ในภาษาไทยคำแรกคือ ฉันทะ เราแปลกันว่า ความพอใจ ซึ่งมุ่งหมายความพอใจที่มาในอิทธิบาท ๔... ส่วนคำหลังคือ ฉันท์ เรานำมาใช้ทับศัพท์ ซึ่งรู้กันว่าเป็นชื่อของร้อยกรองชนิดหนึ่งที่กำหนดเสียงหนักเบา (ครุ ,ลหุ) ของคำอยู่ด้วย...
ในภาษาบาลี แม้จะมีอักขระเหมือนกัน แต่ก็มีลิงค์ต่างกัน กล่าวคือ
- ฉันทะ - ฉนฺโท (ปุงลิงค์ เพศชาย)
- ฉันท์ - ฉนฺทํ (นปุงสกลิงค์ มิใช่เพศหญิงหรือเพศชาย)
อนึ่ง แม้รูปสำเร็จของคำทั้งสองนี้จะเหมือนกัน ต่างกันแต่ลิงค์เท่านั้นก็จริง... แต่คำทั้งสองนี้มีรากศัพท์ต่างกัน กล่าวคือ
- ฉันทะ (ฉนฺโท) มาจากรากศัพท์ว่า ฉนฺท ใช้ในความหมายว่า พอใจ
- ฉันท์ (ฉนฺทํ) มาจากรากศัพท์ว่า ฉท ใช้ในความหมายว่า ปกปิด,
...........
ฉันทะ คำแรกซึ่งเราแปลกันว่า ความพอใจ นี้ นับว่าเป็นธรรมข้อแรกในอิทธิบาท ๔ กล่าวคือ
- ฉันทะ ความพอใจ
- วิริยะ ความเพียร
- จิตตะ การเอาใจจดจ่อ
- วิมังสา การไตร่ตรอง
อนึ่ง รู้สึกว่า ฉันทะ ในภาษาไทยมุ่งหมายเป็นคุณธรรมประเด็นนี้เท่านั้น... ส่วนในภาษาบาลี มีความหมายกลางๆ เพราะบางครั้ง ฉันทะ ความพอใจ อาจบ่งชี้ว่าเป็น ตัณหา ความทะยานอยาก ได้บ้างเหมือนกัน
............
ฉันท์ คำหลังซึ่งเรานำมาใช้ทับศัพท์เป็นชื่อเรียกร้อยกรองชนิดหนึ่งนี้ มาจาก ฉทะ รากศัพท์แปลว่า ปกปิด นั่นคือ ปกปิดซึ่งโทษในความไม่เป็นระเบียบหรือความไม่สละสลวยของภาษาตามที่กำหนดไว้...
ในภาษาบาลี มีคัมภีร์ว่าด้วยการแต่งฉันท์อยู่หลายเล่ม เช่น วุตโตทัย สันธิพาลาวตาร เป็นต้น... และสำหรับนักเรียนบาลีเมืองไทย ในหลักสูตร ป.ธ. ๘ มีวิชาแต่งฉันท์อยู่ด้วย ซึ่งกำหนดให้เรียน ๖ ชนิด ส่วนในเวลาแต่งสอบ บังคับให้ผู้เข้าสอบเลือกแต่ง ๓ ฉันท์ชนิดใดก็ตาม ตามหัวข้อและเนื้อหาที่กำหนดมาให้...
ฉันท์ที่กำหนดมาให้เรียนในชั้นป.ธ.๘ คือ
- ปัฐยาวัตร
- อินทรวิเชียร
- อินทรวงศ์
- อุเปนทรวิเชียร
- วังสัฎฐะ
- วสันตดิลก
...........
สรุปว่า....
- ฉันทะ ในอิทธิบาท ๔ แปลว่า ความพอใจ
- ฉันท์ ที่เป็นชื่อของร้อยกรองชนิดหนึ่ง แปลว่า ปกปิดซึ่งโทษในทางภาษา
ส่วน ฉัน ที่แปลว่า กิน ซึ่งใช้กับกิริยาของพระเณรนี้ ผู้เขียนไม่เคยเจอใครวิจารณ์ไว้ ซึ่งผู้เขียน มั่ว เอาเองว่า
- ฉัีน... (กิน) แปลว่า เป็นที่พอใจ (ของพระเณร)
- ฉัน...(กิน) แปลว่า ช่วยปกปิด (โทษซึ่งความหิว)