อันเนื่องมาจากคำถาม สายไหน นิกายอะไร ?


ข้าพเจ้าไม่ใช่พุทธตามใบทะเบียนบ้านอย่างแต่ก่อนแล้ว

    ตอนที่ข้าพเจ้าไปเรียนวิชาของพระพุทธเจ้า  ที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่  ซึ่งศูนย์นี้อยู่ในบริเวณวัดห้วยส้ม  ท่านเจ้าอาวาสวัดห้วยส้มเล่าว่า  ชาวบ้านแถวๆนั้นมาทำบุญที่วัด เห็นกลุ่มคนนุ่งขาวห่มขาวกำลังเดินจงกรมช้าๆ ภายในศูนย์ ท่าทางดูแปลกๆ  เขาก็เลยถามท่านว่า  พวกนี้ศาสนาอะไร นิกายอะไร  ท่านก็เลยบอกว่าศาสนาพุทธนี่แหละ แต่ชาวบ้านบางส่วนแถวๆนั้นก็ยังงงไม่หายว่าชาวพุทธต้องทำอะไรแบบนี้ด้วยหรือ

  ช่วงที่ข้าพเจ้าไปงานภาวนาของหลวงปู่ติชกลับมาสักระยะ ก็มีคนรอบข้างถามอีกว่า  ไปเข้านิกายอะไรมา  นับว่าเป็นคำถามที่มีส่วนคล้ายๆกันอยู่  ในความเห็นของคนทั่วๆไป  หน้าที่ของชาวพุทธคือการไปวัด ไปทำบุญใส่บาตร  ไปให้พระรดน้ำมนต์  รับศีลรับพรแล้วก็กลับ   เรื่องการไปปฎิบัติธรรม กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  บางส่วนเห็นเป็นของแปลก  บางคนถึงกับพูดว่า ไปทำไม  มีปัญหาชีวิตอะไรเหรอ?  พอได้ยินแล้วรู้สึกใจห่อเหี่ยวไปเลย   หลายคนคิดเสมือนว่า  การปฎิบัติธรรม ไม่ใช่หน้าที่ของคนที่ใช้ชีวิตในทางโลกอย่างเรา  นั่นมันหน้าที่ของคนแก่ หรือไม่ก็ของคนที่กำลังจะตายเท่านั้น  บางคนพอได้ยินข้าพเจ้าเริ่มกล่าวเรื่องทางธรรมที่ไปได้ยินได้ฟังมา คนผู้นั้นก็หนีกระเจิง             ยังไม่ทันจะเอ่ยปากชวนไปปฎิบัติธรรมด้วยกันซักหน่อย   ข้าพเจ้าคิดปรุงแต่งในใจไปว่า หรือเขาจะกลัวเราแจกซองขาวขอช่วยทำบุญหว่า ? 

 ข้าพเจ้าได้ยินธรรมเทศนาของท่าน ว.วชิรเมธี ทางทีวีเมื่อหลายเดือนก่อน  ท่านว่าคนไทยส่วนใหญ่มาวัดเพื่อมาทำบุญ       แต่พอถึงเวลาตอนที่จะปฎิบัติธรรม คนไทยใจบุญทั้งหลายต่างหายจ้อยไปหมด เหลือแต่ชาวฝรั่งไว้       ปรากฏว่าชาวฝรั่งอาจจะไม่เน้นเรื่องการทำบุญนัก ทว่าสนใจปฎิบัติและการนำเอาไปใช้  และสนใจมากด้วย   อันนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่ง  เพราะเจอมากับตัวเอง ตอนไปงานภาวนากับหลวงปู่ติช  ชาวฝรั่งบางท่านมีหมอนรองนั่งสมาธิประจำตัวมาเองด้วยซ้ำ  และไม่รู้เป็นไง ชาวฝรั่งก็ชอบนั่งสนทนาธรรมกับพระมาก  

  กัลยาณมิตรของข้าพเจ้าท่านหนึ่งถามว่า  ปฎิบัติแนวหลวงปู่ติช ถือว่าถูกจริตกับข้าพเจ้าใช่หรือไม่  ข้าพเจ้าก็ยังตอบคำถามนี้กับตัวเองไม่ได้ เพราะถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เรียนด้านพื้นฐาน และหลักปฎิบัติจากศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่  ข้าพเจ้าอาจจะไม่เข้าใจเรื่องใดๆ เลยที่หลวงปู่ติชสอน  เพราะที่ผ่านมาข้าพเจ้าเป็นพุทธตามใบทะเบียนบ้านมาหลายสิบปี  ถ้าไม่มีท่านวิปัสสนาจารย์ที่ศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่แนะนำ ข้าพเจ้าก็คงจะมึนงงไปอีกนานกับเรื่องของพุทธศาสนา   แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าลึกๆแล้ว ข้าพเจ้าถูกปลูกฝังมาแบบเถรวาท จากคุณยายที่ชอบพาไปวัดแต่เล็กๆ แม้จะไม่ค่อยเข้าใจอะไร แต่ก็คุ้นเคยพิธีการทางเถรวาทมากกว่า   การไปงานภาวนาของหลวงปู่ติช  ข้าพเจ้าก็พบว่า  แนวทางนั้นก็ไม่ต่างกัน   แม้จะดูไม่เคร่งเครียดนัก แต่มีความลึกซึ้งในหลายๆเรื่อง  มีอันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ  เพราะหลวงปู่ติช ต้องสอนชาวต่างชาติ และท่านใช้ภาษาอังกฤษ  สิ่งที่ท่านพูดและสอน จึงถูกปรับให้ง่ายแก่การเข้าใจ  ตัวข้าพเจ้าเองก็ไม่ค่อยคุ้นเคยกับภาษาบาลีนัก  จึงรู้สึกดีที่ได้ฟังท่านเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากเข้าใจง่ายกว่า

   บางเรื่องนั้นข้าพเจ้าฟังคำสอนทางเถรวาทข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่  นำมาคิดพิจารณายังไงก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี  แต่พอได้ฟังหลวงปู่ติช ข้าพเจ้าก็ถึงบางอ้อ  แต่บางเรื่อง ข้าพเจ้าเข้าใจได้ง่ายกว่ามากถ้ามาฟังจากทางเถรวาท      อย่างเรื่อง  กระโถน ของหลวงพ่อชา นี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจคำว่า สมมุติบัญญัติ ได้แจ่มแจ้งดีทีเดียว 

  ข้าพเจ้าจึงไม่ได้อยู่สายไหน  หรือนิกายอะไร  เป็นพุทธนี่แหละ แต่ไม่ใช่พุทธ ตามใบทะเบียนบ้าน อย่างแต่ก่อนแล้ว

 

 

คำสำคัญ (Tags): #นิกาย
หมายเลขบันทึก: 161547เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2008 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อย่าไปคิดแบ่งแยกสายเลย ขอเพียงแค่เข้าในความแตกต่างก็เพียงพอแล้ว ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าได้ครุ่นคิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แล้วหลังจากได้วนเวียนขอคำตอบกับตนเองอยู่นาน ข้าพเจ้าก็ได้คำตอบว่า ในทุกความแตกต่างของหลักการสอนของแต่ละสายจะซ่อนความหมายที่เป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ในนั้น เพียงแต่ ณ ตอนนี้เราอยู่ ณ จุดไหนและมีอะไรเป็นองค์ประกอบ ณ จุดนั้น เหมือนที่ท่านติชจุดไฟให้ดูนั้นไง ไฟจุดได้ตั้งหลายวิธี ตอนนี้ท่านมีอะไรใช้จุดไฟล่ะ ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็นได้ตื้นๆนะ ถ้าผิดพลาดประการใดก็ขออภัย

มีผู้กล่าวว่า หินยาน กับ มหายาน เป็นเสมือนปีกสองข้างของพุทธศาสนา  และทั้งสองปีกจะช่วยค้ำจุนพุทธศาสนาไว้  คงจะจริงค่ะ

โดยส่วนตัว  ก็ไม่ได้คิดแบ่งแยกมาตั้งแต่ต้นค่ะ    อาจเป็นเพราะความไม่รู้ในรายละเอียดของความแตกต่างในนิกายทั้งสองมาก่อน  ต้องขอบคุณในความไม่รู้ของตัวเองจริงๆ    ส่วนหนึ่งที่เป็นดังนี้อาจเพราะเคยเห็นรูปของท่านพุทธทาส นั่งสนทนาธรรม  กับท่านดาไล ลามะ ที่สวนโมกข์  ด้วย  ตอนที่ได้เห็นรูปนั้นในหนังสือ รู้สึกดีมาก     ต่อมาก็ได้เห็นรูป หลวงปู่ติช กับท่านดาไล ลามะ ใน internet  จึงรู้สึกถึงความเชื่อมโยงกันบางอย่าง      ที่สำคัญมีผู้กล่าวว่า ท่านพุทธทาส ก็ชอบงานเขียนของ หลวงปู่ติช ด้วย ถ้าท่านพุทธทาส ยังอยู่คงจะดีนะคะ   หลวงพี่นิรามิสาลูกศิษย์ของหลวงปู่ติช ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า   หลวงปู่ติช เคยกล่าวว่า เสียดายที่ไม่มีโอกาสจัดงานภาวนาร่วมกับท่านพุทธทาส   

ก่อนที่จะเข้ามาเรียนวิชาของพระพุทธเจ้านั้น  ตัวเองเป็นคนห่างวัดไปเยอะแล้วค่ะ  รู้สึกสิ้นศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก เพราะเบื่อเรื่องของอิทธิฤทธิ์ ปาฎิหาริย์ วัตถุมงคลเอามากๆ  แต่จะสนใจอ่านหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาส  เพราะ ไม่มีเรื่องวัตถุมงคล และ มีแนวทางที่จะสอนให้เราเกิดปัญญา มากกว่าเรื่องของการทำบุญมากมายเกินเหตุ  แต่ตอนนั้นไม่รู้วิธีปฎิบัติ  อาจเป็นเพราะเพียงแต่อ่านจึงไม่ค่อยเข้าใจ และไม่อาจเข้าถึงได้  ยอมรับเลยค่ะว่า พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของการอ่านแล้วก็คิดๆไปอย่างเดียว ต้องปฎิบัติด้วย จึงจะเข้าใจ

ตอนที่ท่านพุทธทาสสิ้น ตัวเองเหมือนขาดสายป่านสุดท้ายในทางพุทธศาสนา  เรียกว่า ไม่จำเป็นจะไม่เข้าวัดแล้ว  พบพระพบเจ้าก็ตอนไปงานสวดศพคนตายอะไรแบบนั้น  เคยมีหนหนึ่งอยู่ในงานศพ เห็นพิธีกรรมต่างๆมากมายก็รู้สึกไม่ชอบใจ จึงบอกเพื่อนที่ไปด้วยว่า ถ้าฉันตายอย่ามีพิธีแบบนี้ ไม่ต้องมีพวงหรีด  โลงศพก็ขอเป็นโลงไม้ธรรมดา ไม่ต้องมีลวดลายสลักใดๆ  แล้วก็รีบเผาในเร็ววันด้วยไม่ต้องเก็บไว้นาน แถมสั่งเสียเพื่อนอีกว่า ที่สำคัญ ขอช่วยเก็บเถ้ากระดูก แล้วเอาไปฝังไว้ที่โคนต้นไม้ที่สวนโมกข์   แบบว่าชาตินี้ไม่ได้อยู่ในวัด ไม่ได้เข้าวัดก็ขอเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ในวัดที่ตนเองศรัทธาเชื่อถือก็แล้วกัน 

ตอนนี้ดีใจค่ะที่ได้ไปวัด ได้ไปปฎิบัติธรรมบ่อยขึ้น ไม่ใช่คนห่างวัดอีกแล้ว  ต้องขอบคุณกัลยาณมิตรที่ได้ชักชวนให้ไปปฎิบัติธรรม แม้จะช้าไปหน่อยแต่ก็จะพยายามต่อไปค่ะ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท