พระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง
พ.ศ.2490
พ.ศ.2513
ภูมิพลอดุลยเดช
ป.ร.
ให้ไว้ ณ
วันที่ 28 มีนาคม
พ.ศ.2513
เป็นปีที่
25 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประมงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 146 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 พ.ศ.2513”
มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 53 ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
บุคคลใดมีสัตว์น้ำดังกล่าวไว้ในครอบครองในวันที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในวรรคหนึ่งเริ่มใช้บังคับ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้นำสัตว์น้ำนั้นส่งมอบต่อเจ้าพนักงานกรมประมง กระทรวงเกษตร ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศ ในการนี้ให้กรมประมงคิดราคาสัตว์น้ำดังกล่าวตามสมควรให้แก่ผู้นำส่งมอบ”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :-
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ
เนื่องจากปรากฏว่าได้มีผู้มีปลาปิรันยา (Piranha)
หรือปลาคาริบี (Caribe)
ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในสกุลเซราซาลมัส (Serasalmus)
และมีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ในแม่น้ำอะเมซอน ประเทศบราซิล
ไว้ในครอบครอง ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็ก
รูปร่างคล้ายปลาแปบ หรืปลาโคก
แต่มีฟันคมและมีนิสัยดุร้ายมาก ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูง
ชอบรุมกัดกินเนื้อมนุษย์และสัตว์ทุกขนาดเป็นอาหาร เช่น
โค กระบือ ม้า ฯลฯ
ที่ลงไปในแม่น้ำลำคลองที่ปลานี้อาศัยอยู่
และบัดนี้มีผู้นำหรือสั่งปลาในสกุลนี้มาจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยหลายราย
โดยจำหน่ายเป็นปลาประเภทสวยงาม และแปลกประหลาด
ถ้าปล่อยให้มีปลาในสกุลนี้ไว้ในครอบครอง
อาจจะมีการผสมพันธุ์ปลาในสกุลนี้ขึ้นจำหน่าย
หรืออาจจะมีผู้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะ
ปลาสกุลนี้จะขยายพันธุ์และแพร่หลายทั่วไป
จะเป็นอันตรายต่อประชาชน สัตว์เลี้ยงและสัตว์น้ำอย่างยิ่ง
จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 53
แห่งพระราชบัญญัติการประมง
โดยห้ามมิให้มีสัตว์น้ำตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาไว้ในครอบครอง
ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการค้าหรือไม่
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
และโดยที่เป็นกรณีเหตุฉุกเฉินมีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ
ก่อนที่จะได้มีการขยายพันธุ์จนสายเกินที่จะป้องกันกำจัดได้
สมควรออกพระราชกำหนดโดยด่วน
ที่มา www.cfft.th.com