ปิดเทอมนี้...เรียนพิเศษ กันดีไหม ?


เรียน ไม่เรียน ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อยู่ที่เวลาที่มีเท่ากันในแต่ละวันของแต่ละคน เราบริหารจัดการและวางแผนการเพื่ออนาคตเราไว้อย่างไรต่างหาก

ปิดเทอมนี้...เรียนพิเศษ กันดีไหม ?

จริงๆ คำถามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากผมหรอกครับ แต่เกิดจากลูกอาคนหนึ่งที่กำลังเรียน ม.4 โทรมาผมเมื่อ 2 - 3 วันก่อน เพราะมีอาการ "อยากเรียนพิเศษ" ในช่วงปิดเทอมเมษายนนี้ เพราะเพื่อนๆ ในห้องต่างแยกย้ายกันไปเรียนพิเศษกัน จึงโทรมาปรึกษา

ผมเองยังไม่ตอบว่าอยากให้เรียนหรือไม่ แต่ได้เล่าเรื่องราวของตัวเองเมื่อประมาณ 10 กว่าปีหน่อยๆ ที่ผ่านมาว่าช่วงปิดเทอมทำอะไรบ้าง ซึ่งตลอดช่วงเรียน ประถม - ม.5 ผมเองเป็นคนที่ไม่เคยเรียนพิเศษเลย ด้วยเหตุผล 2 ข้อใหญ่ๆ คือ

1.ไม่มีเงินเรียน ไม่อยากเป็นภาระของพ่อ แม่

2. ขี้เกียจ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน ตจว. อย่างผม

เวลาส่วนมากช่วงปิดเทอมของผมจึงอยู่กับการทำงานช่วยพี่ๆ และครอบครัว จะมีบ้างที่ว่างๆ ก็เอาหนังสือเรียนมาอ่าน ดีอย่างที่ผมชอบอ่านหนังสือทั้งหนังสือเรียน หนังสืออ่านนอกเวลา และมีความฝันว่าสักวันจะเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เวลาว่างส่วนมากหลังจากช่วยงานแล้ว ผมจึงวางแผนการอ่านหนังสือในทุกๆ วิชา ฝึกทำโจทย์ หาหนังสือเตรียมสอบมาอ่านเอง จนมาถึง ม.6 ที่กลัวพลาดสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมจึงตัดสินใจเรียนพิเศษอยู่ประมาณ 6 เดือนเพื่อเตรียมสอบ Ent'

และสิ่งหนึ่งที่ผมสรุปด้วยตัวเองช่วงเรียนมหาวิทยาลัย คือ การเรียนพิเศษไม่มีในระดับอุดมศึกษา เพื่อนๆ บางคนติดระบบเรียนพิเศษต้องใช้เวลากว่าปีกว่าจะปรับตัวมาเรียนแบบผู้ใหญ่ หรือช่วยตัวเองได้ แต่ในที่สุดผมก็จบปริญญาตรี และโท ในระดับที่น่าพอใจ (กว่าที่ตั้งเป้าไว้)

น้องผมที่โทรมาปรึกษาก็เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศการเรียนพิเศษของเพื่อนๆ ในโรงเรียน ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายขยายความ แต่พอถามถึงผลการเรียนน้องผมก็ไม่ได้ขี้เหร่ เท่าไหร่เลย แต่ใจหนึ่งก็ยังคิดว่าการเรียนพิเศษช่วยให้เรียนดีขึ้นจริง

สุดท้ายผมเองก็ไม่ตอบแบบฟังธงว่าอยากให้เรียน หรือไม่ แต่จบท้ายด้วยข้อคิด 4 ข้อ ให้น้องตัดสินใจเอง คือ

1. เรามีเป้าหมายที่อยากจะเป็นหรือยัง และอยากจะสอบเข้าคณะอะไร ตั้งเป้าหมายไว้อย่างไรบ้าง

2. ถ้าเรียนพิเศษ เรียนวันละกี่ชั่วโมง วิชาอะไรบ้าง และหลังจากการเรียนจะทำอะไรในแต่ละวัน

3. ถ้าไม่เรียน แต่ละวันทำอะไรในเวลาที่ตรงกับตารางที่จะเรียนพิเศษ และหลังจากนั้นทำอะไร

4. ลองเปรียบเทียบข้อ 2 กับข้อ 3 และถามตัวเองย้อนไปถึงข้อ 1 ว่าอะไรตอบโจทย์มากกว่ากัน และลองประเมินความคุ้มทุน คุ้มเวลา แล้วตัดสินใจเอง

ซึ่งสำหรับคำตอบของผม คือ เรียน ไม่เรียน ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อยู่ที่เวลาที่มีเท่ากันในแต่ละวันของแต่ละคน เราบริหารจัดการและวางแผนการเพื่ออนาคตเราไว้อย่างไรต่างหาก

ท่านหละครับ มีปัญหาเหล่านี้บ้างหรือเปล่า และตัดสินใจอย่างไร ลองเล่าสู่กันฟังด้วยนะครับ

ด้วยความเคารพรัก 

คำสำคัญ (Tags): #เรียนพิเศษ
หมายเลขบันทึก: 166094เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2008 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากได้รูปภาพประกอบการเรียนน๊าาาาาาาาาาาาาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท