดทัวร์ไปนามูร์ (Numur) เมืองหลวงของจังหวัดนามูร์และเขตวัลลูนเนีย ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาหลัก ดูรายละเอียดจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Namur_(city ตามที่ผมเคยเล่าไปแล้วว่าเบลเยียมมีการเมืองที่แปลกมาก แบ่งประเทศออกเป็น 3 เขต (Region) คือเฟลมมิช วัลลูนเนียและเขตเมืองหลวงบรัสเซลส์ แล้วยังแบ่งออกเป็น 3 ชุมชน (Community) คือชุมชนคนพูดเฟลมิช ชุมชนคนพูดฝรั่งเศสและชุมชนคนพูดเยอรมัน อาจารย์วิมบอกว่าเป็น 1 ประเทศ (Country) แต่ 2 ประชาชาติ (Nation) เราออกเดินทางโดยรถบัสเกือบ 2 ชั่วโมงรถไปจอดที่ภูเขากลางเมืองซึ่งเป็นจุดสำหรับการท่องเที่ยว มีแม่น้ำสองสายโอบล้อมคือมิวซี่ (Meuse) กับแซมเบร้ (Sambre) มองจากเนินเขาลงไปบริเวณรายรอบเป็นที่ตั้งของเมืองที่มีทิวทัศน์สวยงามมาก เป็นอันว่าผมได้เที่ยวเมืองหลวงของทุกจังหวัดในเบลเยียมครบแล้ว

             เราถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกนั่งรถไฟชมบริเวณโดยรอบเมืองเก่า ส่วนกลุ่มผมเริ่มต้นด้วยการเข้าไปชมโรงงานทำน้ำหอม (Perfume de Namur) ก่อน เขาใช้อาคารเก่าเกือบห้าร้อยปีมาเป็นโรงงานทำเครื่องประทินผิวที่ไม่ใหญ่โตนักมีทั้งน้ำหอม ครีมบำรุงผิว ยาสระผม ที่ทำจากดอกไม้หลากชนิด เครื่องเทศหลากพรรณและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ภายในอาคารมีอุโมงค์และห้องเล็กๆสำหรับปรุงน้ำหอม มีส่วนของการควบคุมคุณภาพ ห้องทดลองและห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แต่เน้นไปที่น้ำหอมๆแต่ละชนิดมีองค์ประกอบตั้งแต่ 20-52 ชนิด กว่าจะผลิตได้แต่ละชนิดใช้เวลา 6-12 เดือน ต้องเก็บวัตถุดิบในอุณหภูมิ 11-16 องศา วัตถุดิบจากดอกไม้ 750 กิโลกรัมจึงจะได้น้ำมันมาทำน้ำหอม 1 กิโลกรัม และต้องมีการทดสอบผลิตภัณฑ์ด้วยการถามความเห็นลูกค้าอย่างน้อย 300 คน จุดเด่นคือเขาพยายามนำเอาอาคารเก่าเกือบ 500 ปีมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดความสนใจให้เข้าเยี่ยมชมและซื้อสินค้า

             หลังจากทานอาหารกลางวันแล้ว กลุ่มผมก็ได้นั่งรถไฟเล็กๆชมบริเวณโดยรอบของเมืองเก่าบนภูเขานี้ เห็นทัศนียภาพที่ดีมาก ต่อด้วยการพาชมอุโมงค์ใต้ดินที่ใช้เป็นที่หลบและต่อสู้ข้าศึกที่มาประชิดเมือง เป็นอุโมงค์ที่ขุดไม่ลึกมาก ยาวประมาณ 600 เมตร มีช่องลมสำหรับระบายอากาศและให้ทหารใช้เป็นช่องยิงข้าศึก ภายในมีห้องโถงที่อยู่อาศัยได้หลายพันคน ประมาณ 4 โมงเย็นก็เดินทางกลับถึงเกือบ 6 โมงเย็น ไม่ได้ออกไปไหน ทานข้าวที่บ้านแล้วก็อ่านหนังสือและนอนตอนเที่ยงคืน

             ผมอดคิดไม่ได้ว่า ตอนเด็กๆผมไม่มีนมดื่ม อาหารโปรตีนที่ได้รับจึงมาจากนมแม่เป็นสำคัญ ร่วมกับปลา ไข่ และไก่ที่พ่อเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน ปลาหาได้ไม่ยากจากทั้งแม่น้ำยมและทุ่งแม่ระวิง คุณค่าของนมแม่มีมากทั้งด้านร่างกายที่ช่วยบำรุงสมองให้มีพัฒนาการที่ดี มีภูมิคุ้มกันโรค ด้านจิตใจที่สร้างความอบอุ่นและพัฒนาการทางจิตใจกับอารมณ์ของลูก ทางสังคมที่ผูกพันแม่ลูกไว้ด้วยกัน อีกทั้งทำให้พ่อได้เห็นความอ่อนโยนของแม่ลูกและเพิ่มความรักต่อแม่และลูกมากขึ้น ทางจิตวิญญาณที่สร้างความฉลาดทางสติปัญญาและทางอารมณ์แก่ลูก มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองว่าตนเองมีความสำคัญจากการที่รับสัมผัสจากแม่และเห็นคุณค่าของคนอื่นโดยเฉพาะแม่ที่ทำให้ตัวเองเจริญเติบโตอยู่รอดมาได้

              ในโรงพยาบาลรัฐบาลทุกแห่งได้จัดให้มีโครงการสายสัมพันธ์แม่ลูกมาหลายปีแล้ว หลังคลอดเจ้าหน้าที่ต้องส่งเสริมหรือช่วยเหลือให้ลูกได้ดูดนมแม่และอยู่ในอ้อมกอดของแม่ให้เร็วที่สุด อย่างช้าภายในครึ่งชั่วโมง ถ้าลูกไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายอื่นๆ และให้กินนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ต้องให้อาหารอย่างอื่นเลย แม้แต่น้ำก็ตามอย่างน้อย 4 เดือน แต่จะให้ดีก็ถึง 6 เดือน ช่วงแรกๆดูเหมือนไม่มีน้ำนม แต่เป็นนมน้ำเหลืองที่เป็นภูมิคุ้มกันจากแม่ไปสู่ลูก และถ้าเป็นไปได้หลังจากนั้นให้นมแม่เสริมกับอาหารอื่นๆตามวัยไปจนถึง 1-2 ปี น้ำนมแม่หลัง 6 เดือนอาจมีคุณค่าทางอาหารเท่าเดิม แต่การโตของลูกทำให้ต้องการอาหารอย่างอื่นมากขึ้น นมแม่อย่างเดียวจึงยังไม่พอ แต่ไม่ใช่เหตุผลที่ต้องหยุดให้นมแม่เพราะสิ่งที่ยังไม่หายไปไหนคือสัมผัสอันอ่อนโยน อ้อมกอดอันอบอุ่น การสัมผัสระหว่างแม่ลูกมีคุณค่าทางจิตใจและช่วยกระตุ้นการโยงใยของเส้นประสาทสมองให้เจริญเติบโตเร็วขึ้น สมองไวต่อการรับรู้และสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว เป็นทุนทางสมองที่ดีสำหรับกระบวนการเรียนรู้ในอนาคต รายละเอียดศึกษาได้ใน http://www.breastfeedingthai.com/ และ www.thatbreasfeeding.com

             มีหลายคนพูดไว้น่าคิด บอกว่าเด็กเดี๋ยวนี้ดื่มนมกระป๋อง นมวัว จึงดื้อเหมือนวัวเหมือนควาย ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ พ่อแม่ว่ากล่าวตักเตือนไม่ค่อยได้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยแก้ไขภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง (SIDS: Social Immunodeficiency syndrome) ที่เป็นวิกฤติของสังคมไทยเกิดจากการขาดภูมิคุ้มกันสำคัญในสังคม 3 ชนิดคือความรู้ ความรักและความอดทน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตอบสนองได้ทั้งสามสิ่งนี้ทำให้เด็กรู้จักความรัก ทำให้สมองเกิดการพัฒนาพร้อมต่อการเรียนรู้ ทำให้เด็กมีการเจริญของวุฒิภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น รู้จักอดทน รอคอย อ่านรายละเอียดได้ใน http://gotoknow.org/blog/practicallykm/6882 และ http://gotoknow.org/blog/practicallykm/3802  ขอส่งกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนที่กำลังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และชื่นชมคุณแม่ทุกคนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ครับ

พิเชฐ  บัญญัติ (Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

9 มีนาคม 2551, 12.52 น. (18.52 น.เมืองไทย)

หมายเลขบันทึก: 169986เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2008 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ผมมีคนรู้จักคนหนึ่งกำลัง ลังเลว่าจะไปเรียนต่อเมืองนอกหรือจะอยู่กับลูกดี อุตส่าห์ได้ทุน แต่ก็ไม่อยากไป เห้อๆๆ
  • แวะมาอ่านครับคุณหมอ

ลูกผมได้กินนมแม่เพียงเดือนครึ่งเองครับ พึ่งได้ทราบว่าการให้นมแม่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยครับ แต่ไม่เป็นไร ผมกับ อ.จัน คุยกันว่าค่อยแก้ตัวลูกคนต่อไปครับ

แม่แฝดสามคนหล่มสัก Hospital

แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจนะคะคุณหมอ..ถึงแม้ว่าลูกแฝด3 จะโต 12 ปีแล้ว..แต่ตอนเด็กได้กินนมแม่ทุกคน..เฉลี่ยๆกัน..(ไมได้นอนทั้งวันทั้งคืน..คิดว่าแม่นากให้นมลูก..โทรมสุดๆ แต่เพื่อปรัชญาคนสาสุข..คะ)..จะแวะมาอ่านนะคะ..

สวัสดีครับอาจารย์ธวัชชัย

ผมตามไปทักทายที่บล็อกของอาจารย์แล้ว ขอแสดงความดีใจกับคุณพ่อกับคุณแม่(อ.จันทวรรณ) คนใหม่กับเจ้าตัวเล็กครับ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ

สวัสดีครับคุณกวินทรากร

บางทีก็ตัดสินใจยากครับ การห่างครอบครัวนานๆ ไกลๆกันเป็นการลงทุนที่ตีค่าเป็นเงินยาก แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ตอนผมจะมาเรียน ก็ทราบว่าทุนให้ครอบครัวติดตามมาด้วยได้ แต่พอเอาเข้าจริงตอนนี้ยังไม่ได้ติดตามมาเลยครับ แต่การอยู่ห่างกันก็ได้บทเรียนหลายอย่างเหมือนกัน

ขอบคุณที่แวะมาทักทายและให้ความคิดเห็นครับ

 

สวัสดีครับคุณแม่แฝดสามคนโรงพยาบาลหล่มสัก

ถือเป็นกรณีตัวอย่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีเลยครับ น่าจะมีการถอดบทเรียนหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถือเป็นBest practice จากคนที่รู้หลักการและผ่านการปฏิบัติจริง

สมัครเขียนบล็อกเล่าประสบการณ์สิครับ จะได้ช่วยกระตุ้น สรางความมั่นใจให้คุณแม่คนอื่นๆที่กำลังหรือใกล้จะมีลูกได้ด้วย

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ดิฉันให้ลูกกินนมแม่ 2เดือน เพราะต้องไปทำงาน ส่วนหลาน ดิฉันให้เขากินนมแม่ 9 เดือน สุขภาพดีค่ะ

การจากบ้านไปนานๆ ข้อเสียคือ คิดถึงครอบครัวค่ะ

สวัสดีครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสียของการจากบ้านไปนานๆคือความคิดถึงครอบครัว เป็นความรุ้สึกที่ยากจะบรรยายเลยครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

จะเรียนถามคุณหมอค่ะว่า คุณค่าของน้ำนมแม่ จะลดลงหรือป่าวค่ะสำหรับลูกคนที่สอง ช่วยชี้แจงด้วยนะคะได้ยินคนเล่าต่อมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท