มาตรวจสอบความหมาย "สวัสดิการ" ของคนทำงานเกาะติดชุมชน


วันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีการนัดหารือระหว่างอาจารย์ทิพวัลย์ คุณภีม พี่โต-เทพรัตน์ และรัชเป็นผู้ร่วมรับฟัง ณ ศาลากลางจังหวัดพัทลุง เพื่อเตรียมการอบรมนักวิจัยพื้นที่ ในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2550 ระหว่างรอพี่โตได้เดินไปที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน จังหวัดพัทลุง ซึ่งที่ทำการอยู่ในรั้วเดียวกับศาลากลาง โชคดีได้พบกับคุณวิเชียร ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยครั้งนี้ด้วย พูดคุยไปได้สักพักพี่โตก็มาถึงพร้อมกับคุณธิดา(นักวิจัยอีกคน) คุยต่ออีกพักใหญ่จนประมาณ 16.00 น. ก็เคลื่อนขบวนไปที่ศาลากลาง เห็นตรงกันว่าเมื่อมาแล้วควรรอพบคุณสุธีรา(พมจ.) และคุณอุบล(นักพัฒนาสังคม พมจ.พัทลุง-นักวิจัยอีกคน) ด้วย แต่ตอนนี้ติดประชุมกันอยู่ รออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงทั้ง 2 ท่านก็ลงมา คุณอุบลเข้ามาทักทายและหารือกันเมื่อพูดถึงการประชุมรายงานความก้าวหน้าในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่จะถึงคุณอุบลก็เสนอว่าน่าจะเชิญระดับหัวหน้าได้รับทราบเพื่อเห็นภาพร่วมและนำมาถ่ายทอดคำสั่งได้เลย จึงได้เคลื่อนขบวนอีกครั้งไปที่ห้องคุณสุธีรา คุณอุบลถ่ายทอดเรื่องราวการขยับงานของโครงการฯ ในตอนนี้ให้ฟัง และทุกคนร่วมกันหารือประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือความจำเป็นในการมีชุดคณะทำงานประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจ ในคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ ใช้เวลาหารือพักใหญ่จนเห็นว่าเย็นมากแล้วจึงลาคุณสุธีราและคุณอุบลกลับ เคลื่อนขบวนไปรับประทานอาหารเย็นและเข้าที่พักกัน คืนนี้พักที่ศูนย์วิจัยข้าว ซึ่งเป็นที่ประจำของพี่โตในการใช้อบรมหรือประชุม

 

เช้าวันที่ 8 ณ อาคารฝึกอบรม ศูนย์วิจัยข้าว จังหวัดพัทลุง  มี การอบรมนักวิจัยพื้นที่เตรียมความพร้อมก่อนลงเก็บข้อมูล เป็นกิจกรรมหนึ่งของทีมวิจัยพัทลุงในการขับเคลื่อน โครงการนำร่องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดพัทลุง ความต้องการของทีมวิจัยในการอบรมครั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดความเข้าใจตรงกันในเรื่อง สวัสดิการ สรุปประเด็นของการจัดสวัสดิการทั้งหมดในจังหวัดพัทลุงเพื่อเก็บข้อมูลได้ครอบคลุมทุกประเด็น และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือแก่นักวิจัยในการเก็บข้อมูลในพื้นที่

 

     การอบรมครั้งนี้กำหนดไว้ 2 วัน คือวันที่ 8 และ 9 กุมภาพันธ์ วันแรกเป็นการชวนคิดชวนคุย และปรับเรื่อง สวัสดิการ โดยวิทยากรหลักจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์ และมีผู้ร่วมให้ความรู้ถึงกลไกการจัดสวัสดิการสังคมของกระทรวง พม. รวมถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการวิจัยนำร่องฯ โดยคุณภีม ภคเมธาวี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

     การอบรมในวันที่ 8 นี้มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ทีมวิจัยพื้นที่ คุณไพโรจน์-ประธานคณะกรรมการสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น คุณเบญจวรรณ-สมาคมรักษ์ทะเลไทย คุณจิระพา-สวท.สตูล คุณสอ-นักพัฒนา อ.บางแก้ว คุณธิดา-นักพัฒนา อ.บางแก้ว คุณอุบล-นักพัฒนาสังคม พมจ.พัทลุง ผู้ใหญ่สมชาย  ผู้ใหญ่วิรุฬ คุณวิเชียร-คณะกรรมการศปคช.พัทลุง คุณแดง รวม 10 ท่านจาก ทั้งหมด 12 ท่าน อาจารย์ทิพวัลย์เป็นวิทยากร คุณภีมเป็นผู้ร่วมให้ความรู้ รัชนีผู้ช่วยคุณภีม พี่โต-เทพรัตน์ในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ พี่โสรยาผู้ช่วยพี่โต

 

     ช่วงเช้ารับผิดชอบเวทีโดยอาจารย์ทิพวัลย์ เริ่มการอบรมด้วยกิจกรรม

  

1.“Care-Share-Learn”

 

โจทย์ที่ 1 สวัสดิการ คืออะไร ให้ทุกคนเขียนความหมายตามที่ตนเองเข้าใจลงในกระดาษ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จากนั้นให้จับคู่โดยเลือกคู่กันเองตามที่ตนเองปิ๊ง(ความคิด จากการสังเกตในการพบปะแต่ละเวทีที่ผ่านมา) เพื่อแลกเปลี่ยนใน โจทย์ที่ 2 เล่าเรื่องสวัสดิการตามที่ตนเองเข้าใจรวมทั้งแลกเปลี่ยนเรื่องราวการผ่านงานสวัสดิการแก่คู่สนทนาฟัง จากนั้นให้คู่สนทนาสะท้อนความหมายของ สวัสดิการ ที่ได้รับฟังเพื่อนให้เวทีฟัง ประมวลความหมายของสวัสดิการได้ว่า

 

o    สวัสดิการเป็นการรับ-การให้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีทั้งการให้และการรับ ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต

 

o    เป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตให้แก่คนในสังคม ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งการจัดโดยชุมชน หรือรัฐ

 

o    การให้ที่ทำให้คนมีความสุข จะจัดโดยครอบครัว ชุมชน รัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศก็ตาม

 

o    เป็นการให้ แบ่งปัน เกื้อกูล ในอดีตเมื่อมีงานตามบ้าน เพื่อนบ้านนำข้าวสาร กับข้าวมาช่วยงานกัน และสิ่งที่ไม่เป็นรูปธรรม เช่น เพื่อนบ้านมานอนเฝ้าไข้ การช่วยกันหามพาไปหาหมอ ทั้งหมดเป็นการให้เพื่อชุมชนเป็นสุข

 

o    สิ่งตอบแทนจากผู้อื่นจากการให้ความเมตตาของเราแก่ผู้อื่น

 

o    การจัดไว้เพื่อเป็นหลักประกันของตนเองและครอบครัว ไม่เพียงตัวเงิน ต้องรวมทั้งทรัพยากรและเรื่องอื่น ๆด้วย

 

o   หลักของการจัดต้องมีกฎ กติกา ให้กลุ่มดำเนินการ บริหาร บนฐานคิดของกลุ่มเอง

  

ตัวแทนแต่ละคู่สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เพื่อนถ่ายทอดให้ฟัง

 

o    คิดว่ากรอบคิดของคนที่มองสวัสดิการไม่ต่างกัน มีเป้าหมายเดียวกัน

 

o    คนที่ทำเรื่องนี้ส่วนใหญ่ใช้ฐานทุนเดิมทางสังคมที่บรรพบุรุษให้แก่ลูกหลาน แต่รุ่นหลังมาจัดลำดับใหม่ด้วยการจัดระบบการจัดการ ทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้อยู่คู่สังคม

 

o      ความหมายมีสองพวกคือ ราชการ และนักปฏิบัติการ แต่เป้าหมายเดียวกันทำให้สังคมมีความสุขอย่างยั่งยืน ทำให้สังคมมีชีวิต จะทำให้วัฒนธรรม รากเหง้ามีชีวิต ตอนนี้เมื่อรื้อฟื้นบางอย่างเกือบสาย สิ่งที่สร้างสังคมคือสวัสดิการทางด้านจิตใจ ควรยึดถือพื้นฐานของวิถีชีวิตในการพัฒนา

 

อาจารย์ทิพวัลย์เฉลยในตอนหลังว่าเหตุผลในการให้จับคู่สนทนาเพราะต้องการให้เรียนรู้  การเป็นผู้เล่า-พลังของเรื่องเล่า(Story Telling) ทำให้การพูดคุยมีพลังด้วยการเล่าเรื่องของตนเอง ประการสอง การเป็นผู้ฟัง-การฟังอย่างลึกซึ้ง(Deep Listening) ฟังอย่างตั้งใจ ให้การพูดของผู้พูดมีคุณค่า ความรู้ที่ ผังลึก ในตัวคนทุกคนมีความรู้และประสบการณ์มากมายในตัว การเก็บข้อมูลควรใช้วิธีการของการ จัดการความรู้ โดยเฉพาะ การฟัง

 

2.เติมเต็มความรู้ อาจารย์ทิพวัลย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดย power point ความหมายของสวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์ และความมั่นคงของมนุษย์ในพรบ.2546 (ตอนนี้ผู้บันทึกจับประเด็นได้ไม่ทั้งหมด ได้มาแค่บางส่วนเท่านั้นอาจไม่ครอบคลุมสิ่งที่ผู้บรรยายตั้งใจถ่ายทอด ขออภัยด้วยคะ)

 

สวัสดิการ คือ อะไร จากการค้นรากศัพท์ มาจากรากศัพท์ โสตฺถิ มาจาก สุ แปลว่า ดี  อตฺถิ แปลว่า มีอยู่ ย่อมมี จะมี รวมกันเป็น ความมีสิ่งดี ๆ จะมีแต่สิ่งดี ๆ อันว่า ความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านในกาลทุกเมื่อเทอญ  ดังนั้น คำว่า สวัสดิการ คือ ความมีสิ่งดี ๆ (ในชีวิต) นั่นเอง

 

     สวัสดิการสังคม เป็นระบบการจัดบริการทางสังคมซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน แก้ไขปัญหา การพัฒนาและการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีคุณภาพที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม เห็นว่าความหมายกว้างมาก

 

อีกศัพท์ เป็นศัพท์สังคมสงเคราะห์ หมายถึง ศาสตร์และศิลป์ทางวิชาชีพในการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูและพัฒนาบุคคล กลุ่ม ชุมชน..

 

ความมั่นคงของมนุษย์ การที่ประชาชนได้รับหลักประกันด้านสิทธิ ความปลอดภัย การตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

 

(พี่สินธุ ซึ่งต้องเป็นวิทยากรในพรุ่งนี้ เข้ามาร่วมในเวทีตอนไหนไม่ทันได้สังเกตแต่ทราบว่าช่วงเวลานี้มีพี่สินธุร่วมรับฟังอยู่ด้วยแน่นอน)

 

3.ระดมสมอง  กิจกรรมนี้ให้แบ่งกลุ่ม เป็น 3 กลุ่ม คละหน่วยงาน  เพื่อตอบคำถาม

 

1.     ท่านฝันอยากเห็นคนพัทลุงมี สิ่งดี ๆ ในชีวิตอย่างไร

 

2.     จะทำให้ ความฝัน นั้นเป็น ความจริงได้อย่างไร (การบริหารจัดการ)

 

หลังจากผ่านการระดมสมองร่วมกันใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึงเวลาพักรับประทานอาหารเที่ยง ทุกคนเดินไปอีกอาคารหนึ่งซึ่งไม่ไกลมากเพื่อร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน

  ช่วงบ่าย ยังคงรับผิดชอบเวทีต่อโดยอาจารย์ทิพวัลย์ ฟื้นพลังให้แก่ทุกคนจากอาการอิ่มจนง่วงด้วย 

กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ให้ทุกคนเข้าแถวตอน แบ่งเป็น 2 แถว ผู้หญิง และผู้ชาย ให้คนข้างหลังนวดคลายเส้นแก่คนข้างหน้าสลับกัน จากนั้น

 

นำเสนอการระดมสมองกลุ่มย่อย (กลุ่มละ ๑๕-๒๐นาที) ขอนำเสนอโดยสรุปจากการประมวลเนื้อหาของทั้ง ๓ กลุ่มคะ

 

อยากเห็นคนพัทลุงมีสิ่งดี ๆ อะไรบ้าง

 ด้านสุขภาพ

๑.    ปราศจากโรค (กาย  จิต วิญญาณ)

 

ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

 ๑.    ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เขา(ภูเขา) ป่า นา เล(ทะเล)

๒.   อนุรักษ์ฟื้นฟูสมุนไพร

๓.    จัดศูนย์การเรียนรู้ ด้านทรัพยากร

๔.   จัดอาสาสมัครรักษ์สิ่งแวดล้อม/เสริมศักยภาพการทำงาน

๕.   มีแผนปฏิบัติงานร่วมกันอย่างชัดเจนระหว่าง  ประชาชน  องค์กรท้องถิ่น

๖.    ปลูกฝัง/สร้างจิตสำนึก และความตระหนักด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

๗. เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานให้เป็นระบบและมีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนร่วมกัน

๘.   อยากเห็นทุกภาคส่วนเข้ามาจัดระบบทรัพยากรใหม่ ๆ

๙.   ป่าไม้เพิ่มขึ้น ๕๐%

๑๐.    พัฒนา อนุรักษ์ลุ่มน้ำ ทะเลสาปให้อุดมสมบูรณ์

๑๑.    มีป่าสาคูเพิ่ม ๘๐%

๑๒.   ไม่อยากให้ที่นาเปลี่ยนเป็นสวนยาง หรือสวนปาล์ม

๑๓.    ฟื้นคืนพันธุ์ปลาลำพัน

 

ด้านศาสนา/วัฒนธรรมประเพณี/ศิลปะ/วิถีชีวิต

 ๑.    อนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่

๒.   ส่งเสริมและปลูกฝังการศึกษาด้านศาสนาและศาสนกิจทุกศาสนา

๓.    ส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

๔.   ส่งเสริมและอนุรักษ์กีฬาและการละเล่นพื้นบ้าน

๕.   ส่งเสริมการใช้ภาษาประจำถิ่น

๖.    ฟื้นวิถีชาวนาให้หวนคืน

๗. งานศพ งานบุญ ปลอดอบายมุขและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

ด้านองค์กรชุมชน

 ๑.    มีศูนย์ประสานงาน/ศูนย์การเรียนรู้ขององค์กรชุมชนในพัทลุง

๒.   ยกระดับการทำงานขององค์กรชุมชนพัทลุงที่มีความเข้มแข็ง  โดยการสนับสนุนและหนุนเสริมจากทุกภาคส่วน

๓.    เสนอคำขวัญจังหวัดพัทลุงใหม่ เป็น เมืองพระบรมธาตุ นักปราชญ์ทักษิณ ถิ่นลิเกป่า เมืองหนังโนราห์ อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม  ภูเขาอกทะลุ น้ำพุร้อน พระนอนยอดเขา

๔.   จัดตั้งศูนย์คนดี ศรีเมืองลุง

๕.   มีกฎหมายรองรับองค์กรชุมชนที่รัฐให้การสนับสนุน

 

ด้านการคมนาคม

 ๑.    มีถนนที่มีมาตรฐานที่เชื่อมโยงทุกชุมชน

๒.   มีบริการสาธารณูปโภคและอุปโภคอย่างทั่วถึง(น้ำกิน น้ำใช้)

 

ด้านอาชีพ

 ๑.    ส่งเสริมอาชีพที่มั่นคงให้ทุกครัวเรือนมีอาชีพที่มั่นคงแบบเศรษฐกิจพอเพียง

๒.   ส่งเสริมอาชีพที่เป็นรายได้เสริม

๓.    เน้นการฟื้นนา ให้ทุกครัวเรือนมีข้าวกินอย่างเพียงพอ ทุกวันนี้คนพัทลุงปลูกข้าวแต่มีข้าวไม่พอกินต้องซื้อข้าวกิน

 

ด้านสังคม

 ๑.    มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน/ไม่ยิงกัน(ปัญหาที่พบคือมีกฎหมายให้จดทะเบียนการครอบครองปืนได้ ดังนั้นมือปืนจึงมีปืน(ถูกต้องตามกฎหมาย)ในการฆ่าคน)

๒.   ปลอดจากม่านรูด(เคยได้ยินเสียงสะท้อนจากเด็กที่เข้าม่านรูด บอกว่าตำรวจมาตรวจจับเฉพาะเด็กที่เข้าม่านรูด แต่ไม่ตรวจจับผู้ใหญ่ที่เข้าม่านรูดบ้าง)

๓.    เกิดสวัสดิการชุมชนครอบคลุมทั้งจังหวัด

๔.   สังคมเมืองลุงอยู่เย็นเป็นสุข

๕.   กลุ่มวัยรุ่นได้รับการแก้ปัญหาที่ถูกจุด (การศึกษา /เพศ/ คุณธรรม)

๖.    เด็กทุกคนได้รับการดูแลจากครอบครัว/สังคม/ชุมชน มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

๗. มีพื้นที่/เวทีในการแสดงออกให้แก่ทุกกลุ่มในสังคมโดยเฉพาะ เยาวชน วัยรุ่น

๘.   ผู้สูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่จากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเป็นธรรม

๙.   ให้มีการสื่อสารที่มีคุณภาพ/มีมาตรฐาน/มีความหลากหลาย มีทีวีสาธารณะ

 

ด้านการศึกษา

 ๑.    เด็กได้เข้าโรงเรียนทุกคน จบ ม ๖ เป็นอย่างน้อย

๒.   อ่านออก  เขียนได้  มาตรฐาน  ช่วงชั้น (ป.๖ ช่วงชั้นที่๒) 

  ๒.๑  มีทักษะด้านอาชีพที่สอดคล้องกับชุมชน 

  ๒.๒  ด้านการแสวงหาความรู้/ความใฝ่รู้ (เชื่อมั่นแต่ทฤษฎี) 

  ๒.๓  มีคุณธรรม จริยธรรม  

อันที่จริงไม่อยากถ่ายทอดยาวขนาดนี้ เห็นใจคนอ่านเหมือนกันคะ แต่เนื่องจากความไม่ขยันในการสรุปประเด็นของผู้บันทึก จึงทำให้ต้องเขียนยาวขนาดนี้คะ

หมายเลขบันทึก: 165250เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2008 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณน้องรัชค่ะ

ได้เรียนรู้ไปด้วย....  ดีมากค่ะ

ได้ลองดูข้อมูลของ UNDP ที่ทำดัชนีการพัฒนาคนของ 76 จังหวัด  ตัวชี้วัดมีส่วนคล้ายที่น้องรัชบอกมา  แต่ของพื้นที่ที่น้องรัชบอกมามีรายละเอียดเยอะกว่ามาก    โดยเปรียบเทียบแล้ว จังหวัดพัทลุงได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและดีในหลายๆมิติค่ะ  ยกเว้นมิติเดียวที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  ที่น้องรัชเขียนว่า "ไม่ยิงกัน" นั้น คงสะท้อนปัญหานี้เหมือนกันค่ะ

ตัวเองมองว่า "ความคาดหวัง" สะท้อน "ปัญหา" ในบางระดับ  เคยลองนั่งอ่านเรื่องเกี่ยวกับตัวชี้วัด "ความสุข" ที่ชาวบ้านหลายๆพื้นที่สะท้อนมาในงานวิจัยชิ้นต่างๆ  เปรียบเทียบแล้วจะเห็นภาพชัด

ปราชญ์ชาวบ้านอิสานอยากเห็น "ครอบครัวที่พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน" และถือเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของความสุข (ก็คือสวัสดิการ)  สะท้อนภาพของสังคมที่นั่นได้ดีค่ะ   แต่ภาคใต้ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้

สวัสดีจ๊ะหนูรัช

ดีจัง...ได้อ่านงานเขียนที่มีชีวิตชีวา อ่านแล้วเห็นภาพตาม แล้วก็ยังได้เนื้อหาสาระดีด้วยค่ะ (ขอชมลูกศิษย์ผ่าน Blog หน่อย อิอิ) เพียงแต่ว่า...ตัวอักษรโตไปหน่อยนะจ๊ะ หนูรัชลองปรับอีกหน่อยนะ (อดแนะนำไม่ได้...ตามประสาครูน่ะค่ะ)

หนูรัชลองอ่านงานวิจัยเรื่องตัวชี้วัดความสุขที่อ.ปัทพูดถึงนะ...โดยเฉพาะงานของพี่หมออภิสิทธิ์ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี ขอนแก่น ที่ทำวิจัยว่าด้วย "กระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดความสุขของประชาชนชาวไทย" ใช้วิธีการสร้าง การถ่วงน้ำหนักตัวชี้วัดในเรื่องต่าง ๆ คล้าย ๆ กับที่หนูรัชทำ Thesis นั่นแหละจ๊ะ

โดยที่การพัฒนาดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index-HDI) นั้น ทาง UNDP เสนอไว้ 3 ตัวหลัก ๆ คือ การมีชีวิตที่ยืนยาว (Longevity) ความรู้ (Knowledge) และมาตรฐานความเป็นอยู่(Standard of living) ซึ่งจะมีตัวชี้วัดย่อย ๆ ไปอีก (หนูรัชลองค้นอ่านจากรายงานของ UNDP นะจ๊ะ)

ส่วนข้อมูลตัวชี้วัดความสุขทางเครือข่ายภูมิปัญญาชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานที่โครงการวิจัยที่พี่หมออภิสิทธิ์ทำนั้น ได้แยกแยะความสุขออกเป็น 8 หมวดคือ 1.หลักประกันชีวิต 2.ร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง 3.ครอบครัวอบอุ่น 4.ชุมชนเข้มแข็ง 5.สิ่งแวดล้อมดี 6.อิสรภาพ 7.ความภาคภูมิใจ และ8.เข้าถึงธรรมะว่าด้วยการอยู่ร่วม ซึ่งมีรายละเอียดย่อยลงในแต่ละหมวดอีกจ๊ะ ถ้าสนใจหนูรัชก็ค้นอ่านได้จากรายงานอีกเช่นกัน (ที่ office อาจารย์ตุ้มน่าจะมีรายงานเหลือบ้าง แล้วจะเอาไปให้วันประชุมที่กทม.แล้วกันนะ)

ถ้าแบ่งเวลาได้บ้าง อาจารย์ตุ้มอยากชวนหนูรัชออกจาก "วังมัจฉา" ไปลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ "ของจริง" ด้วยการพูดคุยกับชุมชนในภูมิภาคอื่น ๆ เหนือ กลาง อิสาน ตะวันออก ตะวันตก ฯลฯ บ้างนะจ๊ะ (คงต้องขออนุญาติพระอาจารย์ภีม :เจ้าของวังก่อนจ๊ะ) จะได้เห็นภาพของภาคใต้ชัดขึ้นจากการศึกษาเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ จ๊ะ  (มีอาจารย์ที่ปรึกษาจบมาด้านการพัฒนาเปรียบเทียบก็อย่างนี้แหละนะ อยากให้ลูกศิษย์เรียนรู้เชิงเปรียบเทียบมาก ๆ หน่อย)

ขอเป็นกำลังใจให้นะจ๊ะ และขอให้มีความสุขมาก ๆ ในวันแห่งความรักและทุก ๆ วันค่ะ

 

 

 

สวัสดีคะอาจารย์ปัท

 

พออาจารย์พูดถึงดัชนีการพัฒนาคนของ 76 จังหวัด ก็นึกขึ้นมาได้ว่าหากเราลองใช้ตัวชี้วัดในนี้มาตรวจวัดการพัฒนาคนจากการจัดตั้งกลุ่มองค์กรการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มสัจจะที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคนนั้นสุดท้ายเมื่อดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งบางกลุ่มเกิน 10 ปีแล้ว เกิดการพัฒนาคนแค่ไหน อย่างไร

 

เจอกันคราวหน้ารัชคงต้องขอคำแนะนำจากอาจารย์ปัทในหลายเรื่องคะ

 ขอบคุณคะ

สวัสดีคะอาจารย์ตุ้ม

 

ขอบพระคุณสำหรับการแนะนำในการเขียน blog ที่อาจารย์แนะนำวันก่อนทำให้รัชสามารถถ่ายทอดออกมาเป็น    งานเขียนที่มีชีวิตชีวา  อย่างที่อาจารย์ชมคะ  และจะปรับปรุงตามคำแนะนำให้ดียิ่งขึ้นคะ

 

จะไปค้นเรื่องดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ในรายงานของ UNDP รวมทั้งตัวชี้วัดความสุขที่อาจารย์พูดถึงน่าสนใจมากคะ

 

สวัสดีวันแห่งความรัก ขอให้อาจารย์มีความสุขในวันแห่งความรักและทุก ๆ วันเช่นกันคะ

 

ขอบคุณคะ

 รัช   
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท