ทำไมต้องปฏิรูปกฏหมายพระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐


ทำไมต้องปฏิรูปกฏหมายพระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐
ที่มาที่ไป
           สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและทะเล มีความเห็นร่วมกันว่า พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเขตชายฝั่ง และการดูแลรักษาทะเล ไม่สามารถดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายของการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืน จึงได้ริเริ่มให้มีการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทะเล การประมวลประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติขององค์กรชุมชน และปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายเพื่อนำข้อความรู้มาสังเคราะห์เป็นร่างพระราชบัญญัติการประมง ที่เกื้อหนุนกับจัดการทะเลอย่างยั่งยืน
             การศึกษากฎหมายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทะเล ดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๔๒ - มกราคม ๒๕๔๓ จากนั้นได้จัดการสัมมนาในระดับชุมชนและเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านใน ๑๓ จังหวัดภาคใต้ รวม ๑๔ ครั้ง เพื่อประมวลประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติขององค์กรชุมชน ปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมาย และจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายประมงจากองค์ความรู้ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งคลอบคลุมพื้นที่ ๓ ทะเลของภาคใต้ประกอบด้วยทะเลด้านอ่าวไทย ทะเลสาบสงขลา ทะเลอันดามัน ตลอดจนพื้นที่อ่าวและคลองที่เชื่อมต่อกับทะเล เช่น อ่าวปัตตานี อ่าวพังงา คลองปะเหลียน เป็นต้น
             ในช่วงปี ๒๕๔๓ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนทะเล และนักวิชาการได้ร่วมกันจัดสัมมนาสังเคราะห์ข้อสรุปจากงานศึกษาและการสัมมนาทั้ง ๑๔ ครั้ง และจัดทำเป็นเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับประชาชน
กล่าวได้ว่า ร่างเนื้อหาพระราชบัญญัติการประมงฉบับชาวประมงพื้นบ้าน จัดทำขึ้นจากประสบการณ์ตรงของคนทะเล ผู้ซึ่งมองปัญหาและเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาด้วยสำนึกของการปกป้องมาตุภูมิ

   
 
ทำไมต้องปฎิรูปพระราชบัญญัติการประมง ๒๔๙๐
- ปัญหาสำคัญของทะเลไทยและชาวประมงพื้นบ้านคือ การลดลงอย่างรวดเร็วของสัตว์น้ำ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง และเครื่องมือประมงพื้นบ้านถูกทำลายโดยเรือประมงซึ่งใช้เครื่องมือผิดกฎหมายเข้าไปทำการประมงในเขตหวงห้าม
ปัญหาทั้ง ๓ มีอาการของปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่หรือจังหวัด เช่น อวนรุนที่ปัตตานีเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายสัตว์น้ำและเครื่องมือทำการประมง นครศรีธรรมราชกับสุราษฎร์ธานีมีทั้งอวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟจับปลากระตักและน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง สงขลานอกจากเครื่องมือการประมงเช่น อวนรุน เรือปั่นไฟปลากะตัก ชาวประมงพื้นบ้านยังเผชิญกับปัญหาการสร้างเขื่อนทะเลสาบสงขลา การพัฒนาอุตสาหกรรมและเมืองซึ่งปล่อยน้ำเสียลงทะเลสาบ

              จังหวัดชายฝั่งอันดามันมีการทำลายป่าชายเลนเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง การสัมปทานทำถ่าน การทำประมงผิดกฎหมายเช่น อวนรุน อวนลาก ระเบิดปลา เมื่อคลื่นลมสงบกองเรือปั่นไฟปลากระตักเดินทางจากฝั่งอ่าวไทยเข้าร่วมกวาดจับสัตว์น้ำ และปัญหาได้รุกคืบไปสู่การประมงผิดกฎหมายในคลองและแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเล
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานโดยทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ เป็นต้นมา การแก้ไขปัญหาสามารถดำเนินการได้ในระดับการแก้ไขเฉพาะพื้นที่และเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่กำหนดไว้โดย พ.ร.บ.การประมง ๒๔๙๐ ซึ่งบัญญัติให้ฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำเป็นเจ้าของปัญหาและ เป็นผู้มีอำนาจอย่างเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่บังเอิญได้พนักงานเจ้าหน้าที่ดี กฎหมายก็ถูกเลือกใช้ไปในทางที่ดี
   


          จังหวัดที่พนักงานเจ้าหน้าที่เฉื่อยเนือยกฎหมายก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ กฎหมายประมงก็ถูกเลือกใช้ไปในทางเอื้อประโยชน์กับการทำลายทะเลการที่กฎหมายศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัตินี่เองที่ทำให้มีการอ้างกันว่า กฎหมายดีแต่การปฎิบัติแย่ ซึ่งเป็นความจริงเพียงบางส่วน ทั้งนี้เพราะปรากฎการณ์ที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเลือก ปฎิบัติตามกฎหมายประมงแตกต่างกันตามความชอบของบุคคล เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปและเป็นประสบการณ์ ซ้ำซาก ได้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายนั่นเองที่ต้องได้รับการแก้ไข
- กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทะเลและทรัพยากรชายฝั่งมีจำนวนมาก กฎหมายแต่ละฉบับต่างให้อำนาจหน่วยงาน ราชการแต่ละหน่วยงานมีอำนาจการจัดการเหนือพื้นที่ทะเล ชายฝั่งและเกาะ ตลอดจนการควบคุมจำนวนเรือและเครื่องมือการประมง เมื่อหน่วยงานราชการที่มีอำนาจต่างทำงานโดยกฎหมายต่างฉบับแต่บังคับในพื้นที่เดียวกันจึงเกิดความขัดแย้ง และซ้ำซ้อนกัน จนประชาชนโดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ นอกจากนี้ความซ้ำซ้อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดช่องโหว่ของกฎหมาย และประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาลดลง
- โครงสร้างอำนาจและกระบวนการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมศูนย์อำนาจใหญ่อยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกรมประมง การดูแลรักษาทะเลซึ่งเป็นกิจการสาธารณะซึ่งประชาชนควรร่วมกันดำเนินการ จึงถูกทำให้เป็นกิจการของหลวงประชาชนไม่เกี่ยว ถ้าจะเกี่ยวต้องได้รับการอนุมัติหรือคำสั่งจากรัฐมนตรี สังคมไทยจึงไม่สามารถระดมพลังของคนในสังคมเข้าร่วมแก้ไขปัญหาของชาติได้อย่างเป็นจริง

         ประการสำคัญการรวมศูนย์อำนาจทำให้กลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่พยายามดูแลรักษาทรัพยากรชายฝั่งและทะเล นอกจากไม่ได้รับการสนับสนุนแล้ว บางกรณีถูกตั้งข้อหาว่า ทำเกินหน้าที่ของพลเมือง บางกรณีกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย การอาสาของประชาชนเพื่อดูแลรักษาทะเลเป็นการอาสาเพื่อทำความดีให้สังคม ระบบกฎหมายที่กีดกันและให้โทษกับผู้อาสาทำความดีจึงไม่ชอบธรรม และจะนำพาประเทศไปสู่ปัญหา

                                     http://www.wildlifefund.or.th/03_Law/law_00.html

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16390เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2006 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท