กรีดยางพารา


บันทึกปลายกุมภาพันธ์ 2551 เผยแพร่ 22 พ.ค. 51

กรีดยาง-งานใหม่

         ตั้งแต่ ต้นกุมภาพันธ์ 2551  เป็นต้นมา  ได้งานเพิ่มอีกอย่าง  คือต้องเข้าสวนกรีดยางเอง  เดิมยางที่สวนแห่งนี้มีคนข้างบ้านกรีดแบ่งกันคนละครึ่ง  เจ้าของสวนได้ครึ่งหนึ่ง  ผู้กรีดได้ครึ่งหนึ่ง  ภาษาท้องถิ่นเรียก "หวะ"  ซึ่งภาษาถิ่นใต้แปลว่าการแบ่งออกเป็นส่วน  การกรีดยางหวะก็คือการกรีดยางแล้วแบ่งกับเจ้าของ  แต่ตอนนี้คนกรีดยางประสบอุบัติเหตุ แขนหักกรีดยางไม่ได้  จะหาคนใหม่มากรีดแทนก็ใช่ที่ เพราะตอนนี้เข้าหน้าแล้ง  ภายในเดือนมีนาคมนี้ยางก็จะผลัดใบและต้องหยุดกรีดยาวจนกว่ายอดยางจะเป็นใบแก่ ซึ่งบางปีอาจจะเป็นเดือนพฤษภาคม ช่วงเวลาก่อนจะหยุดกรีดหน้าแล้งเลยกรีดเสียเอง

เวลากรีดยาง

        การกรีดยางต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อนบ้านใกล้เคียงกรีดยางหลายไร่ เห็นบางคนเดินทางตั้งแต่ตีหนึ่งครับ  เช้าเสร็จพอดีประมาณ 8.30 น. ก็เก็บยางเสร็จ   สำหรับผมตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตี 4.30 น. เตรียมตัวและเดินทางสักครึ่งชั่วโมง  ไปให้ถึงสวนประมาณตีห้า  ลงมือกรีดจะเสร็จภายใน 06.30 น.  กลับมาอาบน้ำแต่งตัวไปทำงานตามปกติ  โชคดีที่การกรีดยางต้องมีวันพักให้ต้นยางด้วย คือกรีดวันเว้นวัน หรือสองวันเว้นวัน  หรือขยันสุดๆก็ สามวันเว้นวัน  ถ้ากรีดทุกวันจะทำให้ต้นยางโทรมและตายในที่สุด  อีกอย่างหากเป็นหน้าฝนหากต้นยางเปียกก็กรีดไม่ได้ จะกลายเป็นวันหยุดโดยอัตโนมัติครับ  เหตุที่กรีดไม่ได้หากเปลือกยางเปียกเพราะว่าเวลาน้ำยางไหลจะเรี่ยราด ไม่ไหลไปตามหน้ายาง   ยางหกมากกว่าได้  เคยมีผู้วิจัยเพื่อหาทางกรีดยางในหน้าฝนให้ได้  แต่ไม่ค่อยมีใครใช้เท่าไหร่

เคล็ดลับ

        เคล็ดลับการกรีดยางคือ 1) มีดกรีดยางต้องคม  บางคนกรีดมากๆ ต้องพกมีดกรีดยาง 2- 3 เล่ม ไว้เปลี่ยน  มีดกรีดยางจึงต้องลับทุกวัน  วันหลังจะเขียนเรื่องเคล็ดการลับมีดกรีดยาง  2)การกรีดยางตอนอากาศเย็นและลมสงบจะให้น้ำยางมากกว่า เพราะถ้าอากาศร้อนหรือมีลมพัดจะทำให้หน้ายางแห้งซึ่งจะทำให้น้ำยางหยุดไหล  3)กรีดให้พอดี ถ้าลึกเกินไป ชาวบ้านเรียก "กรีดบาด" คือกรีดจนถึงเนื้อไม้ มีดบาดเยื่อเจริญ  เนื้อเยื่อเจริญของต้นยางก็จะกระทบกระเทือน  ทำให้น้ำเลี้ยงที่ส่งจากรากขึ้นลำต้นไม่ได้  เมื่อยางอดอาหารก็ให้ผลผลิตน้อย  หากกรีดตื้นเกินไปก็ไม่ถึงระดับที่จะให้น้ำยาง  ดังนั้นจึงต้องกรีดให้พอดีซึ่งจะสมดุลย์ระหว่างให้น้ำยางและต้นยางปลอดภัย

 

ผลผลิตสู่ตลาด

       ยางที่กรีดได้ สามารถเก็บไปขายได้หลายแบบ เช่น (รายละเอียดและวิธีการจะเขียนให้วันหลัง)

1) ขายน้ำยางสด  ปัจจุบันราคาประมาณ ก.ก.ละ 35-40 บาท

2) ยางแผ่น ปัจจุบันราคาประมาณ ก.ก.ละ 70-80 บาท

3) เศษยาง ปัจจุบันราคาประมาณ ก.ก.ละ 30-40 บาท

 

       ยางเป็นพืชเศรษฐกิจ  ที่ปลูกกันมากทางภาคใต้  แต่ภาคอื่นก็ปลูกได้  อาจให้ผลผลิตที่แตกต่าง  แต่ยางพาราก็มีประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นไม้ยืนต้น ให้ร่มเงาอย่างดี  อย่างน้อยการปลูกยางพาราก็ใกล้เคียงกับการปลูกป่า  ให้ออกซิเจนและใช้คาร์บอนไดออกไซค์ในการปรุงอาหาร  ช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ครับ

บันทึก  22 พ.ค. 51

        หลังจากได้ทำหน้าที่กรีดยางชั่วคราวประณ 45 วัน  คาดว่าฤดูกาลกรีดใหม่ที่ถึงในช่วงหลังจากวันวิสาขบูชาเป็นต้นไป จะได้คนกรีดยางใหม่มาแทน  แต่จนแล้วจนรอดก็หาคากรีดยางไม่ได้ เพราะต้นยางน้อยเกินไป ไม่สามารถให้เขามีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว  เลยต้องลงมือเปิดกรีดเองอีกรอบ  เริ่มลงมือเบิกเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 18 พ.ค. 51  จนถึงวันที่บันทึกนี้กรีดติดต่อกันมา 5 เช้าแล้ว  น้ำยางยังไม่ได้เท่าที่ควรครับ  ต้องกรีดต่อเนื่องอีกสักระยะครับ

คำสำคัญ (Tags): #กรีดยาง#ยางพารา
หมายเลขบันทึก: 166738เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2008 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วันนี้ มิ.ย.2554 ราคายาง

1) ขายน้ำยางสด ปัจจุบันราคาประมาณ ก.ก.ละ 65-70 บาท

2) ยางแผ่น ปัจจุบันราคาประมาณ ก.ก.ละ 130-150 บาท

3) เศษยาง ปัจจุบันราคาประมาณ ก.ก.ละ 70-80 บาท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท