"การประกันสังคม" ในทัศนะท่านพุทธทาส


ดูแล้วก็น่าหัวเราะ การประกันสังคม แม้การประกันการเลี้ยงดูคนแก่ชรา ความฉลาดหรือความขี้ขลาดกันแน่ สำหรับคนโลกสมัยปรมาณูเช่นนี้

"พุทธทาสลิขิตข้อธรรม: บันทึก นึกเองได้ : ว่าด้วยชีวิต สังคม การเมือง สันติภาพและหลักคิดสำคัญๆ" 

เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ปี ๒๕๔๗  มีรูปเล่มเหมือนสมุดบันทึก (ไดอะรี่) ของท่านพุทธทาส ปี ๒๔๙๕ ทุกประการ  กระดาษออกเป็นสีเหลือง จารึกลายมือของท่านพุทธทาส ที่สวยงามเป็นระเบียบ...

หน้าหนึ่งตอนท้ายๆเล่ม   หัวสมุดปรากฎ  "วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๙๕  ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒"

บรรทัดแรก  ท่านพุทธทาสเขียนชื่อเรื่องตัวโตๆ  "ปัญหาการประกันสังคม" 

บรรทัดต่อไปเป็นข้อความ

 "ปัญหาการประกันสังคม" 

          "โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกันสังคมให้คนแก่ชราได้รับการเลี้ยงดู เป็นปัญหาที่สนใจกันและโอ้อวดกันอย่างยิ่ง

             เราเองก็เคยนึกถึงปัญหาข้อนี้  เพราะเป็นอยู่ด้วยการไม่สะสมทรัพย์, ไม่สะสมอำนาจวาสนา, บารมี หรืออะไรต่างๆทุกอย่าง

             แต่พอระลึกถึงพระอรหันต์ในครั้งพุทธกาลขึ้นมาเท่านั้น  สิ่งที่เป็นปัญหาต่างๆมันปลิวหายไปหมด   ความรู้สึกที่ว่า  เจ็บไข้คนเดียว  ตายคนเดียว สบายกว่าอย่างอื่น เกิดขึ้นมาแทน

             ดูแล้วก็น่าหัวเราะ  การประกันสังคม  แม้การประกันการเลี้ยงดูคนแก่ชรา

             ความฉลาดหรือความขี้ขลาดกันแน่  สำหรับคนโลกสมัยปรมาณูเช่นนี้"

 

            เพื่อนคนญี่ปุ่นที่ทำงานพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนชุมชนที่ญี่ปุุุ่น เคยบอกว่า  "การสะสมทรัพย์ใดๆไว้ยามแก่ชรา ไม่จำเป็นเลย ถ้าชุมชนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันจริง"

            

หมายเลขบันทึก: 167411เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราที่เร็วมาก

 โดยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุตั้งแต่65 ปีขึ้นไป (นิยามขององค์การสหประชาชาติ) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 14 ใช้ระยะเวลาเพียง 22 ปี


ในขณะที่ประเทศพัฒนา คือ ฝรั่งเศส สวีเดน สหรัฐอเมริกา อิตาลี ต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่ระหว่าง 63-114 ปี
และประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ใช้ระยะเวลา 26, 25 และ 22 ปี ตามลำดับ

ดิฉันว่า ลำพังเราจะเกื้อกูลกันเอง อาจไม่พอค่ะ

- คิดว่าสำคัญนะค่ะ เพราะระบบการประกันสังคมเราไม่ค่อยเหมือนต่างชาติ เราจึงไม่สามารถรอสังคมหรือระบบประเทศช่วยได้หมดทุกคน การอยู่อย่างมีหลักที่มั่นคง ก็ไม่เสียหลายจนเกินไปหรอกค่ะ พึ่งอย่าเห็นแก่ตัว

ธรรมะ

สวัสดีครับท่านอาจารย์

  • เนื้อความนี้ทำให้นึกถึงคำของย่า (ย่าของเจ้าตัวเล็ก)
  • ย่าถามผมว่า "ย่ารวยหรือไม่"
  • ผมตอบไปว่า "รวย"
  • ย่าถามต่อ "คิดยังไงถึงมองว่าย่ารวย"
  • ผมตอบไปว่า "เพราะย่ามีลูกหลานเยอะ" (ผมหมายความว่า แม้ว่าย่าจะไม่มีเงินสักบาทเดียว แต่สิ่งที่ย่าทำให้กับลูกหลานนั้นคือสิ่งที่จะกลับมาสู่ย่าได้ตลอดเวลาเพียงแค่ย่าเอ่ยปาก หรือจะไม่พูดอะไรเลย ลูกหลานเขาพร้อมที่จะให้ย่าได้ตลอดเวลา เหมือนกับที่ย่าเคยให้ไว้กับลูกหลานก่อนนั้น) เรื่องนี้น่าจะสอดรับกับเนื้อหาที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงได้นะครับ
  • ในส่วนของชุมชน ถ้ามีหนอนบ่อนไส้หรือบุรุษสอดแนมที่ตักตวงเอาเฉพาะความสุขส่วนตัว (อัตสุข) อาจเป็นจุดด่างพร้อยให้คนอื่นเอาอย่าง ผมจึงมองว่า ถ้าทุกคนในชุมชนมีใจเดียวกันก็น่าจะไปได้สวย สามารถสร้างวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมจริงๆขึ้นมาได้
  • ขอบคุณครับ

ที่อ.พุทธทาสลิขิตมันไกลเกินกว่าที่พวกเราคิดไว้

ชีวิตที่ตื่นรู้แม้เพียงราตรีเดียวก็น่าชม ความสั้นยาวของชีวิตไม่มีความหมายใดๆ แต่การแพทย์ปัจจุบันไม่ยอมให้ชีวิตเราได้ตายดี

เราคือผีสดศพหนึ่งเท่านั้น ถ้ามีชีวิตโดยไม่ได้ทำประโยชน์อันใดเลยก็ไม่รู้จะมีชีวิตไปทำไม อย่างน้อยก็คนใกล้ตัวเรานะ

สวัสดีค่ะคุณ sasinanda

ท่านพุทธทาสเขียนเรื่องนี้เมื่อปี 2495  ตอนนั้นยังอยู่ในยุคส่งเสริมให้คนมีลูกมาก  ประชากรเรายังน้อย ปัญหาสังคมคนชรายังไม่เกิด

ปี 2542 ได้รับหนังสือจาก JICA ทำนายว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศถัดไปในเอเชียที่ประสบปัญหาสังคมคนชรา จำนวนคนชราจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว

2547  อาจารย์อัมมารเขียนเรื่องภาคเกษตรและภาคชนบทจะเป็นภาคแรกๆที่ประสบปัญหาสังคมคนชรา เพราะคนหนุ่มสาวอพยพออก  ก่อนหน้านี้ คนทำงานพัฒนาพูดเรื่องคนแก่ถูกทอดทิ้งในชนบท

2549-50 คนเมืองในประเทศไทยเพิ่งเริ่มตื่นตัวกับสังคมคนชรา

ส่วนหนึ่งของสังคมคนชรา  เนื่องจากเด็กเกิดน้อยลง อีกส่วนหนึ่งเนื่องจาก คนมีอายุขัยเฉลี่ยยาวขึ้นเพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์และความสามารถในการจ่ายเรื่องยาและสุขภาพอนามัย

ดิฉันคิดว่า ความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะความเจ็บไข้และเหนี่ยวรั้งความตายจะเกี่ยวข้องกับปรัชญาชีวิตด้วยค่ะ

อาจจะตรงนี้กระมังคะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านพุทธทาสเขียนถึง..

 

คุณเพชรน้อย และ อาจารย์ภีม

เห็นด้วยกับทั้งสองท่านนะคะ

มีนักวิทยาศาสตร์มาถามดิฉันว่า เห็นด้วยกับการ cloning มนุษย์และอวัยวะมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือไม่

ดิฉันตอบว่าไม่เห็นด้วย  เราจะอยู่ไปยาวนานเพื่ออะไรกัน หากหายใจได้แต่ทำประโยชน์ไม่ได้  ไม่แบ่งพื้นที่ แบ่งทรัพยากรบนโลกให้คนรุ่นหลังได้ใช้บ้างหรือ

สวัสดีครับอาจารย์เอก

"คุณย่า" เป็นคุณแม่ในยุคที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีลูกมาก  ตอนนั้นรัฐบาลคิดแค่ให้มี "แรงงาน" ไว้ "ทำงาน" เพื่อ "พัฒนาเศรษฐกิจ"

"คุณย่า" คงเลี้ยงลูกหลานมาอย่างดี  ลูกหลานจึงห้อมล้อมตัวท่านอย่างอบอุ่น ทำให้คุณย่า "รวย" อย่างอาจารย์ว่า :)

คนรุ่นพวกเราลูกหลานน้อยลงแล้ว  ตอนนี้มีแรงอาจพึ่งอินเตอร์เนตเป็นเพื่อน ตอนหมดแรง อาจได้รับแค่เงินสวัสดิการจากรัฐ เพื่อไปซื้อหุ่นยนต์มาป้อนข้าวเหมือนที่เขาทดลองที่ญี่ปุ่นค่ะ

คนในพื้นที่โชคดีที่ยังมี "ชุมชน" มี "เพื่อนบ้าน"  ถ้าไม่รีบสร้างฐานชุมชนตอนนี้  ไม่รีบดึงคนหนุ่มสาวไว้กับพื้นที่ตอนนี้  อนาคตก็คงแย่เหมือนๆกันค่ะ

 

เมื่อวานนี้ นั่งคุยกับอาจารย์อภิชัยและคุณ Bernard ซึ่งเป็น NGO จากอังกฤษ  เขาสนับสนุนชาวมุสลิมแถบชานกรุงลอนดอนให้รวมกลุ่มทำกิจกรรมพึ่งตนเอง หนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ ระบบแลกเปลี่ยนชุมชน

ตอนหนึ่งคุณ Bernard กล่าวว่า  "รัฐสวัสดิการของอังกฤษ ทำลายบทบาทของครอบครัว"

สวัสดิการชุมชนควรช่วยสนับสนุนบทบาทของครอบครัว ไม่ใช่ไปทำหน้าที่แทนครอบครัว   

  • "เงิน" ทำหน้าที่ได้เพียง "ซื้อ-ขาย" (ซื้อบริการจากทุกที่ที่ซื้อได้) และเป็น"แรงจูงใจ"  ("ล่อใจ")
  • "เงิน" ทำหน้าที่ "ดูแล" แทน "คน" ไม่ได้
  • บางครั้งเราเตรียมเงินสวัสดิการ แต่ลืมเตรียมคนไว้   คิดว่ามีเงินก็หาคนได้ 
  • แต่ประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นบอกว่า "ไม่ใช่"
  • อาจารย์ครับ  ฝากอ่านบล็อกครูบาสุทธินันท์  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ครับ  อิอิ
  • http://gotoknow.org/blog/sutthinun/167436

ความเห็นต่อเรื่องประกันสังคม

การพิจารณาในทางโลกและทางธรรมมันน่าจะต่างกัน อาจจะสุดขั้วเลยทีเดียว

ทางโลกมันมีความจำเป็นอย่างมากที่จำเป็นต้องมีการเตรียมการตอนแก่ เนื่องจากความสามารถในการยังชีพมันคงน้อยลง จะด้วยวิธีการใช้ระบบประกันสังคมหรืออื่นอื่น ตามความสามารถของตัวประชาชนเองหรือ รัฐ ก็แล้วแต่ ซึ่งดูเหมือนเป็นปัญหาที่ต้องจัดการอย่างจริงจังและเร่งด่วน

ในทางธรรม การแก่ตายเป็นเรื่องธรรมดา ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องความเสื่อมของรูป  ปัญหาคือการพัฒนาจิตตัวเองให้ลดโลภลง ผู้ที่เข้าใจธรรม เขาจะเตรียมกายเตรียมใจด้วยความไม่ประมาท เขาจะมีน้อยกินน้อย รักษารูปเขาให้ดี ทำใจได้ถ้ามีทุกข์กายทุกข์ใจ  เขาเตรียมทรัพย์ทางใจเอาไว้แล้ว เขาเตรียมตัวที่จะตายเอาไว้พร้อมที่จะเกิดไปใช้กรรมใหม่ ตามธรรมชาติแห่งวัฏฏสงสาร

เขาไม่คิดมากเรื่องการประกันสังคมหรอกครับ ...ผมว่านะ

  • เรื่องทางธรรม เกรงว่า น้อยคนทำใจได้
  • เรื่องทางโลก เกรงว่า น้อยคนทำตัวให้พร้อมได้
  • ถ้าเราไม่หันเข้าเผชิญข้อเท็จจริง เกรงว่า เราจะไม่สามารถเตรียมพร้อม ไม่ว่าทางโลก หรือทางธรรม คือ แก่อย่างคับแค้น ตายอย่างอนาถา
  • การเตรียมเงิน เป็นเสี้ยวเล็ก ๆ ของการเป็นเบาะรองทางสังคม ซึ่งบางคน อาจใช้เงินเป็นเบาะรอง บางคน ใช้ลูกหลานเป็นเบาะรอง และบางคน ก็ใช้เครือข่ายชุมชน เป็นเบาะรอง
  • ที่อาจารย์ ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ ว่าไว้

บางครั้งเราเตรียมเงินสวัสดิการ แต่ลืมเตรียมคนไว้   คิดว่ามีเงินก็หาคนได้  แต่ประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นบอกว่า "ไม่ใช่"

  • ก็คงสะท้อนให้เห็นว่า เงิน อาจไม่ใช่เบาะรองที่ดีที่สุดเสมอไป

เรียนคุณหมอ

เข้าไปอ่านแล้วค่ะ  ขอบคุณมากค่ะ  ครูบาฯมี "มุม" และ มี "มุข" เสมอ

คุณศักดิ์ณรงค์

ขอบคุณมากค่ะ

"ความจริงแท้ ไม่เคยจางหายในโลกธรรม"

 

คุณชินคะ

มุมมองทางโลกและทางธรรม ถ้าเคลื่อนเข้าหากันได้ก็คงจะได้สมดุลที่ดีสำหรับผู้คนที่ยังอยู่บนโลกค่ะ

ขอบคุณค่ะ

คุณ wwibul

มีข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

  • ที่ญี่ปุ่น นอกจากมีการเตรียมหุ่นยนต์ไว้ดูแลคนชราแล้ว
  • น้องที่เพิ่งไปดูงานที่ญี่ปุ่น บอกว่าตอนนี้ บางเมืองตั้งศูนย์อาสาสมัคร  มีคนหนุ่มสาวไปร่วมกิจกรรมพอสมควร   จากงานที่เคยอ่านก็เห็นความพยายามของญี่ปุ่นที่ใช้ระบบเงินตราชุมชนและระบบอื่นๆมาหนุนเสริมการเป็นอาสาสมัคร
  • อ้อ  ความพยายามอีกอย่างของญุี่ปุ่นก็คือ การทำ FTA มาใช้เมืองไทยเป็นศูนย์ดูแลคนชรา  เพราะไทยยังมีแรงงาน (ที่หาได้ง่ายด้วยการจ้างในราคาที่สูงกว่า... หนุ่มสาวไทยก็จะดูแลคนชราญี่ปุ่น เพือหาเงินส่งให้พ่อแม่ผู้ชราไปหาซื้อข้าวซื้อปลากินกันเอาเอง..)

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดีๆเสมอๆนะคะ

 

"รัฐสวัสดิการของอังกฤษ ทำลายบทบาทของครอบครัว"

สวัสดิการชุมชนควรช่วยสนับสนุนบทบาทของครอบครัว ไม่ใช่ไปทำหน้าที่แทนครอบครัว"

--------------

แน่นอนว่าสวัสดิการของรัฐที่ประเทศไหนก็แล้วแต่ ย่อมมีผลในการลดบทบาทของครอบครัว (เพราะความจำเป็นที่จะต้องให้ครอบครัวทำหน้าที่นี้น้อยลง)

แต่ผู้ที่พูดทำนองนี้ก็ควรต้องพิจารณาดูด้วยว่า ขณะที่ยังไม่มีสวัสดิการของรัฐนั้น ครอบครัว(อาจจะรวมชุมชนด้วย) เป้นที่พึ่งพิงให้คนได้มากน้อยแค่ไหน (ถึงแม้ในสังคมที่ครอบครัวเป็นที่พึ่งได้ 75-80% ก็หมายความว่าคนชราทุก 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 คน ไม่สามารถพึ่งสถาบันนี้ได้    

ขอบคุณค่ะคุณ grnjvo  เป็นการตั้งประเด็นที่ดี ชวนคิดค่ะ

ในเรื่องการดูแลคนในครอบครัว  ดิฉันยังไม่เห็น "ความจำเป็นที่จะต้องให้ครอบครัวทำหน้าที่นี้น้อยลง"  ตราบใดที่สังคมมนุษย์ยังต้องการความรัก ความเอื้ออาทร

อย่างไรก็ดี  เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า  บทบาทครอบครัวในปัจจุบันอ่อนแอลงไปอยู่แล้วด้วยบริบทเศรษฐกิจสังคม    รัฐจึงได้เข้าไปหนุนเสริม   แต่คิดแบบตะวันตกนั้น คิดแบบปัจเจกค่อนข้างมาก จึงละเลยเรื่องระบบความสัมพันธ์ของคน

รัฐอยู่ไกลจึงทำได้แค่ส่งเงิน ที่ผ่านมา รัฐไทยส่งเงินให้คนชรา  ถึงบ้าง ไม่ถึงบ้าง บางที่ลูกหลานมารับเงินแล้วหายไปเลย (เพราะแม่ลูกอยู่คนละที่)

แต่ชุมชนอยู่ใกล้น่าจะทำได้ดีกว่านั้น   หากตระหนักถึงบทบาทของครอบครัวก็สามารถออกแบบได้   เช่น  รัฐสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนช่วยจัดการ  และคงต้องออกแบบระบบเชิงซ้อน  เช่น

  • หากคนชราอยู่กับครอบครัวอยู่แล้ว  ก็อาจสนับสนุนงบฯให้ลูกหลานได้
  • หากคนชราอยู่ลำพัง  งบก็เข้ากองทุนของชุมชนที่ต้องจัดหาผู้คนมาช่วยดูแล ผสมระบบอาสาสมัคร   (ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ  ธนาคารโลกศึกษาพิสูจน์มาแล้วว่า สถาบันครอบครัวและชุมชนของไทยมีศักยภาพมากในเรื่องนี้   ข้อเท็จจริงในพื้นที่ก็บอกเช่นนั้นค่ะ)
  • ขณะเดียวกัน ก็ใช้งบฯจัดกิจกรรมที่หนุนเสริมการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว  เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งส่งผลในระยะยาว

หลายชุมชนในเมืองไทยมีความเข้าใจที่ชัดเจนต่อเรื่องเหล่านี้และออกแบบได้ดีทีเดียวค่ะ

จุดเริ่มต้นอยู่ที่การตระหนักว่า   "ใครจะดูแลคนชราได้ดีที่สุด...ถ้าไม่ใช่ลูกหลาน"

 

คห. ข้างบนผมควรจะเขียนในวงเล็บว่า "(เพราะการมีสวัสดิการของรัฐในเรื่องหนึ่งเรื่องใดย่อมทำให้ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งครอบครัวในเรื่องนั้นน้อยลง)" 

แต่เข้าใจว่า อ. คงจะเข้าใจในสิ่งที่ผมเขียนอยู่แล้ว

แน่นอนว่า ถ้ามีสวัสดิการของรัฐแล้วคนในครอบครัวยังทำหน้าที่เหมือนเดิม ในหลายกรณีก็จะช่วยเสริมให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น

แต่ในบางกรณี การมีสัวสดิการของรัฐแล้วทำให้พึ่งครอบครัวน้อยลงก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน (เช่น ลูกหลานที่มีภาระลดลงก็อาจจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวใหม่ของตัวเองดีขึ้น)

หรือในบางครั้ง การมีสวัสดิการของรัฐที่ดีพอ จนอาจทำให้ "ครอบครัวแตกแยก" ง่ายขึ้น (เช่น ทำให้ผู้หญิงหลายคนมีทางเลือกและเสรีภาพที่จะเลือกมากขึ้น แทนที่จะต้องจำใจฝืนทนอยู่เป็น "ครอบครัว" กับ "สามี" ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ) ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมก็ได้ (ถึงแม้ว่าว่าบนกระดาษเราจะเห็นตัวเลขการหย่าร้างเพิ่มขึ้นก็ตาม)

 

คุณ คห.17

เป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจ  ขอบคุณมากค่ะ

อยากปล่อยวางให้ได้แบบที่ท่านพุทธทาสสอนบ้าง แต่ยากเหลือเกินเมื่อชีวิตยังดำเนินอยู่บนโลกนี้แบบกิเลสหนาอย่างตัวเอง

ฟังสิ่งที่ท่านพุทธทาสสอนแล้วดูคล้ายบางบทในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลที่พระเยซูสอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชีวิตควรดำเนินไปให้ถึง เพื่อจะพบความสุขแท้ แต่ยากเหลือเกิน...

"เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากระวนกระวายถึงชีวิตของตนว่าจะเอาอะไรกิน อะไรดื่ม จะเอาอะไรนุ่งห่ม ชีวิตสำคัญยิ่งกว่าอาหารมิใช่หรือ และร่างกายสำคัญกว่าเครื่องนุ่งห่มไม่ใช่หรือ

จงดูนกในอากาศ มันมิได้หว่าน มิได้เกี่ยว มิได้สั่งสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระเจ้าในสวรรค์ทรงเลี้ยงนกไว้ ท่านทั้งหลายมิประเสริฐกว่านกหรือ...

เหตุฉะนั้น อย่ากระวนกระวายถึงพรุ่งนี้ เพราะว่าพรุ่งนี้คงมีการกระวนกระวายสำหรับพรุ่งนี้เอง แต่ละวันก็มีทุกข์พออยู่แล้ว" (มธ.6 : 25-34)

 

 

"แต่ละวันก็มีทุกข์อยู่พอแล้ว"...

เคยติดกับดักความคิดตัวเองไหมคะ...

ความทุกข์ทั้งหลายผ่านสัมผัสทั้งห้าเข้าสู่การคิด  ยิ่งคิดมากยิ่งทุกข์มาก  หยุดคิด คือจิตนิ่ง  ก็คงพอจะเป็นสุข  หรือคิดในเชิงบวกก็คงเป็นสุข (คือทุกข์น้อย) ตามอัตตภาพ ในช่วงเวลาสั้นๆก็ยังดี ฝึกบ่อยๆคงจะสงบได้นานขึ้น ก็จะสุขได้นานขึ้น  .... ตัวเองไม่ใช่นักปฏิบัติเรื่องสมาธิวิปัสสนาแต่อย่างได

แนวของเซนเป็นการสร้างความสุขที่ง่าย  ใจอยู่กับตัวในทุกอิริยาบท  คิดปัจจุบันอย่างสร้างสรรค์  คือ มีเมตตาต่อตนเองและต่อทุกสรรพสิ่ง.. แค่เอาใจเขามาใส่ใจเราได้  ก็เยี่ยมแล้วค่ะ

ไม่เคยคิดจะอยู่ยาวๆนะคะ .. หมดประโยชน์เมื่อไหร่ก็พร้อมจะไป  แต่ถ้าไปขณะที่ยังพอทำประโยชน์ได้ก็ไม่ว่ากัน....

ยุคนี้ไม่ใช่ยุคปรมาณู แต่เป็นยุคสังคมสูงวัย ( aging society ) พูดง่ายๆ คนแก่เต็มเมือง ถ้าสวัสดิการไม่พอ และเงินเกษียนไม่พอ ทีนี้เดือดร้อนแน่ คนแก่แบมือขอตังค์ แล้วพวกที่ีต้องพึ่งพาการบริจาค เช่น วัดหรือองค์กรการกุศล จะไม่มีคนมาบำบุญทำทาน  เพราะคนรุ่นลูก คงต้องเอาเงินไปเลี้ยงดูพระอรหันต์ในบ้านแทน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท