มะเร็งคร่าชีวิตคนไทย


มะเร็ง
มะเร็ง คร่าชีวิตคนไทยข่าวยอดรัก สลักใจ ราชาเพลงลูกทุ่ง ออกมาเปิดเผยว่า จะมีชีวิตอยู่ได้อีก 6 เดือน เนื่องจากป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย ทำเอาช๊อกวงการลูกทุ่ง วงการบันเทิงเลยทีเดียว ผมเองคนหนึ่งละ ที่เป็นแฟนของยอดรัก มากกว่าสายันต์ ไม่ว่าจะเป็น 30 ยังแจ๋ว อยากรักแม่ม่าย และเพลงดังอีกมากมาย ย้อนกลับมาคิดว่าในยุคนี้มะเร็ง เป็นโรคยอดฮิตที่คร่าชีวิตผู้คนที่เรารู้จักไปมากมาย ทั้งเพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน มันชักจะมาใกล้ตัวเรามากแล้วละซิ  ซึ่งในเรื่องนี้ ท่าน ศ.น.พ.สุทัศน์ ศรีพจนารถ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวถึงโรคมะเร็งตับว่าในประเทศไทยพบว่ามีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดที่เกิดจากเซลล์เนื้อตับ และในท่อน้ำดี โดยมะเร็งตับ จะเกิดจากไวรัส ตับอักเสบ ชนิดบี และซี ซึ่งพบว่า 10% ของประชากรไทยมีไวรัสชนิดดังกล่าว และมีปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดมะเร็งได้อีก คือ แอลกอฮอล์ และ อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ก็เป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อติดไวรัสดังกล่าวจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในตับ เมื่ออักเสบเป็นเวลานาน เซลล์ในตับจะเสื่อมสภาพและเกิดการแข็งตัว และเกิดเป็นก้อนขึ้นในตับ กรณีที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะไม่แสดงอาการ แต่อาจตรวจพบได้จากการตรวจเลือดอย่างละเอียด เมื่อมะเร็งทำลายตับจนเริ่มเป็นก้อน มะเร็งจะปล่อยสารออกมาในกระแสเลือด ซึ่งสามารถพบได้โดยการตรวจหาระดับสารอัลฟาฟิโตโปรตีน (Alfafeto-protein) และเมื่อมะเร็ง เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นจนขยายตัวไปเบียดบริเวณเนื้อตับ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ จุกเสียด แน่นท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลือง เมื่อก้อนเนื้อขยายตัวมากขึ้น ในระยะสุดท้าย อาจแตกและมีการตกเลือด อัตราการรอดชีวิตมีน้อยลง รักษาแบบประคับประคองเท่านั้น โอกาสในการรักษาของโรคมะเร็งตับนั้น ขึ้นอยู่กับระยะที่พบโรค ตำแหน่งของก้อนเนื้อ ขนาดและจำนวนของก้อนเนื้อที่พบ หากพบในระยะแรก ก็สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดและทำเคมีบำบัด โอกาสในการรักษาได้สำเร็จ และมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 70-80% แต่หากก้อนเนื้อขนาดเกิน 5 เซนติเมตร หรือมีก้อนเนื้อร้ายกระจายอยู่เกิน 3 ก้อน แปลว่าเกิดการกระจายตัวของมะเร็งในตับมากแล้ว ทำให้โอกาสในการมีชีวิตรอดเกิน 5 ปี เหลือเพียง 40% ส่วนใหญ่ของการเกิดมะเร็งตับมีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบีและซี จากสถิติพบว่า 80% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นมะเร็งตับ โดยมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติถึง 223 เท่า และประมาณ 90% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจะมีตับแข็งร่วมด้วย หมายความว่า ถ้าป่วยเป็นพาหะตับอักเสบบี และมีตับแข็งแล้ว ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับจะสูงมาก พฤติกรรมอีกอย่างของสังคมไทย คือ การใช้น้ำมันทอด น้ำมันทอดปลา  แม่บ้านหลายต่อหลายคนก็เกิดความเสียดายนำน้ำมันเหล่านั้นกลับมาใช้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งที่มาพร้อมกับความเอร็ดอร่อยนั้นกลับกลายเป็นมะเร็งร้ายพร้อมทำลายตับและไตได้  ผศ.ดร.สุพัตรา ปรศุพัฒนา ภาควิชาพิษวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพและความเป็นพิษของน้ำมันพืชทอดซ้ำและพบว่าในขณะการปรุงอาหารด้วยวิธีการทอดแบบน้ำมันท่วมจะมีอุณหภูมิของน้ำมันที่อยู่ประมาณ 140-180 องศาเซลเซียส น้ำมันจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการส่งผ่านความร้อนไปยังอาหารโดยอาหารจะสามารถดูดซับน้ำมันที่ใช้ในการทอด ในทางตรงกันข้ามส่วนประกอบจากอาหารเอง เช่น ไขมันจากสัตว์และเครื่องปรุงต่างๆ ก็ยังอาจปนเปื้อนเข้าสู่น้ำมันที่ใช้ทอดได้และเร่งปฏิกิริยาทำให้คุณภาพของน้ำมันเปลี่ยนเร็วมากขึ้น สารเหล่านี้มีการสะสมจนถึงระดับที่ทำให้น้ำมันนั้นหมดสภาพ ไม่สามารถใช้ได้อีกหรือทำให้เกิดสารพิษในระดับที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ น้ำมันทอดซ้ำยังมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติน้ำมัน เช่น ความหนืด ฟอง สีและรสที่ไม่พึงประสงค์ เกิดความเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง,กระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้และมีฤทธิ์ก่อมะเร็งได้ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนในหลายพื้นที่ ได้มีการรวมตัวกันที่จะตรวจสอบ ตรวจตรา การใช้น้ำมันทอดซ้ำ เช่น กลุ่มนักสื่อสารสุขภาพอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ขณะนี้กำลังรณรงค์มิให้มีการใช้น้ำมันทอดซ้ำ เข้าไปสำรวจในตลาด หากพบเห็นก็จะให้คำแนะนำ ชี้แนะ หากยังไม่ฟังไม่เชื่อ ก็จะใช้มาตรการทางสังคม ต่อต้านพ่อค้า-แม่ค้าที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ รวมตัวกันไม่กินร้านนี้ แหม! ขณะนี้ราคาน้ำมันพืช ก็แพงเสียด้วยซิ โอกาสที่จะใช้น้ำมันทอดซ้ำก็ย่อมมีมากขึ้นไปอีก เราๆ ท่านๆ จำเป็นต้องหยิบยกประเด็นนี้ มาพูดคุยกันบ้างแล้วละครับ
คำสำคัญ (Tags): #มะเร็ง
หมายเลขบันทึก: 164809เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2008 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท