การจัดการความรู้กับการส่งเสริมการเกษตร


งานพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้นั้น ย่อมเกิดจากการทำงานอย่างมี “ส่วนร่วม” ด้วยบรรยากาศและกระบวนการเรียนรู้อย่าง “กัลยาณมิตร” ที่ต่างฝ่ายต่างเคารพใน “ศักดิ์ศรี” แห่งความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

ช่วงวันพุธที่ ๓๐ และวันพฤหัสที่ ๓๑ มกราคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมในหัวข้อ “การจัดการความรู้กับงานส่งเสริมการเกษตร” ซึ่งอาจารย์ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ หรือ “อาจารย์พี่เปี๊ยก” ที่เราเคารพรักได้มาเป็นวิทยากรบรรยายที่ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน ๕๕ คน ซึ่งมาจากหลากหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเป็นกลุ่มบุคคลเป้าหมายของการฝึกอบรมครั้งนี้

อาจารย์เพิ่มศักดิ์บอกกับเราว่า “ทิ้งงานประชุม ๔ ประชุมด้วยกันทีเดียวนะเพื่อจะได้มาที่กำแพงแสน”

จำได้ว่าเรารู้จักอาจารย์เพิ่มศักดิ์ครั้งแรกจากการลงพื้นที่ที่ขอนแก่นเมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว จากนั้นก็คุ้นเคยกันเรื่อยมา...ได้ร่วมงานกันภายใต้โครงการนำร่องเกษตรกรรมยั่งยืนของกระทรวงเกษตรฯ ที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งทำให้เราได้มีโอกาสลงศึกษาพื้นที่สัมผัสวิถีชีวิตพี่น้องเกษตรกรทั้ง ๑๙ ภูมินิเวศน์ทั่วประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งกับแกนนำเกษตรกรและแกนนำนักพัฒนา ได้เข้าร่วมเวทีอภิปรายเพื่อให้ข้อคิดเห็นทั้งในด้านงานวิจัยและงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ฯลฯ

ได้เห็นและตระหนักถึง “บทบาท” ของอาจารย์เพิ่มศักดิ์ทั้งในฐานะ “นักวิชาการ” และ “คนวงใน” ของขบวนการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

บ่อยครั้ง...ที่พวกเรานั่งล้อมวง “ปุจฉา-วิสัชนา” กันถึง “ความหมาย” และ “กระบวนการ” ของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งส่งผลถึงความล่มสลายของวิถีชุมชนและพี่น้องเกษตรกร

หลายครั้ง...ที่พวกเราตั้ง “คำถาม” ต่อ “วิธีคิด” และ “วิธีทำงาน” ของผู้คนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทรับผิดชอบดูแล

ทุกครั้ง...ที่พวกเราคิดว่าบทบาทหน้าที่ของนักส่งเสริมการเกษตรต้องเปลี่ยนจาก “ผู้รู้” มาเป็น “ผู้เรียนรู้” เปลี่ยนจาก “คุณอำนาจ” มาเป็น “คุณอำนวย”

งานพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้นั้น ย่อมเกิดจากการทำงานอย่างมี “ส่วนร่วม” ด้วยบรรยากาศและกระบวนการเรียนรู้อย่าง “กัลยาณมิตร” ที่ต่างฝ่ายต่างเคารพใน “ศักดิ์ศรี” แห่งความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

การพัฒนาการเกษตรที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชนและเครือข่ายได้อย่างมั่นคงนั้น นักส่งเสริมการเกษตรต้องไม่ทำงานในลักษณะของการ “ถ่ายทอด” หรือ “ส่งต่อ” ความรู้ในรูปแบบของ “พิมพ์เขียว” ที่สั่งตรงมาจากส่วนกลาง หากทว่านักส่งเสริมการเกษตรและพี่น้องเกษตรกรควรต้อง “ร่วมด้วยช่วยกัน” ในการสร้างสรร “ความรู้” และแสวงหา “ทางออก” ที่ถูกต้องเหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขของชุมชนที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

แม้นระยะเวลาของการฝึกอบรมจะมีจำกัด หากทว่าตลอดเวลา ๒ วันของการทำงานภายใต้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ “Care – Share – Learn - Shine” ที่อาจารย์เพิ่มศักดิ์ได้ออกแบบนั้น เรามั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่เข้าอบรมในครั้งนี้จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ได้รับประสบการณ์และทักษะด้านการจัดการความรู้ในระดับหนึ่ง การตอบ “โจทย์” ที่มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๖ โจทย์โดยผ่าน กิจกรรมการติดบัตรคำ การระดมสมอง การฝึกโยคะ และการเจริญสมาธิภาวนา จะทำให้นักส่งเสริมการเกษตรได้เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้สังคม และเรียนรู้โลกในมุมมองที่ "คม-ชัด-ลึก" มากยิ่งขึ้น

ช่วงท้ายของการฝึกอบรม เรารับช่วงต่อจากอาจารย์เพิ่มศักดิ์ โดยใช้เวลากว่าชั่วโมงครึ่งในการ “ถอดบทเรียน” การทำงานของนักส่งเสริมการเกษตร และ “Inspire” ให้พี่น้องนักส่งเสริมการเกษตรที่เข้ารับการอบรมซึ่งส่วนใหญ่ทำงานกันอยู่ในพื้นที่ด้วยความยากลำบากนั้นได้มี “กำลังใจ” ที่จะก้าวเดินต่อไปในเส้นทางของนักส่งเสริมการเกษตร “มืออาชีพ” ที่มีทั้งความรู้ทางวิชาการ มีทั้งแรงบันดาลใจ มีทั้งจินตนาการและความมุ่งมั่นที่จะสร้าง "ความสุขอันจริงแท้"ให้แก่ผู้คนกลุ่มที่ด้อยโอกาสและถูกเอาเปรียบเชิงโครงสร้างในสังคม

หยาดน้ำที่สะท้อนเป็นเงาจางในหน่วยตาและรอยยิ้มของพี่น้องนักส่งเสริมการเกษตรหลายคนที่เราแลเห็นก่อนจาก ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นขึ้นในใจเพราะเสมือนเป็นดั่ง “คำสัญญา” ที่บอกกับเราว่า

จะขอตามรอยของพ่อ

ท่องคำว่าเพียงและพอจากหัวใจ

เป็นลูกที่ดีของพ่อ

ด้วยความรัก ด้วยภักดี

ด้วยความรัก ด้วยภักดี ...ตลอดไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 162827เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2008 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านแล้วเห็น  รอยยิ้มของพี่น้องนักส่งเสริมการเกษตร ทำให้มีความสุขไปด้วยของการทำงาน

คิดว่าเรื่องการส่งเสริมการเกษตรไทย จำเป็นต้อง

  • เห็นภาพครบทั้งระบบคือ การบริโภค การผลิต การแลกเปลี่ยน (การตลาด)  ซึ่งทั้งสามตัวมีพลวัตรไม่หยุดนิ่ง
  • เข้าใจทุกมิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือแม้แต่การเมือง  (ที่จริงในภาคส่วนต่างๆที่ทำงานร่วมกับพื้นที่ก็คงเช่นเดียวกัน) 
  • จะทำเช่นนั้นได้ไม่ง่ายเลย  คิดว่าต้องเอาหลายๆภาคีมาคุยและช่วยกันต่อภาพที่เป็นจริงค่ะ  
  • การเข้าใจระบบที่เราเผชิญอยู่ก็สำคัญมากๆ

 

ในแง่วิชาการ  ก็กังวลกันมากว่า ไม่มีนักวิชาการคนไหนที่เข้าใจระบบเศรษฐกิจภาคเกษตรของเราจริงๆ เพราะคนมาศึกษาเรื่องนี้น้อยลงทุกที  ระบบฐานข้อมูลการเกษตรไทยก็อ่อนด้อยกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา  ตอนนี้ภาคธุรกิจเอกชนจะมีข้อมูลดีกว่าภาครัฐแล้ว  ทั้งที่ภาครัฐก็มีบุคลากรกระจายในพื้นที่อยู่ไม่น้อย

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์อนงค์

เช่นกันค่ะ มีความสุขเสมอยามที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนทำงานที่คลุกคลีอยู่กับความยากลำบากของพี่น้องเกษตรกร

คงต้องช่วยกันเป็น "กำลังใจ" ให้กับ "คนดี" ที่ยังคงยืนหยัดทำงานท่ามกลาง "มรสุม" ที่พัดพาถาโถมทั้งจากภาคนโยบายและภาคปฎิบัติ  

สวัสดีค่ะอาจารย์ปัท

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นนะคะ

จะทำงานเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จได้ คงต้อง "เปิดใจ" และต้อง "ก้าวล่วง" จากกระบวนทัศน์เดิม ๆ ต้องลบ "โปรแกรม" ที่ฝังติดอยู่ในความคิดและการกระทำของพวกเรามาตลอดโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวค่ะ อาจารย์บัญชร แก้วส่องมักบอกด้วยเสียงหัวเราะยามวิวาทะกันอยู่บ่อย ๆ ว่า.... ต้องเปลี่ยน "กระบาลทัศน์" ของพวกนักวิชาการเป็นอันดับแรก...ท่าจะจริงค่ะ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท