Workshop: เครื่องมือในการดูแลสุขภาพชุมชน


แต่ละปฏิบัติการจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ กิจกรรมที่ให้ทำ แนวคำถามในการอภิปรายกลุ่ม และตารางที่ต้องใส่ข้อมูลไว้ให้

เมื่อวันที่ ๑๗-๑๙ มกราคม ๒๕๕๑ ดิฉัน ผศ.ดร.เกียรติกำจร กุศล ผศ.ดร.นัยนา หนูนิล ได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การออกแบบเครื่องมือในการดูแลสุขภาพชุมชนสำหรับอาจารย์พยาบาลที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการทำงานสุขภาพชุมชน” ที่โรงแรมหลุยส์แทเวิร์น กรุงเทพฯ ผู้จัดคือแผนงานสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน ที่สนับสนุนโดย สสส. สปสช. และสภาการพยาบาล

งานนี้พลาดไม่ได้เพราะสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์จะร่วมโครงการสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนหรือ Nurse of Community ที่เราเรียกย่อๆ ว่า NOC กับแผนงานฯ  ผู้รับผิดชอบหลักคือ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้จัดการแผนงานฯ ซึ่งอยู่ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ จาก สสส.

เริ่มประชุมวันแรกเมื่อประมาณ ๐๙ น.กว่า ห้องประชุมจัดที่นั่งให้อยู่กันเป็นกลุ่มๆ ๔ กลุ่ม คนที่มาจากที่เดียวกันแยกกันอยู่คนละกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีนักศึกษา ป.เอก ของอาจารย์ขนิษฐา ทำหน้าที่ช่วยดำเนินการและอำนวยความสะดวก

 

 บรรยากาศการประชุม คนที่ยืนเห็นหน้าคือ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร

ดิฉันอยู่กลุ่มที่ ๒ ร่วมกับ รศ.ดร.บำเพ็ญจิต แสงชาติ จาก ม.ขอนแก่น รศ.ดร.สุวรรณา จันทร์ประเสริฐ ม.บูรพา รศ.กาญจนี สิทธิวงศ์ จาก ม.แม่ฟ้าหลวง อาจารย์ ดร.ศรีสุดา รัศมีพงศ์ จาก มศว. และอาจารย์กรรณภา ไชยประสิทธ์ จาก ม.นราธิวาสฯ มีอาจารย์กล้าเผชิญ โชคบำรุง และกนิษฐา อรรควาไสย์ นักศึกษา ป.เอก ดูแลกลุ่มนี้ โดยอาจารย์กล้าเผชิญดำเนินรายการและอาจารย์กนิษฐาทำหน้าที่จด (พิมพ์) บันทึก

 หน้าตาของกลุ่ม ๒

ในแต่ละวันจะมีการบรรยายนำโดยอาจารย์ขนิษฐาแล้วต่อด้วยการประชุมกลุ่มย่อย ทำงานตามโจทย์ที่ตั้งให้ มีทั้งหมด ๔ ปฏิบัติการ แต่ละปฏิบัติการจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ กิจกรรมที่ให้ทำ แนวคำถามในการอภิปรายกลุ่ม และตารางที่ต้องใส่ข้อมูลไว้ให้

ปฏิบัติการ ๑ กระบวนการหาและใช้ทุนทางสังคมในชุมชน
ปฏิบัติการ ๒ การศึกษาชุมชน
ปฏิบัติการ ๓ การออกแบบบริการสุขภาพ
ปฏิบัติการ ๔ การพัฒนานโยบายสุขภาพในระดับพื้นที่

แต่ละวันเราใช้เวลากันอย่างเต็มที่ ถ้างานไม่เสร็จอาจารย์ขนิษฐาก็มีวิธีการพูดที่ทำให้เราต้องทำงานต่อจนเสร็จ ในวันที่ ๑๘ กลุ่มเราทำงานกว่าจะเสร็จก็เลย ๑๗ น.ไปแล้ว ส่วนวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเสาร์เราสามารถปิดประชุมได้เร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีหนังสือให้ศึกษาประกอบหลายเล่ม โดยเฉพาะในเล่มที่มีชื่อว่า “ระบบการดูแลสุขภาพชุมชน: แนวคิด เครื่องมือ และการออกแบบ” เขียนโดยอาจารย์ขนิษฐา เสร็จมาดๆ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ยังไม่ได้เข้าโรงพิมพ์เลย สาระของหนังสือได้จากการสังเคราะห์ชุดความรู้จากการปฏิบัติของผู้เขียน ในการสอน การทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในชุมชนทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมทั้งการวิจัยเกี่ยวกับระบบการดูแลสุขภาพชุมชน

อาจารย์ขนิษฐาเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องสุขภาพชุมชนมายาวนาน และในหลายด้าน มีผลงานเป็นที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งคุณดวงพรก็เป็นผู้ที่มีความคิดความอ่านดีมาก น่าภาคภูมิใจที่คนรุ่นใหม่ได้ช่วยกันทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 162540เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2008 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • รู้จัก  รัก  ชวนชุมชนมาคิดด้วยน่าจะดีนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท