Nan & Ball Chongbunwatana
นายและนาง คมกฤชและประณยา จองบุญวัฒนา

10: บทบาทสตรีในสังคมมุสลิม


การที่พวกผู้หญิงได้รับการยกเว้นว่าไม่จำเป็นต้องไปละหมาดในมัสยิดวันละ 5 ครั้งเช่นพวกผู้ชาย มองได้สองมุมว่า เป็นข้อ “จำกัด” หรือ “อภิสิทธิ์”

บทความนี้ มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่กงสุลในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังเช่นที่ประเทศบังกลาเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2550 มีประเด็นผู้หญิงไทยมีปัญหากับสามีที่นับถือศาสนาอิสลาม เข้ามาปรึกษาผู้ที่ทำกงสุลที่สถานทูตไทย สำหรับแณณนั้น ต้องยอมรับกันตามตรงว่า ไม่ค่อยถนัดงานด้านกงสุลเท่าไรนัก เพราะเท่าที่สัมผัสก็ทราบได้ว่าตัวเองจะทำได้ไม่ค่อยดี เพราะไม่ค่อยมีใจให้ แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย และที่สถานทูตก็ไม่มีใครที่จบกฎหมาย แณณก็พยายามหาซื้อหนังสือกฎหมายครอบครัวอิสลาม และ พยายามหาผู้ที่รู้จักที่สามารถปรึกษาด้วยได้เพื่อจะได้ช่วยงานสถานทูตแม้จะนั่งอยู่ที่บ้านก็ตาม แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่สามารถติดต่อกับผู้รู้ได้ จึงต้องขวนขวายหาข้อมูลไว้เอง และจะได้นำไปให้ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านนี้ที่สถานทูตต่อไป  (ปัจุบันสามีปฏิหน้าที่ด้านการเมือง สารนิเทศ และวัฒนธรรม ซึ่งแณณสนใจกว่างานกงสุลมากค่ะ)

วัฒนธรรมของคนมุสลิมที่นี่ เคร่งมากค่ะ ไปมัสยิดวัน 5 ครั้ง และไม่ดื่มของมึนเมาทั้งหญิงและชาย คนมุสลิมจึงจัดว่าเป็นคนที่เรียบร้อยมาก

                                                  บทบาทสตรีในสังคมมุสลิม
คำนำ

มุสลิมหรือผู้ที่ปฏิบัติยึดถือตามแนวของอิสลามนั้นมีอยู่เป็นจำนวนกว่าสองพันล้านในโลก และในประเทศไทยเองก็มีผู้นับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือยะลา ปัตตานี และนราธิวาสนั้น มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90

ในอดีต การที่บุคคลต่างศาสนาจะเรียนรู้และเข้าใจในหลักของอิสลามนั้นเกือบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะขาดความเข้าใจในภาษาอาหรับเป็นเบื้องต้น และขาดการสื่อสารและเข้าถึงคนในสังคมมุสลิมเป็นเรื่องรองตามมา ความไม่รู้และไม่เข้าใจนี้ทำให้เกิดการตัดขาดระหว่างสังคม ต่างคนต่างอยู่ และเมื่อเกิดความผิดพลาดแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทำความเสียหายได้มากมาย

สตรีในสังคมมุสลิมเป็นประเด็นที่คนนอกสังคมมุสลิมไม่รู้และเข้าใจผิดกันมาก และเมื่อมองจากภายนอกด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจแล้ว ภาพพจน์ของสตรีในสังคมมุสลิมอาจจะกลายเป็นบุคคลลึกลับ บุคคลที่มีสถานภาพเป็นที่กังขาในความเท่าเทียมกับบุรุษ เป็นประเด็นที่ผู้เลื่อมใสในลัทธิเพศนิยม (feminism) หยิบยกมาโจมตีในเวทีโลกอยู่เนืองๆ และแม้กระทั่งในบางสังคมมุสลิมเองที่ผู้หญิงยังมีโอกาสเล่าเรียนน้อยก็อาจจะไม่รู้ถึงสถานภาพ สิทธิและหน้าที่ของพวกเธอในสังคมก็ได้

การจะศึกษาทำความเข้าใจสถานภาพและบทบาทของสตรีมุสลิมในแต่ละสังคมอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างตามเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ประเทศ ตลอดจนลัทธิการปกครอง แต่ทุกสังคมมุสลิมย่อมมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการยึดถือตามแนวทางของอิสลาม ตามคำสอนในพระอัลกุรอานและตลอดจนคำสอนของนักวิชาการศาสนาท่านอื่นๆ ดังนั้น หากจะเริ่มกันที่หลักคำสอนของอิสลามแล้ว การเรียนรู้และทำความเข้าใจในสถานภาพ สิทธิและหน้าที่หรือคุณสมบัติของสตรีตามแนวทางอิสลาม จะเป็นปฐมบทเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในสังคมมุสลิม ไม่ว่าสังคมหรือชุมชนนั้นจะอยู่ที่ใดในโลก

อัลกุรอานและสตรี
อัลกุรอานกำหนดบทบาทของผู้หญิงไว้ชัดเจนทั้งในฐานะที่เป็นบุตรี เป็นภรรยา เป็นแม่ เป็นสมาชิกของสังคม และเป็นเอกบุคคล หากเราจะเรียก "บทบาท" เหล่านั้นว่า "สิทธิ" ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะว่าเป็นการคุ้มครองหรือรับรองผู้หญิงในทุกๆ เรื่องนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ได้แก่
  • สิทธิในการเป็นสมาชิกของครอบครัว โดยการแต่งงาน การได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว สิทธิในการหย่าร้าง และบทลงโทษในการทำความผิดในทางเพศ
  • สิทธิในการทำงาน หาเลี้ยงชีพ และการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
  • สิทธิในการแสวงหาความรู้
  • สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในครอบครัวและสังคม
  • สิทธิในทางกฎหมาย ได้แก่ การทำสัญญา เป็นพยาน และการมีส่วนในมรดก

  • สิทธิในครอบครัว

  • เมื่อชายและหญิงร่วมชีวิตคู่ด้วยกันนั้น อิสลามถือว่าทั้งคู่เป็น "หุ้นส่วน" ที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน และบทบาทของหญิงในการดำรงสถานภาพครอบครัวนั้นมิได้ด้อยไปกว่าชายเลยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิทธิหรือหน้าที่ ดังพระดำรัสที่ว่า

    "โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริง เราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิงและเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน" (อัลกุรอาน 49 : 13)

    "มนุษยชาติทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้า ที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (คือท่านนบี อาดัม) และได้ทรงบังเกิดจากชีวิตนั้นซึ่งคู่ครองของเขา (ท่านหญิงฮาวา) และได้ทรงให้แพร่สะพัดไปจากทั้งสองนั้น ซึ่งบรรดาชายและบรรดาหญิงอันมากมาย และจงยำเกรงอัลลอฮฺที่พวกเจ้าต่างขอกัน (ความช่วยเหลือ) ด้วยพระองค์ และพึงรักษาเครือญาติ (ให้เอาใจใส่และระมัดระวังในสิทธิและหน้าที่ต่างๆ อันพึงมีต่อญาติ มิฉะนั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ขาดตอนลง) แท้จริง อัลลอฮฺทรงสอดส่องดูพวกเจ้าอยู่เสมอ" (อัลกุรอาน 4 : 1)

    เมื่อชายและหญิงจะร่วมชีวิตด้วยกันโดยการแต่งงานนั้น ตามค่านิยมของสังคมมุสลิมหญิงพึงได้รับ "ของขวัญ" จากฝ่ายชาย ซึ่งเรียกกันว่า มะฮัร (mahr, mehr หรือ meher) ของขวัญนี้อาจจะเป็นสิ่งของที่มีค่า อสังหาริมทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ในการลงทุน ซึ่งมุสลิมไม่ถือว่าเป็น "ค่าตัว" ของเจ้าสาว และก็อาจจะมีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า มะฮัร ที่จะได้รับนี้จะแบ่งออกเป็นมากกว่าหนึ่งส่วนก็ได้ คือส่วนหนึ่งจะได้เมื่อแต่งงาน และส่วนที่เหลือจะได้รับเมื่อเธอเป็นม่ายโดยการหย่าร้างหรือเมื่อสามีตาย ดังนั้น มะฮัร จึงเปรียบเสมือนเป็นหลักประกันให้กับฝ่ายหญิงมากกว่าสินสอดหรือสินสมรส

    นอกจากนี้ในบางสังคมยังมีการระบุไว้เมื่อชายและหญิงจะแต่งงานกันว่าทั้งคู่จะอยู่ที่ไหน ภรรยามีสิทธิที่จะขอหย่าหรือไม่

    อย่างไรก็ตามในสังคมมุสลิมทั่วไปไม่มีการเขียนข้อตกลงเหล่านี้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นการ
    ตกลงก่อนแต่งงานจึงเป็นเพียงคำพูดหรือวาจาที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องยึดถือ

    แม้การหย่าหรือ Talaq ในสังคมมุสลิมจะเป็นเรื่องที่เกิดจากฝ่ายชายเป็นผู้ริเริ่มโดยกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถหย่าได้ เช่นต้องมีระยะเวลาการแยกกันอยู่และกระบวนการอื่นๆ แต่ก็อนุญาตให้มีการหย่าที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ริเริ่ม คือ ฟ่าซัค "การฟ้องหย่า" หรือ Khulah "การหย่าโดยมีค่าตอบแทน" ได้ในกรณีที่มีปัญหาร้ายแรง เช่น การทุบตีเป็นประจำหรือไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ไม่ว่าจะเป็นการขอหย่าโดยฝ่ายใดเป็นผู้ริเริ่มก็ตาม ภรรยามีสิทธิที่จะเก็บ มะฮัร ที่เธอได้รับเมื่อแต่งงานเอาไว้ รวมทั้งจะได้รับทรัพย์สินอื่นๆ ที่ตกลงกันไว้เมื่อครั้งแต่งงาน เธอจะได้รับค่าเลี้ยงดูบุตรจนกว่าจะถึงกำหนดหย่านม แต่หลังจากนั้นสังคมมุสลิมทั่วไปให้บิดามีสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร

    ตามกฎหมายอิสลามหรือ ชะรีอะฮ์ นั้น มีการกำหนดบทลงโทษที่สามีจะกระทำต่อภรรยาเอาไว้หลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การปรับความเข้าใจกันด้วยเหตุผลไปจนตำหนิด้วยคำพูด จากนั้นจึงแยกกันอยู่ชั่วคราวเพื่องดเว้นความสัมพันธ์ และหากฝ่ายหญิงยังไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองก็จะถึงบทลงโทษที่มีการแปลความหมายว่า "เฆี่ยน" หรือ idribuhunna ดังพระดำรัสที่ว่า

    "บรรดาชายนั้นคือผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิง (ภริยา) เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน (ชายร่างกายแข็งแรง กล้าหาญ จึงให้ทำหน้าที่ปกครองและเลี้ยงดูหญิง) และด้วยการที่พวกเขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา (ในการเลี้ยงดูภริยา) บรรดากุลสตรีนั้นคือผู้จงรักภักดี ผู้รักษาในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ลับหลังสามี (รักษาความบริสุทธิ์ของนางและทรัพย์สมบัติขณะสามีไม่อยู่) เนื่องด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักษาไว้ (กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสามีต้องปฏิบัติ ตั้งแต่การให้มะฮัร และค่าใช้จ่ายในชีวิตความเป็นอยู่ของนางทุกอย่าง) และบรรดาหญิงที่พวกเจ้าหวั่นเกรงในความดื้อดึงของนางนั้น (เกรงว่านางจะประพฤตินอกลู่นอกทางอันก่อให้เกิดความเสื่อมเสียในครอบครัว) ก็จงกล่าวตักเตือนนาง และทอดทิ้งนางไว้แต่ลำพังในที่นอน (เพื่อให้เกิดความสำนึกผิด) และจงเฆี่ยนนาง (เพื่อให้เข็บหลาบ โดยไม่เกิดบาดแผลหรือรอยช้ำบวม) แต่ถ้านางเชื่อฟังพวกเจ้าแล้ว ก็จงอย่าหาทางเอาเรื่องแก่นาง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกร" (อัลกุรอาน 4 : 34)

    มีการถกเถียงกันมากว่า idribuhunna นั้นหมายถึงการ "เฆี่ยน" จริงหรือ หากจริงสามีมีสิทธิที่จะตีแรงขนาดไหน ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการศาสนาสมัยใหม่ Abul' Ala Maududi ได้เขียนไว้ใน Tafheen Al-Qur'an ว่าการเฆี่ยนนั้นจะต้องไม่เฆี่ยนที่ใบหน้าและต้องไม่แรงจนกระทั่งทำให้เกิดบาดแผนหรือรอยช้ำบวม และนักการศาสนาคนอื่นๆ ก็มีความเห็นตรงกันว่าการลงโทษโดยการ "ไม่เฆี่ยน" นั้นควรกระทำมากกว่าการ "เฆี่ยน" และการเฆี่ยนควรจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่สามีพึงลงโทษภรรยา

    ดร.อาหมัด ซาฟัด กล่าวไว้ว่า ตามหลักศาสนาแล้วผู้หญิงไม่จำเป็นต้องยอมรับการลงโทษโดยการเฆี่ยนเธอสามารถจะขอหย่าได้ หากสามี "เฆี่ยน" เธอโดยไม่เคารพในข้อจำกัดตามที่อัลกุรอานและฮาดิษกำหนดไว้ เธอสามารถนำเรื่องไปร้องเรียนต่อศาลได้ และหากพบว่าคำร้องของเธอมีมูล ศาลอาจจะสั่งให้ลงโทษสามีโดยการเฆี่ยนเช่นเดียวกับที่เขาเฆี่ยนเธอก็ได้

    แม้สตรีในสังคมมุสลิมจะได้รับสิทธิหรือความคุ้มครองในสถานภาพทางครอบครัวดังเช่นที่กล่าวแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าเธอจะมีสิทธิหรือได้รับความคุ้มครองเมื่อกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดทางประเวณี ทั้งนี้เพราะหลักคำสอนเบื้องต้นของอิสลามถือว่าครอบครัวหรือเผ่าจะเสื่อมเสียเกียรติอย่างยิ่งหากผู้หญิงในครอบครัวหรือเผ่ากระทำความผิดทางเพศ ในสังคมมุสลิมบางประเทศได้มีการระบุความผิดของหญิงที่ทำผิดประเวณีว่ามีโทษถึงตาย แต่ตามกฎหมายอิสลามแล้วก่อนจะมีการลงโทษจะต้องมีการไต่สวนและต้องมีข้อพิสูจน์ถึงความผิดอย่างชัดเจน เช่น มีพยานรู้เห็นหรือมีการตั้งครรภ์

  • สิทธิในการทำงาน หาเลี้ยงชีพ และการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

  • สตรีในสังคมมุสลิมมีหน้าที่เท่าเทียมกับชายในสถานภาพทางครอบครัว ดังนั้น เธอจึงมีสิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนจากการทำหน้าที่เหล่านั้นโดยการยอมรับถึงการเป็นอิสระในบุคลิกภาพ หรือการเป็นเอกบุคคลที่มีความคิดและจิตวิญญาณเป็นของตนเอง ดังเช่นที่พระดำรัสกล่าวไว้ว่า

    "แล้วพระเจ้าของพวกเขาก็ตอบรับพวกเขาว่า แท้จริง ข้าจะไม่สูญเสียซึ่งงานของผู้ทำงานคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้า ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม โดยที่บางส่วนของพวกเจ้านั้นมาจากอีกบางส่วน (มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน สืบสายเลือดมาจากอาดัมมนุษย์คนแรกของโลก) บรรดาผู้ที่อพยพและที่ถูกขับไล่ให้ออกจากหมู่บ้านของพวกเขา และได้รับความเดือดร้อนในทางของข้า และได้ต่อสู้และถูกฆ่าตายนั้น แน่นอนข้าจะลบล้างให้พ้นจากพวกเขา ซึ่งบรรดาความผิดของพวกเขา และแน่นอนข้าจะให้พวกเขาเข้าบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีบรรดาแม่น้ำไหลอยู่เบื้องล่างของสวนสวรรค์เหล่านั้น ทั้งนี้เป็นรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้น ณ พระองค์มีการตอบแทนที่ดีงาม" (อัลกรุอาน 3 : 195)

    "และบรรดามุมินชาย และบรรดามุมินหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน (ต่างก็ช่วยเหลือกัน) ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ชอบและห้ามปรามในสิ่งที่ไม่ชอบ และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายชะกาต และภักดีต่ออัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์ ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ" (อัลกุรอาน 9 : 71)

    "แท้จริงบรรดาผู้นอบน้อมชายและหญิง บรรดาผู้ศรัทธาชายและหญิง บรรดาผู้ภักดีชายและหญิง บรรดาผู้สัตย์จริงชายและหญิง บรรดาผู้อดทนชายและหญิง บรรดาผู้ถ่อมตัวชายและหญิง บรรดาผู้บริจาคทานชายและหญิง บรรดาผู้ถือศีลอดชายและหญิง บรรดาผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขาที่เป็นชายและหญิง บรรดาผู้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากที่เป็นชายและหญิงนั้น อัลลอฮฺได้ทรงเตรียมไว้สำหรับพวกเขาแล้ว ซึ่งการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง" (อัลกุรอาน 33 : 35)

    "ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาชาย และผู้ศรัทธาหญิงเมื่ออัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกในเรื่องของพวกเขา และผู้ใดไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์แล้ว แน่นอนเขาได้หลงผิดอย่าชัดแจ้ง" (อัลกุรอาน 33 : 36)

    อิสลามมิได้ห้ามสตรีไม่ให้ทำงาน แม้ว่าจะเน้นว่างานเบื้องต้นของสตรีคือการดูแลครอบครัวและบ้าน มุสลิมหลายคนเชื่อว่าผู้หญิงควรจะทำงานก็ต่อเมื่องานนั้นไม่ขัดต่อคำสอนของศาสนา ซึ่งมีการแปลความว่าคืองานที่ไม่ทำให้เธอเสื่อมเกียรติในฐานะสตรี ซึ่งในหลายสถานการณ์ก็ได้แปลความว่าจะต้องเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับชายอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัว

    ในบางสถานที่กฎหมายอิสลามอนุญาตให้สามีหรือบิดาห้ามผู้หญิงมิให้ทำงานได้ และหากเธอมีงานอาชีพของตนเองแล้ว ก็ไม่มีข้อบังคับแต่ประการใดว่าเธอจะต้องแบ่งปันรายได้ให้ครอบครัวหรือสามี แต่ในทางกลับกันแล้ว สามีมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูภรรยาด้วยรายได้ที่หามาได้

    นอกจากสตรีจะมีสิทธิในการทำงานและหาเลี้ยงชีพแล้ว เธอยังมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และเธอมีสิทธิที่จะถือครองทรัพย์สินที่มีก่อนการแต่งงานโดยไม่ต้องแบ่งปันให้สามี ซึ่งในทางกลับกันทรัพย์สินใดๆ ของสามีนั้นจะถูกใช้ในการเลี้ยงดูสมาชิกทุกๆ คนในครอบครัว รวมทั้งเธอได้รับการยกเว้นจากความรับผิดชอบทางการเงินของครอบครัวด้วย

  • สิทธิในการแสวงหาความรู้

  • นบีมุฮัมมัดประกาศว่า มุสลิมทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงมีสิทธิในการแสวงหาความรู้ ดังนั้น ผู้หญิงในสังคมมุสลิมจึงมีสิทธิในการเล่าเรียนเท่าเทียมกับชาย และแม้ว่าเธอจะแต่งงานแล้ว สามีก็ไม่มีสิทธิห้ามเธอ
    มิให้ออกจากบ้านเพื่อไปเล่าเรียนหลักคำสอนของศาสนา ในสังคมอิสลามแต่โบราณมีนักวิชาการศาสนาที่เป็นผู้หญิงมากมาย หลายคนมีตำแหน่งสำคัญในมัสยิด นักการศาสนาเหล่านั้นสามารถจะเป็นอิหม่ามหรือนำละหมาดในกลุ่มสตรีล้วนได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำละหมาดหากผู้ละหมาดเป็นชายและหญิงคละกันทั้งสองเพศ

  • สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในครอบครัวและสังคม

  • เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน ภรรยาและสามีมีอิสระเท่าเทียมกันที่จะแสดงความคิดเห็น และสามีก็ไม่มีสิทธิอันใดที่จะกล่าวร้ายภรรยาเกินจริง หากการโต้แย้งในครอบครัวจะนำไปสู่การงดความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา ก่อนที่ทั้งคู่จะมาคืนดีกันนั้น จะต้องมีข้อปฏิบัติให้กระทำความดี เช่น ปล่อยทาส ถือศีลอด หรือให้ทานแก่คนจน ทั้งนี้เพื่อปรามไม่ให้สามีภรรยามีความขัดแย้งกันบ่อยครั้ง

    "โดยแน่นอน อัลลอฮฺทรงได้ยินถ้อยคำของสตรีที่กำลังโต้แย้งกับเจ้าในเรื่องของสามีของนาง และนางได้ร้องทุกข์ต่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นทรงได้ยินการตอบโต้ของเจ้าทั้งสอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรู้เห็นเสมอ" (อัลกุรอาน 58 : 1)

    "บรรดาผู้เปรียบเทียบภรรยาของพวกเขาในหมู่พวกเจ้าว่าเสมือนแม่ของพวกเขานั้นพวกนางมิได้เป็นแม่ของพวกเขา บรรดาแม่ของพวกเขามิได้เป็นอื่นใด นอกจากเป็นผู้ให้กำเนิดพวกเขาเท่านั้น และแท้จริงพวกเขานั้นกล่าวคำพูดที่น่าเกลียดและกล่าวเท็จ และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ทรงยกโทษให้เสมอ" (อัลกรุอาน 58 : 2)

    "และบรรดาผู้เปรียบเทียบภรรยาของพวกเขาว่าเสมือนแม่ของพวกเขานั้น แล้วพวกเขาจะคืนสู่ถ้อยคำที่พวกเขาได้กล่าวไว้ ดังนั้น (สิ่งที่จำเป็นแก่เขาต้องปฏิบัติคือ) การปล่อยทาสหนึ่งคน ก่อนที่เขาทั้งสองจะแตะต้องต่อกัน (ร่วมหลับนอน) นั่นคือสิ่งที่พวกเจ้าถูกเตือนเอาไว้ (ใช้ให้ปฏิบัติ) และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ" (อัลกุรอาน 58 : 3)

    "ส่วนผู้ที่ไม่สามารถหา (ทาส) ได้ ก็ต้องถือศีลอดสองเดือนติดต่อกัน ก่อนที่เขาทั้งสองจะแตะต้องต่อกัน (ร่วมหลับนอน) สำหรับผู้ที่ไม่สามารถจะถือศีลอดได้ก็ต้องให้อาหารแกคนยากจนจำนวนหกสิบคน ทั้งนี้เพื่อจะให้พวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ นั่นคือขอบเขตของอัลลอฮฺ และสำหรับพวกปฏิเสธศรัทธานั้นจะได้รับการลงโทษอย่างเจ็บปวด" (อัลกรุอาน 58 : 4)

    สตรีในประวัติศาสตร์อิสลามได้เคยแสดงความเห็นในเรื่องของกฎหมาย ประโยชน์สาธารณะ และเป็นฝ่ายขัดแย้งกับคอลีฟะฮ. (ผู้ปกครองมุสลิม) จนกระทั่งคอลีฟะฮ. ต้องยอมรับข้อโต้แย้งของพวกเธอเหล่านั้น ดังเช่นที่บันทึกไว้ในสมัยของคอลีฟะฮฺ Umar Ibn AI-Khattab

    สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของสตรีมุสลิมอาจจะมาจากการมีส่วนร่วมในสังคมนับตั้งแต่สมัยต้นๆ ที่ยังมีการทำสงครามกันอย่างกว้างขวาง ผู้หญิงมุสลิมเข้าร่วมในกองทัพในฐานะพยาบาลรักษาผู้บาดเจ็บตระเตรียมเสบียงและรับใช้นักรบ

    เมื่อพูดถึง "การออกเสียง" อาจจะทำให้นึกไปถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่บุคคลมีสิทธิในการออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรให้ไปทำหน้าที่ในสภา ในกรณีนี้ประเทศมุสลิมจำนวนมากให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการออกเสียงลงคะแนนเช่นเดียวกับชาย จะมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่กำหนดว่าสตรีที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องมีการศึกษาถึงระดับที่กำหนดหรือกำหนดระยะเวลาในอนาคตที่จะให้สิทธิแก่สตรีในการออกเสียงเลือกตั้ง แต่นักวิชาการศาสนาหลายคนกล่าวว่า อิสลามให้สิทธิในการออกเสียงแก่สตรี ทั้งนี้เพราะทั้งในอัลกุรอานและซุนนะฮ์ไม่เคยห้ามไม่ให้สตรีออกเสียงแสดงความคิดเห็นเลย

  • สิทธิในทางกฎหมาย ได้แก่ การทำสัญญา เป็นพยาน และการมีส่วนในมรดก

  • กล่าวได้ว่าอิสลามเป็นศาสนาเดียวที่คุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย โดยให้สิทธิสตรีเช่นเดียวกับบุรุษในการทำสัญญา ทำธุรกิจ เป็นพยานและการรับมรดก

    ในการเป็นพยานในสัญญาต่างๆ นั้น อิสลามกำหนดให้ต้องมีผู้ชายสองคนหรือผู้ชายหนึ่งคนกับผู้หญิงสองคน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้หญิงจะมีสถานภาพด้อยไปกว่าชายจึงต้องใช้ถึงสองคนทดแทนผู้ชายเพียงคนเดียว หากแต่เป็นการปกป้องผู้หญิงที่อาจจะไม่มีประสบการณ์เท่าผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงสองคนจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้แก่กันและกัน แต่การเป็นพยานที่ผู้หญิงสองคนเท่ากับผู้ชายหนึ่งคนนี้ใช้ได้กับการเป็นพยานในการทำสัญญาเท่านั้น ส่วนการเป็นพยานบุคคลในการพิจารณาคดีความนั้น ผู้หญิงและผู้ชายมีสถานภาพเท่าเทียมกัน

    ในการมีส่วนร่วมในมรดกของบิดามารดา ผู้หญิงได้รับการรับรองเอาไว้เช่นกันว่า

    "สำหรับบรรดาชายนั้น มีส่วนได้รับจากสิ่งที่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และบรรดาญาติที่ใกล้ชิดได้ทิ้งไว้และสำหรับบรรดาหญิงนั้นก็มีส่วนได้รับจากสิ่งที่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และบรรดาญาติที่ใกล้ชิดได้ทิ้งไว้ ซึ่งสิ่งนั้นจะน้อยหรือมากก็ตาม เป็นส่วนได้รับที่ถูกกำหนดอัตราส่วนไว้" (อัลกรุอาน 4 : 7)

    แต่สิทธิของบุตรีนั้นจะได้เพียงครึ่งหนึ่งของบุตรชาย หรือน้อยกว่าบุตรชาย

    "อัลลอฮฺได้ทรงสั่งพวกเจ้าไว้ในลูกๆ ของพวกเจ้าว่า สำหรับเพศชายนั้นจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของเพศหญิงสองคน แต่ถ้าลูกๆ เป็นหญิงเกินกว่าสองคน พวกนางก็จะได้สองในสามของสิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้ และถ้าลูกเป็นหญิงคนเดียวนางก็จะได้ครึ่งหนึ่ง และสำหรับบิดาและมารดาของเขานั้น แต่ละคนในสองนั้นจะได้หนึ่งในหกจากสิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้หากเขามีบุตร แต่ถ้าเขาไม่มีบุตรและมีบิดามารดาของเขาเท่านั้นที่รับมรดกของเขาแล้ว มารดาของเขาก็ได้รับหนึ่งในสาม ถ้าเขามีพี่น้องหลายคน มารดาของเขาก็ได้รับหนึ่งในหก ทั้งนี้หลังจากพินัยกรรมที่เขาได้สั่งเสียมันไว้หรือหลังจากหนี้สิน บรรดาบิดาของพวกเจ้าและลูกๆ ของพวกเจ้านั้น พวกเจ้าไม่รู้ดอกว่า ฝ่ายไหนในพวกเขานั้นเป็นผู้มีคุณประโยชน์แก่พวกเจ้าใกล้กว่ากัน ทั้งนี้เป็นบัญญัติที่มาจากอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ" (อัลกุรอาน 4 : 11)

    ทั้งนี้มีการให้เหตุผลตามหลักกฎหมายอิสลามว่า เพราะผู้ชายนั้นมีหน้าที่ต้องใช้ส่วนแบ่งของมรดกในการเลี้ยงดูภรรยา บุตร และในกิจการต่างๆ ของบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงมีสิทธิที่จะเก็บมรดกของเธอเอาไว้เองทั้งหมดโดยไม่ต้องแบ่งให้แก่สามี ความรับผิดชอบทางการเงินเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย

    อภิสิทธิ์หรือข้อจำกัด กันแน่
    หลายคนกล่าวว่า สตรีมุสลิมมีข้อห้ามหรือข้อจำกัดในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงมากมาย เช่น ต้อง
    แต่งกายมิดชิด ต้องคลุมหน้า ห้ามพูดกับบุรุษอื่นเว้นแต่สมาชิกในครอบครัว หรือแม้เมื่อเข้าละหมาดในมัสยิดยังต้องถูกแยกไว้ต่างหาก ไม่มีสิทธิปะปนกับชาย คงจะไม่เป็นการยุติธรรมนักหากเราจะเชื่อในคำพูดเหล่านั้นโดยไม่พิจารณาหาเหตุผลว่าที่จริงแล้วมีข้อห้ามหรือข้อจำกัดอะไรบ้างที่กำหนดไว้ในพระคัมภีร์ และเหตุใดจึงมีข้อห้ามหรือข้อจำกัดเช่นนั้น

    เครื่องแต่งกายของสตรีมุสลิมดูเหมือนจะเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมากในหมู่ผู้นับถือศาสนาอื่นว่าเป็นข้อ "จำกัด" สำหรับพวกเธอหรือไม่ แต่เมื่อดูจากพระดำรัสในอัลกุรอานแล้วจะเห็นว่าทั้งชายและหญิงควรแต่งกายเพื่อแสดงออกถึงความนอบน้อมถ่อมตน

    "และจงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) แก่บรรดามุอมินะฮฺ ให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำและให้พวกเธอรักษาทวารของพวกเธอ และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอเว้นแต่สิ่งที่เปิดเผยได้ และให้เธอปิดด้วยผ้าคลุมศีรษะของเธอลงมาถึงหน้าอกของเธอ และอย่าให้เธอเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของพวกเธอหรือบิดาของสามีของพวกเธอ หรือดลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายของสามีของพวกเธอ หรือพี่ชาย น้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือ ลูกชายของพี่สาวน้องสาวของพวกเธอ หรือพวกผู้หญิงของพวกเธอ หรือที่มือของพวกเธอครอบครอง (ทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้เธอกระทืบเท้าของพวกเธอ เพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดในเครื่องประดับของพวกเธอ และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ" (อัลกรุอาน 24 : 31)

    จากการตีความแล้ว ผู้หญิงต้องปกปิดร่างกายยกเว้นใบหน้าและมือ ในขณะที่ผู้ชายต้องปกปิดตั้งแต่เอวถึงเข่า ดังนั้นสตรีมุสลิมจึง "ต้อง" สวมเสื้อผ้าที่ปกคลุมร่างกายมิดชิดเป็นเบื้องต้น และใช้ผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า "ฮิญาบ" คลุมศีรษะลงมาถึงทรวงอกหรือยาวกว่านั้นเพื่อความสุภาพและแสดงความศรัทธาในคำสอน และมีมุสลิมบางเผ่าที่มีกฎเข้มงวดในการแต่งกายของผู้หญิง โดยสวมผ้าคลุมใบหน้าที่เปิดแต่ดวงตา "ชาดอ" หรือ burqas เมื่อต้องออกนอกบ้าน แต่ไม่ว่าสตรีมุสลิมในแต่ละสังคมจะแต่งตัวอย่างไร จุดมุ่งหมายสำคัญของการแต่งกายก็เพื่อให้เธอดำรงรักษาเกียรติยศ ความภูมิใจและความบริสุทธิ์ไว้ได้ โดยไม่ต้องการให้เธอเปิดเผยร่างกายต่อบุคคลอื่นเว้นแต่ผู้เป็นสามี เพื่อไม่ต้องการให้เธอนำความงามและความเป็นเพศหญิงให้ปรากฏแต่คนแปลกหน้า ซึ่งจะนำมาซึ่งความสนใจของคนต่างเพศที่ไม่เป็นผลดีแก่ตัวเธอเอง

    การที่พวกผู้หญิงได้รับการยกเว้นว่าไม่จำเป็นต้องไปละหมาดในมัสยิดวันละ 5 ครั้งเช่นพวกผู้ชาย มองได้สองมุมว่า เป็นข้อ "จำกัด" หรือ "อภิสิทธิ์"

    หากจะมองว่าเป็น "อภิสิทธิ์" ที่ผู้หญิงได้รับก็สามารถอธิบายได้ว่า เพราะพวกเธอมีหน้าที่หลักในการดูแลบ้านและคนในครอบครัว การกำหนดให้พวกเธอต้องออกจากบ้านไปละหมาดวันละ 5 ครั้ง จึงเป็นความไม่สะดวกแก่พวกเธอมากกว่า แต่หากเธอต้องการจะไปแล้วก็ไม่ได้มีข้อห้ามแต่ประการใด และพวกเธอก็ยังได้รับ "อภิสิทธิ์" ในการจัดทางเข้าออกและสถานที่ไว้เฉพาะ การแบ่งส่วนชาย-หญิงจะทำให้ผู้ปฏิบัติละหมาดทุกคนมีสมาธิและไม่เกิดการกระทบสัมผัสทางร่างกายและสายตาซึ่งกันและกัน

    ในเรื่องของ "อภิสิทธิ์" ในการปฏิบัติศาสนกิจของผู้หญิงยังรวมไปถึงการไม่ต้องถือศีลอดในขณะที่มีรอบเดือนและตั้งครรภ์อีกด้วย

    ขอขอบคุณที่มาของบทความนี้ http://www.fpps.or.th  (สถาบันนโยบายศึกษา )
    บทความนี้เขียนโดยคุณ ยศวดี บุณยเกียรติ และคุณ วัลลภา นีละไพจิตร

    ประณยา จองบุญวัฒนา

    25 กุมภาพันธ์ 2551

    หมายเลขบันทึก: 167192เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (4)

    สวัสดีค่ะ คุณแณณ

    • ลงชื่อไว่ก่อน แล้วจะมาอ่านต่ออีกที
    • ดีจังเลยค่ะ ศึกษาแล้วก็นำมาเผยแพร่ด้วย
    • มีความสุขในต่างแดนนะคะ

    P    คุณ  pa_daeng คะ

    • ขอบคุณสำหรับคำอวยพรค่ะ ตอนนี้มีความสุขจริงดังพรที่ได้รับเลยค่ะ
    • ต้องขอบคุณเจ้าของบทความ (สถาบันนโยบายศึกษา)ด้วยนะคะ ที่ได้นำมาเผยแพร่ให้แณณมีโอกาสได้ศึกษาและเก็บไว้เป็นคลังความรู้ของตัวเองและเผื่อแผ่ท่านอื่นๆ ใน go2know แห่งนี้ค่ะ

     

     

    พี่อ่านเรื่องสตรีมุสลิมทั้งสองตอนแล้วค่ะ เป็นความรู้ดีค่ะ

    P  พี่นุชคะ

    • บทความนี้ คุณ ยศวดี บุณยเกียรติ และคุณ วัลลภา นีละไพจิตร เขียนไว้มีประโยชน์มากเลยค่ะ
    • กฎหมายครอบครัวอิสลามนั้น overide กฎหมายอื่น จะเอาหลักกฎหมายครอบครัว ปกติมาปรับใช้ไม่ได้แม้จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลไทยก็ตาม
    • แณณถึงจะจบกฎหมายก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเยอะค่ะ ก็ดีค่ะ เป็นความรู้ประดับสมองของเรา รู้ไว้ไม่เสียหลายนะคะ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท