นิติกาญจน์


ลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศ

ลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศ    ก่อนที่จะกล่าวถึงลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศ จะขอกล่าวถึงความหมายและประเภทของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้

ความหมายของกฎหมายระหว่างประเทศ 
 กฎหมายระหว่างประเทศ  (International Law)  หมายถึง  กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในแต่ละประเทศ หรือ ระเบียบข้อบังคับทั้งปวงของสังคมระหว่างประเทศ ที่กำกับและควบคุมความประพฤติหรือพฤติกรรมของบุคคลระหว่างประเทศให้สามารถอยู่รวมกันได้อย่างสันติสุข
 ซึ่งในปัจจุบันนี้ กฎหมายระหว่างประเทศมิได้จำกัดบทบาทอยู่แต่เพียงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น  แต่ยังได้ขยายบทบาทเข้ามาใช้บังคับภายในประเทศอีกด้วย  โดยได้เข้ามาควบคุมพฤติกรรมขององค์กรของรัฐและปัจเจกชนด้วย  และยังให้ความคุ้มกันแก่ปัจเจกชนมิให้ผู้ใดละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้ความคุ้มครองแก่เด็ก และสตรี ตลอดจนสิ่งแวดล้อม และการดำเนินคดี หรือลงโทษต่างๆ แก่ผู้ประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม .

ประเภทของกฎหมายระหว่างประเทศ 
กฎหมายระหว่างประเทศสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท  คือ
 1.  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง  (Public International Law)  ซึ่งเป็นการศึกษาถึงที่มาและหลักเบื้องต้นของกฎหมายระหว่างประเทศ  ซึ่งถือว่ารัฐหรือประเทศเอกราชแต่ละประเทศที่มีฐานะเป็นบุคคล  ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ หรือไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนา หรือกำลังพัฒนาก็ตาม  ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เหมือนกับบุคคลธรรมดา  ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแต่ละประเทศอาจจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน  หรืออาจมีเรื่องพิพาทโต้แย้งกันขึ้นได้  จึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ และสาระสำคัญเกี่ยวกับเขตแดนของรัฐ  ทะเลหลวง  การทำสนธิสัญญา  การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ  การทำสงคราม  การสงบศึก  และความเป็นกลาง  เป็นต้น .

2.  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  (Private International Law) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในทางคดีบุคคล  ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้หมายถึง  ความเกี่ยวพันในสิทธิและหน้าที่ทางแพ่งของพลเมืองแห่งประเทศหนึ่งกับพลเมืองแห่งประเทศซึ่งเรียกว่าคนต่างด้าว  ไม่ว่าคนต่างด้าวนั้นจะอยู่ในประเทศของตนหรือเข้ามาอยู่ในอีกประเทศหนึ่งในฐานะผู้เข้ามาอาศัยอยู่ก็ตาม  หรือในระหว่างคนต่างด้าวด้วยกันเองที่เข้าไปอยู่ในประเทศอื่น  ซึ่งความเกี่ยวพันระหว่างกัน ในระหว่างพลเมืองของแต่ละประเทศที่ต่างกันนั้น  อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล  ทรัพย์  หนี้  และวิธีได้สิทธิต่างๆ ในทรัพย์  ซึ่งเหตุที่ประเทศต่างๆ ต้องเข้ามาเกี่ยวพันกันก็เพราะประเทศทั้งหลายนั้นต่างต้องเป็นผูพิทักษ์และระวังรักษาผลประโยชน์ของพลเมืองแห่งประเทศของตน  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ  โดยมีมูลเหตุมาจากกฎหมายเอกชนของประเทศหนึ่ง แตกต่างกับของอีกประเทศหนึ่ง

3.  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  (Criminal International Law)  เป็นการศึกษาถึงการเกี่ยวพันระหว่างประเทศในทางคดีอาญา  ซึ่งการเกี่ยวพันระหว่างประเทศในรูปนี้นั้นได้แก่  ความเกี่ยวพันกันโดยเหตุที่พลเมืองกระทำความผิดอาญา  กล่าวคือ พลเมืองของประเทศหนึ่งกระทำความผิดแล้วหลบหนีเข้าไปในอีกประเทศหนึ่ง  หรือมีการเริ่มต้นกระทำความผิดในประเทศหนึ่งแล้วการกระทำความผิดนั้นสำเร็จลงในอีกประเทศหนึ่ง  หรือการกระทำความผิดในทะเลหลวงหรือในอากาศ  อันถือว่าเป็นเขตแดนระหว่างประเทศที่ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ  หรือกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาของประเทศเจ้าของสัญชาติของคนต่างด้าวนั้น  ดังนั้นจึงเกิดมีปัญหาขึ้นว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดมาลงโทษ  ศาลของประเทศใดจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  หรือหลักการและปัญหาของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน  การส่งประเด็นไปสืบ  ผลบังคับคดี  และผลแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลในต่างประเทศ .

ลักษณะของกฎหมายระหว่างประเทศ
จากข้อความดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้เห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีลักษณะดังนี้
กฎหมายระหว่างประเทศมีลักษณะสำคัญ คือ
1.  กฎหมายระหว่างประเทศมีสภาพบังคับแตกต่างไปจากสภาพบังคับของกฎหมายภายใน
2.  กฎหมายระหว่างประเทศแตกต่างไปจากมารยาท และอัธยาศัยไมตรีอันดีระหว่างประเทศ  หรือศีลธรรมซึ่งไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย และไม่มีโทษด้วย
3.  กฎหมายระหว่างประเทศลงโทษโดยหลักการความรับผิดชอบของรัฐ

 

หมายเลขบันทึก: 165098เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2008 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท