คนไทย ~ การศึกษาไทย : รัฐบาลใหม่และเจ้านายที่เคารพ (6)


เรื่องนี้ต้องขอบคุณ ขอบคุณ และขอบคุณ

*****************

เรื่องนี้ ครูวุฒิเพิ่งนั่งคุยกับพ่อครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์ ไปไม่นาน

เมื่อวันที่ครูวุฒิไปเยี่ยมพ่อครูบาฯครั้งล่าสุด 29 มค. 51

ว่าสิ่งหนึ่งโคกเพชรอยากได้ไว้ให้นักเรียนใช้และบริการข้อมูลข่าวสารให้กับชุมชนก็คือ

ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม

ซึ่งพ่อครูบาฯได้ให้เกียรติเขียนถึงความมุ่งหวังของครูวุฒิในเรื่องนี้ไว้

ในบันทึก ครูกับควาย

ที่ครูวุฒิอยากได้อินเตอร์เน็ตระบบดาวเทียม  เป็นเพราะว่า

ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์

ที่หน่วยเหนือเคยเช่ามาให้โรงเรียนต่างๆใช้เมื่อ 2-3 ปีก่อน

กลายเป็นขยะให้ครูนั่งเฝ้าและปัดฝุ่นมาตลอด นับตั้งแต่ติดตั้งมาเลยก็ว่าได้

ซึ่งพวกเราก็ได้แต่ปรารภกันว่า สงสัยสัญญาณอินเตอร์เน็ตมันคงกลับไปกับช่างแล้ว

เพราะเรียกว่าหายไปทั้งช่างทั้งสัญญาณเลย 

หลังจากมาติดตั้งให้แล้วและกลับมาดูอีก 2 ครั้งตามหนังสือแจ้งของโรงเรียน

ในขณะที่โรงเรียนในอำเภอ โรงเรียนในฝัน 

มีระบบ ADSL และระบบของ CAT เป็นทางด่วนส่วนตัว

ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า

เพียงแค่ในตัวอำเภอและหมู่บ้านในเขตอำเภอเดียวกัน 

เราก็ต่างกันมากแล้วในโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสากล

แล้วเราจะติดเครื่องมือเกี่ยวกับสมองกล

และพลานุภาพแห่งการสื่อสารยุคใหม่เหล่านี้ให้กับเด็กได้อย่างไรล่ะ

เพราะลำพังครูเองก็ยังหาทางเข้าไม่เจอ

นอกจากการมีบ้านพักอยู่ในตัวเมืองและอำเภอเท่านั้น

*****************

แต่เมื่อวันศุกร์ 15 ก.พ.51  ที่ผ่านมา

โรงเรียนบ้านโคกเพชร (เล็กจ้อย ไกลปืนเที่ยง สุดเสียงสังข์อุปถัมภ์)

ได้มีโอกาสสัมผัสกับสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วพอใช้ได้เป็นครั้งแรก

เพราะอยู่ๆโดยไม่มีสัญญาณและการนัดหมายล่วงหน้า

(ซึ่งหน่วยเหนือของเราท่านมักมีเรื่องเซอร์ไพรซ์เราผู้ใต้บังคับบัญชาแบบนี้เกือบทุกครั้ง)

ครูวุฒิซึ่งกำลังอยู่ในพิธีการงานเผาศพเพื่อครูรุ่นน้องผู้กระอักพิษร้ายของเกณฑ์อาจารย์ 3

ที่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวละโลกนี้ไปเพียงลำพัง 

(ดังที่ครูวุฒิได้บันทึกไว้เป็นข้อพิจารณาสำหรับเบื้องบนแล้ว)

ก็ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากคุณครูที่โรงเรียนว่า

มีรถทีโอทีสีสวย มาติดตั้งจานรับสัญญาณอินเตอร์เน็ต IPstar ให้

ครูวุฒิก็ดีใจสิครับ  เพราะอยากมีให้เด็กและชุมชนได้ใช้มานานแล้ว

วันนี้มีมาติดตั้งให้โดยไม่คาดฝันและวาดหวัง

ดังนั้น พอเสร็จงานพิธีก็รีบบึ่งรถกลับมาทันที

และเมื่อช่างติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 16.30 น.

ครูวุฒิก็สาธิตให้เด็กๆชั้น ป.6 (บางส่วน) ดูทันที  จนถึง 18.00 น.

แบบเวลาอะไรจะไวปานนั้น

Dsc01444 

ซึ่งในวันเปิดเรียนต่อมา (18 ก.พ. 51)  เด็กๆก็ได้เริ่มใช้ในทันที

และเมื่อวานนี้เอง (19 ก.พ.)

ปณิธานการเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารและวิชาการชุมชน

ของโคกเพชรก็เริ่มประจักษ์ชัดขึ้น

เมื่อระบบดังกล่าวสามารถให้บริการนำสืบค้นข้อมูล

เรื่อง การเลี้ยงและการซื้อขายปลาบู่ และ การเพาะเลี้ยงและการตลาดของชวนชม

ให้กับชุมชนได้ถึง 2 คณะต่อเนื่องกัน    

ซึ่งมีผลต่อความมั่นใจในการรวมกลุ่มและประชุมจัดตั้ง

วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาและเกษตรผสมผสานตำบลโคกเพชร

อย่างเป็นทางการในฉับพลันทันที

(ก่อนนี้เป็นเพียงกลุ่มสนใจเท่านั้น)

Dsc01456 

(บรรยากาศการประชุมจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาและเกษตรผสมผสานฯ หลังการสืบค้นข้อมูลแล้ว)

เห็นไหมครับ?

ช่องว่างระหว่างคนเมืองและชนบทในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเริ่มแคบเข้ามาบ้างแล้ว

และนี่คือพลังอำนาจและอานุภาพของข้อมูลข่าวสาร

ที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้คนอย่างเห็นได้ชัด

ครูวุฒิจึงอยากได้มากๆ

อยากได้จนถึงกับลงทุนปลูกไผ่เพื่อจะหาตังค์มาเช่าเอง

อย่างที่พ่อครูบาท่านพูดถึงนั่นแหละครับ

ทั้งนี้  เพื่อตอบสนองปณิธานการเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารและวิชาการชุมชนของโรงเรียน

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเว๊บไซต์ของโคกเพชรเรื่องที่ 54 ที่นี่ ครับ) 

ซึ่งโคกเพชรตั้งปณิธานไว้เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นมากในยุคข้อมูลข่าวสารปัจจุบัน

และโรงเรียนควรจะต้องเป็นที่พึ่งของชุมชนในเรื่องนี้

(และถ้า อบต.จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักได้ก็ยิ่งดี โรงเรียนจะช่วยเป็นผู้บริหารโครงการให้)

*************

และความน่าตื่นตาตื่นใจ

ที่ต่อเนื่องมากับเรื่องตื่นเต้นของโคกเพชรในเรื่องดังกล่าวนี้ก็คือ

เนื้อหาในบทความ  หนุน ทีโอที ครูออนไลน์ ลดช่องว่างคนในเมืองกับชนบท

ของคอลัมน์ รายงานหน้า 8 ของ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 ก.พ. 51

ครูวุฒิอยากให้ทุกท่านได้อ่าน ที่นี่ และ ที่นี่ ครับ

ซึ่งถ้าเป็นไปได้จริงไม่กินแห้วดังว่า

เด็กๆและการศึกษาของไทย คงค่อยๆลดอาการป่วยไข้จากโรคตานขโมยข่าวสารและองค์ความรู้สากลลงได้บ้าง

แม้ไม่หายสนิท ไม่สมบูรณ์ผ่องใสเป็นไยยอง

เหมือนทองเนื้อเก้าอย่างคนในเมืองที่อ้วนพีมาตั้งแต่เกิด

ก็น่าจะพอมีแรงเอาตัวรอด

ท่ามกลางวิกฤติการณ์ในทุกด้านของสังคมชนบทได้ตามสมควร

เรื่องนี้ ครูวุฒิจึงของปราบมือดังๆให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

และขอแสดงความ ขอบคุณ ขอบคุณ และขอบคุณด้วยความจริงใจครับ

หมายเลขบันทึก: 166269เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2008 03:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ...

ชื่ชมและยินดีกับความมุ่งมาดปรารถนาที่เป็นรูปร่างอย่างที่ใจหวังนะครับ   ..
ในบันทึกนี้   ผมเห็นเรื่องที่น่าสนใจหลายประการ   ซึ่งหมายถึงการสะท้อนภาพการศึกษา  เช่น   การศึกษาในโลกไร้พรมแดนที่ต้องพึ่งพิงระบบการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี,  บทบาทการศึกษาแบบมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน  ซึ่งหมายถึง อบต. ด้วยเช่นกัน

...

ประมาณปี 2545   ผมเป็นผู้ดำเนินการโครงการหนึ่งตามนโยบายรัฐบาล   โดยพานิสิตไปอยู่ในพื้นที่เป็นเวลา 1 เดือน  เป็นค่ายเรียนรู้และสร้างบางสิ่งบางอย่างให้กับชุมชน ...  และสิ่งหนึงที่เป็นเรื่องตลกมากก็คือ  เขากำหนดหมู่บ้านมาให้เราลงพื้นที่   แต่หมู่บ้านเหล่านั้น  หรือ อบต. กลับไม่มีระบบอินเตอร์เน็ต  ทั้ง ๆ ที่ในนโยบายให้นิสิตนักศึกษาไปพัฒนาชุมชนด้วยระบบเว็บไซด์ 

สิ่งเหล่านี้เลยเป็นเรื่องขำ   เพราะขนาด อบต. ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้  แต่กลับให้เราไปทำกิจกรรมในเรืองอินเตอร์เน็ต  ข้อมูลที่ส่วนกลางมีนั้น  ไม่เป็นเหตุเป็นผลเอาเสียเลยครับ  ซึ่งไม่ต่างกับยุคหนึ่งที่ซื้อคอม ฯ  ไปให้โรงเรียนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้

....

อย่างไรก็ตาม, ยินดีด้วยนะครับ  และเชื่อว่า  ครูวุฒิจะใช้เทคโนโลยีนี้ต่อยอดและสร้างคุณภาพชีวิตของการศึกษาได้อย่างเต็มที่  อย่างน้อยก็ในโรงเรียนของครูวุฒินันแหละ

เป็นกำลังใจให้...ครับ

  • ขอบคุณน้องแผ่นดินมากเลยครับที่ให้กำลังใจ
  • ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสเล็กๆที่สำคัญของโคกเพชรครับ  โรงเรียนมุ่งปณิธานที่จะให้ นักเรียนและชุมชนมีความจำเป็นที่ต้องใช้ข้อมูลและองค์ความรู้จากแดนไกล (ตัวอย่างเช่น เรื่องปลาบู่ และชวนชมนี่ไงครับ) ง่ายและประหยัดที่สุดก็ผ่านทางอินเตอร์เน็ตนี่แหละ
  • ที่จริงของ อบต.ก็มีเน็ตตำบลบริการฟรี  แต่ดูไม่ใคร่สะดวกเท่าที่ควร  เพราะเครื่องและระบบไม่อยู่ในสภาพที่จะให้บริการได้จริง
  • โหะๆๆๆ...เรื่องตลกในแบบที่น้องยกตัวอย่างมา คงจะต้องมีขึ้นอีกเรื่อยๆ ตราบใดที่กระบวนการพัฒนาเรายังแยกเป็นส่วนๆ  และเป็นแบบ TOP TO DOWN อยู่อย่างนี้  ว่าไหมครับ?
  • สวัสดีครับ
  • สวัสดีครับ ครูวุฒิ

    • ขออนุญาต ลปรร. ความฝันน้อย ๆ (เมื่อนานมาแล้ว)

    "ระบบสารสนเทศชุมชนในฝัน"

    • ตอนที่ผมเป็นเด็ก ที่ปลายนา จะมีลุงคนหนึ่งชื่อ "ยักษ์สา" จริง ๆ แล้ว เพิ่นชื่อ สา แต่ชอบกินดิบ พ่อกับแม่ผมจึงเรียก "ยักษ์สา" และคิดว่า เป็นอุบายไม่ให้พวกกระผมไปเล่นน้ำที่ลำห้วยปลายนา และก็ได้ผล เพราะพวกกระผมกลัว ยักษ์
    • ยักษ์สา เพิ่นปลูกมะละกอ เต็มคูนา และรอบ ๆ เถียงนา มากมายเต็มไปหมด แทบจะเรียกได้ว่า เป็นซุปเปอร์มาเก็ต ของชาวบ้านที่นาใกล้เพิ่น และบ้านใกล้เพิ่น เลยทีเดียว พอจะกินข้าวเที่ยง ทุกคนก็เดินลัดห้วยไป แล้วตะโกนว่า ขอบักฮุง ไปตัมแน่เด้อ เพิ่นจะตะโกนกลับมาว่า มีบักพริกไป่ บักพริกอยู่โพนเด้อ .. ไม่คิดเงินแม้สะตังค์แดงเดียว.. เพราะเขามีความสุขที่ได้ปลูก ดินแถวนั้นดีจริง ๆ ปลูกอะไรก็งาม บางทีมันมากจนกินไม่ทันหล่นลงใต้ต้นเสียปล่าว นี่คือ ชีวิตพอเพียงแท้ ๆ
    • ... อยู่มาเมื่อผมเติบใหญ่ ได้ร่ำเรียนวิชาความรู้บ้าง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทำงานวิจัย เกี่ยวกับ ระบบสารสนเทศชุมชน ด้วยระยะเวลาที่เร่งรีบ ทำให้โครงการดังกล่าว ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คล้าย ๆ เอาคอมพิวเตอร์ไปแจก อบต.
    • ... ผมคิดย้อนหลัง ว่า ทำไม มันเป็นเช่นนั้น และพยายามหาจุดอ่อน เพื่อออกแบบระบบในฝันขึ้นมาใหม่ ..
    • .. ระบบสารสนเทศชุมชนในฝัน..
    • P.Laudon เสนอทฤษฎีไว้ว่า ระบบสารสนเทศที่จะประสบความสำเร็จจะต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ องค์กร + เทคโนโลยี + การจัดการ
    • องค์กร ที่ดูแลควรเป็นอย่างไร ? เทคโนโลยีที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร ? การจัดการจะทำอย่างไร ?
    • หันกลับไปพิจารณา กรณียักษ์สา จะเห็นว่า ยักษ์สา สามารถผลิตมะละกอได้มาก หลังจากแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง และกินเองแล้ว ยังมีเหลืออีกมากเพราะดินและน้ำดีเหลือเกิน เออ! เอาไปขายดีไหมล่ะ ? ว่าแต่ว่าจะเอาไปขายที่ไหนดี? ใครจะมาซื้อ ? (ปัญหาการตลาด)
    • ตามหมู่บ้านนอก แถว ๆ บ้านผมและหมู่บ้านใกล้เคียง แต่ละหมู่บ้านจะมีร้านค้าส้มตัม อร่อย ๆ อยู่หลายร้าน ตัมแข่งกันอยู่ สมัยเด็ก ๆ ตอนดูหมอลำ ดึก ๆ ผมซื้อกินตอนมืด ๆ ครกละ 50 สตางค์ อร่อยอย่าบอกใครเลย เพราะมันมืดมองไม่เห็น แต่ละคำมันจึงเลือกไม่ได้ บางคำพริกเต็ม ๆ เลยครับท่าน
    • อ้าว ดึกแล้ว สรุปเลยดีกว่า (เพราะถ้ามีวาสนา คงได้เสวนากันอีก)
    1. เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่
    2. จัดตั้งตลาดนัดชุมชนวันศุกร์ หรือวันใดในสัปดาห์ก็ได้ เพื่อให้เป็นจุดแลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าประจำหมู่บ้าน
    3. ติดตั้ง Internet ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน หรือที่โรงเรียน หรือบ้านคุณครู หรือบ้านใครก็ได้ทุกหมู่บ้าน
    4. ชาวบ้านใช้คอมไม่เป็น ก็ทำแบบฟอร์มไว้ให้ว่า มีอะไรจะมาขายที่ตลาดนัดชุมชน เช่น ยักษ์สา บอกว่า ทุกวันศุกร์ จะเอามะละกอมาขาย 30 กก. เป็นต้น แรก ๆ พบกันที่ตลาดนัดก่อน พอชอบพอจะค้าจะขายกัน ค่อยต่อตรงก็ไม่ว่า
    5. คนคีย์ข้อมูลเอามาจากไหน? ก็หาอาสาสมัคร นัก Chat วัยรุ่นทั้งหลาย (ได้ฝึกความรับผิดชอบ อย่างอิงซัมอก) นักเรียนประจำหมู่บ้านมาอาสาคีย์ข้อมูล แลกกับให้สิทธิในการใช้เน็ต เป็นต้น
    6. แค่นี้ง่าย ๆ ตอนนี้  Internet ผ่านมือถือ 99 บาทต่อเดือนเอง
    7. จะเห็นได้ว่า
      - ด้านการจัดการ ผู้นำชุมชน ต้องเอาจริง เอาจัง และเสียสละ เช่น จัดหาคอมและอินเตอร์เริ่มต้นก่อน - เทคโนโลยีก็พื้น ๆ เหมาะสม ไม่แพง - องค์กรต่าง ๆ ก็ไม่ยาก เช่น ตลาดนัดชุมชน อิมซังอก
    8. หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแลก อิ อิ

     

    สวัสดีครับท่านอาจารย์นิโรธ

    • เห็นด้วยครับว่า ในชนบทของเรามีอะไรดีๆเยอะแยะเหลือเฟือ แต่สุดท้ายก็ทิ้งเสียเปล่าประโยชน์  เพราะไม่รู้จะเอาไปไหน ไปขายใคร
    • แนวคิดของท่านเยี่ยมมาก ไม่อย่างนั้นคนบ้านเราก็จะซอยเท้าอยู่กับที่อย่างนี้เรื่อยไป
    • เหมือนๆกับที่เขาจัดสรรคอมฯให้ รร.ในยุคแรกๆ(สมัยท่านสุขวิทย์ รังสิตพล) นั่นแหละครับ  เห็นไหมครับว่า ในที่สุดคอมฯก็แพร่หลายในหมู่ครู
    • ก้าวแรกสำคัญเสมอครับ
    • ขอบคุณมากที่แชร์ความคิดและเล่าประสบการณ์ให้ทราบ ผมเองก็หลงไหลในวิถีเด็กท้องนาแบบเกิน 100 ครับ
    • สวัสดีครับ

    (ระบบสารสนเทศชุมชนต่อ)

    • หลักการ คือ ชุมชน จะมีเวปไซด์กลาง ในการประกาศซื้อประกาศขาย (อาจใช้เวปโคกเพ็ชรก็ได้) โดยผู้อาจจะเป็น อบต. หรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะสร้าง MOU ข้อตกลงร่วมกัน คือ ใช้ระบบเดียวกัน มีตลาดนัดหมู่บ้าน และมีการประชาสัมพันธ์ ผ่านผู้ใหญ่บ้านให้ลูกบ้านรับทราบถึงวิธีการทำงานของระบบ (ทุกอย่างควรเป็นสวัสดิการ ฟรี)
    • ใครมีอะไรที่เหลือกินเหลือใช้จะนำมาขาย ก็นำมากรอกแบบฟอร์มที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน
    • ยกตัวอย่าง มะละกอ ยักษ์สา แทนที่ ร้านส้มตำ จะต้องเดินทางไปซื้อมะละกอในตัวเมือง ก็ติดต่อยักษ์สา อาจนัดพบกันที่ตลาดนัดประจำหมู่บ้าน หรือ ถ้ามีการซื้อข้ามหมู่บ้าน ก็เดินทางไม่ไกลนัก หรือ อาจรวมกลุ่มกันขนสินค้าร่วมกัน ก็จะทำให้ลดต้นทุน
    • ยิ่งถ้าสามารถผลิตได้เต็มจำนวนอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการดี
    • ตอนที่ผมคิด ระบบสารสนเทศในฝันนี้ Thai2hand.com ยังไม่เกิด และผมเองยังเป็นหุ่นยนต์ ไม่มีมิติด้านมนุษย์และสังคม อิ อิ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท