วางระบบใหม่อุดหนุนแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยให้แก่ภาคีเครือข่าย กศน.(บันทึกที่ ๓๖๒)


 

             ได้รับแจ้งทาง Google Apps จากท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ได้ทราบสถานการณ์ของ กศน. ในการสานต่อ พรบ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในการจัดระบบใหม่อุดหนุนแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยให้แก่ภาคีเครือข่าย กศน.   เชิญเข้าสู่สาระข่าวที่น่าสนใจดังนี้

 

              นางจรวยพร  ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความก้าวหน้าล่าสุดในการจัดทำรายละเอียดตามร่างกฎกระทรวง 4 ฉบับ และประกาศ 3 ฉบับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลัง       พรบ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยประกาศใช้ โดยได้นำผลประชาพิจารณ์รวม 5 ครั้ง มากำหนดแนวทางดังนี้

              1) ระบบการอุดหนุนและส่งเสริมการศึกษานอกระบบจะจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว        ให้เครือข่ายที่ร่วมจัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในสัดส่วนร้อยละ 95 ของเงินอุดหนุนที่ กศน. ได้รับจริง โดยอีกร้อยละ 5 ทาง กศน. จะต้องนำไปใช้ในการบริหารจัดการและการจัดประเมินผล    คือ ระดับประถม 737 บาท มัธยมต้นและมัธยมปลาย 1,645 บาท ปวช. 4,038 บาท ส่วนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นจะได้รับการอุดหนุนในอัตราชั่วโมงละ 10 บาท นอกจากนี้จะได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาบุคลากร สื่อการสอน การประชุมสัมมนา การยกย่องเชิดชูเกียรติและการประกันคุณภาพภายใน ในส่วนของเครือข่ายที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย จะได้รับการสนับสนุนในด้านวิชาการตั้งแต่การพัฒนาบุคลากร สื่อการสอน การประชุมสัมมนา การยกย่องเชิดชูผลงาน ส่วนระบบเงินอุดหนุนจะจัดทำคำของบประมาณในปี 2552 โดยจะคิดเป็นร้อยละ 25 ของอัตราการอุดหนุนการศึกษานอกระบบของระดับมัธยมปลาย คือ 411 บาทต่อหัว เพื่อสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งเดิมไม่เคยได้รับการอุดหนุน จึงทำให้แหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยต้องทำงานไปตามยถากรรม ตามกำลังที่ตนเองมีอยู่

              2) กำหนดให้คณะอนุกรรมการภาคีเครือข่ายมีจำนวน 23 คน  โดยมาจากผู้แทน          11 ประเภท ๆ ละ 2 คน ได้แก่ บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถานศึกษาอื่นที่ไม่ได้สังกัด กศน. และองค์กรอื่นๆ โดยให้สมัครด้วยตนเองหรือหน่วยงานจัดส่งรายชื่อ โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ ส่งให้คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกไว้ประเภทละ 6 คน จากนั้นเสนอให้ รมว.ศธ.เลือกประเภทละ 2 คน ในส่วนของประธานคณะอนุกรรมการภาคีเครือข่าย ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

              3) คณะกรรมการ กศน. กรุงเทพมหานครและจังหวัดทุกแห่ง จะมีกรรมการจำนวน       16 คนประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน และ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องแต่งตั้งจากผู้ปฏิบัติงานในภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานการศึกษานอกระบบและการศึกษา          ตามอัธยาศัยในพื้นที่ของจังหวัดไม่น้อยกว่า 5 คน และต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและมีความชำนาญด้านใดด้านหนึ่งใน 9 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสารสนเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม พัฒนาสังคมและชุมชน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วิจัยและประเมินผล และสิ่งแวดล้อม โดยจะกระจายให้ได้ผู้แทนหลากหลายสาขา

                   4) กำหนดให้สถานศึกษานอกระบบของ กศน.ที่จัดการเรียนการสอนระดับขั้นพื้นฐาน   ต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษา หากมิได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการสถานศึกษา

                   5) กศน. จะประกาศบัญชีรายชื่อสถานศึกษาในสังกัด จำนวน 1,040 แห่ง และจะปรับชื่อสถานศึกษาให้เหมาะสมขึ้น เช่น ปรับชื่อศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเป็นศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ ในส่วนของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร           ซึ่งปัจจุบันมี 4 แห่ง ตามกฎหมายมีได้เพียงแห่งเดียว จึงต้องปรับเป็นสำนักงาน กศน. กทม. เดิม 3 แห่ง                เป็นสถานศึกษาที่ขึ้นตรงกับ กศน. ส่วนกลาง โดยทั้ง 3 สถานศึกษาจะมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาอัธยาศัย ประเมินความรู้ประสบการณ์ และการเทียบระดับ การจัดการศึกษาให้กลุ่มการศึกษาพิเศษ จัดการศึกษาทางไกล และเป็นศูนย์วิจัยและสาธิตการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ๆ

                   นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะได้นำข้อตกลงล่าสุดนี้ นำไป      ประชาพิจารณ์รอบสุดท้ายในวันที่ 11 มีนาคม ที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนนำเสนอ รมว.ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ลงนามในกฎกระทรวงและประกาศรวม 7 ฉบับ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 167003เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2008 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 02:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

รับทราบค่ะ ขอบคุณคะ ผอ.ดิศกุลที่นำข่าวสารมาฝากกันนะคะ

ศบอ.เมืองชลบุรี รับทราบคะ ขอบคุณท่านผอ.ดิศกุล มากคะ

เรียน ผอ.ครับ

            เงินอุดหนุนรายหัว        ให้เครือข่ายที่ร่วมจัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในสัดส่วนร้อยละ 95 ของเงินอุดหนุนที่ กศน. ได้รับจริง โดยอีกร้อยละ 5 ทาง กศน. จะต้องนำไปใช้ในการบริหารจัดการและการจัดประเมินผล    คือ ระดับประถม 737 บาท มัธยมต้นและมัธยมปลาย 1,645 บาท ปวช. 4,038 บาท

             ขออนุญาตผอ.ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจ เพราะอ่านแล้ว  ดูเหมือนว่าเครือช่ายเราจะมีบทบาทมากขึ้น มีงบประมาณอุดหนุนเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาในหลายๆอย่าง เห็นด้วยบางส่วนครับผม และน่าสนใจ  น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง สมาชิกท่านอื่นๆว่าอย่างไรบ้างครับ(ตอบที)

                           ประยงค์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท