ชาวHACC
นางสาว แสงทอง ปุระสุวรรณ์

ภูมิปัญญาท้องถิ่น: กรณีศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคของหมอสมุนไพรพื้นบ้าน อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย


“การรักษาโดยคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”

อยากเล่าว่าประทับใจหมอสมุนไพรพื้นบ้าน

 การรักษาโดยคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 

            ดิฉันได้มีโอกาสไปศึกษาเรื่อง  ภูมิปัญญาท้องถิ่น: กรณีศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคของหมอสมุนไพรพื้นบ้าน   อำเภอภูเรือ   จังหวัดเลย เมื่อก่อนวันวาเลนไทน์ปีนี้เพียงหนึ่งวัน   จุดมุ่งหมายที่ต้องการไปศึกษาคือ   อยากรู้ว่าหมอสมุนไพรพื้นบ้านที่นี่มีความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคอย่างไร   เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้และทำความเข้าใจผู้ป่วยที่มีความคิดความเชื่อในการรักษาโรคด้วยสมุนไพร  เพราะว่าคนในวงการสาธารณสุขอย่างเราส่วนใหญ่ก็ได้เรียนอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์   ไม่ค่อยได้เรียนอะไรที่เป็นด้านสังคมศาสตร์มากนัก    บางทีก็อาจรู้สึกเหมือนชีวิตที่ขาดความมีชีวาไปบ้าง    

การศึกษาในครั้งนี้   เป็นการศึกษาที่มีรูปแบบคล้ายกับการวิจัยเชิงคุณภาพ   แต่ควรจะเรียกว่าเป็น   baby   research   ซะมากกว่า   เพราะว่าเป็นวิจัยที่มีเวลาจำกัดและเลือกที่จะศึกษาจากบุคคลเพียงคนเดียวโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง  ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง  ดิฉันเลือกไปสัมภาษณ์หมอสมุนไพรพื้นบ้าน  ชื่อ นายกรุง    วงค์คำโสม   ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูแวว   วงคำโสม    ครูสมุนไพรผู้เลื่องชื่อของจังหวัดเลย ผู้ล่วงลับไปแล้วตั้งแต่ปี  พ.. 2545

นายกรุง วงค์คำโสม หมอสมุนไพรพื้นบ้าน หมู่ 9 บ้านโคนผง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

สิ่งที่ดิฉันบอกว่าเป็นความประทับใจก็มาจากผลการศึกษาในครั้งนี้  ที่รู้สึกว่าได้มากกว่าจุดมุ่งหมายที่ดิฉันอยากศึกษา    ซึ่งมีด้วยกันหลายประเด็นอาทิ    การตรวจร่างกายด้วยการจับชีพจร  ซึ่งเป็นวิธีการที่ดิฉันอดฉงนสนเท่ห์ไม่ได้   ในขณะสัมภาษณ์ดิฉันได้ขอให้หมอสมุนไพรท่านดังกล่าวช่วยทำการตรวจวินิจฉัยโรคของตัวดิฉันให้ดูเป็นตัวอย่างสักหน่อย  หมอสมุนไพรจับชีพจรดิฉันโดยจะใช้มือขวาของหมอสมุนไพรเคาะบริเวณข้อพับแขนซ้ายของดิฉันก่อน     จากนั้นจะจับชีพจรบริเวณข้อมือซ้ายของดิฉันโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ      ขณะจับชีพจรก็จะทำปากขมุบขมิบบริกรรมคาถาร่วมด้วย  สักครู่ก็บอกดิฉันว่าขออนุญาตจับบริเวณกระดูกคอร่วมด้วย เพราะคาดว่าดิฉันจะมีลมในกระเพาะอาหาร   จากข้อมือมาบริเวณคอทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร   น่าทึ่งไหมคะ !!  ที่ทึ่งสุดๆ กว่านั้นคือว่าดิฉันมีอาการโรคกระเพาะอาหารกำเริบมาได้สัก  2   สัปดาห์ก่อนไปพบหมอสมุนไพรอยู่แล้วค่ะ     สาเหตุก็เนื่องมาจากถูกงานและการบ้านจากการเรียนรุมเร้าค่ะ   พยายามถามเพื่อให้ได้คำตอบว่าขณะจับชีพจรหมอสมุนไพรทราบได้อย่างไร   ท่านก็บอกว่าอธิบายไม่ถูก   รู้แต่ว่าเมื่อสัมผัสแล้วรับรู้ได้ถึงสิ่งที่ผิดปกติในขณะตรวจ   ดิฉันอยู่ในวงการแพทย์แผนปัจจุบันค่ะ   ไม่คุ้นเคยกับการตรวจร่างกายจากอวัยวะที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ทำให้ทราบโรคได้   ไม่ทราบว่าเหมือนกับที่เขาเรียกกันว่า   แมะหรือเปล่า?   ท่านใดมีองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวก็กรุณาแลกเปลี่ยนและให้คำอธิบายเพิ่มเติมก็จะขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

 จากการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการจับชีพจรดังกล่าวแล้ว  สิ่งที่ดิฉันประทับใจและอดเปรียบเทียบกับการแพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้ก็คือว่า    ท่าทีในการตรวจของหมอสมุนไพรท่านนี้ดูสุขุมคัมภีรภาพและน่าเชื่อถือมาก ๆ  ทั้งในขณะท่องคาถา   ท่าทีการพูดอธิบายในเรื่องต่าง ๆ  ซึ่งรับรู้ได้ถึงประสบการณ์และความชำนาญ  ที่แพทย์สมัยใหม่เรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญ  แต่ต้องทำทีให้ดูน่าเชื่อถือ   บางครั้งก็อาจจะดูว่าเก็กรึเปล่า?  บางทีไม่มีท่าแต่ก็สัมผัสได้ว่าเป็นจอมยุทธ์แบบไร้กระบวนท่า  แพทย์บางท่านมีท่าดีแต่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นจอมยุทธ์ก็มีหากกระทบใจใครก็ขออภัยไว้นะที่นี้  เพราะไม่ได้มีเจตนาว่าผู้ใดดอกค่ะ   นอกจากนี้   ทุกครั้งที่จะพูดถึงผู้ป่วย   จะขอตรวจร่างกาย หมอสมุนไพรท่านนี้ก็จะมีคำว่าขออนุญาตอยู่ตลอดเวลา  รวมทั้งคำพูดที่ว่า  ถ้าคนไข้เขาไม่อนุญาตให้เล่าหรือบอกเราก็จะไม่บอกใคร นี่ใช่ไหมคะการปฏิบัติเรื่องสิทธิของผู้ป่วยที่เราพยายามสอนและปลูกฝังให้บุคลากรทางสาธารณสุขเข้าใจและปฏิบัติกันอยู่   พอถามถึงเรื่องการประเมินผลในการรักษาแล้วก็เป็นปลื้มขึ้นมาอีก    เพราะคำตอบที่ได้คือ บางครั้งผมก็กลับมาคิดว่าทำไมคนไข้คนนี้ถึงตายเร็ว  เป็นเพราะเราให้ยาไม่ดีรึเปล่า?  สำหรับดิฉันแล้วคำพูดนี้กินใจมาก   ถ้าเป็นวัยรุ่นกว่านี้คงใช้คำว่า โดน ได้   มีผู้รักษาสักกี่รายที่มาทบทวนและยอมรับว่าตัวเองรักษาผิดพลาด    อะไรที่ทำให้หมอสมุนไพรที่จบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมคิดและระลึกได้    แต่กับผู้จบระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้นกลับไม่รับรู้ อย่างนี้ซิคะถึงจะเรียกว่า การรักษาโดยคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์   

 

สมุนไพรที่เตรียมสำหรับใช้รักษาผู้ป่วย

 

 

สมุไพรจัดเป็นกำสำหรับต้มรับประทาน

 

   นอกจากนั้นแล้วยังมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องในการวินิจฉัยและการรักษาโรคด้วย  ได้แก่  ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอสมุนไพรพื้นบ้านต้องถือศีล   ต้องทำสมาธิและบริกรรมคาถาร่วมด้วยขณะทำการวินิจฉัยโรคเหมือนที่เล่าตอนแรก   สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเชื่อที่ได้ปฏิบัติสืบต่อๆ กันมาของคนรุ่นก่อน   อาจถือเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและประเพณีทางสังคม   ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อในกลุ่มคนได้ง่าย    และยังอาจถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาที่สร้างให้คนปฏิบัติตัวดี    ให้เป็นที่น่าเคารพนับถือ   เพราะหากเราต้องไปรักษาโรคกับหมอที่ปฏิบัติตัวไม่เป็นที่น่านับถือ    เราอาจรู้สึกขาดความมั่นใจที่จะรับการรักษา   และไม่อยากจะฝากชีวิตไว้ในกำมือก็ได้  

สิ่งที่เป็นความน่าประทับใจถัดไปคือ   เรื่องการมิได้กำหนดหรือเรียกร้องว่าต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนเงินเท่าใด   โดยให้ขึ้นกับผู้ป่วยว่าสามารถจะจ่ายได้เท่าใด     และส่วนประกอบของยาสมุนไพรต่าง ๆ  เช่น  พืชสมุนไพร   เขาสัตว์ เป็นต้น  ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย     ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นภูมิปัญญาที่ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตในชุมชนร่วมกันของชาวบ้านโคนผง  หมู่  9   ตำบลสานตม   อำเภอภูเรือ   จังหวัดเลย   รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจช่วยเหลือ   ความเอื้ออาทรต่อกัน   เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า   ยาขอหมอวาน    ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจพบได้ยากหรืออาจไม่พบเลยในสังคมเมืองปัจจุบัน    ดิฉันเห็นว่าสมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์   ส่งเสริม   และสนับสนุนให้คงอยู่ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน

ในส่วนสุดท้ายที่อยากเล่าให้ทราบถึงความประทับใจก็คือ  เรื่องการทำพิธีขึ้นคายในการรักษาโรค   ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เหมือนกับการไหว้ครูหรือขอบคุณผู้มีพระคุณ   ดิฉันเห็นว่าเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความกตัญญู  ระลึกถึงบุญคุณทั้งจากครูผู้สอนหมอสมุนไพรพื้นบ้าน   และการตอบแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์  รวมทั้งหมอสมุนไพรพื้นบ้านที่รักษาผู้ป่วยด้วย   นอกจากนี้  ยังเป็นการสร้างเสริมกำลังใจ  และทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ด้วย   

 ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านประทับใจในประเด็นต่าง ๆ ที่ดิฉันได้เล่าเหมือนกันบ้างไหม? หากมีสิ่งใดต้องการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกันก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ     สำหรับท่านใดสนใจรายละเอียดผลการศึกษาทั้งหมดกรุณาติดต่อมาได้ค่ะ    ยินดีเผยแพร่รายละเอียดการศึกษาทั้ง  5 บท   (ได้แก่ บทนำ   เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง   วิธีดำเนินการศึกษา   ผลการวิเคราะห์ข้อมูล   และบทสรุป)  เลยค่ะ   อ้อสาเหตุที่ไม่นำลงไว้ ณ ที่นี้เพราะเกรงว่าจะน่าเบื่อเนื่องจากอาจเป็นวิชาการและมีเนื้อหายาวมากเกินไปค่ะ

 

 



ความเห็น (17)

เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก ปัจจุบันนี้ต้องมีคนตามหาปราชน์ชุมชนอย่างนี้มาก มาก จึงจะดีสำหรับประเทิศไทย ซึ่งมีของดีอยู่แล้ว แต่ไม่เห็นของดีแบบไทย กลับไปสนใจจากตะวันตก มีอะไรดีดี ชาวปากพนังยินดีแลกเปลี่ยน

ขอขอบคุณสำหรับการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นค่ะ  หากมีอะไรเพิ่มเติมกันก็ยินดีค่ะ

น่าสนใจมากค่ะ อยากให้สหสาขาอาชีพในร.พ.มาเรียนรู้จากบันทึกนี้สามารถนำสิ่งดีๆมาใช้ได้เช่นการขออนุญาต การขอบคุณผู้ให้ได้เรียนรู้ในการรักษานั้นคือผู้ป่วยของเรา

พี่กบ ดีจังเลย เป็นประโยชน์มาก วันหลังจะได้ศึกษาเพิ่มเติม

ดีใจที่ได้รับความสนใจและเป็นประโยชน์กับทุกท่าน   จะพยายามสรรหาสิ่งดี ๆ มาฝากอีกต่อไปนะคะ

ภูมิปัญญาการรักษาพื้นบ้าน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการแพทย์ยุคปัจจุบัน

สวัสดีค่ะ คุณHACC อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่ม น่าสนใจค่ะ หิงห้อยก็ชอบกินยาพื้นบ้านนะ เคยเป็นหวัด จะกินยาฟ้าทลายโจรเสมอ ไม่เคยกินยาพาราเลยค่ะ ขอโทษด้วยนะคะเข้ามาเยี่ยมช้าไป ตอนนี้ นำเข้าแพลนเน็ตหิ่งห้อยแล้วค่ะ

กำลังทำงานวิจัยรื่องสมุนไพรพื้นบ้านอยากได้งานวิจัยที่เกี่ยวงข้องใครมีข้อมูลบ้างค่ะ

อยากทราบสอบถามได้นะค่ะ เรื่องหมอยาสมุนไพรพื้นบ้าน และหมอนวดแผนโบราณที่มีประสบการณ์มาก นวดแบบรักษาและผ่อนคลาย แนะนำนะค่ะต้องลองนวดดูค่ะ

[email protected]

อ่านบทความข้างต้นแล้ว ได้ควมรู้และเป็นประโยชน์

และสนใจรายละเอียดข้างต้นทั้ง 5บท

ขอความกรุณาช่วยเผยแพร่ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอโทษนะคะ ตอนนี้หนูทำเกี่ยวกับหมอพื้นบ้าน แล้วก็การใช้วัชพืชสมุนไพรในท้องถิ่นหากว่าหนูต้องการบทที่ 1 - 5 ของพี่มาเป็น ไกด์ไลน์ให้งานวิจัยของหนูจะได้หรือไม่ค่ะ หนูขอความกรุณาด้วยนะคะ [email protected]

ดีมากเลยค่ะหลายคนที่มาให้หมอรักษาส่วนมากโรคที่เป็นจะหายขาด

สนใจครับ หากเป็นไปได้ กรุณาเมล์มาให้ด้วยก็จะเป็นพระคุณ จะได้นำเครื่องมือไปสัมภาษณ์หมองู ที่พังงา จะได้แลกเปลี่ยนกันครับ

เพิ่งมาพบงานวิจัยที่บ่งบอกถึงความเป็นอัตตลักษณ์ฉบับแบบชาวบ้านจริงๆ...อยากได้ข้อมูลตั้งแต่บทที่1-5 ครับ...

เพราะกำลังจะเริ่มโครงการอบรมเกี่ยวกับสมุนไพร..และการปลูกสมุนไพรเพื่อมอบเป็นความรู้ให้กับพระนิสิตของ มหาลัยสงฆ์ที่จังหวัดลำพูนครับ...

 

สวัสดีค่ะ คุณกบ ต่ายเป็นน้องสาวของหมอยาสมุนไพรพื้นบ้านในบทความนี้ พึ่งเข้ามาหาข้อมูลเก่าๆของพี่ชายเพื่อที่จะทำเพจในเฟสบุ๊คให้พี่ชายค่ะ ต่ายได้อ่านและมีความภูมิใจในทุกๆคำพูดที่คุณกบเขียน มันมีค่าและมีความหมายมากค่ะถ้าเป็นไปได้ต่ายอยากจะขอแชร์ข้อมูลนี้ได้ไหมค่ะ และท่านใดที่ต้องการจะติดต่อกับหมอสมุนไพรสามารถติดต่อได้ค่ะ พอดีพี่เค้าทำโทรศัพท์หายนานมากแล้วค่ะ เบอร์โทรใหม่ค่ะ 093-228-4963 หมอตึ๋ง 088-303-7014(ภรรยา) 089-705-0289(มารดา)

ยินดีค่ะ สามารถแชร์ต่อได้ค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท